การบริหารจัดการน้ำสมดุล ความท้าทายที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือ

“ICID” เป็นองค์กรระหว่างประเทศด้านการชลประทานและการระบายน้ำ ในปีนี้ไทยรับไม้ต่อจากตุรกีจัดประชุม World Irrigation forum ครั้งที่ 2 ที่เชียงใหม่ น่าสนใจว่า หัวข้อหลักครั้งนี้จะเน้นหารือ “การบริหารจัดการน้ำภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก” นับเป็นปรากฏการณ์อันท้าทายต่อการพัฒนาทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งเเวดล้อม เพื่อลดความยากจนเเละความหิวโหยและโดยเฉพาะภาคการเกษตร น้ำกับภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้หารือใน 3 หัวข้อ 1.การแสวงหาแนวทางการบริหารจัดการเพื่อสร้างความสมดุลระหว่าง น้ำ อาหาร พลังงานและระบบนิเวศ 2.การร่วมกำหนดวิธีการรับมือที่เหมาะสมกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่มีผลต่อปริมาณน้ำ ทั้งอุทกภัย และภัยแล้ง และ 3.เป็นการใช้ระบบชลประทานและการระบายน้ำเพื่อลดความยากจน และความหิวโหยโดยร่วมวางแนวทางพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานให้เพียงพอที่จะสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยใช้ทำการเกษตร

ซึ่งแนวทางของไทยมีการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ คือ ดำเนินการพื้นที่ทำกินขนาดเล็กด้วยการจัดการระดับไร่นาอย่างเหมาะสม การทำแก้มลิงในการชะลอน้ำ เก็บน้ำ เพื่อลดปัญหาน้ำท่วม รวมถึงอ่างเก็บน้ำเขื่อนต่าง ๆ ทั่วประเทศและที่ประชุมเห็นว่าประชากรมากกว่าร้อยละ 75 อยู่ชนบทกับการเกษตรหลัก จึงได้สรุปว่าการดำเนินงานจากนี้ให้ส่งเสริมเกษตรกรรวมกลุ่มรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ ให้มีอำนาจการต่อรอง เพื่อยกระดับเครือข่ายชนบทควบคู่กับการพัฒนาเมืองรวมถึงการส่งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันครัวเรือนที่มีรายได้น้อยในชนบท

ทางด้าน ดร.ซาอีด ไนรีซี ประธาน ICID กล่าวว่า การชลประทานและการระบายน้ำเป็นกุญแจสำคัญต่อความมั่นคงทางน้ำและอาหารที่ต้องเผชิญธรรมชาติที่มีอย่างจำกัด เราได้ตระหนักถึงการเติบโตที่มีความจำเป็นต่อการปรับปรุงการผลิตน้ำเพื่อการเกษตรและการแข่งขันเรื่องน้ำที่ทวีความรุนแรง ซึ่งที่ผ่านมา การประชุมสภาพภูมิอากาศ Paris Climate Conference (COP21) ได้มีการเรียกร้องระดับโลกร่วมกันเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบันและอนาคต

กูรูน้ำฮอนแลนด์ชี้หลักบริหารน้ำ

ศาสตราจารย์บาร์ธ ชูลทส์ ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านการระบายน้ำและการพัฒนาที่ลุ่ม ประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่าความท้าทายที่มนุษย์ต้องเผชิญในการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลก มี 2 ประเด็นหลัก คือ 1.หลักการบริหารจัดการน้ำกับการเติบโตของจำนวนประชากร 2.บทบาทน้ำกับความยั่งยืนด้านอาหาร

ในอนาคตการเติบโตของจำนวนประชากรจะเป็นสิ่งชี้วัดการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะพื้นที่ชนบทโดยส่วนมากเป็นพื้นที่เกษตรกรรมจะมีอัตราการเติบโตของประชากรเพิ่มขึ้นเท่าตัว แน่นอนว่าพื้นที่เหล่านี้การติดตั้งระบบชลประทานจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการเกษตร ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นคือความไม่เพียงพอของอาหาร จะสังเกตเห็นได้ว่า ประเทศที่มีศักยภาพเเละพัฒนาแล้วจะเป็นแหล่งผลิตเเละส่งออก ตรงกันข้ามกับประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนาจะต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารและสินค้าทดแทน อาทิ ข้าวโพดสาลี มันฝรั่ง นั่นคือความท้าทายด้านชลประทาน ชูลทส์ได้ยกตัวอย่างพัฒนาการด้านการเกษตรประเทศฝรั่งเศสระยะหลังจะผลิตอาหารเพื่อป้อนชุมชนเมืองโดย ที่ราคาข้าว ข้าวโพด ข้าวสาลี หรืออาหารจำพวกธัญพืชเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในปี 2008 นับเป็นโชคดีของผู้บริโภคแต่กลับเป็นโชคร้ายของเกษตรกรรวมถึงโจทย์บริหารน้ำที่รัฐบาลต้องจัดการให้เพียงพอ

ดังนั้น รัฐบาล องค์กร เกษตรกรต้องหันหน้าเข้าหากันบริหารจัดการไม่ใช่เฉพาะหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง จึงเป็นความท้าทายการบริหารน้ำในประเทศนั้น ๆ ขณะเดียวกันยังมีผลกระทบความเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินของมนุษย์โดยเฉพาะแถบชายฝั่ง นานาประเทศประเมินความเสี่ยงดินทรุดถี่ขึ้น แต่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์แม้จะมีความเสี่ยง 1 ใน 1,000 ปีข้างหน้า แต่ไม่นิ่งนอนใจด้วยสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลกเเล้ว ต้องให้ความใส่ใจความปลอดภัยเรื่องของที่ดินตลอดเวลาและมีการวางแผน อนุสัญญาปารีสจะเป็นสิ่งสะท้อนความตื่นตัวด้านทรัพยากรบนโลก

ดังนั้น ที่ดินจึงเป็นปัจจัยหลักอีกประการของปัญหาการจัดการทรัพยากรน้ำ ส่วนปัจจุบันทั่วโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท 3,400 ล้านคน หรือร้อยละ 45 และภายในปี 2050 ประชากรจะลดลงเหลือร้อยละ 34

ในทางกลับกันประเทศที่กำลังพัฒนาร้อยละ 75 อยู่ในพื้นที่ชนบท ส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพาเกษตรกรรมและเผชิญความยากจน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงชนบทจะเป็นพลังสำคัญต่อการพัฒนา

สอดคล้องกับ Ms.Kundhavi Kadiresan (Director General FAO) กล่าวว่า เอฟเอโอได้ประเมินว่าอนาคตเอเชียจะมีน้ำจืดลดลง บริบทต่าง ๆ จะเปลี่ยนแปลงไปทั้งการชลประทานเพื่อเป็นแหล่งผลิตอาหารจะเริ่มเป็นปัญหารวมถึงสิ่งแวดล้อมจะเข้ามาท้าทายระบบนิเวศ การจัดการด้านทรัพยากรต้องถูกวางอย่างเป็นระบบเพราะแต่ละประเทศต้องอาศัยการลงทุน พัฒนาขีดความสามารถ

“เราจะไม่สามารถแก้ปัญหาอื่นได้หากไม่บริหารจัดการน้ำก่อน”