แนะเทคนิคปลูกเงาะโรงเรียนรสอร่อย ให้ผลผลิตดก 2,000 กก./ต่อไร่ ที่บ้านนาสาร สุราษฏร์ธานี

“เงาะพันธุ์โรงเรียน  ” ถือเป็น “สินค้าเด่น-ดัง ” ที่เป็นเอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของจังหวัดสุราษฎร์ธานี   เงาะพันธุ์โรงเรียนได้ถือกำเนิดที่อำเภอบ้านนาสาร ตั้งแต่เมื่อ 88 ปีที่แล้ว โดยนายเค หว่อง ชาวจีนสัญชาติมาเลเซียได้นำเมล็ดพันธุ์เงาะจากปีนัง มาปลูก ต่อมาที่ดินดังกล่าวได้ถูกกระทรวงธรรมการในขณะนั้น (กระทรวงศึกษาธิการ)ซื้อไว้และนำมาปรับปรุงเป็นโรงเรียนนาสาร ทำให้ต้นเงาะที่นายเค วอง ปลูกไว้ได้ชื่อว่า “เงาะพันธุ์โรงเรียน” ตามไปด้วย

กล่าวได้ว่า เงาะพันธุ์โรงเรียน เป็นเงาะพันธุ์ดีที่สุดในประเทศไทย และเป็นเงาะพันธุ์ดีที่สุดในโลก  ลักษณะผลเมื่อแก่จัด  เปลือกเป็นสีแดงสวย แต่ที่ปลายขนยังมีสีเขียว ผลสุกมีรสชาติหวาน หอม เนื้อกรอบล่อนจากเมล็ดและเปลือกบาง  ปัจจุบันเกษตรกรทั่วประเทศนิยมปลูกเงาะพันธุ์โรงเรียนอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

อำเภอบ้านนาสาร มีการปลูกเงาะพันธุ์โรงเรียนกันอย่างกว้างขวาง ครอบคลุมพื้นที่ 11 ตำบล  โดยแหล่งปลูกขนาดใหญ่อยู่ที่ตำบลนาสาร 5,396 ไร่ รองลงมาคือ  ตำบลเพิ่มพูนทรัพย์ 3ล346 ไร่ และตำบลลำพูน 2,033 ไร่ มีเกษตรกรที่ปลูกเงาะประมาณ  4,021 ครัวเรือน เนื้อที่ปลูกจำนวน 21,300 ไร่ ผลผลิตรวมทั้งสิ้น  17,759.24 ไร่  ขายได้ในราคาเฉลี่ย  25 บาท/ก.ก.  สร้างรายได้เข้าสู่ท้องถิ่นไม่ต่ำกว่าปีละ 443 .66  ล้านบาท

โดยทั่วไปเงาะพันธุ์โรงเรียนจะมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดประมาณช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคมซึ่งสำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานีมักจัดงานเทศกาลเงาะโรงเรียนนาสารเป็นประจำทุกปีในช่วงฤดูเงาะ บริเวณ ริมคลองฉวาง ตำบลนาสาร อำเภอบ้านนาสาร

ในครั้งนี้ ขอพาไปเยี่ยมชมสวนเงาะโรงเรียนของคุณสมาน  แซ่ชั้น  ตั้งอยู่บ้านเลขที่  57 หมู่  6  ตำบลเพิ่มพูนทรัพย์ อำเภอบ้านนาสาร  จังหวัดสุราษฎร์ธานี   คุณสมาน เป็นคนไทยเชื้อสายจีน เตี่ยนั่งเรือมาจากเมืองจีน เริ่มต้นบุกเบิกทำสวนยางที่ จังหวัดสุราษฎธานีตั้งแต่เมื่อ 60 -70 ปีก่อน  เมื่อคุณสมานเติบใหญ่ก็ยึดอาชีพทำสวน ปลูกยางพารา และเงาะมาตลอด สำหรับสวนแห่งนี้มีเนื้อที่  14 ไร่ปลูกเงาะโรงเรียนอายุ11 ปี  ปลูกแซมด้วยต้นลองกองอยู่ในแปลงเดียวกัน

