กระทรวงเกษตรฯ นำเสนอ นวัตกรรมเทคโนโลยี ตอบโจทย์ “เกษตรอัจฉริยะ 4.0” ของรัฐบาล

รัฐบาลได้วางเป้าหมายพัฒนาประเทศสู่ “ยุคไทยแลนด์ 4.0” (พ.ศ. 2560-2564) โดยกำหนดโมเดลการพัฒนาขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้วยนวัตกรรม เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมมือกับ สหภาพผู้ผลิตเครื่องจักรกลของประเทศฝรั่งเศส (AXEMA) และ บริษัท อิมแพคเอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด จัดงาน SIMA ASEAN Thailand 2018 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี  

ภายในงานดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯ จัดแสดงนิทรรศการและการจัดสัมมนา ภายใต้แนวคิด “ศาสตร์พระราชาและนวัตกรรมเกษตร” เพื่อถ่ายทอดแนวทางการพัฒนาการเกษตรตามศาสตร์พระราชา พร้อมนำเสนอนวัตกรรม เทคโนโลยีทางการเกษตรและเครื่องจักรกลการเกษตร สอดรับกับนโยบาย “เกษตรอัจฉริยะ 4.0” ของรัฐบาล

ชุดเพาะพันธุ์ปลาแบบเคลื่อนที่

เกษตรกรที่เข้าร่วมชมงานต่างตื่นตาตื่นใจกับนวัตกรรมรูปแบบต่างๆ เช่น การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว และแผ่นไหม เพื่อผลิตเป็นอาหารสุขภาพและเครื่องสำอาง นวัตกรรมเกี่ยวกับดิน หรือ Agri-Map Online เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เกษตรกรรู้จักดิน วิธีใช้ประโยชน์ดินในการปลูกพืช นวัตกรรมที่เกี่ยวกับน้ำ เรียนรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมที่ใช้กับน้ำผิวดิน เช่น ฝายชะลอน้ำ พร้อมระบบส่งน้ำเข้าแปลงโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ นวัตกรรมเพื่อการผลิตทางเกษตร-จัดแสดงชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยหมักเติมอากาศ โรงเรือนผลิตพืชสมองกล กับ ระบบ IOT (Internet of Thing) เป็นต้น

คุณศิริพร เต็งรัง นักวิทยาศาสตร์ กรมวิชาการเกษตร

ฟิล์มแครอต บรรจุภัณฑ์บริโภคได้

กรมวิชาการเกษตร นำเสนอบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายง่าย ที่ทำมาจากเศษวัสดุพืช ที่เรียกว่า พลาสติกชีวภาพ (Bio-plastic) ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ของอุตสาหกรรมพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถย่อยสลายได้ด้วยกระบวนการทางชีวภาพ หรือหมักเป็นปุ๋ยได้ในสภาวะที่เหมาะสม

คุณศิริพร เต็งรัง นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ กลุ่มวิจัยและพัฒนาการแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร   กล่าวว่า ปัจจุบัน ปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่ย่อยสลายได้ยาก เป็นภาระต้นทุนในการกำจัดขยะอย่างมาก แถมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น พลาสติกชีวภาพจึงเป็นอีกทางเลือกในการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ พลาสติกชีวภาพ ผลิตได้จากวัสดุธรรมชาติหลายชนิด เช่น มันสำปะหลัง อ้อย มะเขือเทศ มะม่วง แครอต พืชผักประเภทต่างๆ ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพถูกนำไปใช้งานหลากหลายรูปแบบ เช่น กระถางต้นไม้ ถุงขยะสำหรับเก็บใบไม้ แผ่นฟิลม์เพื่อการเกษตร บรรจุภัณฑ์ชีวภาพ เป็นต้น

