บันได 10 ขั้นสู่ความสำเร็จในการผลิตมะม่วงส่งออก

“ชมรมผู้ปลูกมะม่วงอำเภอเนินมะปราง” จังหวัดพิษณุโลก เกิดจากการรวมตัวของเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง จำนวน 14 คน เมื่อปี 2532 ปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเกือบ 200 ราย ทางชมรมฯ จะบริหารงานในรูปคณะกรรมการกลุ่ม มี “อาจารย์ศิลป์ชัย ตระกูลทิพย์” ทำหน้าที่เป็นประธานชมรมฯ พวกเขาติดต่อสื่อสารกันผ่านการประชุมกลุ่ม ที่จัดขึ้นทุกเสาร์ที่สองของเดือน รวมทั้งผ่านหัวหน้ากลุ่มย่อย ซึ่งได้จากการแบ่งกลุ่มสมาชิกออกตามพื้นที่เป็น 10 กลุ่ม สมาชิกทั้งหมดเป็นเกษตรกรชาวสวนมะม่วง ที่มีพื้นที่ทำกินเฉลี่ย 45 ไร่/ครัวเรือน

อาจารย์ศิลป์ชัย ตระกูลทิพย์
อาจารย์ศิลป์ชัย ตระกูลทิพย์

อาจารย์ศิลป์ชัย กล่าวว่า ทางชมรมฯ วางเป้าหมายพัฒนาองค์กรเป็น “ศูนย์เรียนรู้ชุมชนมะม่วง” เพื่อ ส่งเสริมและเผยแพร่วิชาการเกษตรให้แก่สมาชิกและผู้สนใจ เพื่อผลิตสินค้าคุณภาพดีป้อนตลาดทั้งในประเทศและส่งออก ที่ผ่านมาทางชมรมฯ ได้ร่วมกับ อาจารย์ธวัชชัย รัตน์ชเลค และ อาจารย์รุ่งทิพย์   อุทุมพันธ์ แห่งศูนย์วิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำวิจัยเกี่ยวกับการทำสวนมะม่วงของสมาชิก ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จนได้ข้อสรุปที่เป็นวิธีปฎิบัติที่ดีที่สุด จำนวน 10 ขั้นตอน เรียกว่า “บันได 10 ขั้นสู่ความสำเร็จในการผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออก”

บันไดขั้นที่ 1 การพักฟื้นต้น  

หลังเก็บเกี่ยว เกษตรกรจะให้ต้นมะม่วงได้พักเพื่อฟื้นฟูตนเอง 1 เดือน ประมาณช่วงเดือนพฤษภาคม เป็นระยะการให้ปุ๋ยก่อนการตัดแต่งกิ่ง ทั้งนี้ ต้นมะม่วงจะผลิใบชุดที่หนึ่งตามธรรมชาติ จะเริ่มต้นให้ปุ๋ยเคมีทางใบ เพื่อเร่งใบชุดที่หนึ่งพร้อม “บ่มตา” เพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้ตา เพื่อผลิใบชุดที่สองออกมาพร้อมกัน โดยใช้ (ต่อน้ำ 200 ลิตร) โพแทสเซียมไนเตรต อัตรา 1,000 กรัม ร่วมกับจิบเบอเรลลิน 2% อัตรา 30-50 มิลลิลิตร (ช่วยล้างพาโคลบิทราโซลที่ตกค้างบนปลายยอด) หลังจากนั้นจึงค่อยให้ปุ๋ยทางดิน ในช่วงที่ฝนยังไม่ตก กรณีปุ๋ยคอก (มูลวัวแห้ง) หรือปุ๋ยหมัก ใส่ตามร่องที่ขุดไว้เป็นวงรอบชายพุ่มแล้วกลบปิดใช้ 5-10 กิโลกรัม/ต้น

บันไดขั้นที่ 2 การล้างต้น

เพื่อกำจัดศัตรูพืชออกไปจากต้น เกษตรกรจะ “ล้างต้นด้วยสารเคมี” แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ หลังการพักต้น ก่อนและหลังการตัดแต่งกิ่ง ระยะที่สอง ก่อนการเปิดตาดอก (ดึงดอก) อาจารย์ศิลป์ชัย อธิบายความว่า ระยะแรกจะเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม จะฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชประเภทมด ต่อ แตน ฯลฯ ที่เป็นอุปสรรคต่อการตัดแต่งกิ่งและจัดทรงต้น สารเคมีที่ใช้ ได้แก่ ไซเพอร์เมทริน คลอร์ไพริฟอส อะบาเมคติน เมทโธมิล หรือคาร์บาริล สำหรับสารเคมี 3 ชนิดแรก เลือกใช้ในช่วงตัดแต่งกิ่งเท่านั้น ห้ามใช้ทุกกรณีหลังจากมะม่วงติดผลแล้ว การพ่นก่อนตัดแต่งกิ่งจะช่วยลดปัญหาศัตรูพืชที่สะสมอยู่ในกิ่งและใบที่ตัดแต่งลงมา

