รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยาง มีสมรรถนะในการทรงตัวดีเมื่อทำงานตามพื้นที่ลาดเท ตามไหล่เขา

ข้อได้เปรียบของรถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยางกับรถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบเหล็ก

  1. การสั่นสะเทือนของรถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยางเกิดขึ้นน้อยกว่าจึงให้ความนุ่มนวลในการขับขี่
  2. รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยางกดอัดกับพื้นดินมีน้อยกว่า
  3. รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยางสามารถขับขี่บนถนนหลวงได้ โดยไม่ทำลายผิวจราจร
  4. รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยางเกิดเสียงดังในการทำงานน้อยกว่า
  5. รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยางสามารถใช้ความเร็วในการขับขี่ได้สูง
  6. รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยางให้กำลังฉุดลากที่สูงกว่า
  7. รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยางมีน้ำหนักที่เบากว่า

 

รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบเหล็กเพื่อการเกษตร
รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบเหล็กเพื่อการเกษตร

ข้อได้เปรียบของรถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบเหล็ก กับรถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยาง

  1. รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบเหล็กมีความแข็งแรงทนทานกว่า
  2. รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบเหล็กเหมาะกับงานบุกเบิกป่าเขา สภาพพื้นที่มีหินมาก
  3. รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบเหล็กสามารถติดใบมีดดันดินด้านหน้า

 

ข้อได้เปรียบของรถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยาง กับรถแทรกเตอร์ล้อยาง       

  1. รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยางมีสมรรถนะในการทรงตัวดีเมื่อทำงานตามพื้นที่ลาดเท ตามไหล่เขา
  2. รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยางให้การลอยตัวที่ดีกว่าในพื้นที่เปียกแฉะ
  3. รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยางให้ความนุ่มนวลในการขับขี่ เมื่อขับบนพื้นที่ขรุขระ เช่น การขับตัดขวางแนวไถเดิมในไร่นา
  4. รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยางประสิทธิภาพในการฉุดลากสูงกว่า ไม่ว่าจะใช้กับสภาพพื้นที่ใดก็ตาม
  5. รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยางให้ความคล่องตัวในการเลี้ยว สามารถหมุนเป็นวงเลี้ยวแคบ
  6. รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยาง มีการใช้น้ำหนักถ่วงน้อยมากหรือไม่ต้องใช้น้ำหนักถ่วง จึงไม่ต้องออกแบบรถให้มีน้ำหนักมากเกินไป
  7. รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยางไม่ต้องกังวลกับการคอยตรวจวัดแรงดันลมยางเป็นประจำ
  8. รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยางให้กำลังเครื่องยนต์สม่ำเสมอตลอดการทำงาน กำลังเครื่องยนต์คงที่ไม่ตกในสภาพการทำงานต่างๆ
  9. รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยาง ลดการลื่นไถ เปอร์เซ็นต์การลื่นไถลเกิดขึ้น 3-5%
  10. รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยางสมรรถนะในการทรงตัวบนพื้นที่ลาดเอียงตามเนินเขาดี
  11. รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยางวงเลี้ยวแคบ สามารถตีวงเลี้ยวเป็นวงกลมโดยรถไม่ต้องเคลื่อนที่ออก
  12. รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยาง ต่อเครื่องพ่วงได้ง่ายกว่า
  13. การบำรุงดูแลรักษาน้อยกว่า
รถแทรกเตอร์ล้อยางทั่วไป แต่ใช้ชุดตีนตะขาบยาง
รถแทรกเตอร์ล้อยางทั่วไป แต่ใช้ชุดตีนตะขาบยาง

ข้อเสียเปรียบของรถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยาง กับรถแทรกเตอร์ล้อยาง

  1. รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยาง การเดินทางจะช้ากว่ารถแทรกเตอร์ล้อยาง
  2. รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยาง ต้องคอยระมัดระวังการใช้เพลาอำนวยขณะทำการเลี้ยว
  3. รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยาง การหันเลี้ยวยากกว่าเมื่อต้องใช้กำลังฉุดลากสูง (เช่น ทำงานตามเส้นชั้นความสูง)
  4. รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยาง ไม่สามารถจะติดตั้งปุ้งกี๋ตักดินหน้าและใบมีดดันดินหน้าได้
  5. รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยาง ปรับความกว้างของล้อได้ยากกว่า
  6. รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยาง เกิดแรงสั่นสะเทือนมากกว่าเมื่อแล่นพื้นผิวแข็ง
  7. รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยาง ทำลายต้นพืชได้มากกว่า
สามารถปรับความกว้างของช่วงล้อตีนตะขาบยางได้
สามารถปรับความกว้างของช่วงล้อตีนตะขาบยางได้

