อดีต ผบ.เรือนจำกลางคลองไผ่ เปิดศูนย์เกษตรอินทรีย์ฯ แนะสูตรปลูกทุเรียนออร์แกนิก

แม้วันนี้ทุเรียนทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี จะยังไม่โด่งดังมีชื่อเสียงเทียบเท่าทุเรียนเมืองนนท์หรือทุเรียนหลงลับแล แต่หากสอบถามผู้ที่ได้ลิ้มชิมรสแล้วต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าหวานอร่อยไม่แพ้ทุเรียนที่ไหนเลย โดยเฉพาะทุเรียนอินทรีย์ผลผลิตของศูนย์เรียนรู้สวนเกษตรอินทรีย์ทองผาภูมิ “บิลาลออแกนิกฟาร์ม” (บิ-ลาล ภาษาอาหรับ แปลว่า ความสะอาด) ตำบลห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ ที่มีคุณอารีย์ เฉลยสุข อดีตผู้บัญชาการเรือนจำกลางคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เป็นเจ้าของ

 ทุเรียนทองผาภูมิชิมแล้วติดใจ

ศูนย์แห่งนี้มีเนื้อที่กว่า 200 ไร่ และปลูกพืชผักผลไม้ออร์แกนิกหลากหลายชนิด โดยมีทุเรียนหมอนทองเป็นหลัก รองลงมาเป็นมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง แซมด้วยชมพู่ ส้มโอ มะไฟ ฝรั่ง เลม่อน มัลเบอร์รี่ มันหวานญี่ปุ่น ผักสลัด พืชผักสวนครัว และสมุนไพรต่างๆ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังทำฟาร์มเลี้ยงกระต่าย ประมาณ 500 ตัว เพื่อขายทั้งตัวเป็นๆ และนำมูลมาทำเป็นปุ๋ยใช้ในแปลงเกษตร รวมทั้งยังมีฟาร์มม้าเกือบ 20 ตัว เรียกว่าเป็นสวนเกษตรครบวงจรจริงๆ

ก่อนหน้าที่จะมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว หลังเกษียณอายุราชการ เมื่อปี 2556 คุณอารีย์สนใจและศึกษาเรื่องเกษตรอินทรีย์มานานหลายปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทำหัวเชื้อจุลินทรีย์ การทำสมุนไพร รวมทั้งการทำไคโตซาน และยังนำหลัก “เกษตรบำบัด” ไปใช้ในเรือนจำ เพื่อให้นักโทษเรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์ เพราะนอกจากจะใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์แล้วยังสามารถนำวิชาความรู้ที่ติดตัวไปใช้ประโยชน์หลังพ้นโทษได้ด้วย

คุณอารีย์ให้ข้อมูลว่า ทุกวันนี้ทุเรียนทองผาภูมิขึ้นชื่อมาก ถ้าใครเคยได้ชิมแล้วจะติดใจหมด เพราะทุเรียนที่นี่มีแคลเซียมสูง ลูกค้าที่เคยกินมาก่อนจะไม่เกี่ยงราคาเลย รสชาติจะมัน หวานไม่มาก เนื้อละเอียด ไม่มีคำว่าแฉะ ราคาที่สวนประมาณ 150-180 บาท ต่อกิโลกรัม ถือว่าไม่แพง แต่ถ้ามาขายในห้างสรรพสินค้าหรือออกบู๊ธตามงานต่างๆ จะขายกิโลกรัมละ 250 บาท หากแกะเรียบร้อยแล้วตกกิโลกรัมละ 500-600 บาท ปกติทุเรียนทองผาภูมิจะออกลูกช้ากว่าทุเรียนภาคตะวันออก และในกรณีที่ปลูกแบบอินทรีย์จะออกลูกไม่พร้อมกัน ต่างจากทุเรียนที่ใช้ปุ๋ยเคมี

ทั้งนี้ ในส่วนผลผลิตออร์แกนิกของศูนย์ หากเป็นพืชผักจะใช้แบรนด์อามานา ส่วนผลไม้ใช้ชื่อแบรนด์ไวลด์ แรพบิท (Wild Rabbit)

ศูนย์เรียนรู้สวนเกษตรอินทรีย์ทองผาภูมิ มีทุเรียนหมอนทอง 400 ต้น ปลูกมาประมาณ 6-7 ปี ปีนี้ออกลูกเป็นรุ่นที่สาม รุ่นแรกๆ ผลผลิตมีไม่มากนัก ต้นหนึ่งไม่เกิน 10-20 ลูก น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 2-3 กิโลกรัม แต่บางลูกหนัก 7-8 กิโลกรัมก็มี

 

