วิสาหกิจชุมชน เพียรหยดตาล พลังของคนในชุมชน งานเด่นเมืองแม่กลอง

หากกล่าวถึง จังหวัดสมุทรสงคราม สิ่งที่หลายคนนึกถึงน่าจะเป็นวิถีชีวิตคนริมคลอง บรรยากาศสวนผลไม้ โดยเฉพาะสวนมะพร้าว ส้มโอ และลิ้นจี่ อีกมุมหนึ่งของจังหวัดสมุทรสงครามคือ การเป็นเมืองปากอ่าว มีดอนหอยหลอด ที่เป็น Unseen Thailand จังหวัดนี้จึงได้ชื่อว่า เป็นเมือง 3 น้ำ คือมีครบทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม น้ำกร่อย และด้วยสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ทำให้วิถีชีวิตของคนในพื้นที่ก็แตกต่างกันไปด้วย

ในวันนี้จะขอเล่าถึงบรรยากาศของชุมชนชาวสวนมะพร้าวของจังหวัดสมุทรสงคราม หนึ่งพืชเศรษฐกิจที่ขึ้นชื่อของจังหวัด จังหวัดสมุทรสงครามมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งหมด ประมาณ 67,749 ไร่ แบ่งมะพร้าวออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ มะพร้าวผลแก่ มะพร้าวผลอ่อน และมะพร้าวตาล ที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างดี

มะพร้าวถูกแมลงทำลาย

โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีอายุมากก็ยังสามารถทำได้ เพราะเป็นพืชที่ไม่ต้องบำรุงดูแลมาก และสามารถให้ผลผลิตได้ตามธรรมชาติ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชาวสวนมะพร้าวประสบกับปัญหาการระบาดของศัตรูพืช 2 ชนิด ที่สำคัญคือ แมลงดำหนาม และหนอนหัวดำ ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่ต้นมะพร้าว ไม่แค่เฉพาะจังหวัดสมุทรสงคราม แต่เกษตรกรจังหวัดอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน บรรยากาศสวนมะพร้าวที่เคยสวยงามถูกลบด้วยภาพมะพร้าวยืนต้นตาย

หากจะกล่าวถึงวิธีการแก้ปัญหานั้น หลายคนเลือกใช้สารเคมีเพื่อความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพที่เห็นทันตา แต่ด้วยสภาพร่องสวนมะพร้าวและค่าใช้จ่ายที่สูง เกษตรกรจังหวัดสมุทรสงครามจึงไม่นิยมใช้วิธีนี้ และเหตุผลสำคัญข้อหนึ่งคือ เกษตรกรจังหวัดสมุทรสงครามไม่นิยมที่จะใช้สารเคมีทั้งในกระบวนการผลิต และกระบวนการป้องกันกำจัดศัตรูพืช จึงต้องหาวิธีการอื่นเข้ามาทดแทน และต้องได้ผลดีด้วย

ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม จึงได้ถ่ายทอดความรู้และส่งเสริมให้เกษตรกรรู้จักกับ แมลงจิ๋วแต่แจ๋ว ที่สามารถสู้กับศัตรูตัวร้ายอย่างหนอนหัวดำได้เป็นอย่างดี ซึ่งนั่นก็คือ แตนเบียนบราคอน

คุณรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ เกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม

จิ๋วแต่แจ๋วจริงๆ

แตนเบียนบราคอน
ชื่อไทย : แตนเบียนบราคอน
ชื่อสามัญ : แตนเบียนบราคอน ฮีบิเตอร์
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bracon hebeter Say.
วงศ์ : Braconidae
อันดับ : Hymenoptera

