ผลไม้เมืองร้อน : ประโยชน์ และแนวโน้มการวิจัยในอนาคต พบทุเรียนหมอนทอง มีสารแอนตี้ออกซิแดนต์ ดีต่อสุขภาพ

เมื่อ วันที่ 15 มิถุนายน 2561 คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี ร่วมกับหอการค้าจังหวัดจันทบุรี ภายใต้ โครงการจันทบุรีมหานครผลไม้ เชิญ ศ.ดร. ชีล่า โครินสไตน์ (Professor Dr. Shela Gorinstein) นักวิทยาศาสตร์สายเภสัชศาสตร์ระดับโลก จากมหาวิทยาลัยฮิบบรู ประเทศอิสราเอล (Hebrew University Jerusalem, Israel) และเป็นนักวิจัยอาคันตุกะ ของคณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เจ้าของงานวิจัย เรื่องสารแอนตี้ออกซิแดนต์ ในผลไม้เมืองร้อน : ประโยชน์ และแนวโน้มการวิจัยในอนาคต ได้มาบรรยายพิเศษ ที่ห้องประชุมมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี

ศ.ดร. ชีล่า โครินสไตน์ กล่าวว่า นอกจากการนำเสนองานวิจัยครั้งนี้แล้ว ยังยินดีรับฟังข้อเสนอด้วย

รศ.ดร. ระติพร หาเรืองกิจ อดีตคณบดี คณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อดีตหัวหน้าทีมงานคณะวิจัยสารแอนตี้ออกซิแดนต์ในทุเรียน ได้กรุณาแปลคำบรรยายประกอบพาวเวอร์พอยท์ให้ผู้ร่วมรับฟัง โดยกล่าวถึงขอบเขตและผลการวิจัย โดยสรุป 3 ระยะ คือ  

เริ่มแรก…งานวิจัยนี้ เปรียบเทียบทุเรียนจากสวนในจังหวัดจันทบุรี จำนวน 3 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์หมอนทอง ก้านยาว และชะนี โดยวัตถุประสงค์การวิจัยต้องการศึกษาปริมาณสารแอนตี้ออกซิแดนต์ (Antioxidant) หรือสารต้านอนุมูลอิสระในผลไม้เมืองร้อน : ซึ่งมีประโยชน์ ลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ชนิด LDL (Low Density Lipoprotien) ได้ สามารถป้องกันเส้นเลือดอุดตัน ที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจได้ ผลการทดลอง พบว่า ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง มีสารแอนตี้ออกซิแดนต์สูงกว่าพันธุ์ก้านยาวและชะนี จึงทดลองต่อไปว่า ที่ระยะความสุกระดับใดที่ทุเรียนพันธุ์หมอนทองจะให้สารแอนตี้ออกซิแดนต์สูงสุด โดยเปรียบเทียบทุเรียนระหว่างทุเรียนที่ยังไม่สุก (ดิบห่าม) สุกพอดี คือสุกรับประทานได้เลย และสุกเกินไป (ปลาร้า) ซึ่งผลการทดลองในห้องทดลองพบว่า ทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่สุกพอดี มีสารแอนตี้ออกซิแดนต์สูง และช่วยลดคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด จากนั้นจึงนำมาเลี้ยงหนูทดลอง ได้ผลสรุปว่า หมอนทองที่สุกพอดี ลดค่าคอเลสเตอรอล LDL ได้สูงสุด และตรงกับผลการทดลองในห้องปฏิบัติการ นอกจากนั้น ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ยังมีโปรตีนไฟบริโนเจน (Fibrinogen) ที่ช่วยทำให้เลือดแข็งตัว (ช่วยให้เลือดหยุดไหล) และสารเควอซิติน (Quecertin) ในปริมาณสูง ซึ่งเป็นสารที่เชื่อกันว่าสามารถป้องกันโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดตีบ และมะเร็งได้

