สะละผลแก่ใกล้เก็บเกี่ยว ให้ระวัง โรคผลเน่า

สภาพอากาศแปรปรวนมีฝนตกปานกลางถึงหนักมากในช่วงนี้ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรชาวสวนสะละเฝ้าระวังการระบาดของ โรคผลเน่า มักพบโรคในช่วงที่ต้นสะละมีผลแก่กำลังเก็บเกี่ยว เริ่มแรกพบเปลือกผลสะละมีสีน้ำตาล

กรณีที่มีความชื้นสูงจะพบเส้นใยเชื้อราสีขาวหรือสีขาวอมชมพู เส้นใยเชื้อราจะแทงทะลุเปลือกเข้าไปในผลสะละ ทำให้เปลือกเปราะแตก เนื้อด้านในผลเน่า และผลร่วงในที่สุด หากเส้นใยเชื้อราที่พบบนผลสะละเจริญเต็มที่จะสร้างดอกเห็ดสีขาว เมื่อดอกเห็ดบานจะปลดปล่อยสปอร์แพร่กระจายระบาดไปสู่ผลสะละทะลายอื่นๆ และต้นอื่นได้

สำหรับแนวทางในการป้องกัน โรคผลเน่า ให้เกษตรกรตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ ปลิดผลที่เป็นโรคบนทะลาย เก็บซากพืช และผลที่ร่วงใต้ต้นที่เป็นโรคนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณเชื้อสะสม

จากนั้น ให้ตัดแต่งทางใบแก่หมดสภาพที่อยู่ด้านล่าง และปรับร่มเงาให้เหมาะสม เพื่อให้มีอากาศถ่ายเทสะดวก ลดการสะสมเชื้อโรค และลดความชื้นใต้ทรงพุ่มไม่ให้มีมากเกินไป รวมทั้งตัดแต่งช่อผลสะละ เพื่อลดการเบียดกันจนทำให้เกิดแผล ซึ่งเป็นช่องทางให้เชื้อสาเหตุโรคเข้าทำลายได้ง่าย เกษตรกรควรค้ำยันทะลายผลไม่ให้ติดดิน เพื่อป้องกันเชื้อราสาเหตุโรคในดินเข้าสู่ผลสะละ

ส่วนในช่วง 10 สัปดาห์ หลังต้นสะละติดผลอ่อน ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ระวังอย่าให้ต้นสะละเกิดอาการขาดน้ำ เพื่อป้องกันผลสะละแตกในขณะผลแก่จากเหตุได้รับน้ำฝนมากเกินไปในช่วงฝนตกชุก

หากพบการระบาด ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชไพราโคลสโตรบิน 25% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารทีบูโคนาโซล+ไตรฟลอกซีสโตรบิน 50%+25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไดฟีโนโคนาโซล 25% อีซี อัตรา 15 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่น 2 ครั้ง ทุก 7 วัน และควรหยุดพ่นก่อนการเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างน้อย 15 วัน