การใช้แตนเบียนบราคอนกำจัดศัตรูพืชในสวนมะพร้าว เป็นการนำเอาศัตรูธรรมชาติมาเพาะเลี้ยงเพิ่มปริมาณเพื่อนำไปปล่อยในธรรมชาติ ให้มีปริมาณเพียงพอต่อการควบคุมศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เนื่องจากในปัจจุบันสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศเกษตรถูกรบกวน เช่น การใช้สารเคมีของเกษตรกร การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม การเกิดภาวะโลกร้อน ทำให้ศัตรูธรรมชาติที่มีอยู่ในธรรมชาติถูกทำลาย บางชนิดลดปริมาณลง บางชนิดอาจสูญพันธุ์ จึงต้องมีการผลิตขยายหรือเพาะเลี้ยงศัตรูธรรมชาติ เพื่อนำไปปลดปล่อยในธรรมชาติ ให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นในธรรมชาติ สามารถควบคุมศัตรูพืชทดแทนการใช้สารเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การกำจัดหนอนหัวดำโดยแตนเบียนบราคอน ทำได้โดยการปล่อยแตนเบียนบราคอนตัวเมียที่โตเต็มวัยในสวนมะพร้าวที่มีการระบาด ควรปล่อยในช่วงเช้าให้กระจายทั่วแปลง แตนเบียนบราคอนจะวางไข่ในหนอนหัวดำ โดยก่อนวางไข่แตนเบียนเพศเมียจะใช้เข็มแทงเข้าไปในตัวหนอน และปล่อยสารชนิดหนึ่งออกมา ทำให้หนอนเป็นอัมพาตแล้วจึงวางไข่บนตัวหนอน

เมื่อไข่ฟักออกมาเป็นตัวหนอนจะดูดกินน้ำเลี้ยงในตัวหนอนจนทำให้หนอนตาย เมื่อครบอายุหนอนของแตนเบียนจะปล่อยตัวออกจากหนอนหัวดำมะพร้าวและถักรังเพื่อเข้าดักแด้ และออกเป็นแตนเบียนบราคอนรุ่นต่อไป นอกจากนี้ ยังสามารถทำลายหนอนได้อีกหลายชนิด เช่น หนอนผีเสื้อข้าวสาร หนอนเจาะลำต้นข้าวโพด หนอนเจาะยอดมะเขือ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีชาวบ้านที่คนในชุมชนมีส่วนร่วมกัน (ข้อมูลจาก : ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดชลบุรี)

กระบวนการผลิตแตนเบียนบราคอน มีขั้นตอนดังนี้

ไข่ผีเสื้อข้าวสาร

การผลิตขยายหนอนผีเสื้อข้าวสาร
1. วัสดุและอุปกรณ์
1.1 รำละเอียด 5 ส่วน
1.2 ปลายข้าวสาร 1 ส่วน
1.3 กล่องพลาสติกใสทรงกลม เกรด A สูง 10 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง 24 เซนติเมตร เจาะช่องระบายอากาศเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เซนติเมตร จำนวน 4 ช่อง บุด้วยลวดตาข่าย 60 ไมครอน
1.4 ไข่ผีเสื้อข้าวสาร
1.5 ถังพลาสติก และฝาปิด พร้อมสายรัด ขนาด 120 ลิตร
2. ขั้นตอนการเลี้ยง
2.1 ผสมรำละเอียดและปลายข้าวสาร อัตราส่วน 5 : 1 คลุกเคล้าให้เข้ากัน
2.2 เตรียมอะลูมิเนียมฟอสไฟด์ห่อกระดาษ จำนวน 2 ห่อ ห่อละ 4 เม็ด แล้วนำเชือกมามัด
2.3 นำรำและปลายข้าวที่ผสมแล้วใส่ในถังอบ 1/3 ของถัง ใส่ห่ออะลูมิเนียมฟอสไฟด์ในถัง 1 ห่อ เติมรำและปลายข้าว จำนวน 2/3 ของถัง ใส่ห่ออะลูมิเนียมฟอสไฟด์ จำนวน 1 ห่อ จากนั้นเติมรำและปลายข้าวจนเต็มถัง ปิดฝา ใช้สายรัด นาน 7 วัน
2.4 นำห่ออะลูมิเนียมฟอสไฟด์ ทั้ง 2 ห่อ ออกจากถัง ปล่อยให้ระเหิดอีก 7 วัน
2.5 ตักใส่กล่องเลี้ยง น้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม
2.6 โรยไข่ผีเสื้อข้าวสาร น้ำหนัก 0.20 กรัม ต่อกล่อง (ประมาณ 1/4 ของช้อนกาแฟ)
2.7 ปิดฝากล่อง วางบนชั้นวาง ไม่โดนแสงแดดและป้องกันมดได้
2.8 เลี้ยงประมาณ 40 วัน จะได้หนอนผีเสื้อข้าวสารวัย 5 จึงนำมาใช้เลี้ยงแตนเบียนบราคอน
2.9 แบ่งหนอนบางส่วน เลี้ยงต่อไปอีก 10 วัน จะได้ตัวเต็มวัย เพื่อใช้เป็นผีเสื้อพ่อ-แม่พันธุ์
2.10 เก็บตัวเต็มวัยใส่ถุงตาข่าย
2.11 เก็บไข่ตอนเช้า จำนวน 2 วัน เพื่อใช้สำหรับขยายพันธุ์ต่อไป จึงนำพ่อแม่ผีเสื้อออกปล่อยสู่ธรรมชาติ