หลังตัดแต่งกิ่งเสร็จ เกษตรกรจะพ่นกำมะถันในอัตรา 500 กรัม/น้ำ 200 ลิตร เพื่อกำจัดเพลี้ยไฟ ไรแดง รวมทั้งเชื้อราบางชนิด สาเหตุที่ต้องแยกการพ่นสารเคมี 2 ครั้ง เพราะครั้งแรกทรงพุ่มมีกิ่งใบแน่นทึบ สารเคมีฉีดพ่นไม่ทั่วถึง และหากใช้กำมะถันร่วมกับยาฆ่าแมลงกลุ่มอื่นที่ระบุไว้ข้างต้น อาจเป็นพิษกับพืชได้

บันไดขั้นที่ 3 การตัดแต่งกิ่ง และการจัดทรงต้น

สำหรับต้นมะม่วงที่ให้ผลผลิตแล้ว ให้เลือกตัดแต่งกิ่งที่ไม่เหมาะสมออกไป เช่น กิ่งที่โคนต้น กิ่งทับซ้อน กิ่งมุมแคบ (ทำมุมกับลำต้นหรือกิ่งหลักน้อยกว่า 45 องศา) กิ่งในทรงพุ่ม กิ่งแห้ง กิ่งที่เป็นโรค กิ่งกระโดงที่ทำให้ทรงพุ่มสูงขึ้นไป รูปทรงเปิดยอด อาจารย์ศิลป์ชัย กล่าวว่า เน้นตัดแต่งกิ่งให้เป็นทรงพุ่มโปร่ง โดยตัดแต่งกิ่งออกไม่เกิน ร้อยละ 40 ระวังอย่าตัดแต่งกิ่งเกินร้อยละ 50 เพราะจะทำให้มีปัญหาหลังกิ่งแตก (เพราะถูกแสงแดดที่ส่องทะลุลงมาเผา) หากตัดแต่งกิ่งน้อยกว่าร้อยละ 40 จะส่งผลให้พุ่มต้นทึบเกินไป เกิดปัญหาการระบาดของศัตรูพืชได้ง่าย

การจัดทรงต้น ควรจัดทรงพุ่มเป็นรูปครึ่งวงกลมหรือสุ่มไก่คว่ำ ความสูงหลังจากการตัดแต่งกิ่งกำหนดไว้ไม่เกิน 2.50 เมตร การควบคุมความสูง จะเริ่มทำเมื่อต้นมะม่วงอายุ 4-5 ปี ควรตัดแต่งกิ่งให้เสร็จภายใน 7 วัน เพื่อไม่ให้กระทบต่อแผนการชักนำการออกดอก หากมีพื้นที่มาก ควรแบ่งสวนออกเป็นแปลงย่อยเพื่อให้แต่ละแปลงเสร็จงานตามเวลาที่กำหนด

การทำมะม่วงนอกฤดูแบบก่อนฤดูของอำเภอเนินมะปราง สำหรับมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ จะตัดแต่งกิ่งช่วงเดือนมิถุนายน ให้เสร็จช้าที่สุดไม่เกินปลายเดือนมิถุนายน ขณะที่พันธุ์อื่นๆ เช่น ฟ้าลั่น จะทำได้จนถึงเดือนกรกฎาคม เพราะตอบสนองต่อสารพาโคลบิวทราโซลง่ายกว่าพันธุ์น้ำดอกไม้ ส่วนพันธุ์ฟ้าลั่น พร้อมถูกดึงดอกได้ประมาณ 28-30 วันหลังราดสาร แต่พันธุ์น้ำดอกไม้ใช้เวลาตั้งแต่ 45-60 วัน หลังการราดสาร

m03

บันไดขั้นที่ 4 การบำรุงรักษาต้นและใบ

หลังการตัดแต่งกิ่งเสร็จในเดือนมิถุนายน นับตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ควรให้ต้นมะม่วงได้สะสมอาหาร สมบูรณ์ แข็งแรง และผลิใบใหม่ได้ 1 ชุด อย่างสม่ำเสมอกันทั้งต้น และทั้งแปลง (ถือเป็นชุดที่สอง เมื่อนับการผลิใบใหม่ตามธรรมชาติตั้งแต่ในระยะพักฟื้นต้นเป็นชุดแรก) และรอเวลาประมาณ 15-21 วัน ให้ใบชุดนี้เจริญสู่ระยะใบเพสลาด (เปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีเขียวอ่อนแล้ว) เตรียมพร้อมสำหรับการราดสารได้ มักทำในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ดังนั้น ช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคมจึงเร่งให้ปุ๋ย บำรุงต้น สะสมอาหาร ดึงใบอ่อน พร้อมรักษาใบให้สมบูรณ์ สอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ

