“กาญจนา ลากุล” เกษตรกรต้นแบบเมืองอุดรฯ ปลูกผักสลัดไร้ดิน ปลอดสารพิษ แปรรูปผลผลิตเพิ่มมูลค่า

ช่วงไม่กี่ปีมานี้ จะเห็นคนรุ่นใหม่หันมาประกอบอาชีพเกษตรกรรมกันมากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนประสบความสำเร็จในระยะเวลาไม่กี่ปี เนื่องจากนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย พร้อมใช้รูปแบบการบริหารจัดการสมัยใหม่ รวมถึงการทำตลาดที่ใช้โซเชียลมีเดียควบคู่กับการขายทั่วไป

คุณกาญจนา ลากุล เจ้าของ นโม ฟาร์ม (Namo Farm) ซึ่งตั้งอยู่ บ้านเลขที่ 212 หมู่ที่ 8 บ้านคำตานา ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอทุ่งฝน จังหวัดอุดรธานี ก็เป็นคนหนุ่มสาวอีกรายที่หันมาเอาดีในการทำเกษตร โดยเริ่มทำเมื่อปี 2556 หลังจากก่อนหน้านี้เคยเปิดกิจการร้านขายอาหารสัตว์และขายปุ๋ย เมื่อมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว ในปี 2556 เธอจึงได้ใช้วิชาบริหารธุรกิจ ในระดับ ปวส. ที่ร่ำเรียนมาใช้ในเรื่องการตลาด รวมถึงความรู้ที่ได้จากการเรียนระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) ขอนแก่น พร้อมกันนั้นยังได้รวบรวมเกษตรกรในพื้นที่ตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนผักไร้ดินปลอดสารพิษ บ้าน คำตานา มีสมาชิก 10 ครอบครัว โดยเธอรับหน้าที่เป็นประธานวิสาหกิจชุมชนฯ

แหล่งศึกษาดูงานเกษตรอินทรีย์

วันนี้ใช่แต่พืชผักผลไม้ของวิสาหกิจชุมชนผักไร้ดินปลอดสารพิษฯ ภายใต้ชื่อแบรนด์ “นโม ฟาร์ม” จะขายดีแล้ว  คุณกาญจนา ยังได้รับเลือกให้เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ต้นแบบจังหวัดอุดรธานี 2557-2561 และได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นจังหวัดอุดรธานี ประจำปี 2557 สาขาพืชผักปลอดภัย ทั้งยังได้รับเลือกให้เป็น “ศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer เขต 4” ของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งที่ผ่านมามีคณะบุคคลจากหน่วยงานองค์กรต่างๆ เข้ามาศึกษาดูงานเป็นประจำ อีกทั้งผลผลิตของกลุ่มยังได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP) หรือมาตรฐาน Q ส่งผลให้กลุ่มมีรายได้ต่อเดือนหลักแสนบาทขึ้นไป

เจ้าของ นโม ฟาร์ม เล่าถึงแรงจูงใจที่หันมาทำการเกษตรว่า สมัยก่อนชอบกินข้าวนอกบ้าน เช่น เนื้อย่างเกาหลี แต่กินทีไรปากจะเป็นแผลร้อน ปวดเนื้อปวดตัว อ่อนเพลีย อีกอย่างคือ หาผักบางชนิดกินยากในบางฤดู จึงได้ทดลองปลูกเองในดินที่ไม่มีโรงเรือน รอบแรกได้กิน แต่รอบสอง-สาม แมลงเอาไปกินหมด ทำให้ตั้งคำถามว่า ผักที่กินที่ร้านอาหารเอามาจากไหน คนปลูกใช้ยาฆ่าแมลงไหม ใช้ยาฆ่าหญ้าหรือเปล่า

พอลงมือปลูกพืชผักเอง ได้รู้ซึ้งถึงที่ไปที่มาของพืชผักผลไม้ ซึ่งสำคัญมาก และไม่กล้ากินอะไรสุ่มสี่สุ่มห้าอีกต่อไป ประกอบกับเมื่อก่อนไม่รู้สาเหตุป่วยบ่อยเพราะอะไร จนกระทั่งมาปลูกพืชผักกินเอง แล้วปรากฏว่าเลิกป่วย เกิดเป็นแรงจูงใจคือ กลัวป่วยและตายเร็ว แต่พอสนุกกับการปลูกแล้วจำนวนเยอะ ก็เริ่มนำไปทำบุญ แจกเพื่อนบ้าน และทดลองขาย

แม้เนื้อที่ของ นโม ฟาร์ม จะมีถึง 5 ไร่ แต่ในความเป็นจริงคุณกาญจนาบอก ปลูกพืชผักผลไม้เพียง 2 งาน เท่านั้นเนื่องจากข้อจำกัดเรื่องความชอบส่วนตัว ไม่ชอบเดินไกลๆ ไม่ชอบตากแดด ไม่ชอบให้มือเท้าเปื้อนดำ แต่ชอบและอยากปลูกพืชผักผลไม้ทุกๆ วัน ดังนั้น จึงตกผลึกกับการปลูกพืชในโรงเรือนปิด และในท่อปูนโดยใช้เทคโนโลยีการให้น้ำแบบอัตโนมัติราคาถูกทำเอง

