เกษตรกรชัยนาท ทำฟาร์มเห็ดในโรงเรือนอีแวป ผลผลิตมีคุณภาพ ส่งขายได้ตลอดทั้งปี

ในยุคนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าโซเชียลมีเดียและเทคโนโลยีเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ครองเมืองไปทั่วทุกพื้นที่ โดยมีการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาเป็นเครื่องทุ่นแรง เพื่อช่วยในการทำงานทั้งภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในช่วงแรกของการลงทุนอาจจะดูเหมือนเป็นการใช้เงินที่มหาศาล แต่เมื่อมองไปถึงระยะยาวถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าของการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาปรับใช้ให้การผลิตสินค้ามีคุณภาพที่แน่นอนมากขึ้น

ซึ่งในขณะนี้สังเกตเห็นว่า การทำฟาร์มเห็ดกำลังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางมากขึ้น เพราะเห็ดมีคุณค่าทางโภชนาการและมีความอร่อยเฉพาะตัว จึงทำให้เห็ดหลายชนิดเป็นที่ต้องการของตลาด แต่ด้วยสภาพอากาศที่ไม่แน่นอน มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ รวมถึงเรื่องของโรคและแมลงที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับเห็ด ส่งผลให้เกษตรกรบางรายที่เพาะเห็ดได้ผลผลิตไม่เต็มที่ มีจำนวนไม่มากพอต่อความต้องการของตลาด ทำให้ส่งจำหน่ายได้ไม่ต่อเนื่อง เป็นเหตุให้สูญเสียโอกาสหลายด้านในการค้าขาย

โรงเรือนระบบอีแวป (Evap)

คุณพัชรพล โพธิ์พันธุ์ เจ้าของฟาร์มเห็ดจาวาตั้งอยู่เลขที่ 60/7 หมู่ที่ 8 ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เป็นคลื่นลูกใหม่ไฟแรงที่มองว่าอาชีพทางการเกษตรหากนำมาพัฒนาและต่อยอด สามารถยึดเป็นอาชีพหลักที่ทำรายได้แบบยั่งยืนได้ดี เขาจึงได้หันมาเพาะเห็ดโดยปลูกในโรงเรือนระบบอีแวป ที่สามารถทำให้เขาผลิตดอกเห็ดจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี โดยเห็ดที่เพาะหลักๆ คือ เห็ดนางฟ้าภูฏาน

คุณพัชรพล โพธิ์พันธุ์

นำความรู้เรื่องนวัตกรรม

มาปรับใช้ในการเพาะเห็ด

คุณพัชรพล เล่าให้ฟังว่า จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ต่อมามีความสนใจที่อยากจะกลับมาอยู่บ้านที่จังหวัดชัยนาท จึงได้มาศึกษาถึงอาชีพที่สามารถทำรายได้ให้กับเขาได้ โดยในระหว่างนั้นค่อนข้างมีความสนใจเรื่องเห็ดหลายชนิด ทำให้ศึกษาหาความรู้และวิธีการผลิตในวิธีการต่างๆ ด้วยตนเอง มีการปรับสูตรและเรียนรู้อยู่เสมอ ทำให้เห็ดที่เพาะอยู่ในฟาร์มมีผลผลิตได้ตลอดทั้งปี

“ปัจจุบัน ผู้บริโภคค่อนข้างใส่ใจในเรื่องของสุขภาพมากขึ้น ผมเลยมองว่าเห็ดยังถือเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่ตลาดต้องการสูง แต่กำลังการผลิตและการจัดการอื่นๆ ยังทำให้เห็ดที่เพาะออกดอกไม่ตลอดทั้งปี เลยมีแนวความคิดที่ต้องมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย คือการดูแลให้อยู่ในสภาพแวดล้อมระบบโรงเรือน แบบที่เราสามารถควบคุมเรื่องอุณหภูมิ ความชื้น และการสเปรย์น้ำให้โรงเพาะเห็ด ถ้าองค์ประกอบและสภาพแวดล้อมลงตัว ก็จะสามารถทำให้มีเห็ดเก็บขายได้ตลอดทั้งปี ผมจึงเลือกเพาะเห็ดในระบบอีแวป” คุณพัชรพล เล่าถึงที่มา 