การให้ปุ๋ยหลังตัดแต่งกิ่ง เน้นให้ปุ๋ยทางใบ ตั้งแต่ 7 วันหลังตัดแต่งกิ่งเสร็จ จนถึงก่อนการราดสาร เพื่อเร่งใบอ่อนให้ผลิพร้อมกัน (ดึงใบอ่อน) และเพิ่มความสมบูรณ์ให้ใบใหม่ยิ่งขึ้น อาจารย์ศิลป์ชัย บอกว่า การดึงใบโดยทั่วไป มี 2 กรณี กรณีแรก ตัดแต่งกิ่งออก 40% โดยไม่ตัดปลายยอดออก พ่นดึงใบก่อนการตัดแต่งกิ่ง กรณีที่สอง ตัดแต่งปลายยอดบริเวณใต้ข้อที่ 1 ออก (วิธีนี้ดีกว่าวิธีแรก เพราะช่วยตัดยอดซึ่งมีสาร   พาโคลบิวทราโซลสะสมอยู่ออกไป ลดปัญหาการสะสมที่ปลายยอด จุดอ่อนคือ หาแรงงานยาก) พ่นดึงใบหลังตัดแต่งกิ่ง ภายใน 7 วัน และใช้ไทโอยูเรีย 500 กรัม ร่วมกับโพแทสเซียมไนเตรต (13-0-46) จำนวน 2,500 กรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร

การบำรุงใบ เมื่อต้นมะม่วงผลิใบอ่อน (พ่นหลังตัดแต่งกิ่ง 7 วัน ซึ่งเป็นระยะตาใบเริ่มโผล่) ให้ใช้ปุ๋ยทางใบ สูตรที่มีไนโตรเจนสูง เช่น ปุ๋ยเกร็ด 30-20-10 อัตรา 500 กรัม หรือ น้ำตาลทางด่วน อัตรา 200 มิลลิลิตร หรือ ปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ 20-20-20 อัตรา 500 กรัม หรือ 21-21-21 อัตรา 500 กรัม  ผสมกับสารฆ่าเชื้อรา เช่น คาร์เบนดาซิม 50% WP อัตรา 200 กรัม ตามด้วยสารฆ่าแมลง เช่น คาราริล 85% WP อัตรา 500 กรัม หรือ อิมิดาคลอพิด 70% WG  อัตรา 30 กรัม หรือ เมทโทมิล 40% SP อัตรา 200 กรัม ต่อน้ำ  200 ลิตร

เมื่อตาเริ่มผลิใบออกมาให้หมั่นตรวจสอบ ถ้ามีแมลงศัตรูพืชมากัดยอดให้ฉีดพ่นใหม่ รวมพ่นได้ 3-4 ครั้ง ห่างกัน 5-7 วัน ต้นก็จะเข้าสู่ระยะใบเพสลาดสำหรับการราดสาร กรณีต้องการทำใบ 2 ชุดหลังตัดแต่งกิ่ง เมื่อใบชุดแรกแก่ ให้ดึงใบใหม่อีกรอบ (หนึ่งรอบชุดใบจะใช้เวลาประมาณ 28 วัน) หลังจากมีการผลิใบ ให้ดูแลรักษาเหมือนชุดแรก จนกระทั่งถึงใบเพสลาดจึงพร้อมราดสารอีกครั้ง หากใบอ่อนผลิออกมาสม่ำเสมอพร้อมกันทั้งต้นและใบมีความสมบูรณ์จะเลือกใช้ใบเพียงชุดเดียวแล้วราดสารเลย หลังราดสารครบเวลาตามเป้าหมาย เมื่อดึงดอกแล้วออกเป็นใบด้วยเหตุผลใดก็ตาม ให้บำรุงรักษาใบใหม่ต่อเนื่องจนสะสมอาหารไว้อย่างเต็มที่จึงค่อยดึงดอกใหม่อีกครั้งโดยไม่ต้องราดสารอีก

