กำจัด ด้วงแรดมะพร้าว เพื่อให้ได้ผลผลิตมะพร้าวดีมีคุณภาพ

มะพร้าว เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ ปลูกง่าย แต่การปฏิบัติดูแลบำรุงรักษาก็ต้องป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายด้วย โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน ลมพัดแรง ฝนตกหนัก หรือหนาวในเวลากลางคืน ด้วงแรดมะพร้าวมันมักจะเข้ามาทำลายความเสียหายให้กับการปลูกและผลิตมะพร้าว วันนี้จึงมาบอกเตือนผู้ปลูกมะพร้าวให้ระวัง และ “ป้องกันกำจัดด้วงแรดมะพร้าวศัตรูร้ายออกไป…เพื่อให้ได้ผลผลิตมะพร้าวคุณภาพ” ตามที่ตลาดต้องการ

มะพร้าวต้นเตี้ย มีการผสมตัวเองค่อนข้างสูงจึงมักให้ผลดก

อาจารย์ประสงค์ ทองยงค์ เกษตรกรทำสวนมะพร้าว เล่าให้ฟังว่า ได้ช่วยครอบครัวทำงานในสวนมะพร้าวมาตั้งแต่วัยเด็ก พร้อมกับเรียนหนังสือไปด้วย เมื่อเรียนจบได้เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เมื่อเกษียณอายุราชการก็ได้มาปลูกสร้างสวนมะพร้าวเพื่อต่อยอดกิจกรรมของครอบครัวมาถึงวันนี้ก็มากกว่า 50 ปี

มะพร้าว เป็นพืชผสมข้ามพันธุ์ แต่ละต้นจึงไม่เป็นพันธุ์แท้ มะพร้าวมี 2 ประเภท คือ มะพร้าวต้นเตี้ย และต้นสูง

มะพร้าวต้นเตี้ย มีการผสมตัวเองค่อนข้างสูง จึงมักให้ผลดกและไม่ค่อยกลายพันธุ์ ส่วนใหญ่ปลูกรับประทานผลอ่อน เนื้ออ่อนนุ่ม น้ำมีรสหวาน กลิ่นหอม

มะพร้าวต้นสูง ลำต้นใหญ่ โคนต้นสะโพกใหญ่ ให้ผลผลิตนานถึง 80 ปี

ลักษณะ ต้นสูงเต็มที่ 12 เมตร ลำต้นเล็ก โคนต้นไม่มีสะโพก ทางใบสั้น การปฏิบัติดูแลรักษาที่ดี หลังจากปลูกได้ 3-4 ปี ก็จะเริ่มให้ผลผลิต และให้ผลผลิตนาน 35-40 ปี นิยมนำไปเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม

มะพร้าวต้นสูง มักผสมข้ามพันธุ์ ในแต่ละช่อดอกหรือจั่นหนึ่งๆ ดอกตัวผู้จะค่อยๆ ทยอยบานและร่วงไปหมดก่อนที่ดอกตัวเมียในช่อดอกหรือจั่นจะเริ่มบาน

มะพร้าวอ่อนน้ำหอมจากมะพร้าวต้นเตี้ย

ลักษณะ ต้นสูงเต็มที่ 18 เมตร ลำต้นใหญ่ โคนต้นสะโพกใหญ่ หลังจากปลูกได้ 5-6 ปี จะเริ่มให้ผลผลิต และให้ผลผลิตนานถึง 80 ปี ขนาดผลโต เนื้อมะพร้าวหนาหรือมีปริมาณเนื้อมาก ผลกลมและกลมรี ผลที่ยังไม่แก่เปลือกที่บริเวณส่วนหัวมีรสหวานกินได้ มีชื่อเรียกต่างกัน เช่น มะแพร้ว มะพร้าวกะโหลก ใหญ่ กลาง หรือปากจก

อาจารย์ประสงค์ ทองยงค์ เกษตรกรทำสวนมะพร้าว

มะพร้าว เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ ปลูกง่าย เจริญเติบโตได้ดีในทุกสภาพแวดล้อม ให้ผลผลิตยาวนาน ในช่วงอากาศร้อนหรือฤดูร้อน ลมพัดแรง ฝนตกหนัก มีอากาศหนาวในเวลากลางคืน มักพบมี “ด้วงแรดมะพร้าว” ศัตรูร้ายสำคัญเข้าทำลายต้นมะพร้าวในทุกช่วงระยะการเจริญเติบโต ถ้ามันเข้าระบาดทำลายมากอาจทำให้ต้นมะพร้าวตายไม่ได้รับผลผลิต เกษตรกรหรือผู้ปลูกมะพร้าวต้องระมัดระวังและป้องกันกำจัดให้สิ้นซากไปโดยไว

