เกษตรกระบี่ ส่งเสริมเลี้ยงนกแสก กำจัดหนูในสวนปาล์ม

หนู เป็นศัตรูพืชสำคัญที่สร้างความเสียหายให้กับสวนปาล์มน้ำมันทุกระยะ โดยหนูพุกใหญ่ และหนูนาใหญ่ มักกัดทำลายต้นกล้าปาล์มน้ำมันในแปลงเพาะชำและต้นปาล์มปลูกใหม่ นอกจากนี้ ยังมีหนูป่ามาเลย์ ที่เข้าทำลายปาล์มน้ำมันในช่วงให้ผลผลิต กัดกินตั้งแต่ช่อดอกอ่อน ผลปาล์มอ่อน ผลดิบ และกินกระทั่งเนื้อเปลือกผลสุก เกษตรกรหลายพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนจากหนูป่ามาเลย์ ที่กัดกินทะลายปาล์มสดเสียหายสะสมรุนแรง ทำให้ขายผลผลิตไม่ได้ราคา รวมทั้งยังต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการซื้อสารเคมีเพื่อกำจัดหนูค่อนข้างสูง แต่ก็ยังไม่สามารถปราบหนูได้ ซึ่งมีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทำการศึกษาวิจัย การใช้ “นกแสก” กำจัดหนูในสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งพบว่าได้ผลดีมาก

นกแสก เป็นนกประจำถิ่นของไทยซึ่งมีอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ และเป็นนกกลางคืนที่อาศัยอยู่ใกล้ชุมชน ปกติใช้โพรงไม้และช่องใต้หลังคาเป็นรังวางไข่ กินหนูเป็นอาหาร มีพฤติกรรมล่าเหยื่อในที่โล่ง ทุ่งหญ้า ไร่นา และสวนปาล์มน้ำมัน มีการผสมพันธุ์ในช่วงเดือนกันยายน-กุมภาพันธ์ เลี้ยงลูก 2 ครอก ติดต่อกัน จำนวนไข่ รังละ 5-7 ฟอง จำนวนต่ำสุด 2 ฟอง สูงสุด 15 ฟอง เพศเมียจะฟักไข่ประมาณ 30 วัน ใช้เวลาฟักไข่ 18 ชั่วโมง ต่อวัน ระยะแม่นกฟักไข่และช่วงที่ลูกยังเล็กๆ พ่อนกจะออกล่าเหยื่อนำมาป้อนให้แม่และลูกนกทุกวัน

จากการศึกษาส่วนประกอบของเศษอาหารที่นกแสกสำรอกออกมาในบริเวณที่นกเกาะพักนอน พบว่า นกแสกในสวนปาล์มน้ำมันของไทยกินหนูป่ามาเลย์เป็นอาหารเกือบ 100% โดยนกแสกกินหนูเฉลี่ยวันละ 1-2 ตัว หรือประมาณ 350-700 ตัว ต่อปี ซึ่งหนูจำนวนนี้ถ้าปล่อยให้กัดกินผลปาล์มจะทำความเสียหายต่อผลผลิต ปีละ 1.1-2.5 ตัน คิดเป็นมูลค่าความสูญเสีย ประมาณ 2,750-6,250 บาท ขณะเดียวกันเกษตรกรยังจะเสียเงินค่าซื้อสารเคมีและจ้างแรงงานวางยากำจัดหนู ทำให้มีต้นทุนสูงขึ้นอีก 700-1,400 บาท ด้วย

กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินงานโครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร กิจกรรมการจัดการศัตรูพืชตระกูลปาล์ม (มะพร้าว และปาล์มน้ำมัน) ดำเนินการใน 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งมีการจัดทำแปลงสาธิตการจัดการศัตรูพืชตระกูลปาล์มโดยวิธีผสมผสาน จากการติดตามสถานการณ์การระบาดของศัตรูพืช พบว่า หนูเป็นศัตรูพืชที่สำคัญชนิดหนึ่งในสวนปาล์มน้ำมัน โดยจะเข้าทำลายต้นที่ปลูกใหม่และผลผลิต การใช้นกแสกเป็นวิธีการหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมหนูในสวนปาล์ม ช่วยลดการใช้สารเคมี ลดต้นทุนการผลิตและยังเป็นการอนุรักษ์ธรรมชาติให้เกิดความสมดุล

กองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ยพิจารณาแล้ว กิจกรรมดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร ซึ่งจะเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเกษตรกรตามโครงการและเกษตรกรผู้สนใจรายอื่นๆ จึงได้ประสานและขอสนับสนุนนกแสกจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำงานวิจัยเรื่องการใช้นกแสกควบคุมหนูในสวนปาล์มน้ำมันและประสบความสำเร็จในจังหวัดชุมพรและจังหวัดสุราษฎร์ธานีมาแล้ว ให้แก่จังหวัดกระบี่ เพื่อนำไปใช้ในแปลงสาธิตการจัดการศัตรูพืชตระกูลปาล์มโดยวิธีผสมผสาน

จังหวัดกระบี่มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันกว่า 1,087,500 ไร่ ผลผลิตกว่า 2,675,684 ตัน ต่อปี ซึ่งปัญหาสำคัญของการทำสวนปาล์ม คือหนูทำลายต้นปาล์มที่ปลูกใหม่และผลผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ จึงได้ดำเนินการจัดทำแปลงสาธิตการเลี้ยงนกแสกเพื่อควบคุมกำจัดหนูในสวนปาล์มน้ำมัน 2 จุด และนาข้าว 1 จุด ซึ่งการใช้นกแสกกำจัดหนูเป็นวิธีการกำจัดหนูด้วยวิธีธรรมชาติ ลดการใช้สารเคมี และยังช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยได้มอบหมายให้กลุ่มอารักขาพืช คัดเลือกสถานที่ที่จะทำเป็นแปลงสาธิตการเลี้ยงนกแสก เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเกษตรกรทั่วไป จำนวนทั้งสิ้น 3 จุด คือ

1.ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ เจ้าของศูนย์เรียนรู้ คุณพันศักดิ์ จิตรรัตน์ บ้านเลขที่ 33/2 หมู่ที่ 5 ตำบลเขาใหญ่ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่

เทคโนโลยีเด่นของศูนย์เรียนรู้ : การลดต้นทุนการผลิตปาล์มน้ำมัน

หลักสูตรเรียนรู้ :   1. การคัดเลือกปาล์มน้ำมันพันธุ์ดี

2.การจัดการสวนปาล์ม

3.การผลิตปุ๋ยหมักและปุ๋ยชีวภาพเพื่อลดต้นทุน

4.การเก็บตัวอย่างดินและใบปาล์มเพื่อส่งวิเคราะห์

5.ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่ เจ้าของศูนย์เรียนรู้ คุณสมหวิง หนูศิริ บ้านเลขที่ 261 หมู่ที่ 3 ตำบลทุ่งไทรทอง อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่

เทคโนโลยีเด่นของศูนย์เรียนรู้ : การลดต้นทุนการผลิตปาล์มน้ำมัน/เกษตรผสมผสาน

หลักสูตรเรียนรู้ :

1.การลดต้นทุนการผลิตปาล์มน้ำมัน

2.การเพิ่มรายได้ในสวนปาล์มน้ำมัน

3.คุณประวัติ คลองรั้ว ประธานกลุ่มชาวนาตำบลคลองประสงค์ หมู่ที่ 1 ตำบลคลองประสงค์ อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ (นาแปลงใหญ่) มีสมาชิกกลุ่ม 50 ราย พื้นที่ปลูกข้าว 300 กว่าไร่ เป็นจุดถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร การผลิตปุ๋ยหมัก การทำเกษตรผสมผสาน ให้กับชาวบ้านในชุมชนและนักท่องเที่ยวอีกด้วย

ท่านที่สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ โทร. (075) 611-649