mo6

บันไดขั้นที่ 5 การราดสาร

เกษตรกรนิยมราดสารโดยใช้สารพาโคลบิวทราโซล 10% WP เพื่อชักนำการออกดอกในมะม่วง การราดทางดินจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าการพ่นทางใบ กรณีมะม่วงน้ำดอกไม้ การใช้ทางดินจะแสดงผลในช่วงประมาณ 45-60 วันหลังราดสาร ระยะใบเพสลาด หรือช่วงหลังผลิใบได้ประมาณ 15-21 วัน เป็นช่วงที่เหมาะสมสำหรับการราดสาร ทั้งนี้ ดินต้องมีความชื้น อาจารย์ศิลป์ชัย บอกว่า เกษตรกรนิยมราดสารในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม จนถึงต้นเดือนสิงหาคม เพราะไม่ค่อยมีปัญหาความชื้นในดิน กรณีไม่มีฝนตกหรือดินแห้ง ควรให้น้ำกับต้นมะม่วงก่อนการราดสารประมาณ 3 วัน เพื่อให้ดินมีความชื้นแล้วจึงค่อยราดสาร

กรณีมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้ อายุ 5-7 ปี ควรตัดแต่งกิ่งโปร่ง ต้นสูงไม่เกิน 2.5 เมตร ราดสารในอัตรา 10 กรัม/เส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร หากต้นมะม่วงอายุเกินกว่านี้ ควรราดสารในอัตรา 15-20 กรัม/ เส้นผ่าศูนย์กลางทรงพุ่ม 1 เมตร โดยพิจารณาจากความหนาแน่นของใบ และความสูงของต้นประกอบ หากต้นสูงมากต้องเพิ่มปริมาณการใช้สารเพิ่มขึ้นไปอีก

เกษตรกรจะราดสารบริเวณโคนต้น โดยทำความสะอาดรอบโคนต้นก่อน แล้วทำเป็นแอ่ง ผสมน้ำอย่างน้อย 5 ลิตร/ต้น ควรให้น้ำมากจะได้ผลดีกว่า ใช้น้ำน้อย หลังราดสารแล้ว หากไม่มีฝนตก ต้องให้น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ดินมีความชื้นประมาณ 10-15 วัน ระวังอย่าราดสารเกินกว่าที่กำหนด เพราะจะทำให้ต้นมะม่วงแสดงอาการเลื้อยของกิ่ง และเปลือกแตก นำไปสู่อาการดื้อต่อสารเร็วขึ้น โดยปกติอาการดื้อสารพาโคลบิวทราโซล (ไม่ตอบสนองในการชักนำให้ออกดอก) พบเมื่อราดสารติดต่อกันประมาณ 8 ปี มักเกิดในพื้นที่ที่เป็นดินลูกรัง

บันไดขั้นที่ 6 การบำรุงตาดอกและเปิดตาดอก 

หลังจากราดสารปลายเดือนกรกฎาคมถึงต้นเดือนสิงหาคม ต้นมะม่วงจะเริ่มปรับสมดุลของฮอร์โมน มีการสะสมอาหารและถูกชักนำสร้างตาดอกขึ้น ภายใน 45-60 วัน เพื่อส่งเสริมการสร้างตาดอก ช่วงกลางเดือนกันยายนให้สมบูรณ์ ควรบำรุงตาดอกก่อนเปิดตาดอก โดยให้ปุ๋ยทางดิน หลังราดสารประมาณ      7 วัน เกษตรกรนิยมให้ฮิวเทคจี (ปุ๋ยเคมีอินทรีย์ สูตรบำรุงดอก) อัตรา 2 กิโลกรัม/ต้น

กรณีต้นมะม่วงอายุมาก ตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป จะเพิ่มสัดส่วนปุ๋ยเป็น 3 กิโลกรัม/ต้น หรือใช้ปุ๋ยเคมีสูตร     8-24-24 อัตรา 1-2 กิโลกรัม/ต้น เพื่อให้ต้นสะสมอาหารสำหรับสร้างตาดอก หลังราดสารแล้ว ดินมีความชื้น อาจใส่ปุ๋ยได้ทันที หลังจากให้ปุ๋ยทางดินประมาณ 15 วัน ควรฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ สูตร 6-16-36 หรือ 5-20-25 หรือ 0-52-34 หรือ 0-42-56 อัตรา 1 กิโลกรัม/น้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่น 3-4 ครั้งห่างกัน    7-10 วัน