ใช้มูลกระต่าย-มูลม้าทำปุ๋ย

คุณอารีย์ บอกว่า การลงทุนทำเกษตรอินทรีย์ของศูนย์ไม่สูงมาก ยกเว้นการวางระบบน้ำที่ใช้สปริงเกลอร์ เนื่องจากทำปุ๋ยอินทรีย์เองหมดเพียงแต่ต้องใช้เวลาและเสียค่าแรงในการไปฉีดพ่น อาจต้องพ่นสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ซึ่งเรื่องของดินฟ้าอากาศของที่ทองผาภูมิก็เป็นปัญหา เนื่องจากฝนจะตกบ่อย และมีหมอกมาก โดยเฉพาะตอนทุเรียนและมะม่วงออกดอก จึงต้องหาทางแก้ โดยการใช้น้ำผสมจุลินทรีย์ฉีดพ่นเพื่อให้ไปชะล้าง

เจ้าของศูนย์เรียนรู้สวนเกษตรอินทรีย์ทองผาภูมิอธิบายถึงการดูแลทุเรียนว่า การทำทุเรียนอินทรีย์ไม่ใช่เรื่องง่าย ค่อนข้างจะเหนื่อย สำคัญที่สุดเลยเรื่องของน้ำ ต้องไม่ขาด และจะเน้นการให้ปุ๋ยทางใบ คือจุลินทรีย์ ซึ่งในจุลินทรีย์จะผสมผสานไปด้วยธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรองที่ทำมาจากฉี่กระต่าย ส่วนปุ๋ยทางรากปุ๋ยทางดินใช้มูลของกระต่ายที่นำมาหมักกับมูลม้า

ทำไมถึงต้องใช้มูลม้า คุณอารีย์อธิบายให้ฟังว่า เนื่องจากมูลม้าจะมีแร่ธาตุโบรอนสูง ขณะที่มูลกระต่ายเป็นมูลที่ดีที่สุดรองจากมูลค้างคาว ทั้งนี้ หลักๆ จะให้ปุ๋ยทางดินที่ใช้มูลกระต่ายกับมูลม้า นอกนั้นผสมด้วยแกลบดิบแกลบเผา มีซิลิกอนและโดโลไมท์ พวกนี้จะใส่ไปในปุ๋ยหมักทั้งหมดเลย โดยโรยรอบทรงพุ่ม

ในการปลูกทุเรียนอินทรีย์เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีนั้น คุณอารีย์แจกแจงว่า หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้ว จะต้องตัดแต่งทันทีเลย คือช่วงประมาณหลังเดือนมิถุนายน แต่อาจจะมีบางรุ่นที่ออกลูกประปรายอยู่บ้าง แต่ในส่วนที่เก็บลูกหมดแล้วจะต้องตัดกิ่งออกให้เหลือแต่กิ่งที่สมบูรณ์จริงๆ แล้วเริ่มให้ปุ๋ยทางดิน เพื่อให้เริ่มแตกใบใหม่มา พอใบออกมาก็ฉีดจุลินทรีย์ เพื่อไปบำรุงใบ ซึ่งมีทั้งจุลินทรีย์ทั้งสมุนไพร ทั้งไคตาซาน โดยใช้สมุนไพรประมาณ 10 กว่าชนิด เช่น หางไหลแดง กลอย บอระเพ็ด ตะไคร้หอม ขมิ้นชัน ใบยาสูบ เมล็ดสะเดา ใช้วิธีสกัดออกมาแยก แล้วมาผสมรวมกัน เพื่อบำรุงใบให้สมบูรณ์

จากนั้นพอหมดฝนจะเริ่มฉีดไคโตซานเพื่อให้แตกดอก ซึ่งต้นทุเรียนจะเริ่มติดดอกประมาณปลายๆ เดือนธันวาคม-มกราคม พอแตกดอกดีแล้วจะฉีดพ่นด้วยจุลินทรีย์ขั้วเหนียว โดยนำลูกอ่อนของผลไม้กับพวกหน่อต่างๆ อย่างหน่อกล้วยนำมาสกัด มาหมัก แล้วนำไปฉีดพ่นเพื่อให้ดอกไม่หลุดร่วง นอกจากนี้ จะบำรุงด้วยแคลเซียมที่ใช้กระดูกสัตว์ป่นมาสกัด รวมกับขี้ม้าป่น แต่ที่สำคัญคือต้องให้น้ำสม่ำเสมอวันละครั้ง

 

ใส่ขี้แดดนาเกลือเพิ่มความหวาน

ในส่วนของศูนย์จะให้ก่อนรุ่งสางเพราะช่วงนั้นน้ำจะไม่ร้อนพืชยังไม่ร้อน ประมาณตี 4-5 แต่ไม่ได้ให้เยอะ ให้แค่พอชุ่ม ถ้าให้เยอะดอกร่วงหมด จากนั้นจะฉีดจุลินทรีย์คอยช่วยให้เหมือนเป็นปุ๋ยทางใบ พอตอนเวลาใกล้จะเก็บผลผลิตก่อน 15 วัน จะใช้ขี้แดดนาเกลือมาใส่ เป็นเทคนิคเพื่อเพิ่มความหวาน