ขั้นตอนวิธีการทำแผ่นฟิลม์ชีวภาพจากสตาร์ชมันสำปะหลังและสตาร์ชมันเทศ เริ่มจากนำสตาร์ชมันสำปะหลัง หรือสตาร์ชมันเทศ 10 กรัม เติมซอบิทอล 3 กรัม และน้ำกลั่น 300 มิลลิลิตร ใช้ความร้อนที่อุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส กวนจนสารละลาย เกิดเป็นเจลใสด้วยเครื่องกวนแม่เหล็กไฟฟ้า จากนั้นขึ้นรูปบนแผ่นอะคริลิก อบที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส จนแห้ง ลอกแผ่นฟิลม์ออก สตาร์ชมันสำปะหลังหรือมันเทศ 10 กรัม จะได้แผ่นฟิลม์ชีวภาพ ขนาด 30×30 ตารางเซนติเมตร จำนวน 1 แผ่น กรมวิชาการเกษตร ได้ทดลองผลิตแผ่นฟิลม์ชีวภาพสำหรับใส่เครื่องปรุงรสประเภทพริกป่นและน้ำมันพืช เมื่อนำไปใช้งาน ปรากฏว่า พริกป่น หรือน้ำมันพืช ที่บรรจุในซองบรรจุภัณฑ์ชีวภาพที่โดนความร้อนจะละลายไปกับน้ำซุปหรือน้ำก๋วยเตี๋ยวได้ภายในระยะเวลาไม่ถึง 5 นาที

Advertisement

นอกจากนี้ คุณศิริพร ยังได้โชว์นวัตกรรม “ฟิล์มแครอต บรรจุภัณฑ์บริโภคได้” อีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นวัสดุชีวภาพแผ่นบางๆ ถูกนำมาใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ห่อมะม่วงกวนแจกจ่ายให้ผู้สนใจได้ทดลองชิม ข้อดีของบรรจุภัณฑ์ชนิดนี้ก็คือ กินได้พร้อมขนม ช่วยลดขยะถุงพลาสติก เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร แถมผู้บริโภคยังได้คุณค่าทางอาหารเพิ่มมากขึ้นด้วย เพราะบริโภคฟิลม์แครอต 1 แผ่น จะได้เบต้าแคโรทีนสูงถึง 3,465.53 ไมโครกรัม และได้สารต้านอนุมูลอิสระ 14,187 ไมโครกรัม หากใครสนใจอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนวัตกรรมชนิดนี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยและพัฒนาการแปรรูปผลิตผลเกษตร กรมวิชาการเกษตร โทร. (02) 940-5468-69

คุณเอกภาพ ป้านภูมิ วิศวกรศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมขอนแก่น

เครื่องปั่นฝ้ายอัตโนมัติ

Advertisement

นวัตกรรมเด่นอีกอย่างของกรมวิชาการเกษตรคือ เครื่องปั่นฝ้ายและกรอเส้นด้ายด้วยสมองกลอัตโนมัติ เป็นผลงานประดิษฐ์ของ คุณเอกภาพ ป้านภูมิ วิศวกรการเกษตรปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมขอนแก่น นวัตกรรมชิ้นนี้ ถูกพัฒนาจากหลาปั่นฝ้ายแบบเดิมมาเป็นเครื่องปั่นฝ้ายแบบติดมอเตอร์ขนาดเล็ก สามารถตีเกลียวเพิ่มความแข็งของเส้นด้ายได้มากกว่าการปั่นด้วยหลาธรรมดา แต่ยังคงความเป็นเส้นด้าย ในแบบ Hand Made ที่สำคัญนวัตกรรมชิ้นนี้ สามารถช่วยให้เกษตรกรลดระยะเวลาในการปั่นและกรอด้ายได้เป็นอย่างดี