ควรล้างต้นก่อนเปิดตาดอก เพื่อป้องกันศัตรูพืชก่อนการแทงช่อดอก โดยใช้กำมะถันผง 500 กรัม/น้ำ  200 ลิตร ฉีดพ่นฆ่าเพลี้ยไฟ ไรแดง และเชื้อรา ก่อนดึงดอกประมาณ 7 วัน การเปิดตาดอก หรือ “ดึงดอก” เป็นการใช้สารเคมีกระตุ้นให้ตาดอกที่มีความพร้อมผลิบานออกมาพร้อมกันทั้งต้น เพื่อความสะดวกในการจัดการสวน

m04

อาจารย์ศิลป์ชัย กล่าวว่า การดึงดอก จะทำหลังราดสารประมาณ 45-60 วัน ในช่วงปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม ยกเว้นพันธุ์เขียวเสวย ใช้เวลาประมาณ 60 วัน วิธีการดึงดอก จะใช้ไทโอยูเรีย 500 กรัม ร่วมกับโพแทสเซียมไนเตรต 2.5-3.0 กิโลกรัม พร้อมสาหร่ายทะเลสกัด 300 มิลลิลิตร (หรือใช้รู้ดวัน 200 มิลลิลิตร/น้ำ 200 ลิตร) ในกรณีใช้เครื่องฉีดพ่น นิยมพ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 5-7 วัน หลังจากนั้นตาดอกจะแทงช่อออกมา หลังจากดึงดอก 1 สัปดาห์ มีการผลิของตาออกมา อาจเกิดเป็นช่อใบมากกว่าช่อดอก  หากปรากฏช่อดอกออกมาพร้อมกันเกิน ร้อยละ 70 ของยอดทั้งหมดบนต้นก็ถือว่า ประสบความสำเร็จแล้ว

บันไดขั้นที่ 7 การบำรุงช่อดอก และช่อผล

การบำรุงช่อดอก ต้องเริ่มดูแลรักษาช่อดอก ตั้งแต่ระยะเดือยไก่/ระยะเขี้ยวหมา หรือหลังจากดึงดอกครั้งที่ 2 แล้วประมาณ 7-10 วัน ให้ฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ สูตร 6-16-36 อัตรา 400 กรัม หรือสูตร 10-52-17 อัตรา 500 กรัม/น้ำ 200 ลิตร รวมทั้งฉีดพ่นแคลเซียมโบรอน และสารฆ่าเชื้อรา เพื่อป้องกันโรคจากเชื้อราเป็นหลัก เช่น โพรคลอราช 50% WP 200 กรัม และไตรฟล็อกซี่สโตรบิน 50% WP 30 กรัม สลับกับ   ไดฟีโนโคนาโซล 25% SL100 มิลลิลิตร/น้ำ 200 ลิตร ส่วนสารฆ่าแมลงที่แนะนำคือ คาร์บาริล 85% WP 500 กรัม สลับกับอิมิดาโคลพริล 70% WG อัตรา 30 กรัม สำหรับกำจัดเพลี้ยจักจั่นและเพลี้ยไฟ

สารจับใบ ควรพ่นก่อนดอกบานประมาณ 3 ครั้ง ตั้งแต่ระยะเดือยไก่จนถึงก่อนดอกบาน หากสภาพอากาศแห้งแล้ง การพ่นครั้งสุดท้าย ควรเพิ่มอะมิโนแคลเซียม 100 มิลลิลิตร/น้ำ 200 ลิตร เพื่อช่วยให้ดอกมีความชุ่มชื้นและมีกลิ่นช่วยดึงแมลงพาหะมาผสมเกสร ให้ผสมสารเคมีทั้งหมดตามลำดับ เมื่อดอกเริ่มบานให้หยุดการพ่นสารเคมีทุกชนิด

เมื่อเริ่มติดผลขนาดหัวไม้ขีดไฟหรือเมล็ดถั่วเขียว ให้ระวังเพลี้ยไฟ และโรคจากเชื้อรา สารเคมีที่ใช้บำรุงรักษาผล เช่น สาหร่ายทะเลสกัด แคลเซียมโบรอน สารฆ่ารา และสารฆ่าแมลงใช้ตัวเดิมกับช่วงดอก พ่น 2 ครั้ง ใช้ในอัตราต่ำ เมื่อผลเท่าเมล็ดถั่วลิสงหรือเมล็ดข้าวโพด ให้ดูแลโดยใช้ส่วนผสม ต่อน้ำ 200 ลิตร  ให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง สูตร 30-20-10 อัตรา 500 กรัม แคลเซียมโบรอน 100 มิลลิลิตร จิบเบอเรลลิน 2% อัตรา 20 มิลลิลิตร เพื่อขยายขนาดผล ให้สารไคโตซาน 200 มิลลิลิตร เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคพืช และเพิ่มการเจริญเติบโตของพืช