แยกหนอนผีเสื้อข้าวสาร

การขยายแตนเบียนบราคอน
1. วัสดุและอุปกรณ์
1.1 พ่อ-แม่พันธุ์แตนเบียนบราคอน
1.2 หลอดดูดแตน
1.3 ก้านพันสำลี กรรไกร
1.4 น้ำผึ้ง คัดเลือกน้ำผึ้งที่มีคุณภาพ
1.5 ถ้วยพลาสติกใสพร้อมฝาปิด ตัวถ้วย PP ฝา PET กว้าง 7 เซนติเมตร สูง 5 เซนติเมตร (กล่องปล่อยแตน)
1.6 เข็มสำหรับเจาะ
1.7 หนอนผีเสื้อข้าวสาร
2. ขั้นตอนการขยายแตนเบียนบราคอน
2.1 เจาะที่ฝาของกล่องปล่อยแตนเบียนบราคอน จำนวน 30 รู
2.2 ตัดก้านพันสำลี นำสำลีที่ได้ชุบน้ำผึ้งในปริมาณที่เหมาะสม คนให้ทั่วไม่ชุ่มเกินไปจนเยิ้ม
2.3 คัดแยกหนอนผีเสื้อข้าวสารที่โตเต็มที่ (วัย 5) ไม่ให้มีรำและปลายข้าวติดมาใส่ในกล่องปล่อย จากนั้นใส่สำลีที่ชุบน้ำผึ้ง 1 อัน
2.4 ใช้หลอดดูดแตนเบียนบราคอนพ่อ แม่พันธุ์ (นำพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์จากที่อื่นมาผสมเพื่อเพิ่มความแข็งแรง) ประมาณ 4 ตัว ในกล่องปล่อย รีบปิดฝา วางบนชั้นวางป้องกันมด
2.5 หลังจากนั้น 3 วัน เพื่อให้แตนวางไข่ที่ตัวหนอน (สำรวจว่าหนอนตายหรือไม่ ถ้าไม่ตายให้ใส่แตนเบียนบราคอนในกล่องลงไปใหม่) ถ้าหนอนตายแล้ว ดูดพ่อแม่พันธุ์บราคอนในกล่อง นำไปใส่ในกล่องปล่อยอื่นที่ใส่หนอนไว้แล้ว เพื่อประหยัดพ่อแม่พันธุ์บราคอน