นวัตกรรมเครื่องปั่นฝ้ายดังกล่าว ยังได้เพิ่มการติดตั้งเครื่องกรอเส้นด้ายสมองกลควบคุมอัตโนมัติ เพื่อให้เส้นด้ายไม่ขาดระหว่างการกรอ เมื่อนำไปทอแล้วสามารถลดความเป็นปุ่มปมของผ้าฝ้ายผืนได้ อัตราการทำงาน เฉลี่ย 34.8 กรัม/ชั่วโมง สูงกว่าวิธีการปั่นเส้นใยฝ้ายตามแบบเดิม 1.39 เท่า ประสิทธิภาพในการทำงาน 96.41% ผลการทดสอบคุณภาพเส้นด้าย อุปกรณ์ สามารถปั่นเส้นด้าย เบอร์ 5NE ซึ่งเป็นเบอร์เส้นด้ายปานกลาง ที่มีความยืดหยุ่นแข็งแรง

จุดเด่นสำคัญของนวัตกรรมชิ้นนี้คือ ช่วยให้เกษตรกรสามารถปั่นเส้นด้ายเบอร์ใหญ่ ซึ่งแต่เดิมเกษตรกรไม่สามารถทำได้มาก่อน เป็นการลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเส้นใยฝ้ายหรือต้องการซื้อจากโรงงานลง นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้ออกแบบอุปกรณ์กรอเส้นด้ายอัตโนมัติจัดเรียงเข้าหลอดกรอเป็นรูปทรงรักบี้ โดยการเขียนโปรแกรมและบันทึกลงในบอร์ดควบคุมมอนิเตอร์ โดยการคำนวณขนาดเส้นด้ายให้สัมพันธ์กับความเร็วรอบของการกรอ ซึ่งยังไม่มีผู้ใดประดิษฐ์อุปกรณ์เพื่อปั่นฝ้ายและกรอเส้นด้ายในเครื่องเดียวกันให้กับเกษตรกรมาก่อน ทำให้เกษตรกรสามารถนำหลอดกรอด้ายเข้าเครื่องทอผ้าต่อได้ทันที เป็นการลดการสูญเสียเวลา เพิ่มคุณค่าและความสวยงามให้กับเส้นด้ายที่ผลิตจากผลงานเกษตรกร ช่วยยกระดับคุณภาพผ้าฝ้ายของชาวบ้านให้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์โอทอปได้ในอนาคต ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมขอนแก่น เลขที่ 320 หมู่ที่ 12 ถนนมะลิวัลย์ ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โทร. (043) 255-038

5 เครื่องปั่นฝ้ายอัตโนมัติ

ชุดเพาะพันธุ์ปลาแบบเคลื่อนที่

ด้านกรมประมง โชว์นวัตกรรมชุดเพาะพันธุ์ปลาแบบเคลื่อนที่ (Mobile Hatchery) ซึ่งเป็นผลงานของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดขอนแก่น ชุดเพาะพันธุ์ปลาเคลื่อนที่ขนาดเล็ก ชุด 5 ถังพลาสติก ขนาด 200 ลิตร ประกอบไปด้วยทั้งถังพ่อแม่พันธุ์ 1 ใบ และถังฟักไข่อีก 4 ใบ มีระบบท่อจ่ายน้ำ ปั๊มน้ำ ปั๊มลม เครื่องกำเนิดไฟฟ้า ถอดประกอบได้ง่าย เคลื่อนย้ายได้สะดวก เหมาะสำหรับพื้นที่ชนบทห่างไกลที่ไม่มีโรงเพาะฟัก ไม่มีระบบไฟฟ้า การคมนาคมไม่สะดวก นวัตกรรมนี้ช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องเสียเวลาในการขนส่งพ่อแม่พันธุ์ไปไกลๆ อีกต่อไป ราคาต้นทุนค่าวัสดุ ประมาณ 8,500 บาท สามารถผลิตลูกปลาวัยอ่อนได้ครั้งละ 300,000-500,000 ตัว ระยะเวลาที่ใช้ในกระบวนการเพาะพันธุ์ครั้งละ 4 วัน