นอกจากนี้ ควรให้สารฆ่าเชื้อรา เช่น แคปเทน หรือแมนโคเซบ อัตรา 500 กรัม หรือแอนทราโคฃ 300 กรัม และให้สารฆ่าเพลี้ยไฟ เช่น คาร์โบซัลแฟน 20% EC 300 มิลลลิตร หรืออะบาแมคติน 100 มิลลิลิตร รวมทั้งสารฆ่าหนอนเจาะผล เช่น ไซเพอร์เมทริน 100 มิลลิลิตร จำนวน 3 ครั้ง ห่างกัน 7-10 วัน จนถึงระยะผลเท่าไข่ไก่ (45 วัน หลังติดผล) ควรมีแหล่งน้ำให้ปุ๋ยทางดินสูตร 15-15-15 อัตรา 1 กิโลกรัม/ต้น ช่วยด้านการขยายผล เมื่อผลยาว 8-12 เซนติเมตร หรือประมาณ 45-60 วัน หลังการติดผล ถึงระยะห่อผล

ก่อนห่อผล ควรตัดแต่งผล (ปลิดผล) แล้วพ่นสารเคมีฆ่าศัตรูพืช เช่น ยาป้องกันเชื้อรา เช่น แอนทราโคล 70% WP อัตรา 300 กรัม สารฆ่าเพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย เช่น ไทอะมีโทแซม 25% WG อัตรา 20 กรัม ร่วมกับแลมบ์ดาไซฮาโลทริน อัตรา 50 มิลลิลิตร หรือสารที่มีส่วนผสมของไทอะมิโทแซม+แลมบ์ดาไซฮาโลทริน อัตรา 150 มิลลิลิตร สารจับใบ เช่น พรีมาตรอน อัตรา 100 มิลลิลิตร หรือสารจับใบที่มีส่วนผสมของน้ำมันปิโตรเลียม พาราฟฟินิกออยล์ อัตรา 100 มิลลิลิตร

ระหว่างการห่อผล เช็ดผลให้สะอาด หากพบเพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอยบนผล หรือก้านขั้นผล หลังห่อผล เหลือเวลาประมาณ 40-45 วันก่อนเก็บเกี่ยว ไม่ควรให้น้ำหรือให้ปุ๋ยทางดิน เพราะจะทำให้ผลเน่าในและตายนึ่งในตอนบ่ม ให้ฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ สูตร 13-0-46 อัตรา 1,000 กรัม ผสมแคปแทน หรือแมนโคเซบ อัตรา 500 กรัม ผสมอิมิดาโคลพริด อัตรา 30 กรัม หรือคาร์บาริล อัตรา 500 กรัม/น้ำ 200 ลิตร พ่นทันทีหลังห่อผล แล้วฉีดพ่นครั้งที่ 2 ห่างกัน 7 วัน เพื่อให้มีรสหวาน ขยายผลให้โต ช่วยให้เก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้นและรักษาผล ระยะผลที่โตแล้ว ควรใช้สารเคมีที่เป็นผงจะดีกว่าที่เป็นน้ำมัน

บันไดขั้นที่ 8 การปลิดผลและการห่อผล

ควรปลิดผลออกก่อนการห่อผล จำนวน 3 ครั้ง เพื่อกำหนดขนาดผลตามความต้องการของตลาด รวมทั้งรักษาเฉพาะผลที่มีคุณภาพไว้ ครั้งที่ 1 เมื่อผลมีขนาดเท่านิ้วหัวแม่มือ ประมาณ 20 วัน หลังติดผล ให้เลือกปลิดผลที่มีลักษณะผลกะเทย ผลไม่ได้รูปทรง ผลบิดเบี้ยว ผลที่เบียดกัน อย่างไรก็ตาม ผลเหล่านี้สามารถขายได้ 13 บาท/กิโลกรัม นับเป็นผลขนาดเล็กสุดที่ปลิดออกในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ต้นเดือนธันวาคม