การทำก้อนเชื้อ

ฟาร์มเห็ดอัจฉริยะ

สั่งการด้วยสมาร์ทโฟน

คุณพัชรพล บอกว่า หลักการของระบบอีแวป (EVAP) ทำให้สามารถควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และการสเปรย์น้ำภายในโรงเรือนเพาะเห็ดโดยไม่ต้องใช้คนทำงาน โดยจะสั่งงานผ่านระบบแบบอัตโนมัติ คือติดตั้งการสั่งงานต่างๆ ให้ผ่านสมาร์ทโฟน ไปยังแผงควบคุมที่อยู่ภายในโรงเรือน ซึ่งระบบอัตโนมัติจะทำหน้าที่สั่งงานตามสภาพอากาศได้เอง หากอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ก็จะปรับสภาพแวดล้อมต่างๆ ในโรงเรือนให้เหมาะสมกับเห็ดแต่ละชนิดอยู่ตลอดเวลา เพื่อทำให้เห็ดมีดอกที่สมบูรณ์และออกดอกในปริมาณที่มาก ที่สำคัญช่วยลดต้นทุนแรงงานคนลงได้อย่างมากอีกด้วย

ก้อนเชื้อรอส่งลูกค้า

“ช่วงแรกที่ทำก็คิดว่า ระบบนี้มันจะง่าย เพราะเราออกแบบการทำงานของโรงเรือนให้เหมือนกับโรงเลี้ยงไก่ แต่ถ้าทำแบบนั้นมากเกินไปจนทำให้ต้นทุนในเรื่องของค่าน้ำ ค่าไฟ เราสูงขึ้น ผมจึงนำปัญหาที่เกิดมาปรับปรุงระบบ คือมีการให้เกิดช่วงกระตุ้น บางช่วงพักตัว และมีการใส่ใจในเรื่องของการคุมปริมาณอากาศ ที่ส่งผลต่อความยาวของก้านดอกและความแก่ของดอก เพราะฉะนั้นผมมองว่าระบบเราก็ยังต้องมีการพัฒนาเรื่อยๆ เพื่อให้เหมาะสมกับการเพาะเห็ดมากที่สุด ผมมองว่าจากการพัฒนามาตอนนี้ก็เริ่มนิ่ง สามารถช่วยงานเกษตรกรอย่างผมได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ในการทำงาน ส่วนอีก 10 เปอร์เซ็นต์ ยังต้องมีการพึ่งพาแรงงานคนเข้ามาช่วย เช่น การเก็บดอกช่วงเช้าและเย็น จากที่ใช้มากกว่า 2 คน มาดูแลในทุกๆ วัน แต่พอมาทำด้วยระบบนี้ คนงานเราก็จ้างมาเพื่อเก็บดอกช่วงเวลาต่างๆ ต่อโรงเรือนเราก็ใช้แรงงานเพียงคนเดียว” คุณพัชรพล บอก

การผลิตก้อนเชื้อเห็ด

ในเรื่องของต้นทุนสร้างโรงเรือนนั้น คุณพัชรพล บอกว่า ถึงแม้จะลงทุนสูงหน่อยในช่วงแรกเป็นเงินประมาณทุนเริ่มต้น  200,000-300,000 บาท เป็นค่าวัสดุโรงเรือนและอุปกรณ์ต่างๆ แต่ถ้ามองถึงระยะยาวก็ถือว่าคุ้มค่า โดยขนาดโรงเรือนที่ใช้เพาะเห็ด อยู่ที่ 6×15 เมตร สามารถบรรจุก้อนเชื้อเห็ดได้ถึง 15,000 ก้อน ทั้งนี้แม้จะมีต้นทุนในการก่อสร้างที่สูงแต่อายุการใช้งานของโรงเรือนนานถึง 10 ปีทีเดียว

“ต้นทุนโรงเรือนหลายๆ คนอาจจะมองว่าแพง แต่ถ้ามีการจัดการที่ดี และทำตามระบบอย่างที่ฟาร์มเราทำ ก็สามารถคืนทุนได้ภายใน 2-3 ปี และโรงเรือนยังมีอายุการใช้งานที่นานถึง 10 ปี จึงไม่ต้องกังวลว่าหลังจากคืนทุนแล้วโรงเรือนจะพังต้องลงทุนใหม่ แต่สามารถใช้งานได้นาน พอหลายๆ คนมองเห็นว่าสามารถทำงานได้ดีผลผลิตที่ได้ก็มีคุณภาพด้วย เกษตรกรหลายๆ ท่าน ก็เริ่มให้ความสนใจ เริ่มมาทำกันเป็นเครือข่ายเป็นลูกฟาร์มของเรา ซึ่งเราก็มีบริการทั้งก้อนเชื้อให้กับผู้ที่ต้องการซื้อไปเพาะ พอผลผลิตออกมาจะขายเองก็ได้ หรือเข้ามาขายในเครือข่ายเราก็ยินดีทำการตลาดร่วมกัน” คุณพัชรพล บอก

