เกษตรปลอดสาร ทำจริงที่ “ชุมชนบ้านสำโรง”

ชุมชนบ้านสำโรง ต.ท่าสว่าง อ.เมืองสุรินทร์ เป็นอีกหนึ่งชุมชนตัวอย่างที่ “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ” (สสส.) ยกให้เป็น “ชุมชนน่าอยู่” เพราะสามารถแก้ไขปัญหามลพิษในชุมชนจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรได้อย่างแท้จริง

ปัจจุบัน ชุมชนบ้านสำโรงมีประชาชนอาศัยอยู่ทั้งสิ้น 183 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม แต่เดิมเกือบทุกหลังใช้สารเคมีมาช่วยในการเพาะปลูก มีค่าใช้จ่ายจากการซื้อสารเคมีมากถึงปีละ 89,975 บาท ในช่วงเย็นของทุกวันจะมีกลิ่นสารเคมีลอยคลุ้งทั่วหมู่บ้าน เรียกว่า เข้าขั้นวิกฤตในเรื่องการใช้สารเคมี จนในช่วงปี 2553-2555 ชาวบ้านชุมชนบ้านสำโรงเสียชีวิต 3 คน ซึ่งพบว่ามีสารเคมีสะสมในร่างกายเป็นจำนวนมาก รวมถึงเคยถูกร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงานถึงเรื่องการใช้สารเคมีรบกวนเพื่อนบ้านในพื้นที่ จนพืชผลของบ้านสำโรงเคยได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผักที่อันตราย

“พีรวัศ คิดกล้า” ผู้ใหญ่บ้านสำโรง ได้คิดหาวิธีมากมายมาแก้ไขปัญหานี้ กระทั่งมีคุณหมอจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แนะนำโครงการของ สสส.ในการแก้ปัญหาของชุมชน โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องรวมตัวเป็นกลไกการทำงาน เรียกว่า “สภาผู้นำชุมชน” ที่มีต้นแบบมาจากหมู่บ้านหนองกลางดง จ.ประจวบคีรีขันธ์

“หลังจากเข้าร่วมโครงการกับ สสส.เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2555 จึงเริ่มจัดตั้งสภาผู้นำ มีกรรมการหมู่บ้านเดิม 15 คน และรวมตัวแทนจากทุกกลุ่ม เช่น กลุ่มผัก กลุ่มเยาวชน กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มเศรษฐกิจพอเพียง กลุ่มผู้สูงอายุ ปราชญ์ ฯลฯ เข้าร่วมประชุมเพื่อหาปัญหาและแนวทางแก้ไขร่วมกัน ซึ่งเราไม่ได้พูดแค่เรื่องผัก ยังมีการพูดคุยถึงปัญหาอื่นๆ ภายในหมู่บ้าน โดยสรุปผลออกมาได้กติกาที่ทุกคนในชุมชนต้องปฏิบัติตาม 5 ข้อ เช่น 1.ปลูกผักและสมุนไพรปลอดสารพิษไว้บริโภคเองทุกบ้าน อย่างน้อย 10 ชนิด เป็นต้น” พีรวัศ กล่าว

ภายหลังกติกานี้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “สัญญาใจ”

1468829581

หนึ่งในชาวบ้านสำโรง “แก่นแก้ว หอมนวล” เล่าว่า เป็นเกษตรกรในพื้นที่มากว่า 10 ปีแล้ว ช่วงก่อนที่หมู่บ้านจะเข้าร่วมโครงการกับ สสส. จะปลูกถั่วฝักยาวในลักษณะเชิงเดี่ยว และใช้สารเคมีพ่นกำจัดแมลง จึงทำให้มีการร้องเรียนจากเพื่อนบ้านเรื่องการใช้สารเคมีที่เกินขนาด และมีปัญหาสุขภาพ จนได้รับคำแนะนำจากสภาผู้นำ จึงหันมาใช้ธรรมชาติกำจัดแมลงแทน

“อย่างการปลูกต้นดาวเรืองก็เพื่อใช้ล่อและไล่แมลง และหันมาปลูกพืช 3 ระยะ เพราะจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ทั้งปี หลังจากเลิกใช้สารเคมีมาได้ 3 ปี พบว่าอาการหอบหายขาด อีกทั้งสามารถประหยัดเงินได้กว่าปีละ 25,000 บาท” แก่นแก้วกล่าว

ปัจจุบันบ้านสำโรงสามารถลดการซื้อสารเคมีทางการเกษตรเหลือปีละ 15,485 บาท ชาวบ้านหันมาทำเกษตรอินทรีย์ นาอินทรีย์ และผักปลอดสาร ทำการเกษตรแบบผสม แทนการทำเกษตรเชิงเดี่ยวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 84 รวมถึงมีการเรียนรู้การทำน้ำหมัก ปุ๋ยหมัก สารกำจัดศัตรูพืชแบบอินทรีย์ อีกทั้งทุกครัวเรือนมีผักและสมุนไพรปลอดสารไว้รับประทานเองทุกบ้าน และมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นด้วย

ความร่วมมือของทุกคนในหมู่บ้าน ทำให้สามารถแก้ปัญหาสารเคมี จนทุกวันนี้กลายเป็นหมู่บ้านสำโรงแหล่งผักปลอดสารที่ขึ้นชื่อในท้องที่ จ.สุรินทร์

ที่มา : มติชนออนไลน์