สับปะรดห้วยมุ่น อุตรดิตถ์ มีให้กินตลอดปี

สับปะรด ก็คือ สับปะรด เหมือนกันจริงหรือ “สับปะรดห้วยมุ่น” หลายคนได้ลิ้มรสอันแสนเลิศมาแล้ว และประทับใจ จำได้มิมีวันลืม แต่ก็มีอีกหลายคนที่ยังอยู่ในความรู้สึกอยากลองชิมบ้าง ระยะนี้สับปะรดอยู่ในช่วงฤดูของรุ่นแรก เชื่อแน่ว่าหลายคนคงได้ชิมสมใจอยากแล้ว ในประเทศไทยและต่างประเทศหลายแห่ง ที่ไม่สามารถหาสับปะรด เป็นผลไม้สดจากสวนกินได้ ก็อาศัยสับปะรดกระป๋องแทน ที่อุตรดิตถ์ สับปะรดห้วยมุ่นมีให้กินตลอดปี เพียงแต่จะมีมากมีน้อยเป็นช่วงเวลาเท่านั้น

ประเทศไทย เป็นผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์สับปะรดเป็น อันดับ 1 ของโลก มูลค่าประมาณปีละกว่า 20,000 ล้านบาท เป็นน้ำพักน้ำแรงของเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด ประมาณ 20 จังหวัด และสับปะรดห้วยมุ่น ซึ่งเป้าหมายเบื้องต้น คือปลูกเพื่อการบริโภคผลสด ก็มีหลายส่วนที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมายการผลิตเพิ่มจากสับปะรดบริโภคสด เป็นสับปะรดโรงงาน แต่แค่บางส่วนเท่านั้น จึงเป็นคำตอบสำหรับหลายๆ ท่านที่กังขาในความเป็น “สับปะรดห้วยมุ่น” ที่อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ เพราะบางครั้งบางที ที่ซื้อสับปะรดห้วยมุ่นไปแล้วรสชาติ สีสัน ขนาด ไม่เหมือนที่ได้รู้จักอย่างที่เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ไว้

สับปะรด มีชื่อสามัญ Bromellacae ชื่อวิทยาศาสตร์ Ananas Comosus Merr. มีชื่อเรียกในไทยหลายๆ ชื่อ ภาคกลาง หรือชื่อกลาง เรียก “สับปะรด” คนอีสาน เรียก “บักนัด” คนเหนือเรียก “มะขะนัด”, “มะนัด”, “บะนัด” คนภาคใต้ เรียก “ย่านัด”, “ย่านนัด” หรือ “ขนุนทอง” สับปะรดเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เป็นพืชล้มลุกแต่มีอายุให้ผลหลายปี สืบต่ออายุจากต้นลูกที่แตกหน่อจากต้นแม่ ลักษณะคล้ายต้นกล้วย ต้นที่ให้ผลแล้วจะแตกหน่อให้ผลต่อไปเรื่อยๆ ผลสับปะรด คือ ผลย่อยๆ ที่เจริญเติบโตอัดแน่นติดกันเป็นผลใหญ่ ตามที่เห็น 1 ตา คือ 1 ผลย่อย เกิดมาจากดอก ต้นสับปะรดที่จริงคือส่วนของ “เหง้า” ที่มีปล้องสั้นๆ และแตกใบยาวๆ เรียงซ้อนกันเป็นวงรอบต้น ต้นละ 70-80 ใบ

ในประเทศไทย สันนิษฐานว่ามีเข้ามาประมาณปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ไม่แน่ชัดว่าใครนำเข้ามาครั้งแรก ช่วง ค.ศ. 1680-1700 หรือ พ.ศ. 2223-2243 สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการติดต่อสัมพันธ์ทางการค้ากับชาติโปรตุเกส  คงมีการนำเอาสับปะรดเข้ามาเผยแพร่ เชื่อว่าจะเป็นพันธุ์อินทรชิต ซึ่งตอนนี้เหมือนจะถือเป็นพันธุ์พื้นเมืองของไทยที่มีอยู่ทั่วๆ ไปนั่นแหละ มีพันธุ์ดีเข้ามาปลูกทางภาคใต้ก่อน ในสมัยท่านคอซิมเต็ก ณ ระนอง เจ้าเมืองหลังสวนชุมพร หรือชื่อ พระจรูญ ราชโภคาการ นำสับปะรดพันธุ์หนึ่งจากเกาะปีนัง มาเลเซีย เข้ามาปลูก เรียก สับปะรดฝรั่ง

เพราะปีนังเป็นเมืองอาณานิคมของฝรั่งอังกฤษ เอามาปลูกแซมสวนยางที่ภูเก็ต จึงมีชื่อสับปะรดดัง “สับปะรดภูเก็ต” หรือ “พันธุ์สวี” แพร่หลายในภาคใต้ สับปะรดภูเก็ต หรือพันธุ์สวี หรือพันธุ์ตราดสีทอง เป็นสับปะรดรุ่นแรกๆ ที่ทำชื่อเสียงให้กับวงการสับปะรด เป็นผลไม้เศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้ประเทศจำนวนมาก และขยายพื้นที่ปลูกไปหลายแหล่ง เช่นเดียวกับ “สับปะรดห้วยมุ่น” หนึ่งเดียวของอุตรดิตถ์ หนึ่งเดียวในประเทศไทย

