ผู้เขียน | ศิริประภา เย็นยอดวิชัย |
---|---|
เผยแพร่ |
ไฮไลต์ของงานเกษตรมหัศจรรย์ที่จบไปเมื่อเดือนพฤษภาคม นอกจากจะมีพระเอกคือทุเรียนแล้ว ผลไม้อีกอย่างที่ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงาน คือ “อินทผลัม” ซึ่งเป็นผลไม้ที่กำลังเป็นที่จับตามอง เพราะเป็นดาวเด่นในแวดวงการเกษตรทั้งในเรื่องราคาและการให้ผลผลิต และยังเป็นโอกาสดีที่ในงานนี้มีการนำเกษตรกรผู้ปลูกอินทผลัมตัวจริง ไม่ได้ปลูกตามกระแส มีประสบการณ์การปลูกอินทผลัมกว่า 14 ปี จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ไปแล้ว
คุณกรรภิรมย์ ทองประสาน เจ้าของสวนแม่รัตน์อินทผลัม ที่กระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร วัย 41 ปี เล่าให้ “เทคโนโลยีชาวบ้าน” ฟังถึงจุดเริ่มต้นการปลูกอินทผลัมว่า มาจากเมื่อ ปี 2550 ได้ชมรายการทีวีช่องหนึ่ง ซึ่งแนะนำผลไม้อินทผลัม จึงมีแนวคิดที่จะนำมาปลูกที่สวน ซึ่งเคยเป็นสวนมะพร้าว โดยเป็นการปลูกเล่นๆ ไม่ได้จริงจัง เพื่อทดลองว่า อินทผลัมจะสามารถให้ดอกออกผลได้หรือไม่ บนสภาพดินที่ชื้น ซึ่งปรากฏว่า ผ่านไปเพียง 1 เดือน ต้นอินทผลัมที่ทดลองปลูกแสดงให้เห็นว่า สามารถเติบโตได้บนสภาพดินที่กระทุ่มแบน
“วันนั้น ดูรายการทีวีช่องหนึ่ง เขาไปตะวันออกกลาง เราก็คิดว่าทำไมเมืองไทยของเราไม่มีปลูกอินทผลัมบ้าง ก็เสาะหาประมาณ 1 ปี ตอนนั้นไม่มีใครรู้จัก เราก็คิดว่าจะมีทางภาคใต้ ไปถามทางประเทศมาเลเซียก็ไม่มีพันธุ์ ทีนี้ต่อมาก็มีรายการทีวีอีกช่องหนึ่ง บอกว่า มีพันธุ์จากเชียงใหม่ ก็ติดต่อทางรายการนั้น และสั่งมาปลูก 10 ต้น ต้นละ 800 บาท เนื้อหาของเกษตรกรที่มาออกรายการคือ ไปดูเกษตรแม่โจ้แล้วนำมาเพาะ มีพันธุ์อินทผลัมขายแล้วในเมืองไทย ตอนนั้นเข้าใจว่าอินทผลัมเป็นพืชที่อยู่ในที่แล้ง ถ้ามาปลูกท้องร่องที่เป็นที่ปลูกมะพร้าวเก่า อาจจะไม่รอด ปรากฏว่าผ่านไป 1 เดือน กลับรอด ก็ปลูกไปได้ 2 ปีครึ่งออกผลผลิต จึงสั่งมาปลูกอีก 100 ต้น ตอนนั้นไม่ได้คาดหวังอะไร เพราะแม่รัตน์ซึ่งเป็นแม่สามี เป็นคนชอบปลูกผลไม้” คุณกรรภิรมย์ เล่าให้ฟังอย่างภูมิใจกับการเริ่มต้นปลูกอินทผลัมจากความชอบทำให้ไม่มีเรื่องของต้นทุนและหนี้สินมาเป็นแรงกดดันให้ต้องเร่งปลูก เพื่อเร่งให้ได้ผลผลิต เรียกว่า ปลูกไปก็มีความสุขไป
คุณกรรภิรมย์ เล่าต่อว่า การปลูกอินทผลัม 100 ต้น ปลูกด้วยความไม่รู้ว่า พันธุ์ที่ปลูกนั้นกินสดได้ และมีลูกค้าที่รอซื้ออยู่ในระดับบน ซึ่งเป็นการปลูกไปและศึกษาสายพันธุ์ไปพร้อมๆ กับการตลาดไปเรื่อยๆ นั่นเอง โดยได้ประสบการณ์ทั้งจากการขายหน้าร้านและการออกงานอีเว้นท์ต่างๆ