ลักษณะด้วงแรดมะพร้าว หรือ ด้วงมะพร้าว เป็นกว่างชนิดหนึ่ง ตัวสีน้ำตาลเกือบดำ ที่ด้านข้างของส่วนหัว ตา ขา และด้านล่างของลำตัวจะมีขนสีน้ำตาลอ่อน ที่บริเวณส่วนหัวตัวผู้จะมีเขาคล้ายนอแรดค่อนข้างยาว ตัวเมียมีเขาที่สั้นกว่าและที่ส่วนปลายของท้องด้านล่างมีขนมากกว่าตัวผู้ และตัวผู้มีขนาดเล็กกว่าตัวเมีย

ด้วงแรดมะพร้าวศัตรูร้ายที่ต้องกำจัดออกไปจากสวนมะพร้าว

การสังเกต อาการหรือลักษณะของต้นมะพร้าวถูกด้วงแรดมะพร้าวเข้าทำลายคือ ด้วงแรด ตัวเต็มวัยจะบินขึ้นไปที่ยอดมะพร้าวและกัดเจาะโคนทางใบหรือยอดอ่อนของต้นมะพร้าว มันจะเจาะทำลายยอดอ่อนที่ใบยังไม่คลี่ออก ทำให้ใบไหม้ไม่เจริญเติบโต มีรอยขาดแหว่งเป็นริ้วคล้ายรูปหางปลาหรือพัด ในกรณีที่ต้นมะพร้าวถูกทำลายมาก ใบจะแคะแกร็น รอยแผลถูกกัดเป็นช่องทางให้ด้วงมะพร้าวเข้าไปวางไข่ หรือในที่สุดก็เกิดยอดเน่าและตายได้

ระยะตัวหนอน เราจะพบมันได้ตามพื้นดิน บริเวณกองปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก ตัวหนอนจะเจาะชอนไชเข้าไปกัดกินทำลายระบบรากต้นมะพร้าวที่ปลูกใหม่ ทำให้ยอดมะพร้าวเหี่ยว แห้งเป็นสีน้ำตาล ต้นแคระแกร็น ไม่เติบโต

อาจารย์ประสงค์ ทองยงค์ เกษตรกรทำสวนมะพร้าว เล่าให้ฟังอีกว่า เมื่อตรวจพบว่ามีด้วงแรดมะพร้าวเริ่มเข้าทำลายที่ต้นมะพร้าว เราจะป้องกันและกำจัดด้วยวิธีผสมผสานคือ วิธีเขตกรรม ชีววิธี และการใช้สารเคมี ดังนี้

ด้วงแรดมะพร้าวศัตรูร้ายที่ต้องกำจัดออกไปจากสวนมะพร้าว
  1. วิธีเขตกรรม เกษตรกรหรือผู้ปลูก ต้องหมั่นออกตรวจแปลง รักษาความสะอาดและกำจัดเศษวัสดุบริเวณสวนมะพร้าวอย่างสม่ำเสมอ เพื่อกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ของด้วงแรดมะพร้าว โดยเฉพาะบริเวณที่กองปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก กองขยะ กองขี้เลื่อย หรือกองแกลบ ควรจัดการกำจัดออกไปจากบริเวณพื้นที่สวนมะพร้าว ส่วนกองปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ที่อยู่นอกเขตพื้นที่สวนมะพร้าวให้หมั่นกลับกองเพื่อตรวจดูหนอนด้วงแรดมะพร้าว หากพบว่า มี ให้จับออกไปทำลาย หรือเผากองนั้นทิ้งไปทันที ส่วนลำต้นและตอมะพร้าวที่โค่นทิ้งไว้ หรือมะพร้าวยืนต้นตาย ควรจัดการตัดเป็นท่อนกองรวมกันแล้วเผาทำลายในทันที