คุณอารีย์ย้ำอีกว่า การทำเกษตรอินทรีย์ยากตรงที่จะให้ออกดอกออกลูก ยิ่งถ้านอกฤดูกาลด้วยก็ยิ่งเหนื่อย สำหรับตัวที่จะทำให้ออกดอกก็คือไคโตซาน ซึ่งทางศูนย์ทำเอง โดยสกัดมาจากเปลือกหอยเปลือกปู กระดองปลาหมึก เปลือกสัตว์เหล่านี้ตามโรงงานปลาป่นจะไม่ใช้อยู่แล้ว ก็ไปขอซื้อมา ซึ่งแทบจะป่นอยู่แล้ว นำมาสกัด บางรายใช้น้ำ บางรายก็ใช้น้ำตาลหรือน้ำส้ม

คุณอารีย์ยังเล่าถึงการทำฟาร์มกระต่ายว่า เริ่มเลี้ยงกระต่ายตั้งแต่ปี 2560 ตอนแรกเลี้ยงไม่กี่ตัว เป็นกระต่ายเนื้อ เฟลมมิชไจแอนท์ กับ นิวซีแลนด์ไวท์ ซื้อมาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน สาเหตุที่เลี้ยงเพราะต้องการมูลมาเป็นปุ๋ย เนื่องจากศึกษามาแล้ว เหมือนกับม้าที่เลี้ยงมาตั้งแต่เริ่มทำเกษตรเลย เป็นม้าไทยเลี้ยงแบบปล่อยอยู่ในสวน และจะไปถ่ายตามต้นไม้ต่างๆ ซึ่งก็จะไม่ไปเก็บเพื่อให้เป็นปุ๋ยกับต้นไม้ตามธรรมชาติ แต่จะเก็บมูลในคอกช่วงที่ม้ามานอนทั้งตอนกลางวันและตอนกลางคืน

ตอนนี้มีประมาณ 500 กว่าตัว เลี้ยงในโรงเรือนใหญ่ๆ 2 โรง แต่ละโรงจุได้เกือบ 300 ตัว กระต่ายนั้นเลี้ยงไม่ยากแต่รายละเอียดเยอะ ในส่วนของอาหารมีทั้งหญ้าทั้งหัวอาหารด้วย โดยทางศูนย์ได้ร่วมกับปศุสัตว์ที่ชัยนาทศึกษาวิจัยนำหญ้าจากต่างประเทศมาให้กิน ซึ่งจะทำให้กระต่ายไม่เครียดและมีน้ำนมเลี้ยงลูกดี ไม่เกิน 4 เดือน ก็ได้ 1 คอก

คุณอารีย์ให้ข้อมูลในการเลี้ยงกระต่ายอีกว่า ตลาดมีเยอะ ส่วนมากจะขายลูก อย่างเช่นที่ตลาดนัดจตุจักร ขายพันธุ์กระต่ายไทย ราคาตัวละ 100 บาท อายุประมาณ 15-20 วัน เป็นอาชีพที่น่าสนใจเหมือนกัน แต่การเลี้ยงให้ได้ดีนั้นขึ้นอยู่ที่การเอาใจใส่ เกี่ยวกับโรค และอาหารการกินด้วย

สำหรับโรคที่กระต่ายมักเป็นคือ โรคท้องร่วง โรคบิด เกิดจากน้ำกับอาหารที่กินเข้าไป อย่างหญ้าสดทางศูนย์จะไม่ค่อยให้กินเพราะทำให้เป็นโรค จะให้กินพวกหญ้าแห้ง ซึ่งเป็นหญ้าที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา อบแห้งเสร็จเรียบร้อย ก็ไปซื้อมา อีกส่วนหนึ่งปลูกเองแต่ไม่พอ ศูนย์ก็มีโรงอบด้วย โรคอีกชนิดที่เจอคือโรคเรื้อนและเชื้อรา ดังนั้น ต้องสังเกตให้ดีและรีบให้ยารักษา

นอกจากจะเลี้ยงกระต่ายเพื่อใช้มูลทำปุ๋ยแล้ว ยังขายส่งให้สำนักงานปศุสัตว์อำเภอปากช่อง เพื่อไปทำวัคซีน สำหรับการขายกระต่ายตัวเป็นนั้นๆ มีน้ำหนัก 2 กิโลกรัมขึ้นไป ราคาตั้งแต่ 600-1,000 บาทแล้วแต่น้ำหนัก

ใครที่อยากกินผักผลไม้ออร์แกนิก ไปชิมได้ตามงานต่างๆ ที่ทางศูนย์มักจะไปออกบู๊ธในช่วงเทศกาลผลไม้ หรือจะแวะไปซื้อหาที่ศูนย์ก็ได้ ส่วนกรณีที่อยากเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์จะมีเจ้าหน้าที่ของศูนย์ให้คำแนะนำ ก่อนไปโทร. ติดต่อได้ที่ (094) 460-9039