คุณสมานหาซื้อกิ่งพันธุ์เงาะโรงเรียน จากตลาดในท้องถิ่น ในราคาต้นละ 13 บาท  ขุดหลุมลึก 50 ซม. และใช้ปุ๋ยร็อคฟอสเฟต สูตร 0-3-0   ต้นละ ครึ่งก.ก. ผสมกับปุ๋ยหมัก ใส่รองก้นหลุมก่อนปลูก ในระยะ   8 x10 เมตร  เนื่องจากปลูกในระยะประชิด เมื่อต้นเงาะอายุ  10 ปี จึงต้องตัดสางออกบางส่วน เพื่อให้ต้นเงาะที่เหลือเจริญเติบโตได้ในอนาคต   เมื่อขยายพื้นที่ปลูกเงาะในระยะหลัง คุณสมาน หันมาปลูกต้นเงาะในระยะ  10  x10 เมตรแทน เพื่อให้สะดวกต่อการดูแลและการจัดการผลผลิตในอนาคต

ระยะก่อนให้ผลผลิต ควรใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ในอัตรา  2 ช้อนโต๊ะต่อต้น  ทุกๆ  2 เดือน  เมื่อต้นใหญ่ขึ้นก็เพิ่มสัดส่วนปุ๋ยมากขึ้นตามอายุต้น  ที่นี่ให้น้ำต้นเงาะในระบบสปิงเกอร์   ระยะเริ่มปลูก จะให้น้ำอย่างสม่ำเสมอจนกว่าเงาะจะตั้งตัวได้ โดยเปิดให้น้ำวันละ  30 นาที

โดยทั่วไป ต้นเงาะในระยะให้ผลผลิตแล้ว เมื่อใกล้ออกดอก ควรให้น้ำในปริมาณที่น้อยมาก เพื่อป้องกันการแตกใบอ่อน ถ้ามีใบอ่อนแซมช่อดอกมาก ควรงดให้น้ำสักระยะ จนกว่าใบอ่อนที่แซมมาจะร่วงหมด จึงเริ่มให้น้ำใหม่ เพื่อให้ตาดอกเจริญต่อไป ต้องให้น้ำ 1 ใน 3 ของการให้น้ำปกติ และเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ เมื่อ ดอกเริ่มบานและติดผล ช่วงการเจริญเติบโตของผล ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ เพราะถ้าได้รับน้ำไม่เพียงพอผลจะเล็ก ลีบ และมีเปลือกหนา ช่วงใกล้เก็บเกี่ยว ถ้าฝนทิ้งช่วง ต้องดูแลให้น้ำสม่ำเสมอ เพราะถ้าเงาะขาดน้ำ แล้วเกิดมีฝนตกลงมา จะทำให้ผลแตกเสียหายเงาะ

นอกจากนี้ ต้องคอยตัดแต่งและควบคุมทรงพุ่ม  โดยตัดแต่งกิ่งก่อนการใส่ปุ๋ย ตัดกิ่งต่ำที่ระดิน กิ่งเป็นโรค กิ่งแห้งตาย กิ่งใบทรงพุ่มที่ไม่ได้รับแสงแดด หลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว ให้ตัดแต่งกิ่งโดยเร็ว ตัดก้านผลที่เหลือค้างออกให้หมด โดยตัดลึกเข้าไปอีกประมาณ 1 คืบเพื่อให้มีการแตกยอดใหม่ที่ดี

สวนเงาะพันธุ์โรงเรียนในพื้นที่แห่งนี้ มีปัญหาศัตรูพืชประจำถิ่นบ้าง เช่น หนอนกินดอกเงาะ หนอนเจาะขั้วเงาะ  แต่มีปริมาณน้อย จึงไม่เป็นอุปสรรคต่อการดูแลจัดการของเกษตรกร  ส่วนโรคพืชที่พบได้แก่ โรคราแป้ง เข้าทำลายได้ทั้งช่อดอกและผล  มักพบการแพร่ระบาดของเชื้อเกิดขึ้นในสภาพอากาศที่เย็นมีความชื้นเพียงพอ  เกษตรกรมักจะป้องกันกำจัดได้โดยการฉีดพ่นสารกำจัดเชื้อราในระยะแทงช่อดอกประมาณ 3-4 ครั้ง โดยใช้สารชนิดดูดซึม เช่น ไตรอะไดมีฟอน หรือกำมะถันผง แต่การฉีดพ่นด้วยกำมะถันผงอัตราที่สูงในสภาพที่มีอากาศร้อนอาจทำให้ผิวผลไหม้ได้และผลสุกจะมีสีไม่สม่ำเสมอ