“สรุปได้ว่า ลักษณะสำคัญของทุเรียนพันธุ์หมอนทอง มีคุณลักษณะพิเศษคือ มีสารแอนตี้ออกซิแดนต์สูงที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระและมีสารโปรตีนพิเศษเควอซิตินที่ยังไม่มีการวิจัยมาก่อน งานวิจัยเหล่านี้ทำเกือบ 10 ปีแล้วตั้งแต่ทุเรียนเริ่มดัง ซึ่ง ศ.ดร. ชีล่า ได้เข้ามาทำงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี งานวิจัยนี้ได้ถูกนำเผยแพร่ในวารสารวิชาการที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างสูงในวงการวิชาการ และได้มีการนำมาอ้างอิงในงานวิจัยทั่วโลก คาดว่าจะมีหลายประเทศได้อ่านวิจัย ให้ความเชื่อถือจึงมีผลกระทบในวงกว้าง งานวิจัยนี้สามารถนำไปวิจัยต่อยอด แยกแยะทุเรียนพันธุ์หมอนทองจากพันธุ์อื่นๆ หรือนำไปวิจัยเพิ่มเติมว่า คนที่เป็นเบาหวานสามารถรับประทานทุเรียนได้หรือไม่ เนื่องจากในงานวิจัยเดิมพบว่า หนูทดลองที่ได้รับทุเรียนหมอนทอง ไม่ได้มีปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น แต่หนูที่ใช้ทดลองไม่ได้เป็นเบาหวาน จึงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ไทยได้มีนักวิจัย อย่าง ศ.ดร. ชีล่า โครินสไตน์ มาช่วยทำวิจัยไว้ แต่การต่อยอดเป็นเรื่องสำคัญและต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก หากได้การสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐจะเกิดประโยชน์กับประเทศไทยอย่างยิ่ง” รศ.ดร. ระติพร กล่าว 

ด้าน รศ.ดร. สุมิตรา ภู่วโรดม อดีตอาจารย์ คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ร่วมงานวิจัยกล่าวเพิ่มเติมว่า อาจารย์ทำงานวิจัยเรื่องธาตุอาหารและการใช้ปุ๋ยในทุเรียน เมื่อได้ฟัง ศ.ดร. ชีล่า บรรยายเกี่ยวกับความสำคัญของสารแอนตี้ออกซิแดนต์ จึงชักชวนให้ ศ.ดร. ชีล่า มาทำงานวิจัยในทุเรียน เป็นความโชคดีของประเทศไทยที่ ศ.ดร. ชีล่า โครินสไตน์ โดยส่วนตัว สนใจที่จะทำงานวิจัยนี้ เพราะชอบรับประทานทุเรียนมากและชอบประเทศไทยมากด้วย จึงมาทำงานวิจัยในทุเรียน โดยได้รับเงินจากกองทุนจัดงานพืชสวนก้าวหน้า ที่ อาจารย์ปราโมช ร่วมสุข เป็นประธาน ถ้าเป็นการทำงานวิจัยโดยทั่วๆ ไป ต้องใช้วงเงินมหาศาล และต้องหานักวิจัยที่เก่งๆ สนใจจริงๆ มาทำ ซึ่งยากมาก เพราะแม้กระทั่งการทดลองห้องแล็บที่ทดลองกับหนู ยังทำในประเทศไทยไม่ได้ เพราะการที่ผลงานจะได้รับการตีพิมพ์ในวารสารที่มีดัชนีผลกระทบการอ้างอิงวารสาร (impact factor) สูง ห้องปฏิบัติการที่จะทำงานทดลองในสัตว์ทดลองจะได้รับใบรอง และต้องมีผู้เชี่ยวชาญอยู่ งานนี้ต้องไปใช้ห้องแล็บถึงมหาวิทยาลัยวอร์ซอร์ ประเทศโปแลนด์ ซึ่ง ศ.ดร. ชีล่า มีเครือข่ายในการวิจัยอยู่

“นโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมเกษตร 4.0 ไทยแลนด์ 4.0 น่าจะส่งเสริมการทำวิจัยต่อยอดให้สำเร็จ ให้ได้ผลสรุปการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่นำไปใช้ประโยชน์กับคนได้จริง ซึ่งจะเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจของประเทศ เชื่อมกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาลจันทบุรีเมืองมหานครผลไม้ อนาคตทุเรียน ปลูกมาก ขายดีไปทั่วโลก พื้นที่การปลูกทุเรียน มีทั้งในไทย เพื่อนบ้าน กัมพูชา ลาว เวียดนาม และจีน รวมทั้งเพื่อนบ้านที่ปลูกมาก่อนแล้ว อย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย จะเอาอะไรไปบอกว่าเป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทองจากไทย หรือเจาะลึกว่าเป็นหมอนทองจันทบุรี …หากมีงานวิจัยต่อยอดให้ได้คำตอบว่า ทุเรียนพันธุ์หมอนทองของไทย ที่มีความเป็นเอกลักษณ์ มีสัญลักษณ์ของคุณภาพที่เหมาะกับการบริโภคเพื่อสุขภาพ แตกต่างจากทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่ปลูกทั่วๆ ไป นั่นคือ ความยั่งยืนของเกษตรกรชาวสวนทุเรียนที่ไม่ต้องปรับเปลี่ยนปลูกพืชอื่นหมุนเวียนกันดั่งอดีต” รศ.ดร. สุมิตรา กล่าว

ดร.วศิน ยุวเตมีย์

ด้าน ดร. วศิน ยุวเตมีย์ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า งานวิจัยนี้มีประโยชน์มากและเหมาะกับโอกาสของประเทศไทยขณะนี้ ในเรื่องของการทำตลาดทุเรียนพันธุ์หมอนทองของไทย เพราะระดับความสุกที่พอดี ที่มีสารแอนตี้ออกซิแดนต์และสารพิเศษในโปรตีนมากกว่า ทำให้ทุเรียนหมอนทองไทยแข่งขันกับทุเรียนมูซันคิงของมาเลเซียได้ เพราะมูซันคิงเป็นทุเรียนที่สุกเกินพอดี ข้อมูลวิจัยนี้นักการตลาดสามารถใช้ทำเชิงการตลาดได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ ผลวิจัยเรื่องผลไม้เมืองร้อน ยังเป็นประโยชน์กับแพทย์แผนโบราณ ด้านเภสัชกรรม น่าเสียดายที่คนไทยรับรู้เรื่องนี้น้อยมาก ซึ่งทางมหาวิทยาลัยบูรพากำลังทำข้อมูลงานวิจัยที่อ่านเข้าใจง่ายๆ ทั้งภาคภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เพื่อจะมีการหารือกันในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกับภาคเอกชน ทั้งด้านแพทย์แผนโบราณและด้านการตลาดทุเรียนเพื่อนำผลวิจัยนี้ไปใช้ทางปฏิบัติจริง

“การต่อยอดงานวิจัยของ ศ.ดร. ชีล่า เรามีต้นทุนที่ดีจากงานวิจัย มีการพิมพ์เผยแพร่ในต่างประเทศ มีความน่าเชื่อถือเป็นที่ยอมรับ นักวิจัยไทยเราน่าจะทำงานวิจัยต่อยอดได้ แม้ว่ายังไม่เป็นที่ยอมรับถึงระดับนานาชาติและมีเครือข่ายเท่า ศ.ดร. ชีล่า แต่นักวิชาการของไทยที่เก่งๆ สนใจจริงๆ น่าจะทำได้ เพื่อให้สามารถนำผลวิจัยออกไปใช้ได้ในเชิงการตลาด ตอนนี้เป็นช่วงขาขึ้นของราคาทุเรียน น่าจะเป็นโอกาสดีที่นำประเด็นงานวิจัยไปคุยให้ถูกที่ เพื่อให้เป็นประโยชน์กับภาคสังคม ภาคธุรกิจ ซึ่งช่องทางที่จะหาทุนวิจัยมาสนับสนุนไม่น่ายากเกินไป น่าจะมีช่องทางเป็นไปได้” ดร. วศิน กล่าว