แผงควบคุมอัตโนมัติ

ซึ่งการผลิตดอกเห็ดให้ได้คุณภาพ คุณพัชรพล บอกว่า จะนำก้อนเชื้อเห็ดที่มีเชื้อเดินเต็มถุงมาแขวนภายในโรงเรือนประมาณ 15,000 ก้อน พร้อมทั้งควบคุมอุณหภูมิภายในโรงเรือน อยู่ที่ 27-30 องศาเซลเซียส หากช่วงใดมีสภาพอากาศที่ร้อนจนเกินไป จะตั้งระบายอากาศ 5 นาที ทุก 50 นาที ถ้าเป็นช่วงฤดูหนาวจะระบายอากาศ 2 นาที ทุกครึ่งชั่วโมง โดยก้อนเห็ดทั้งหมดจะมีอายุให้เก็บดอกเห็ดจำหน่ายได้อยู่ที่ 5 เดือน เมื่อครบกำหนดแล้วควรนำออกและเปลี่ยนก้อนเชื้อใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมของเชื้อราและโรคแมลงต่างๆ ช่วยทำให้ไม่เกิดการสิ้นเปลืองในการจัดการ

พื้นที่ภายในโรงเรือน

 ดอกเห็ดมีคุณภาพ

ตลาดรับซื้อหมด

จากการศึกษาและเก็บข้อมูลมาโดยตลอดในช่วงที่ทดลองเพาะเห็ด บวกกับการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ควบคุมในทุกๆ เรื่อง คุณพัชรพล บอกว่า ทำให้เขาสามารถคำนวณและคาดการณ์ผลผลิตได้อย่างแน่นอน สามารถต่อรองในเรื่องของราคาได้สูงกว่าปกติ เพราะเห็ดที่เพาะในโรงเรือนระบบปิดค่อนข้างมีความสะอาด ไม่มีสิ่งปนเปื้อนเหมือนการเพาะในโรงเรือนทั่วไป จึงทำให้เห็ดที่ออกจากฟาร์มของเขาสามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้นาน จึงเป็นจุดเด่นที่ลูกค้าค่อนข้างไว้วางใจในคุณภาพ

ดอกเห็ดพร้อมเก็บจำหน่าย

โดยราคาก้อนเชื้อเห็ด จำหน่ายอยู่ที่ ก้อนละ 7.50-8 บาท ส่วนดอกเห็ดสวยๆ ดอกสมบูรณ์มีคุณภาพ จำหน่ายได้ราคาอยู่ที่ 60 บาท ต่อกิโลกรัม เมื่อถึงช่วงที่ราคาลดลง แต่ที่ฟาร์มของเขาก็ยังจำหน่ายอยู่ที่ราคาเดิม โดยไม่มีลดราคาลงไปกว่านี้ เพราะเป็นเหมือนสัญญาทางการค้าที่ซื้อขายกันแบบระยะยาว

“ช่วงที่ฟาร์มผมยังไม่ได้ทำก้อนเอง ช่วงนั้นเราก็มีรับก้อนเชื้อมาจากที่อื่น ช่วงที่ลองผิดลองถูกเราไม่มีความรู้ในเรื่องการเปิดดอก ทำให้การเพาะเห็ดแรกๆ เกิดความเสียหายมาก เพราะเราซื้อมาจากที่ไกลๆ พอเรามาศึกษาจริงๆ การเดินทางขนส่งมีความสำคัญมาก ในเรื่องของคุณภาพการเปิดดอก พอผมมีโอกาสได้มาทำก้อนเชื้อเอง ผมจะคัดลูกค้าถ้าอยู่ไกลผมจะไม่ขายให้ เพราะจะทำให้ก้อนเชื้อเสียหาย มันมีความร้อนจากการขนส่งเกิดขึ้น ดอกเห็ดที่ได้ก็ไม่มีคุณภาพ ก้อนเชื้ออยู่ได้ไม่นานเกิดราเขียว ผมจึงต้องควบคุมคุณภาพเรื่องนี้ด้วย ดังนั้น ทุกคนที่ได้มีศึกษาในการทำเห็ดกับผมจะต้องไม่ลงทุนเสียเปล่า ทำแล้วต้องได้เงิน ได้กำไร” คุณพัชรพล บอก

สำหรับท่านใดที่สนใจในเรื่องของการเพาะเห็ด หรือจะศึกษาเข้าดูงาน เพื่อสร้างอาชีพทางการเพาะเห็ด ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณพัชรพล โพธิ์พันธุ์ หมายเลขโทรศัพท์ (065) 506-8869, (095) 635-1811