ต้นเงาะพันธุ์โรงเรียนเริ่มให้ผลผลิตได้ตั้งแต่ปีที่ 4  เงาะที่มีผลแก่พร้อมเก็บเกี่ยวได้ใช้เวลาประมาณ 130-160 วัน หลังจากดอกบานหมด เงาะโรงเรียนอายุประมาณ 10 ปี ให้ผลผลิตประมาณ 2,000 กิโลกรัม/ไร่  เปลือกผลเมื่ออ่อนมีสีเหลืองอมชมพูและเมื่อแก่จัดจะเป็นสีแดงเข้ม ที่โคนขนเป็นสีแดงเข้มแต่ที่ปลายขนยังเป็นสีเขียวอ่อน คุณสมานจะเก็บเกี่ยวเงาะโดยใช้กรรไกรตัดกิ่งเงาะที่ต้องการ และรวบรวมผลผลิตใส่ตะกร้าพลาสติกเพื่อรอขายให้แก่แม่ค้าในท้องถิ่นต่อไป

หากดูแลต้นเงาะพันธุ์โรงเรียนอย่างดี จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ถึงปีที่  25  ดูแลไม่ดี ผลผลิตน้อย ก็ต้องรื้อแปลงปลูกใหม่  สำหรับปีที่ผ่านมา เก็บเกี่ยวผลผลิตออกขายได้ประมาณ 30,000 ก.ก.  แต่ละปี  คุณสมานจะว่าจ้างแรงงานชาวอีสานที่เดินทางมารับจ้างเก็บผลผลิตในช่วงเดือนก.ค.-สิงหาคม  โดยจ่ายค่าจ้างตามน้ำหนักของผลผลิตที่เก็บได้ในอัตราก.ก.ละ   2  บาท  ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว สวนแห่งนี้ ต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 15 วัน จึงเก็บเงาะได้หมดทั้งสวน

ตอนนี้ เกษตรกรมีต้นทุนการปลูกเงาะสูงพอสมควร  ทางสำนักงานเกษตรอำเภอนาสารจึงพยายามส่งเสริมให้ลดต้นทุนการผลิตโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ผสมกับปุ๋ยเคมี เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย  และดูแลจัดการแปลงที่ถูกต้องเหมาะสมเข้าสู่ระบบเกษตรดีที่เหมาะสม ( GAP )  เพื่อผลักดันผลผลิตให้เพิ่มสูงขึ้นจาก  1,200 กก/ไร่/ปี  เป็น 1,500 ก.ก./ไร่/ปี ในอนาคต

สวนเงาะพันธุ์โรงเรียนที่ครบอายุการตัดโค่น  เกษตรกรหลายรายเริ่มหันมาปลูกเงาะพันธุ์สีทอง เพิ่มมากขึ้น ประมาณ 1,000 ไร่ เนื่องจากเงาะพันธุ์สีทอง เป็นเงาะพันธุ์เบา ให้ผลผลิตเร็วกว่าพันธุ์อื่นๆ ลำต้นมีการเจริญเติบโตดีที่สุด ปลูกดูแลง่าย เงาะพันธุ์สีทอง แตกพุ่มดีมาก ลำต้นเกลี้ยง ใบค่อนข้างยาวและใหญ่ ผลขนาดใหญ่มาก ขนยาว แข็ง สีสวยโดยสีของขนและเปลือกเมื่อสุกเป็นสีแดงเข้ม ปลายขนมีสีเขียวตองอ่อน เปลือกแตกยาก เพราะเยื่อเหนียวมาก

เงาะพันธุ์สีทอง เนื้อมีสีขาวค่อนข้างใส ล่อนจากเมล็ดง่าย เก็บจากต้นใหม่จะมีรสหวานอมเปรี้ยว แต่ทิ้งไว้ 1-2 วันจะมีรสหวานขึ้นและมีกลิ่นหอม  ที่สำคัญเงาะพันธุ์สีทอง เป็นสินค้าที่มีศักยภาพในตลาดส่งออก เนื่องจากมีรสหวานอมเปรี้ยว ตรงกับรสนิยมของผู้ซื้อในตลาดยุโรป ที่ต้องการทานเงาะผลสด ขณะเดียวกัน  เงาะพันธุ์สีทอง กำลังเป็นที่ต้องการในกลุ่มผู้ผลิตอาหารกระป๋องแปรรูปอีกด้วย เพราะเกษตรกรจำนวนมากเชื่อว่า  หากปลูกเงาะพันธุ์สีทองแล้วพวกเขา จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น  เพราะเมื่อเงาะพันธุ์สีทองเริ่มออกดอก  จะติดผลได้ง่ายกว่าเงาะพันธุ์โรงเรียน  เนื่องจากเงาะพันธุ์สีทอง มีเกสรตัวผู้ที่แข็งแรงดีนั่นเอง