อาจารย์ปราโมช ร่วมสุข ประธานสถาบันทุเรียนไทย อดีตประธานกรรมการหอการค้าภาคตะวันออกและจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยเราต้องหาตัวตนให้พบว่า มีผลไม้อะไรดีแตกต่างไปกว่าประเทศอื่นๆ เช่น ถ้า กัมพูชา ต้อง มะม่วงแก้วขมิ้น ไทยควรจะเป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่สามารถสร้างมูลค่าได้สูง จากผลวิจัยที่มีลักษณะพิเศษทั้งสารออกซิแดนต์ ต้านอนุมูลอิสระ และสารพิเศษที่มีโปรตีน ซึ่งงานวิจัยต่อไปน่าจะวิจัยให้เห็นผลกับมนุษย์ ซึ่งเมืองไทยศักยภาพการวิจัยอาจจะยังไม่พอ นักวิจัยไทยไม่สามารถทำได้เนื่องจากเรื่องนี้ต้องเป็นนักวิชาการที่เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ และนักวิจัยต้องมีเครือข่ายที่เป็นผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาช่วยงานวิจัย ศ.ดร. ชีล่า โครินสไตน์ เป็นนักวิชาการที่มีชื่อเสียงทั่วโลก งานวิจัยมีความน่าเชื่อถือได้ถูกตีพิมพ์เผยแพร่ เป็นที่ยอมรับ หน่วยงานภาครัฐควรให้ความสำคัญกับผลงานวิจัยนี้ ซึ่งที่ผ่านมาใช้เวลาทำงานวิจัยถึง 9 ปี ควรสนับสนุนงบประมาณต่อยอดงานวิจัยให้สมบูรณ์ ให้งานวิจัยนี้มีผลกับการบริโภคทุเรียนหมอนทองของคน นั่นคือ การสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างสูงให้กับทุเรียนพันธุ์หมอนทองของไทย เป็นแนวทางที่จะช่วยเหลือเกษตรกรไทยได้อย่างยั่งยืน

“ทุกวันนี้กระแสทุเรียนฟีเวอร์ ทำให้เกษตรกรหลงทางเสาะหาทุเรียนพันธุ์โบราณ หรือพันธุ์แปลกๆ มาปลูก ซึ่งจะเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ไม่ใช่เชิงเศรษฐกิจการค้า ไม่ใช่เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม เมื่อมีโอกาสดีที่มีงานวิจัยออกมารองรับ หากวิจัยต่อยอดถึงผลการบริโภคต่อคน จะทำให้ตอบคำถามผู้บริโภคทุเรียนได้ว่า ทำไม ต้องรับประทานทุเรียนหมอนทอง นั่นคือ จุดขายสุดยอดทุเรียนหมอนทองของไทย ซึ่งจะทำให้การปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองของไทยยั่งยืน โดยเฉพาะกับจังหวัดจันทบุรีที่ยุทธศาสตร์ของประเทศปั้นให้เป็นเมืองมหานครผลไม้ ต่อไปเกษตรกรไม่ต้องโค่นยาง โคนเงาะ ปลูกทุเรียน และอนาคตวันหนึ่งอาจจะมีการโค่นทุเรียนไปปลูกพืชอย่างอื่นอีก อย่างที่เกิดขึ้นเป็นวังวน” อาจารย์ปราโมช กล่าวทิ้งท้าย

ขอบคุณ รศ.ดร. ระติพร หาเรืองกิจ และ รศ.ดร. สุมิตรา ภู่วโรดม อนุเคราะห์แปลข้อมูลภาคภาษาไทย

สนใจเรื่องทุเรียน ติดตามได้ใน เพจ สถาบันทุเรียนไทย