“ช่วงที่ปลูกอินทผลัม พอ 2 ปีครึ่งออกผลผลิต ตอนนั้นไม่เคยทราบว่า อินทผลัมทานสดได้ เมื่อไรมันจะแก่สักที ก็บอกกับแม่ แม่ก็บอกว่ารออีกนิดหนึ่ง แม่บอกให้รอ ก็โทร.ไปถามที่เชียงหใม่ เขาก็บอกว่าเป็นพันธุ์ที่ทานสด อย่างเมืองไทยเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ก็ยึดกับอินทผลัมอบแห้งในกล่อง อย่างเราไปออกงานครั้งแรกไม่มีใครรู้จัก แต่เจ้าของโรงแรมรู้จักว่า นี่คือ อินทผลัมสำหรับทานสด ตอนนั้นราคาขายหน้าร้าน กิโลกรัมละ 300 บาท เขาเหมาหมดเลย เพราะเขาเคยซื้อทีละ 5 กิโลกรัม ตอนที่ก่อนจะไปออกงานอีเว้นท์ ก็ได้ผลผลิตเยอะมาก ก็บอกแม่ว่า ไม่รู้จะไปขายที่ไหน ก็ไม่คิดว่าจะออกเยอะขนาดนั้น ตอนแรกขายเพราะมีหน้าร้าน ไม่มีใครรู้จักเลย มีคนบอกว่าแห้งนี่ล่ะ คือ สด ก็เลยไปเริ่มศึกษาพันธุ์อินทผลัม และศึกษาตลาด ว่าคนทานเป็นคนกลุ่มไหน ก็รู้แล้วว่าไม่มีลูกค้าตลาดล่าง” คุณกรรภิรมย์ เล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเอง
นอกจากนี้ คุณกรรภิรมย์ ยังใช้ความเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่เปิดตลาดในโลกโซเชียล เพื่อให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งได้ผลในเรื่องยอดขายตามมาด้วย
“เราปลูกตั้งแต่ ปี 2550 เริ่มเล่นโซเชียลแล้ว ต้องหาวิธีนี้ พอเราเปิดเฟซบุ๊กกับเปิดเพจ ก็มีการถามว่า นี่อะไร ก็เริ่มมีกลุ่มเข้ามา 2 ครั้ง พอจังหวะเข้าปีที่ 2 ทางเชียงใหม่ซึ่งเราสั่งซื้อสายพันธุ์จากเขา ก็เริ่มขายสด ทำให้อินทผลัมแบบทานสดเป็นที่รู้จักในเมืองไทย ที่สวนก็เป็นที่แรกๆ ของประเทศเหมือนกัน นอกจากนี้ ทางสวนก็เปิดให้ลูกค้าช็อป ชิม ชม สวนของเรา เพราะทำเลใกล้กรุงเทพฯ ด้วย ผลตอบรับดีมาก คนไม่เคยเห็น คนเข้ามาเยี่ยมชมสวนมีมารยาทมาก ตอนเปิดสวนปีแรกๆ มีลูกค้าเป็นคนไทย เพิ่งมีต่างชาติมาไม่นาน อย่าง ฟิลิปปินส์ และอินโดฯ มีท้องร่องคล้ายที่สวน เขาก็มาดูงานที่สวน เปิดสวน” คุณกรรภิรมย์ เล่าให้ฟังด้วยความสนุกในเส้นทางการปลูกและทำตลาดอินทผลัมที่ประสบความสำเร็จ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนด้วย
เพราะฉะนั้น ใครที่สนใจปลูกอินทผลัมแบบกินสด บนวิถีเกษตรพอเพียง และไม่ตามกระแส แต่สร้างรายได้ให้งดงาม ติดต่อสอบถาม คุณกรรภิรมย์ ทองประสาน ได้ที่เบอร์โทร. (080) 669-2932 และ (061) 623-6194 และติดตามเรื่องราวของอินทผลัมได้อีกในตอนต่อไป
ท่านผู้อ่านที่สนใจอินทผลัมกินผลสด ไม่ควรพลาด วันเสาร์ที่ 18 สิงหาคม 2561 นี้ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านมีจัดสัมมนา โดยเชิญวิทยากรผู้รู้หลายๆ ด้านมาให้ความรู้ ดูรายละเอียดในเล่มนี้ แล้วรีบโทร.จองมาโดยด่วน
