มะเดื่อฝรั่ง

มะเดื่อของไทยเป็นพืชผักที่ชาวปักษ์ใต้นิยมกินกับขนมจีน แกงเผ็ด และน้ำพริกมากนาน ถือว่าเป็นผักไม่ใช่ผลไม้  มะเดื่อของไทยมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับมะเดื่อฝรั่งที่นิยมกินกันในปัจจุบัน นอกจากขนาดที่แตกต่างกันแล้ว มะเดื่อไทยจะกินตอนที่ผลยังมีสีเขียวอยู่ คือยังไม่สุก เพราะถ้าสุกจะมีหนอนอยู่มาก หนำซ้ำยังมีกลิ่นไม่ชวนกิน ซึ่งแตกต่างกับมะเดื่อฝรั่งที่มีกลิ่นหอมชวนกิน

แต่ว่าก็ว่าเถอะ มะเดื่อฝรั่งเป็นต้นไม้ที่ปลูกยากเย็นสำหรับผู้เขียน เนื่องจากเคยลองนำมาปลูกสองครั้งแล้วยังไม่สามารถทำให้ต้นอยู่ได้ถึงผลิดอกออกผล ต่างพากันล้มประดาตายไปทุกครั้ง ราคาต้นพันธุ์ในขณะนั้นก็ค่อนข้างแพง เลยออกขยาดที่จะปลูกอีกเป็นครั้งที่สาม

น่ากินมาก

มะเดื่อฝรั่ง มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Common fig มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Ficus carica L. เป็นพืชต่างถิ่น นำมาปลูกในประเทศไทยโดยมูลนิธิโครงการหลวง และมหาวิทยาลัยเกษตร ในปี พ.ศ. 2524 ที่ดอยอ่างขาง เพื่อเป็นพืชสร้างรายได้ทดแทนการปลูกฝิ่นแก่ชาวไทยภูเขา แล้วจึงกระจายพันธุ์ไปทั่วประเทศไทย

ตามตำนานของชาวยุโรปและชาวตะวันออกยุคโบราณ ชาวอียิปต์และชาวกรีก เชื่อว่ามะเดื่อฝรั่งเป็นผลไม้ศักดิ์สิทธิ์ จึงนำมาเป็นผลไม้สำหรับนักกีฬาโอลิมปิกในสมัยโบราณ และมะเดื่อฝรั่งนี้ถูกกล่าวไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานของศาสนาอิสลาม และในคัมภีร์ไบเบิลของศาสานาคริสต์อีกด้วย แสดงว่ามีการบริโภคมะเดื่อฝรั่งมาตั้งแต่โบราณแล้ว

โรงเรือนกันฝนและแมลง

กล่าวกันว่า มะเดื่อฝรั่งมีโภชนาการสูงติดอันดับผลไม้ที่ดีต่อสุขภาพ มีคุณค่าทางอาหารสูงสุด 1 ใน 10 อันดับแรกของโลกทีเดียว จริงๆ แล้วมะเดื่อฝรั่งเป็นผลไม้ที่มีไฟเบอร์ ธาตุเหล็ก โพแทสเซียม แคลเซียม โปรตีน วิตามินเอ วิตามินบี และเกลือแร่ที่มีประโยชน์หลายอย่าง นอกจากนี้ เกลือโพแทสเซียมในกรดอินทรีย์ของมะเดื่อฝรั่งยังช่วยสร้างสมดุลความเป็นกรด-ด่างภายในร่างกาย ผลของมะเดื่อฝรั่งมีน้ำตาลธรรมชาติสูง ได้แก่ น้ำตาลกลูโคส 50% น้ำตาลฟรุกโตส 35% และน้ำตาลซูโครส 10% และยังมีสรรพคุณช่วยกระตุ้นการขับถ่ายและช่วยกำจัดของเสียในร่างกายได้ดี

มีโอกาสได้เจอ อาจารย์วิรัตน์ สมัครพงศ์ หรือ ครูรัตน์ ซึ่งเป็นเจ้าของสวนมะเดื่อฝรั่ง ที่ปลูกอยู่ในกรุงเทพฯ นี่เอง จึงได้ไปแวะชมสวน มุ่งหน้าเข้าถนนวิภาวดี เข้าซอยวิภาวดี 20 เลยสำนักงานใหญ่การบินไทยไปนิดเดียว ครูรัตน์เล่าให้ฟังว่า

