กรมส่งเสริมการเกษตร แนะชาวสวนไม้ผล เมื่อเผชิญพายุฤดูร้อนและวาตภัย ช่วงเก็บเกี่ยว

ในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายนของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิด “พายุฤดูร้อน” ขึ้นในหลายพื้นที่ อาจสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรได้ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะสวนไม้ผล ซึ่งเป็นพืชที่ปลูกครั้งเดียวอยู่ได้นานหลายปี ดังนั้น เกษตรกรจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งน้ำท่วม ลมพายุ และภัยแล้ง ซึ่งควรหาทางป้องกันไว้ล่วงหน้า

กรมส่งเสริมการเกษตร ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ประเทศไทยเป็นฤดูกาลที่มีปริมาณผลไม้เขตร้อนที่สำคัญหลากหลายชนิดออกเป็นจำนวนมาก จาก 2 ภูมิภาค ที่สำคัญ คือ ภาคตะวันออก ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง และภาคเหนือ ได้แก่ ลิ้นจี่ จึงขอให้เกษตรกรชาวสวนไม้ผล ระวังผลผลิตที่อยู่ในระยะพัฒนาจากผลอ่อนใกล้จะเป็นผลแก่ พร้อมที่จะเก็บเกี่ยว มีอันต้องเสียหายไป นอกจากนี้ บางช่วงอากาศจะแห้งมาก เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยและไฟป่าได้ จึงขอให้ระมัดระวังการใช้เชื้อเพลิงในการทำกิจกรรมต่างๆ ในระยะนี้ไว้ด้วย

โดยในเบื้องต้น กรมส่งเสริมการเกษตร ขอแนะนำวิธีการที่จะหลีกเลี่ยงและบรรเทาความเสียหายหรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้

1. เกษตรกรควรปลูกต้นไม้บังลม (Wind Break) เพื่อลดความรุนแรงของลมก่อนที่จะเข้าถึงสวนผลไม้ ซึ่งวิธีนี้สามารถช่วยลดความสูญเสียจากพายุลมแรงให้แก่สวนไม้ผลได้ดีมาก

2. เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งที่แน่นทึบ หรือกิ่งที่ไม่ให้ผลผลิตออก เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง ไม่ต้านลม สำหรับต้นไม้ผลที่อายุมากและมีลำต้นสูง อาจตัดทอนส่วนยอดให้ต่ำลง เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นไม้โค่นล้มง่ายเมื่อถูกลมพายุพัดแรง ขณะเดียวกัน ควรใช้เชือกโยงกิ่งและโยงต้นเพื่อป้องกันกิ่งฉีกหัก ช่วยพยุงและรับน้ำหนักผลบนกิ่งไม่ให้ร่วงหล่นหรือฉีกขาดง่าย รวมทั้งใช้ไม้ค้ำกิ่งและค้ำต้นเพื่อช่วยพยุงต้นไม้ไม่ให้โค่นลงได้ง่าย

3. เกษตรกรควรทยอยเก็บผลผลิตที่แก่ออกไปบ่มหรือจำหน่ายก่อน เพื่อลดความเสียหายที่อาจได้รับผลกระทบจากลมพายุ กรณีผลไม้บางชนิดที่อ่อน ไม่สมบูรณ์ รูปทรงไม่ปกติ หรือมีขนาดเล็ก เช่น มะม่วง อาจเก็บไปจำหน่ายก่อนได้ เพื่อลดน้ำหนักบนกิ่งและต้นลง
สำหรับเกษตรกรสวนไม้ผลที่ประสบปัญหาจากพายุฤดูร้อนและปัญหาวาตภัย สามารถที่จะฟื้นฟูได้โดยการตัดแต่งกิ่งที่ฉีกหักหรือต้นไม้ที่โค่นล้มออกทันทีที่พื้นดินในบริเวณสวนแห้งและสามารถเข้าไปปฏิบัติงานได้ ไม่ควรนำเครื่องจักรกลเข้าไปในสวนขณะที่ดินยังเปียกชื้นอยู่ เพราะจะทำให้โครงสร้างดินถูกทำลายและอัดแน่นได้ง่าย

กรณีที่มีดินโคลนทับถมเข้ามาในสวนไม้ผล เมื่อดินแห้งให้ขุดหรือปาดเอาดินโคลนที่ทับถมออกจากบริเวณทรงพุ่ม และควรให้ลึกถึงระดับดินเดิมเพื่อให้การถ่ายเทอากาศดีขึ้น และหากต้นไม้ผลเอนลงเนื่องจากถูกลมพัดแรง ให้ใช้เชือกหรือลวดดึงลำต้นให้ตั้งตรง โดยยึดไว้กับหลักหรือไม้ผลต้นอื่นที่มั่นคงแข็งแรง พร้อมตัดแต่งกิ่งออก ประมาณ 1 ใน 3 ของที่มีอยู่ ซึ่งจะช่วยให้ต้นไม้ผลฟื้นตัวเร็วขึ้น จากนั้นควรฉีดพ่นปุ๋ยทางใบให้แก่ไม้ผล

เมื่อดินแห้งเป็นปกติ ควรพรวนดินเพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่รากพืช ซึ่งจะทำให้รากแตกใหม่ได้ดีขึ้นและควรใส่ปุ๋ยบำรุงต้นด้วย เนื่องจากสภาพอากาศค่อนข้างแปรปรวน

นอกจากปัญหาลมพายุและพายุฤดูร้อนแล้ว สวนไม้ผลยังมีความเสี่ยงกับปัญหาภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง ซึ่งมักเกิดประมาณกลางเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม อาจทำให้ผลไม้ด้อยคุณภาพจนถึงต้นแห้งตายได้ ดังนั้น ชาวสวนไม้ผลต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาดังกล่าวด้วย

หากสังเกตเห็นต้นไม้ผลใบเหี่ยวเฉา ควรให้น้ำอย่างน้อย 7-10 วัน ต่อครั้ง หรือให้น้ำปริมาณเพียงพอกับความต้องการของพืช เพื่อช่วยให้ไม้ผลผ่านช่วงแล้งไปได้ ซึ่งผลผลิตจะไม่ร่วงและผลสามารถพัฒนาคุณภาพได้อย่างสมบูรณ์ด้วย พร้อมติดตามข่าวและการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างสม่ำเสมอ