ข้อได้เปรียบของรถแทรกเตอร์ชุดล้อตีนตะขาบยาง (Soucy Track System) ทั้ง 4 ล้อ

Advertisement
  1. น้ำหนักกดลงดินน้อยกว่า หากต้องการให้รถแทรกเตอร์ล้อยางมีน้ำหนักกดตัวลดลงจะต้องเพิ่มล้อข้างละ 3 ล้อ ด้านหน้า ใช้ยาง 6 เส้น ด้านหลังใช้ยาง 6 เส้น รวมใช้ยางทั้งหมด 12 เส้น
  2. ให้กำลังฉุดลากที่ดีกว่าตลอดเวลา ต่างจากรถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยาง 2 ข้าง จะหยุดหรือช้าลงเมื่อทำการเลี้ยว
  3. ให้ความนุ่มนวลในการขับขี่ เมื่อขับบนพื้นที่เนิน เมื่อขับลงเนินจะไม่กระแทกตัวลงของด้านหน้า
  4. ให้การทรงตัวดีเมื่อใช้กับเครื่องพ่นสารเคมี จะไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่งบนพื้นที่ไม่ราบเรียบ ถ้าเป็นรถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยางจะเอียงข้างได้
  5. ให้ความคล่องตัวในการทำงานดีกว่าเมื่อต่อพ่วงกับเครื่องมือพ่วงท้าย

ถึงแม้ว่าเกษตรกรต่างทราบข้อดีหลายอย่างของรถแทรกเตอร์ตีนตะขาบยาง แต่การซื้อขายในตลาดรถแทรกเตอร์ตีนตะขาบยางก็เติบโตเป็นไปอย่างเชื่องช้า ในความคิดเห็นของผู้บริหารของบริษัทผลิตรถแทรกเตอร์จาก 3 ค่าย ได้แก่ Deere&Co., Case Corp. และ Caterpillar Agricultural Products Inc. คาดว่าตลาดรถแทรกเตอร์ตีนตะขาบยางจะต้องโตขึ้นในเร็วๆ นี้ ปี พ.ศ. 2557 รถแทรกเตอร์ตีนตะขาบยางมีส่วนแบ่งในตลาดเพียง 10% โดยเฉพาะรถขนาดตั้งแต่ 300 แรงม้า เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงใช้รถแทรกเตอร์ล้อยางกันอยู่

ในสถานการณ์ปัจจุบัน รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยางยังไม่มีความจำเป็นสำหรับพื้นที่เกษตรกรรมในประเทศไทย ทั้งนี้ เนื่องจากเกษตรกรไทยมีพื้นที่ถือครองกันน้อย พื้นที่ทำการเกษตรกรรมจำนวนมากเป็นของบริษัทหรือฟาร์มขนาดใหญ่ และพื้นที่ส่วนใหญ่กลายเป็นของนายทุนให้เกษตรกรเช่า การให้เกษตรกรตระหนักถึงปัญหาการอัดตัวแน่นของดินแล้วหันมาใช้รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยางหรือจ้างรถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยางเตรียมดินในพื้นที่นั้นยิ่งเป็นไปได้ยาก และสิ่งที่สำคัญเป็นองค์ประกอบหลักในการตัดสินใจซื้อรถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยางนั้นต้องพิจารณาถึงจุดคุ้มทุนเพราะรถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยาง มีราคาแพงกว่ารถแทรกเตอร์ล้อยางอย่างมาก คงอีกนานกว่าจะได้เห็นการใช้รถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยางในประเทศไทย แต่จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์พบว่า ชั้นดินดานของประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมด 14,185,423 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 4.4 ของพื้นที่ประเทศ ชั้นดินดานมีอยู่ทุกภาค พบมากที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ 5,433,878 ไร่ รองลงมาคือ ภาคกลางมีพื้นที่ 2,918,669 ไร่ ภาคเหนือมีพื้นที่ 2,539,191 ไร่ ภาคใต้มีพื้นที่ 2,508,548 ไร่ และภาคตะวันออกมีพื้นที่ 785,137 ไร่ คงลืมกันไปแล้วประเทศไทยมีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรน้ำหนักมากอยู่ชนิดหนึ่งคือ รถเกี่ยวนวดข้าวผลิตในประเทศ ซึ่งบางโรงงานผลิตออกมาเมื่อรวมกับข้าวที่เก็บในถังพักของเครื่องแล้วมากกว่า 10 ตันก็มี แต่ใช้กันในบางพื้นที่ และใช้ซ้ำกันทุกปี โอกาสเกิดการอัดตัวแน่นของดินย่อมมีขึ้นได้อย่างแน่นอน และชั้นดินดานก็จะเกิดขึ้นตามมา ถึงแม้ว่ารถแทรกเตอร์ล้อตีนตะขาบยางยังไม่ถึงเวลาและยังไม่มีความจำเป็นสำหรับพื้นที่เกษตรกรรมในประเทศไทยในขณะนี้ก็ตาม แต่ก็อย่ามองข้ามปัญหาการเกิดชั้นดินจากการใช้เครื่องจักรการเกษตรน้ำหนักมากด้วย

Advertisement