วิธีการใช้งาน ชุดเพาะพันธุ์ปลาแบบเคลื่อนที่ เริ่มจากนำปลาที่ฉีดฮอร์โมนแล้วนำมาใส่ในถังผสมพันธุ์ จากนั้นปิดฝา เมื่อครบเวลาที่ไข่ออกให้นำพ่อแม่พันธุ์ปลาออกจากถังผสมพันธุ์ ไข่ที่อยู่ในถังผสมพันธุ์จะไหลไปตามท่อลำเลียงไข่ เพื่อไปถังฟักไข่ เมื่อไข่เริ่มฟักเป็นตัวแล้วครบกำหนด ให้นำปลาไปเลี้ยงในบ่อดินที่จัดเตรียมไว้ ชนิดปลาที่เพาะ ได้แก่ปลาที่มีไข่ประเภทครึ่งจมครึ่งลอย เช่น ปลาตะเพียนขาว ปลายี่สกเทศ ปลานวลจันทร์เทศ ปลาสร้อยขาว ฯลฯ ใช้แม่ปลาเพาะครั้งละประมาณ 2.0 กิโลกรัม อายุการใช้งานนาน 5 ปีขึ้นไป

 

เครื่องขอดเกล็ดปลาอเนกประสงค์

เครื่องขอดเกล็ดปลาอเนกประสงค์ คิดค้นโดย คุณสยาม เสริมทรัพย์ วิศวกรเครื่องกลชำนาญการ และ คุณเพชรรัตน์ วงษ์จันฬา นายช่างเครื่องกลชำนาญงาน นับเป็นผลงานวิจัยด้านนวัตกรรมของกรมประมงที่เหมาะกับกระบวนการผลิตเชิงพาณิชย์เป็นอย่างดี เครื่องขอดเกล็ดปลาขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าหมุนถังขอดเกล็ดปลาที่ความเร็วรอบ 80 รอบ/นาที ภายในถังประกอบด้วยเพลาขอดเกล็ด จำนวน 3 เพลา เชื่อมด้วยสกูรเกลียวโดยใช้ส่วนหัวสำหรับเฉือนเอาเกล็ดปลาออก วิธีทำงาน ชั่งน้ำหนักปลาตามชนิดและขนาดของปลา เติมน้ำ 20 กิโลกรัม ปิดฝาแล้วเปิดสวิตช์ 5-15 นาที ตามชนิดปลาแล้วปิดสวิตช์

ผลงานชิ้นนี้ สามารถขอดเกล็ดปลาได้ทั้งปลาสดและขอดเกล็ดปลาที่ผ่านการแปรรูป เช่น การเคล้าปลากับเกลือ รวมทั้งนำมาใช้คลุกเคล้าปลาสดกับส่วนผสมต่างๆ เช่น ผงเครื่องปรุง หรือกระเทียมทุบ นวัตกรรมชิ้นนี้สามารถขอดเกล็ดปลาได้หลายชนิด เช่น ปลาสร้อย ปลากระดี่ ปลายี่สก ปลาตะเพียน ปลาช่อน ตั้งแต่ 15-50 กิโลกรัม ภายในเวลา 5-15 นาที และสามารถคลุกเคล้าปลากับส่วนผสมได้อย่างทั่วถึง ในเวลา 3 นาที ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กรมประมง โทร. (02) 562-0600-15 ในวันและเวลาราชการ

กระทรวงเกษตรฯ คาดหวังว่า การจัดแสดงนิทรรศการ ภายใต้แนวคิด “ศาสตร์พระราชาและนวัตกรรมเกษตร” จะช่วยให้เกษตรกรได้เรียนรู้นวัตกรรมเกษตรใหม่ๆ และนำความรู้ดังกล่าวไปใช้ พัฒนาตนเองสู่การเป็น Startup ขยายตัวสู่การเกษตรอุตสาหกรรม หรือ SMEs ด้านเกษตร ส่งเสริมภาคเกษตรของไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและมั่นคงในระดับสากล เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเป็นผู้นำภาคการเกษตรของอาเซียนในระยะยาว