ในวงการผู้บริโภคสับปะรด ต่างให้ความเห็นว่า กินสับปะรดสดจากไร่ได้จากสวนนั้นดีที่สุด เช่น สับปะรดห้วยมุ่น ถ้าจะให้ดีต้องเข้าไปสัมผัส ตัด ชิม กินที่ตำบลห้วยมุ่น อำเภอน้ำปาด เพราะจะได้เข้าไปชมไร่สับปะรดกว่า 30,000 ไร่ ที่มองเห็นเป็นแปลงสับปะรดผืนใหญ่ พื้นที่เกษตรของตำบลห้วยมุ่น กว่าร้อยละ 95 เป็นพื้นที่ปลูกสับปะรด ความแตกต่างทั้งสภาพพื้นที่ ลักษณะดิน ลักษณะภูมิอากาศ ยิ่งเป็นช่วงฤดูหนาว สับปะรดห้วยมุ่นออกสู่ตลาด ท่ามกลางบรรยากาศที่เย็นฉ่ำตามธรรมชาติ เช้าขึ้นมารับไอหมอกและลมหนาว ต้มน้ำชงกาแฟดื่มข้างกองไฟ กลางไร่สับปะรด ในขณะเดียวกัน สับปะรดที่บอกไว้ตอนต้นว่า เป็นสับปะรดโรงงานก็จะไม่มีให้เห็น สับปะรดห้วยมุ่นคุณภาพดี ก็มีให้ลิ้มรสกันอย่างเต็มอิ่ม รสชาติที่แท้จริงต้องสัมผัสด้วยลิ้น จึงจะรู้

อยากจะบอกถึง คำว่า “สับปะรดโรงงาน” กับ “สับปะรดบริโภคสด” ว่าแตกต่างกันอย่างไร แท้ที่จริงแล้วก็คือ สับปะรดอันเดียวกัน ถ้าเป็นสับปะรดที่ส่งโรงงาน ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “สับปะรดหัวโล้น” ในการเก็บเกี่ยว จะตัดก้านและจุก หรือตะเกียงออกทิ้งหมด ไม่มีการคัดเกรดว่าเนื้อหนึ่งเนื้อสอง ตัดเสร็จก็หอบหิ้วขนย้ายไปรวมกันเพื่อชั่ง ให้แผนกรับส่ง หรือแผง หรือจุดรับซื้อของโรงงาน มีรถโรงงานที่เป็นรถขนาดใหญ่ติดรถพ่วงด้วย เที่ยวหนึ่งที่ต้องรวบรวมก่อนขนออกจากพื้นที่ ขึ้นรถบรรทุกขนาดใหญ่ติดพ่วง 30-32 ตัน ส่งไปเข้าโรงงาน นับจากวันเก็บไปถึงโรงงานก็ใช้เวลานานพอสมควร

เพราะฉะนั้น สับปะรดที่เกษตรกรจะตัดขายให้โรงงาน จึงคละเคล้ากันออกมาทั้งลูกเล็ก ลูกใหญ่ แก่บ้างดิบบ้าง และในส่วนหนึ่งที่เป็นสับปะรดหลงขนาดที่โรงงานไม่เอา ก็จึงมีการขายสดบ้าง แจกบ้าง คนไปขอซื้อบ้าง มีหลายรายที่ไปซื้อมากินแล้วเกิดข้อกังขาขึ้นมา ส่วนสับปะรดที่ตั้งใจปลูกเพื่อขายผลบริโภคสด ด้วยกรรมวิธีผลิตแบบธรรมชาติอินทรีย์ ผู้บริโภคให้ความไว้วางใจได้แน่นอน เพราะสับปะรดห้วยมุ่น ชาวห้วยมุ่นเขาหวงแหนในชื่อเสียงคุณภาพของเขาอย่างที่สุด

สับปะรดบริโภคผลสด เกษตรกรจะตัดติดทั้งขั้วและจุกหรือตะเกียง บอกได้ว่าไม่ใช่เพื่อให้มีน้ำหนักมากจะได้ขายได้เงินเยอะ ไม่ใช่นะ สาเหตุที่ต้องตัดมีติดขั้วและจุก ก็เป็นตามหลักวิชาการ และเป็นข้อพิสูจน์สำหรับผู้บริโภคว่า เป็นของสดแท้ ปลอดภัยจากศัตรูพืช เช่น โรค แมลง ซึ่งก็อย่างที่รู้กัน ถ้ามีอาการที่ไม่สมบูรณ์ทั้งที่เปลือกผล ขั้ว จุก แสดงว่ามีศัตรูพืชรบกวน และมีการใช้สารเคมีในการดูแลรักษาอย่างแน่นอน สับปะรดผลสด นอกจากจะไปเสาะหาลิ้มรสได้จากในสวนในไร่ห้วยมุ่นแล้ว ก็ยังจะมีพ่อค้าผลไม้ไปรับซื้อออกมาจำหน่าย หรือสั่งซื้อจากผู้รวบรวมในพื้นที่