ครั้งที่ 2 ประมาณ 30 วัน ผลที่สมบูรณ์จะมีสีเขียวอ่อน ให้ปลิดผลที่ไม่สมบูรณ์ เช่น ผลกะเทย ผลบิดเบี้ยว ผลสีเขียวคล้ำ สำหรับผลระยะนี้จะมีขนาดลูกปิงปองขึ้นไป เรียกว่า ลูกใหญ่ ขายได้ในราคากิโลกรัมละ 3 บาท ครั้งที่ 3 ให้ซอยผลให้ห่าง กรณีช่อที่มีผลอยู่ห่างกัน เหลือไว้ไม่เกิน 2 ผล/ช่อ ให้ปลิดผลลาย ผิวที่มีรอยขีด ผลต่อช่อมากเกินไป ผลระยะนี้จะมีขนาดใหญ่ ขายได้ในราคากิโลกรัมละ 3 บาท นิยมใช้ทำมะม่วงยำ

การปลิดผลให้ระวังเรื่องยางเปื้อนผลที่ไม่ตัดออก ควรปลิดผลในช่วงบ่าย เพราะจะมียางน้อยกว่าช่วงเช้า  และใช้กระดาษชำระซับน้ำยางไว้ กรณีกิ่งฝากท้อง ให้ไว้ผลรอบสุดท้าย ไม่เกิน 5 ผล/ช่อ การไว้ผลต่อช่อจะอิงตลาดปลายทางเป็นหลัก หากเป็นตลาดส่งออกผลสด ต้องการผลขนาดเล็ก น้ำหนักเฉลี่ย 280-450 กรัม/ผล จะไว้ผลต่อช่อมากกว่า ตลาดส่งออกในรูปแช่แข็ง ที่ต้องการผลขนาดใหญ่ เฉลี่ย 330 กรัม/ผลขึ้นไป

การห่อผล สำหรับมะม่วงน้ำดอกไม้เบอร์ 4 และน้ำดอกไม้สีทอง นิยมใช้ถุงกระดาษคาร์บอน 2 ชั้น เพื่อให้สีผิวของมะม่วงขึ้นสีเหลืองดี แม้ห่อเมื่อผลแก่ควรเลือกถุงสีน้ำตาลด้านนอก เหนียว ไม่ยุ่ยเมื่อโดนน้ำ   กระดาษคาร์บอนด้านในหนา ถุงมีลวดโผล่และลวดแข็ง เมื่อพับลวดพันก้านผลแล้วไม่คลายตัวออก ลวดที่โผล่ออกมาควรจะอยู่ด้านซ้ายของถุงจะสะดวกกว่าอยู่ด้านขวา ลวดที่โผล่ออกมายาวจะดีกว่า แนะนำให้ใช้ถุงซุนฟง เพราะสามารถใช้งานได้ซ้ำถึง 5 ครั้ง ราคาเฉลี่ย 1.30 บาท/ถุง

อาจารย์ศิลป์ชัย แนะนำให้ห่อผลมะม่วงตั้งแต่ระยะขนาดไข่ไก่ ผลยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร ผลกว้าง 3 เซนติเมตร โดยตัดแต่งช่อผลก่อนห่อ หลีกเลี่ยงการห่อผลเล็ก เพราะเสี่ยงต่อการร่วงของผลได้มาก  ทั้งนี้ ควรพ่นสารเคมีก่อนห่อ เทคนิคการห่อที่นิยมกันมี 2 รูปแบบ คือ 1. จีบรูดปากถุงไว้ตรงกลาง ข้อดีคือ มัดได้แน่น กันเพลี้ยแป้งเข้าไปในถุงได้ดีกว่าแบบพับ จุดอ่อนคือ ถุงจะยับมาก เก็บถุงไว้ใช้ต่อไม่ค่อยได้ 2. พับขอบถุงทั้งสองด้านมาประกอบกันที่ตรงกลาง หรือด้านใดด้านหนึ่ง ข้อดีคือ ถุงไม่ยับ เก็บไว้ใช้งานได้ต่อไปได้ดี ห่อได้เร็ว จุดอ่อนคือ ลวดมัดไม่แน่น ประโยชน์ของการห่อผลคือ ช่วยป้องกันผลไปกระแทกกับกิ่ง ป้องกันโรคที่อยู่ในอากาศ ป้องกันแมลงที่อยู่ด้านนอกถุง ทำให้ผิวไม่ลาย เป็นสีเหลืองสม่ำเสมอ