ข้อดีของการใช้แตนเบียนบราคอน

การนำแมลงศัตรูธรรมชาติมากำจัดศัตรูพืชโดยชีววิธี เป็นการลดการใช้สารเคมี ช่วยรักษาระบบนิเวศในธรรมชาติ โดยแตนเบียนบราคอนเมื่อปล่อยสู่พื้นที่ที่หนอนหัวดำมะพร้าวระบาด แตนเบียนบราคอนจะเข้าทำลายหนอนหัวดำด้วยวิธีการเบียน และแตนเบียนสามารถขยายพันธุ์ได้เองในธรรมชาติ

ซึ่งแตนเบียน จำนวน 200 ตัว สามารถควบคุมการระบาดของหนอนหัวดำมะพร้าวได้ จำนวน 1 ไร่ และต้องปล่อยอย่างต่อเนื่องทุก 15 วัน โดยจะต้องปล่อยในช่วงเวลาเช้า ทิศทางตามลม และเฉียงกับแสงแดด ซึ่งการใช้แตนเบียนกำจัดหนอนหัวดำมีต้นทุนที่ต่ำ ปลอดภัยต่อสภาพแวดล้อม ไม่มีสารพิษตกค้างในผลผลิต และผู้สูงอายุในพื้นที่สามารถดำเนินการเองได้

เกษตรกรได้รวมกลุ่มผู้ปลูกมะพร้าวในพื้นที่ ร่วมกันผลิตแตนเบียนบราคอนเพื่อกำจัดหนอนหัวดำ โดยใช้ศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลนางตะเคียน เป็นศูนย์กลางด้านการบริหารจัดการศัตรูพืชของชุมชนตำบลนางตะเคียน ชุมชนสามารถจัดการศัตรูพืชได้ด้วยตนเองอย่างครบวงจร นำไปสู่ความเข้มแข็งในอาชีพเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนพร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

เกษตรกรยังสามารถพัฒนาวิธีการเลี้ยงทำให้แตนเบียนบราคอนมีอัตราการรอดสูง ร้อยละ 100 โดยกลุ่มจะใช้น้ำผึ้งคุณภาพดีในการเลี้ยง ทำให้แตนเบียนมีความแข็งแรง มีการนำพ่อแม่พันธุ์จากที่อื่นมาผสมเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับแตนเบียนบราคอน และมีการคัดเลือกหนอนที่มีความสมบูรณ์ใส่ในกล่องในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากเกินไป

ต่อมาทางกลุ่มได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเพียรหยดตาล มีความมุ่งมั่นในการผลิตมะพร้าวโดยไม่ใช้สารเคมี จึงนำเทคโนโลยีการผลิตแตนเบียนบราคอน และผลิตสารชีวภัณฑ์อื่นๆ มาใช้ในการป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว และศัตรูพืชอื่นๆ

วิถีคนทำตาล

กลุ่มสามารถผลิตมะพร้าวที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ทำให้มูลค่าสินค้าของกลุ่มมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ได้แก่ มะพร้าวอ่อน น้ำตาลมะพร้าว วุ้นมะพร้าว เป็นต้น สามารถขยายตลาดการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ไปสู่ตลาดอินทรีย์ ส่งผลให้รายได้ของสมาชิกในกลุ่มเพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรเกิดแรงบันดาลใจในการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เกิดความยั่งยืน

เกษตรกรรายอื่นเห็นการดำเนินกิจกรรมของสมาชิกกลุ่มฯ เป็นรูปธรรมจึงเกิดแนวคิดในการปฏิบัติตาม ทำให้สามารถขยายสวนมะพร้าวอินทรีย์ในชุมชน และทางกลุ่มได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และพักผ่อนหย่อนใจแนววิถีเกษตรอินทรีย์ เป็นการเพิ่มช่องทางตลาดและรายได้ให้กับสมาชิกต่อไป

ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ชมวิถีคนทำตาล

ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพียรหยดตาล ได้จัดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวไปสัมผัสถึงวิถีชีวิตของคนทำตาล กิจกรรม “สัมผัส” ที่จะพาคุณเข้าไปในโลกใบสีน้ำตาลของชุมชนเรา ได้เรียนรู้กระบวนการทำน้ำตาลตามแบบวิธีการดั้งเดิม

ตั้งแต่จุดเริ่มต้นในสวนจนได้ออกมาเป็นน้ำตาลมะพร้าวแท้ๆ ที่นิยมนำไปทำอาหารทั้งคาวหวาน ด้วยมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ หวานหอมตามธรรมชาติ โดยใช้เตาเก่าอายุกว่า 30 ปี ในการเคี่ยว

กิจกรรมนี้ยังนำคุณเข้ามา “สัมผัส” กับวิถีชีวิตของคนในชุมชนเราด้วย ทั้งอาหารการกิน ชีวิตความเป็นอยู่ ทรรศนะและการปรับตัวของชุมชนเมื่อความเจริญไหลเข้ามา ในขณะที่คนในชุมชนกลับไหลสวนทางออกไป เริ่มละทิ้งอาชีพละทิ้งสวนและภูมิปัญญา ให้อยู่เบื้องหลังกับผู้สูงอายุในชุมชน “ความสัมพันธ์ที่เราไม่รู้ว่าสัมพันธ์”

เรียนรู้วิธีขึ้นตาล

ระหว่างการเลือกซื้อน้ำตาลแท้บริโภคกับการคงอยู่ของอาชีพ อาจมองเห็นไม่ชัดหากเราเพียงมองหาแค่ “วัตถุดิบ” ในการทำอาหาร เราจึงอยากชวนคุณมา “สัมผัส” พูดคุยแลกเปลี่ยนกันให้ใกล้ชิดมากขึ้นระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค เพื่อร่วมกันค้นพบความสัมพันธ์อันใกล้ชิดที่เรากลับต่างมองไม่เห็นซึ่งกันและกัน

ผลิตภัณฑ์น่าซื้อ
ทำขนม

โดยเปิดรับนักท่องเที่ยว กลุ่มละไม่เกิน 25 ท่าน เข้ามาร่วมทำกิจกรรมกับทางกลุ่มตลอดทั้งวัน ซึ่งมีกิจกรรม ดังนี้
09.00-09.30 น. เริ่มลงทะเบียน
09.30-10.00 น. ทำความรู้จักมะพร้าวเบื้องต้น
10.00-10.45 น. ชมสาธิตการขึ้นตาลและเก็บน้ำตาลใส
10.45-12.30 น. เคี่ยวตาลจากเตาแบบโบราณ พร้อมทำของเชื่อมแบบวิถีชาวบ้าน ในเมนู “ลอยน้ำตาล”
12.30-13.30 น. พักรับประทานอาหารกลางวัน
13.30-14.30 น. สาธิตการเลี้ยงและปล่อยแตนเบียน
14.30-15.30 น. เรียนรู้และช่วยกันทำ “ขนมจาก”
15.30-16.00 น. สรุปกิจกรรมและเดินทางกลับ

โดยมีค่าใช้จ่าย ผู้ใหญ่ 800 บาท/ท่าน เด็ก 400 บาท/ท่าน *เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ไม่มีค่าใช้จ่าย ท่านที่สนใจสามารถติดตามกิจกรรมได้ทางเพจเฟซบุ๊ก “เพียรหยดตาล” หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม โทร. (034) 711-711

ผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม
ทุกขั้นตอนสะอาด

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพียรหยดตาล จึงเป็นตัวอย่างที่คนในชุมชนร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมรับผลประโยชน์ ก่อให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนในการแก้ไขปัญหา ทุกคนในชุมชนรู้สึกหวงแหนในทรัพยากรและวิถีชีวิตของตนเอง อยากที่จะอนุรักษ์ไว้ให้นานสืบไป เกิดการผสมผสานทางความคิดระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

นักท่องเที่ยวไม่ขาดสาย