ถ้ามีผู้สั่งซื้อจากที่ไกลๆ ก็มีผู้ทำอาชีพบริการรับส่งสับปะรด ดังนั้น สับปะรดห้วยมุ่น ของแท้จึงกระจายไปทั่วประเทศ และแม้แต่ต่างประเทศ เมื่อเส้นทางเดินของสับปะรดห้วยมุ่นเป็นเช่นนี้ ในบรรยากาศที่ชื่อเสียงคุณลักษณะที่โดดเด่นของสับปะรดห้วยมุ่นพุ่งสูง ย่อมมีโอกาสที่เกิดการสับสน จะบอกว่าอย่างไรดี ถ้ามีการปะปนหรือแปลกปลอมหรือตั้งใจหลอกล่อกันรับบริการเอาของที่ “ไม่ใช่” สิ่งเหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ

สับปะรดห้วยมุ่น เป็นสับปะรดที่ได้รับการพัฒนา และดูแลการผลิตทุกด้าน เป็นสับปะรดคุณภาพมาตรฐานปลอดภัย GAP ปราศจากสารไนเตรต ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการผลิตสับปะรดนอกฤดูโดยใช้สารเร่ง หรือจากปุ๋ยไนโตรเจนหลังการบังคับดอก หรือจากการตอนจุก เมื่อส่งเข้าโรงงานสับปะรดกระป๋องแล้ว สารไนเตรตจะทำปฏิกิริยากับกระป๋องดีบุก กลายเป็นสารก่อมะเร็ง และทำให้อายุการเก็บรักษาสั้นลง โรงงานสับปะรดกระป๋องจึงถูกตีกลับสินค้ากันหลายราย สร้างความเสียหายมาก สับปะรดส่วนใหญ่คือ สับปะรดบริโภคสด ก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย เกษตรกรผู้ผลิตก็ถูกตีตราความไม่ปลอดภัยไปด้วย ความไว้วางใจก็หดหายตามไป ซึ่งอาจจะลุกลามถึงสินค้าหรือผลผลิตจนเกิดปัญหาตามมาอีกหลายด้าน ที่แน่นอนคือ กระทบต่อการตลาด ราคา และความเชื่อถือ

“สับปะรดห้วยมุ่น” เป็นผลไม้ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ตามประกาศโฆษณาการรับขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เลขที่ประกาศ 62 เล่มที่ 16 ตั้งแต่ วันที่ 13 มิถุนายน 2555 ระบุว่า สับปะรดห้วยมุ่น (Pineapple Hauymon) หมายถึง สับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย ที่มีผิวบาง ตาตื้น เนื้อหนา สีเหมือนน้ำผึ้ง รสชาติหวาน หอม ฉ่ำน้ำ ไม่ระคายลิ้น ซึ่งปลูกในเขตพื้นที่ตำบลห้วยมุ่นและตำบลน้ำไผ่ของอำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ลักษณะทั่วไปทางกายภาพ ผลมีรูปทรงกลม น้ำหนักผลระหว่าง 1.5-3.5 กิโลกรัม  หรือเฉลี่ย 2.2 กิโลกรัม เปลือกผิวบาง ตาตื้น ผลดิบจะสีเขียวคล้ำ ผลแก่เต็มที่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมส้ม

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

สับปะรดห้วยมุ่น มีประวัติชื่อเสียงดีมาตลอด คุณภาพคงเส้นคงวา การดำรงรักษาความดี ลักษณะโดดเด่นไว้ให้มั่นคง จึงเป็นสิ่งที่เกษตรกรชาวไร่สับปะรดห้วยมุ่นต้องตระหนัก ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องร่วมช่วยดำรงรักษา ซึ่งประกาศของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “สับปะรดห้วยมุ่น” ทะเบียนเลขที่ สช 5610056 ให้ขึ้นทะเบียนสับปะรดห้วยมุ่น เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่ วันที่ 13 มิถุนายน 2555 ประกาศ ณ วันที่ 18 กันยายน 2556 การดำรงรักษาคุณลักษณะที่เป็นอัตลักษณ์ของสับปะรดห้วยมุ่นมีข้อกำหนด ระบุไว้ประกอบในการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) “สับปะรดห้วยมุ่น” อย่างชัดเจน และ ปี 2559 มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ได้ช่วยดำเนินการตรวจสอบคุณภาพ พร้อมทั้งจัดการด้านมาตรฐานสับปะรดห้วยมุ่น ร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้ความเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ คงไว้ในมาตรฐานความเป็น “สับปะรดห้วยมุ่น” อย่างชัดเจน