บันไดขั้นที่ 9 การเก็บเกี่ยว

อาจารย์ศิลป์ชัย แนะนำให้นับวันเก็บเกี่ยว ประมาณ 120 วัน หลังดึงดอก เมื่อถึงกำหนดให้สุ่มเปิดดูเป็นระยะ หากพบว่าผลมีสีผิวเรียบเนียนมีนวล อกเต็ม แก้มอูม สะดือเรียบ ปลายผลพันธุ์น้ำดอกไม้สีทองมีสีเหลืองเข้มข้น ให้สุ่มเก็บผลไปลอยน้ำ ต้นละ 1 ผล ประมาณ 5 ต้น  หากผลจมดิ่ง ตะแคงนิ่ง ไม่กระดก แสดงว่าเป็นผลแก่ 80-90% เหมาะสำหรับตลาดผลแช่แข็ง สามารถเก็บเกี่ยวได้เลย ใช้ระยะเวลาปลูกประมาณ 130-140 วันหลังดึงดอก และสามารถเก็บผลได้ต่อเนื่องถึง 15 วัน หากมีฝนตก เนื่องจากอากาศเย็น หากอากาศร้อนจัด ผลจะแก่เร็ว ระยะเก็บเกี่ยวจะสั้นลง

m01

การเก็บเกี่ยว ควรเด็ดที่โคนช่อผล เนื่องจากเด็ดง่าย ยางไม่ไหลเปื้อนผล นำผลวางในตระกร้าทั้งถุงห่อ  ขนไปโรงคัดบรรจุแล้วถอดถุง ตัดขั้วผลให้เหลือยาว 3-5 เซนติเมตร เป็นระยะที่ยางไม่ไหล พร้อมคัดแยกเกรดรอบที่ 1 เรียกว่า แยกหยาบ เกษตรกรจะคัดแยกผลที่ขายได้และผลที่ตกเกรด รอบที่ 2 จะคัดเกรดที่จะส่งขายชมรมฯ หากผลมีรอยเปื้อนให้เช็ดให้สะอาด จัดเรียงใส่ตะกร้าที่บุด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ทั้ง 4 ด้าน และรองแต่ละชั้น ตะกร้า 1 ใบ สามารถบรรจุมะม่วงได้ 3 ชั้น

ทั้งนี้ ตลาดมะม่วงแช่แข็ง ต้องการมะม่วงที่มีน้ำหนักหลังบ่ม 2 ขนาด คือ ขนาดเล็ก น้ำหนัก 280-329 กรัม ราคาต่ำกว่าขนาดใหญ่ 10 บาท ขนาดใหญ่ น้ำหนัก 330 กรัมขึ้นไป การคัดเกรดส่งออกผลสด จะคัดเป็น 4 ขนาด คือ ไซซ์ S น้ำหนัก 280-330 กรัม/ผล M น้ำหนัก 331-350 กรัม/ผล L น้ำหนัก 351-450 กรัม/ผล และ J น้ำหนัก 451 กรัมขึ้นไป เป็นขนาดที่ตลาดต้องการน้อย

บันไดขั้นที่ 10 การคัดบรรจุและการขนส่ง

ทางชมรมฯ จะคัดเกรดมะม่วง โดยกำหนดระยะมะม่วงแก่ 75-80% เมื่อคัดแยกแล้วจะนำมาบรรจุใส่ตะกร้าหูเหล็ก ใช้กระดาษหนังสือพิมพ์รองตะกร้าทั้ง 4 ด้าน วางผลมะม่วงเอาหัวเอียงประมาณ 30 องศา วาง 3 ชั้น แต่ละชั้นรองด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ ตะกร้าแต่ละใบ สามารถบรรจุน้ำหนัก 26 กิโลกรัม      (น้ำหนักมะม่วงอย่างเดียว 23 กิโลกรัม)

mo7

หลังจากนั้นจะขนส่งตะกร้ามะม่วงบรรจุใส่รถบรรทุกสี่ล้อ รับน้ำหนักได้ 119 ตะกร้า/คัน โดยวางซ้อนกันได้ 5 ชั้น คลุมด้วยผ้าใบกันฝน นิยมขนส่งตอนกลางคืน เพื่อส่งสินค้าถึงโรงงาน ไม่เกินเที่ยงวันของวันถัดไป เมื่อสินค้าถึงปลายทาง ทางโรงงานจะนำมาแยกมะม่วงตามรหัสสมาชิกแล้วชั่งน้ำหนักผู้ผลิตแต่ละราย คิดราคามะม่วงตามน้ำหนักปลายทาง สินค้าจะถูกส่งคืน หากไม่ได้มาตรฐาน ทางชมรมฯ จะเป็นผู้กำหนดแผนการขนส่งสินค้าไปยังบริษัทส่งออกแบบแช่แข็ง มีการทำประกันสินค้าตามมูลค่าสินค้าแต่ละเที่ยว บริษัทจะคัดสินค้าและส่งออกแบบแช่แช็งอีกรอบ

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559