ต้นมะพร้าวที่ถูกตัดโค่นลงมาที่ยังสดอยู่ให้นำไปทำเป็นกับดักเพื่อล่อด้วงแรดให้มาวางไข่ ด้วยการตัดให้เป็นท่อนสั้นๆ วางเรียงรวมกันไว้ ให้เปลือกต้นมะพร้าวติดกับพื้นดิน เพราะด้วงจะวางไข่บริเวณที่มีความชุ่มชื้นสูงและผุเร็ว จากนั้นให้เผาทำลายกับดักเพื่อกำจัดทั้งไข่ หนอน และดักแด้ของด้วงแรดมะพร้าว ส่วนตอมะพร้าวที่เหลือให้ใช้น้ำมันเครื่องเก่าเทราดให้ทั่วแล้วจุดไฟเผาทำลายให้หมด

  1. ชีววิธี คือ การใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซียม ใส่ตามกองขยะ ปุ๋ยคอก หรือกับดักท่อนมะพร้าวในบริเวณที่พบว่ามีหนอนด้วงแรดอาศัยอยู่ เกลี่ยเชื้อรากระจายทั่วกองเพื่อให้สัมผัสกับตัวหนอนได้มากที่สุด รดน้ำเพื่อเพิ่มความชื้น หาใบมะพร้าวหรือวัสดุเก่ามาคลุมกองไว้เพื่อรักษาความชื้น ป้องกันแสงแดด จะทำให้เชื้อราเขียวเมตาไรเซียมเข้าไปทำลายด้วงแรดมะพร้าวได้ในทุกระยะการเจริญเติบโตของมัน การป้องกันกำจัดทางชีววิธีที่ได้ผลในระยะยาว ไม่มีพิษตกค้าง มีความปลอดภัยต่อสภาพแวดล้อมและเกษตรกรหรือผู้ปลูก
  2. การใช้สารเคมี ต้นมะพร้าวอายุ 3-5 ปี ที่ยังไม่สูงมากนัก ให้ใช้ลูกเหม็นใส่บริเวณคอมะพร้าวที่โคนทางใบรอบๆ ยอดอ่อน ทางละ 2 ลูก ต้นละ 6-8 ลูก กลิ่นของลูกเหม็นจะไล่ตัวด้วงแรดไม่ให้บินเข้าไปทำลายที่คอมะพร้าว

เมื่อจำเป็นต้องใช้สารเคมี ถ้าพบว่ามีด้วงแรดมะพร้าวระบาดมาก ให้เลือกใช้สารฆ่าแมลงคลอร์ไพร์ฟอส 40% อีซี หรือสารไดอะซินอน 60% อีซีชนิดใดชนิดหนึ่ง ใช้ในอัตรา 80 มิลลิลิตร ผสมกับน้ำ 20 ลิตร นำไปเทราดบริเวณคอมะพร้าวให้เปียกตั้งแต่โคนยอดอ่อนลงมา ใช้ทุก 15-20 วัน และใช้เพียง 1-2 ครั้ง ในช่วงที่พบว่ามีการระบาดมากๆ ข้อแนะนำ การใช้สารเคมีเกษตรกรหรือผู้ปลูกต้องปฏิบัติตามคำแนะนำที่ข้างภาชนะบรรจุภัณฑ์อย่างเคร่งครัด

ตัดแต่งคอมะพร้าวให้สวนสะอาด ขจัดแหล่งที่อยู่อาศัยศัตรูพืช

เตือนภัย “ด้วงแรดมะพร้าว” มันจะเข้าทำลายต้นมะพร้าวให้เสียหายไม่ได้รับผลผลิต ในช่วงอากาศร้อนหรือฤดูร้อน ลมพัดแรง ฝนตกหนัก หรือมีอากาศหนาวเวลากลางคืน ควรป้องกันกำจัดด้วยวิธีเขตกรรม ชีววิธี หรือใช้สารเคมี เมื่อจำเป็น ก็จะทำให้ได้รับผลผลิตมะพร้าวคุณภาพ และทำให้มีรายได้พอเพียงเพื่อการยังชีพ

ต้องกำจัดเศษซากพืชซึ่งอาจเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของด้วงแรดมะพร้าวออกไป

สอบถามเพิ่มได้ที่ อาจารย์ประสงค์ ทองยงค์ ตำบลวัดเพลง อำเภอวัดเพลง จังหวัดราชบุรี โทร. (081) 836-6228 หรือสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ใกล้บ้านท่านก็ได้เช่นกันครับ