“ด้วยความที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มาทำเกษตร ดิฉันจึงปรับให้เหมาะกับไลฟ์สไตส์ของตัวเอง เน้นทำน้อยๆ แต่ได้มากๆ ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาจัดการทรัพยากรน้ำ ดิน และเวลาให้คุ้มค่า ใช้คนน้อยพื้นที่น้อย และใช้การจัดการที่เน้นยอดสูญเสียให้เกิดน้อยที่สุด จุดเด่นพืชผักของกลุ่มคือ อร่อย สะอาด สด ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงและสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อพืช สัตว์ และคน ใช้การจัดการแบบวิธีธรรมชาติ”

 

เทคนิคปลูกผักให้อร่อย-ปลอดภัย

สำหรับพืช หลักๆ ที่เธอและทางกลุ่มปลูก เป็นพวกผักสลัดต่างประเทศ อย่าง ผักสลัดบัตเตอร์เฮด ผักสลัดเรดโอ๊ค ผักกรีนโอ๊ค จำหน่ายกิโลกรัมละ 100-110 บาท และปลูกพืชผักสวนครัวหลายชนิด ทั้งหอม ผักชี โหรพา ใบแมงลัก แตงกวา คะน้า ผักฮ่องเต้ พืชสมุนไพร ไม้ผล เช่น มัลเบอรี่ มะม่วง มะเดื่อฝรั่ง  สตรอเบอรี่ มะนาว มะเขือเทศ และหลังบ้านปลูกยางพารา

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เธอได้รับเลือกให้เป็นต้นแบบเกษตรกรรุ่นใหม่นั้น ทางกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ แจกแจงว่า เนื่องจากเธอมีองค์ความรู้ตั้งแต่เริ่มต้นทำการเกษตร แบบใช้เทคโนโลยี และการจัดการสมัยใหม่ ปลูกพืชในโรงเรือนแบบไฮโดรโปนิกส์ ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ต้องกำจัดวัชพืช ใช้พื้นที่น้อยและใช้น้ำน้อย รวมทั้งปลูกผักต่างประเทศ เพราะมีคู่แข่งน้อย ได้ราคาดี พร้อมใส่ใจคุณภาพ สด สะอาด และปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer ประจำจังหวัดอุดรธานี

คุณกาญจนา แจกแจงถึงเทคนิคการปลูกผักสลัดต่างประเทศ ไม่มีอะไรมาก เพียงทำให้ผักอร่อย สด สะอาดปลอดภัย เพราะไม่มีใครอยากกินผักแก่ หยาบ แข็ง ขม ดังนั้น ควรเก็บผักที่อายุ 38-45 วัน ตัดผักช่วงไม่มีแสงแดด และอย่าทำให้ผักเครียด น่าจะเปรียบได้ดังตอนกลางวันผักกำลังกินอาหารอยู่ แต่เมื่อถูกถอนมาเลย ผักน่าจะเครียด

“ลองคิดดู ถ้าเรากำลังกินอาหารอย่างอร่อยแล้วมีคนมายกเราหนีจากอาหาร จะรู้สึกอย่างไร อาการของพืชผักก็น่าจะไม่ต่างกัน  และอีกอย่างคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้รากพืชเย็น ไม่ว่าจะปลูกหญ้าคลุม จะสเปรย์น้ำสร้างบรรยากาศหลอกผักว่าอากาศเย็นอะไรประมาณนี้ เหมือนคนไปกินอาหารตากแดด กับกินอาหารในห้องแอร์ ลองคิดดูว่า กินที่ไหนจะเครียดน้อยกว่ากัน พืชผัก ผลไม้ เป็นสิ่งมีชีวิต ดังนั้น เราต้องเอาใจใส่ รัก ดูแลอย่างสม่ำเสมอ ขี้เกียจยังไงก็ต้องดูแลทุกวัน”

สำหรับผักที่ปลูกกับดิน ต้องเริ่มจากการเตรียมดิน โดยดินผสมปุ๋ยหมักที่หมักเองและใช้มูลไส้เดือน และน้ำมูลไส้เดือน ดินดีปุ๋ยดี หรืออาหารของพืชก็ครบถ้วน ส่วนการให้น้ำ ถ้าปลูกในดิน ให้ 3 เวลา ใช้สปริงเกลอร์

กรณีปลูกพืชไร้ดินระบบไฮโดรโปนิกส์นั้น คุณกาญจนาให้ข้อมูลว่า ใช้น้ำประปาผสมธาตุอาหารพืชบริสุทธิ์ละลายในน้ำหล่อเลี้ยงรากผัก ธาตุอาหารพืชที่ใช้จะมีเครื่องมือในการวัดค่าที่เหมาะสมสำหรับพืชแต่ละชนิด ก่อนเก็บเกี่ยวก็ใช้น้ำเปล่าเลี้ยงพืช ประมาณ 2-7 วัน (ธาตุอาหารหลัก และธาตุอาหารรอง ที่พืชจำเป็นต้องใช้มีจำหน่ายในร้านที่ขายเกี่ยวกับพืชไฮโดรโปนิกส์ หรือร้านที่จำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ห้องแล็บ) โดยการใช้น้ำแต่ละรอบ ปริมาณ 500 ลิตร ต่อการปลูก 30 วัน จากนั้นระบายออกมาเพื่อกักเก็บไว้สำหรับรดมะเขือเทศต่อ