ครูรัตน์

“หลังเกษียณจากอาชีพครูแล้ว ฝันว่าจะพักผ่อนหลังเกษียณเพราะทำงานมาตลอด อ่านหนังสือ อยู่แบบสบายๆ ตอนเช้าขับรถไปออกกำลังกายที่สวนสมเด็จใกล้สวนจตุจักร ใช้เวลาไปกลับ 1 ชั่วโมง ออกกำลังกายอีก 1 ชั่วโมงก็กลับ เจอรถติดก็ไม่อยากไป หันไปเข้าฟิตเนต ก็ไม่มีสาระ ดำเนินชีวิตอยู่ 3 ปี เห็นว่าชีวิตไม่มีค่าอะไร ไม่มีความสุขเหมือนตอนที่เป็นครูเพราะได้สอนเด็กๆ จึงต้องคิดใหม่ว่าชีวิตต้องการอะไรแน่ จึงเปิดเพจส่วนตัวชื่อ เกษียณแล้วทำไร ดีวะ ซึ่งเป็นการถามคนอื่นและถามตัวเราเองด้วย ต่อมาก็สรุปได้ว่า ความสุขที่แท้จริงคือ การใช้ชีวิตอย่างเต็มศักยภาพของตัวเองจนวันสุดท้ายของชีวิต จึงคิดหัวข้อที่จะทำไว้หลายอย่าง มาลงที่ทำสวน จะปลูกมะม่วงก็ธรรมดาเกิน ปลูกผักก็รายละเอียดมาก นึกขึ้นได้ว่าตอนอ่านหนังสือในพระคัมภีร์กล่าวถึงมะเดื่อฝรั่งอยู่ จึงไปซื้อของโครงการหลวงที่ตลาด อ.ต.ก. ทั้งผลสด ผลแห้ง แต่ได้ความรู้ว่าผลสดมีประโยชน์ต่อร่างกายมากกว่าผลแห้ง และตัวเองชอบผลสดมากกว่า”

หลังจากนั้นครูรัตน์พยายามศึกษาเรื่องมะเดื่อฝรั่ง จนกระทั่งคิดว่ามีความเข้าใจในมะเดื่อฝรั่งพอสมควรแล้วก็ติดต่อคนรู้จักให้มาทำโรงเรือน และนำพันธุ์มาจากจังหวัดสระบุรี โรงเรือนแรก กว้าง 12 เมตร ยาว 21 เมตร ใช้เงินลงทุนไปเกือบ 400,000 บาท ซึ่งรวมระบบน้ำและต้นพันธุ์แล้ว โรงเรือนที่ปลูกมะเดื่อฝรั่งเป็นหลังคาพลาสติกใสกันฝน ส่วนด้านข้างเป็นมุ้งตาถี่กันแมลง บนพื้นที่ 252 ตารางเมตร วางวงบ่อขนาดความกว้าง 80 เซนติเมตร ได้ทั้งหมด 160 วง ซึ่งหมายความว่าปลูกได้ 160 ต้น ตามวงบ่อ นับตามยาวได้แถวละ 20 ต้น รวม 8 แถว ส่วนพื้นทางเดินทั้งหมดโรยด้วยทรายหยาบ เนื่องจากจะจัดการเรื่องหญ้า วัชพืชและความสะอาดเรียบร้อยได้ดีกว่าหินคลุก ขอบอกว่าตั้งแต่ไปชมโรงเรือนที่ปลูกพืชมา หาสวนไหนที่สะอาดเท่าของครูรัตน์ยาก จากการสอบถามว่าทำไมต้องปลูกในวงบ่อ ครูรัตน์ เล่าว่า ได้ศึกษาเรื่องการปลูก เปรียบเทียบการปลูกในภาชนะกับปลูกลงดินเลย  การปลูกลงดินกำจัดวัชพืชและให้ปุ๋ยหรือธาตุอาหารจะกระจัดกระจายไปทั่ว การปลูกในภาชนะสามารถควบคุมได้ดีกว่า ส่วนภาชนะที่ให้เลือกระหว่างเข่ง ล้อยางรถยนต์ และวงบ่อ นั้น ครูรัตน์เลือกวงบ่อ เพราะดูเป็นระเบียบและทนทานกว่า

ให้น้ำระบบฝอย

การดูแลความสะอาดเป็นเรื่องสำคัญ

พันธุ์มะเดื่อ ครูรัตน์เลือกมาปลูกคือ พันธุ์แบล็คแจ็ค (Black Jack) ซึ่งมีขนาดผลใหญ่ถึงใหญ่มาก รูปทรงหยดน้ำ สีของผลเมื่อสุกเป็นสีแดงม่วงปนน้ำตาล สีเนื้อในแดง-ขาว ขนาดใบใหญ่ปานกลาง มี 5 แฉก เริ่มจากการใช้ดินผสมใบก้ามปู มะพร้าวสับ แกลบดำ เปลือกถั่ว ปุ๋ยคอก ผสมรวมหมักไว้เพื่อเป็นดินปลูก คุณสมบัติของดินปลูกมะเดื่อฝรั่งคือ ต้องสามารถระบายน้ำได้ดี โปร่ง ดินปลูกที่แฉะเกินไปจะทำให้เกิดโรคได้ง่าย ช่วงแรกปลูกให้น้ำวันละ 4 ครั้ง ครั้งละ 1 นาที เพื่อเร่งการเจริญเติบโต แต่ทั้งนี้น้ำต้องไม่ขัง พอรากเริ่มเดินกิ่งจะเริ่มแตก เลี้ยงกิ่งไว้ไม่เกิน 4 กิ่ง เพราะจะให้ผลที่สมบูรณ์ กิ่งที่เลี้ยงไว้จะค่อยๆ โตขึ้น และกางออกข้างซึ่งจะกีดขวางทางเท้า จึงต้องใช้เชือกดึงให้ขึ้นด้านบน ใช้เวลาประมาณ 4 เดือน มะเดื่อฝรั่งจะเริ่มให้ผลผลิต