สายพันธุ์อินทผลัม เป็น “หัวใจ” แห่งความสำเร็จ
หนึ่งในความสำเร็จที่ คุณกรรภิรมย์ ทองประสาน ได้เข้ามาเดินบนเส้นทางผู้ปลูกอินทผลัม และติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศนั้น เพราะเน้นสายพันธุ์ที่เหมาะกับลูกค้าชาวไทย โดยเลือกสายพันธุ์เคแอลวัน
“ทางสวนไม่ได้เจาะจงให้ลูกค้าปลูกอินทผลัมเพียงอย่างเดียว เพราะให้ผลปีละ 1 ครั้ง เท่านั้นเอง ราคาขาย กิโลกรัมละ 700 บาท ซึ่งทางสวนเริ่มขายอินทผลัมเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ราคาเริ่มต้นตั้งแต่ กิโลกรัมละ 300 บาท ตอนนี้ราคาเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว เพราะฉะนั้นทางสวนจึงเลือกสายพันธุ์เคแอลวัน ซึ่งประเทศไทยเพาะเอง มีตั้งแต่ 250 บาท ถึง 4,500 บาท คือสำหรับราคา 4,500 บาท เป็นต้นโตแล้ว ออกช่อในกระถางแล้ว ส่วนราคาสายพันธุ์ต้นอินทผลัมปีนี้จะแพงมาก ถ้าปีแรกๆ ประมาณ 900 บาท ต่อต้น แต่ปีนี้นำเข้า ต้นละ 1,700 บาท ขายต้นละ 2,000 บาท พันธุ์ที่นิยม คือ บาร์ฮี ซึ่งนิยมปลูกในอินเดีย และอังกฤษ” คุณกรรภิรมย์ เล่าให้ฟังทิ้งท้าย
สำหรับอินทผลัมเป็นพืชในตระกูลปาล์มชนิดหนึ่ง มีความสูงประมาณ 30 เมตร ลำต้นมีขนาด 30-50 เซนติเมตร มีใบติดอยู่บนต้น ประมาณ 40-60 ก้าน ทางใบยาว 3.4 เมตร ใบเป็นแบบขนนก ใบย่อยนั้นพุ่งออกหลายทิศทาง ช่อดอกจะออกจากโคนใบ ผลทรงกลมรี ยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ต้นอินทผลัมให้ผลครั้งแรกเมื่ออายุ 3-5 ปี และมีอายุยืนยาวกว่า 100 ปี ให้ผลผลิตต่อปีเฉลี่ย 100-150 กิโลกรัม เป็นผลไม้ที่มีหลากหลายสายพันธุ์ เช่นเดียวกับผลไม้ชนิดอื่นๆ โดยแต่ละสายพันธุ์มีเกรด ราคา รวมทั้งรสชาติแตกต่างกัน ซึ่งพันธุ์ที่นิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์บาร์ฮี (Barhi) เป็นพันธุ์ที่เหมาะสำหรับกินสด มีแหล่งกำเนิดในประเทศอิรัก ปัจจุบัน มีการปลูกแพร่หลาย และมีห้องแล็บเพาะเนื้อเยื่ออยู่ในประเทศอังกฤษด้วย โดยสายพันธุ์นี้ได้รับฉายาว่าเป็น “แอปเปิ้ลแห่งตะวันออกกลาง”
ส่วนอีกสายพันธุ์หนึ่ง คือ เมดจูล (Medjool หรือ Medjhol หรือ Medjull) หรือ บางครั้งเรียกว่า สายพันธุ์อัมบาต (Ambatt) หรือมีอีกชื่อว่า พันธุ์ 7 ศอก เป็นพันธุ์อินทผลัมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในตอนนี้ เป็นพันธุ์ที่ให้ผลสำหรับกินผลแห้ง มีแหล่งกำเนิดในประเทศโมร็อกโก ได้รับฉายาว่าเป็น “ราชาแห่งอินทผลัม”