แปรรูปผลผลิตเพิ่มมูลค่า

ประธานวิสาหกิจชุมชนผักไร้ดินปลอดสารพิษฯ มองว่า การทำเกษตรปลอดสารพิษนั้นไม่ใช่เรื่องยากเลย เริ่มจากทำกินให้พอกิน เป้าหมายคือ จะไม่ซื้อพืชผักผลไม้กิน หรือซื้อให้น้อยที่สุดซึ่งรวมถึงการทำปุ๋ยใช้เองด้วย ใช้วิธีเลี้ยงไส้เดือน โดยไม่เลี้ยง นั่นคือ การไม่ถอนหญ้าแต่ตัดเอาเศษหญ้าเป็นอาหารให้ไส้เดือน พร้อมทำให้สวนชุ่มชื้นไม่แห้ง ไส้เดือนมีหน้าที่พรวนดินให้โดยไม่ต้องจ้าง ใส่ปุ๋ยให้โดยที่เราไม่ต้องซื้อ ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง 100% ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า 100% นอกจากนี้ นำขยะอาหารจากครัวมากำจัดแบบทำเป็นปุ๋ยหมัก

เจ้าของ นโม ฟาร์ม บอกอีกว่า ในการทำเกษตรนั้น ปีแรกใช้เงินลงทุนไปเยอะมาก แยกการลงทุนเป็นการผลิต 1 ล้านบาท และการแปรรูป 1 ล้านบาท ตอนนี้ยังเป็นหนี้อยู่ 2 ล้านบาท แต่หนี้เริ่มลดลง ขณะที่ผลผลิตในฟาร์มมากขึ้น ทำให้มีรายได้เลี้ยงตัวเองและใช้หนี้ได้ในระดับที่พอใจ

ผลผลิตของกลุ่มนั้น นอกจากจะขายผักสดแล้วยังนำมาแปรรูปด้วย อย่างเช่น ทำน้ำสลัดผลไม้เพื่อสุขภาพ ทำจากมะนาวที่ปลูกเอง มีน้ำสลัดพริกไทยดำ น้ำสลัดงาดำ และน้ำสลัดแอปเปิ้ลเขียว แปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและลดยอดสูญเสียในฟาร์ม และมีน้ำผักผลไม้สกัดเย็น ไม่ใส่น้ำตาล ไม่ผสมน้ำ ทำสลัดมิกซ์ สลัดโรลล์ และแซนด์วิช กลุ่มจะเน้นการสร้างงานสร้างอาชีพในชุมชน

ช่องทางการจำหน่ายนั้น มีวางจำหน่ายที่หน้าฟาร์ม และตลาดเกษตรกรอุดรธานีทุกเช้าวันศุกร์และวันเสาร์ เดือนละ 4 ครั้ง และส่งผักสดขายที่ห้างวิลล่ามาร์เก็ต ยูดีทาวน์อุดรธานี

เธอว่า ในช่วงฤดูหนาวผักล้นตลาด ผักจะปลูกกันเยอะ ดังนั้น หน้าหนาว ทาง นโม ฟาร์ม จะเน้นทดลองพืชตัวใหม่ และไม่ปลูกเยอะ แต่ออกทัวร์ไปฟาร์มเพื่อนๆ ในโครงการ Young Smart Farmer ทั่วไป เพื่อหาเพื่อนคอเดียวกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างเครือข่าย เกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อต่อยอดไอเดีย หรือมีแนวคิดในการทำการเกษตรใหม่ๆ  เพิ่มมากขึ้น

คุณกาญจนา พูดถึงแผนธุรกิจในอนาคตว่า อยากทำเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการเกษตรแบบครบวงจร ถ้าใครอยากทดลองหรือสนใจทำการเกษตร ก็สามารถเดิน (Walk in) เข้ามาทดลองก่อนจะไปลงมือจริง ตั้งแต่การผลิตพืชผักให้ได้มาตรฐาน การแปรรูปที่ได้มาตรฐาน การตลาด โดยมุ่งเน้นไปที่เยาวชน เพื่อให้มีสนามในการลงมือจริง ด้านการเกษตรสมัยใหม่ที่เข้ากับยุคสมัยของคน Gen X และ Gen Z ที่เน้นสะดวกรวดเร็ว

นับเป็นเกษตรกรหญิงเก่งอีกคนที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และไม่หยุดนิ่งในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม สนใจอยากเข้าไปชม นโม ฟาร์ม ติดต่อ ได้ที่โทร. 081-945-0900 หรือ Line id : 0819450900 และสามารถเข้าไปดูผลผลิตของกลุ่มได้ที่เฟซบุ๊กเพจ นโม ฟาร์ม

…………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2561


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354