โยงเชือกให้ต้นตรง

ในช่วงระยะนี้ดินปลูกเก่าจะค่อยๆ ยุบไป จึงต้องเติมดินปลูกตามสูตรเก่าเติมลงไปอีก ระหว่างนี้ใช้จุลินทรีย์ฉีดพ่นลงในดินเครื่องปลูก เพื่อเร่งให้วัสดุปลูกย่อยสลาย ปลดปล่อยธาตุอาหารให้พืชอย่างสม่ำเสมอ กิ่งที่นอกเหนือจาก 4 กิ่ง ที่เลี้ยงไว้ก็จะตัดออก และหมั่นสางใบเก่าทิ้งอยู่เสมอ จากที่เห็นในภาพจะเห็นว่าพื้นโรงเรือนของครูรัตน์ ไม่ว่าทางเดินและบริเวณโคนต้นมะเดื่อฝรั่งในวงบ่อจะไม่มีวัชพืชและเศษสิ่งสกปรกอยู่เลย เพราะการเก็บพื้นโรงเรือนให้สะอาดเป็นการป้องกันไม่ให้มีสิ่งที่เชื้อโรคต่างๆ มาอาศัยอยู่ได้ การดูแลอย่างนี้สวนครูรัตน์เน้นเป็นสิ่งสำคัญ

การให้น้ำเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง สวนครูรัตน์จะตั้งการรดน้ำด้วยเครื่องอัตโนมัติไว้ 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น ช่วงละ 1 นาที ส่วนในฤดูฝนจะไม่ใช้เครื่องอัตโนมัติ เนื่องจากต้องดูสภาพฝนฟ้า ถึงโรงเรือนจะสามารถกันฝนก็จริงแต่น้ำก็สามารถซึมเข้าทางดินได้ ในช่วงหน้าฝนนี้รสชาติของมะเดื่อฝรั่งจะค่อนข้างหวานน้อยกว่าปกติ เนื่องจากรากสามารถดูดน้ำจากน้ำฝนได้ ไม่สามารถคุมน้ำได้เหมือนในฤดูร้อนและฤดูหนาว การที่ไม่สามารถคุมน้ำได้จะทำให้ผลแตกและความหวานลดลง เพราะดูดน้ำเข้าไปมากเกิน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือการควบคุม

4.สวนสะอาดมาก

แผนการตลาดของครูรัตน์

จากการที่ครูรัตน์เปิดเพจ เกษียณแล้วทำไร ดีวะ ที่สื่อสารกับคนในโลกโซเชียล จึงมีคนติดตามอยู่ส่วนหนึ่ง และมีการอัพเดตข้อมูลในนั้นตลอดเวลา ทำให้คนอื่นรู้ว่าครูรัตน์คิดทำอะไร เมื่อมีผลิตเพจใหม่ชื่อ สวนมะเดื่อฝรั่งครูรัตน์  จึงเกิดขึ้น นับเป็นการตลาดที่มีลูกค้าติดตามชมมาตั้งแต่ต้น ทำให้คนชมเพจมีความรู้สึกร่วมตั้งแต่เริ่ม ปัจจุบันมะเดื่อฝรั่งของครูรัตน์ ผลผลิตอยู่วันละ 7-10 กิโลกรัม จึงไม่พอขาย ทำให้ต้องสร้างโรงเรือนขึ้นมาใหม่อีกหลังหนึ่งซึ่งใกล้จะมีผลผลิตแล้ว

.ลูกดก

ถึงแม้จะเลยวัยเกษียณมาหลายปี แต่ความที่ครูรัตน์คิดไม่เหมือนการทำเกษตรยุคเก่าที่ปลูกแล้วค่อยหาตลาด แต่ครูรัตน์สื่อสารช่องทางการตลาดตั้งแต่เริ่มปลูกซึ่งเป็นวิธีคิดทางการตลาดยุคใหม่ เรื่องการตลาดและเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่เป็นจุดอ่อนของเกษตรกรไทยยุคเก่า ทางแก้คือให้ลูกหลานหรือเด็กยุคใหม่สื่อสารทางการตลาดควบคู่ไปด้วย

บรรจุกล่องสวยงาม

สนใจซื้อหามะเดื่อฝรั่งครูรัตน์ กรุณาติดต่อทางเพจ สวนมะเดื่อฝรั่งครูรัตน์ หรือ ไลน์ ID @Figkrurat  โทรศัพท์ (086) 373-1249