ประสบการณ์บังคับ มะนาว ออกหน้าแล้งอย่างไร ให้ขายได้ราคาแพงทุกปี (ตอนที่ 1)

ในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา กระแสการปลูกมะนาว ทั้งลงดินและปลูกลงในวงบ่อซีเมนต์เริ่มซาลงไป สาเหตุหลักๆ มาจากราคามะนาวที่ตกต่ำ หลังจากที่มีการปลูกมะนาวกันเป็นจำนวนมากทั่วประเทศ แต่ถ้าย้อนกลับไปการที่ราคามะนาวตกต่ำนั้นมาจากปัจจัยใหญ่ๆ 2 ประการ คือ
หนึ่ง ผลผลิตที่ออกมามากเกินความต้องการของตลาด และสอง มีการส่งเสริมการปลูกมะนาวสายพันธุ์ที่ตลาดไม่ต้องการ เมื่อขายไม่ได้ ก็ต้องมาลดราคาขายเผื่อจะได้ขายมะนาวเหล่านั้นให้ได้ ทำให้เกิดผลกระทบในกลไกของตลาดมะนาวทั้งหมด

แล้วเมื่อเกษตรกรมือใหม่ไม่ประสบผลสำเร็จมากนักในการขายผลผลิต หรือไม่ประสบผลสำเร็จในการปลูก ดูแล รักษา จนให้เก็บผลผลิตมะนาวขาย จึงเริ่มดูแลน้อยลง จนถึงทิ้งแปลงปลูกไปในที่สุด แล้วไถทิ้งเพื่อเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นหรือประกอบอาชีพใหม่แทนก็มี แต่เกษตรกรที่ยึดการปลูกมะนาวเป็นอาชีพหลัก ปลูกมานานจนมีความเข้าใจ ความชำนาญ และประสบผลสำเร็จในการดูแลรักษา ตลอดจนขายผลผลิตมะนาว จะมีกำไรมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์หลายๆ อย่างในแต่ละปี

แต่โดยรวมแล้ว ชาวสวนมะนาวจะอยู่ได้ไม่มีขาดทุนจากการทำสวนมะนาวเลย แต่เกษตรกรมืออาชีพกลับมองว่า หลังจากที่เกษตรกรมือใหม่ถอดใจล้มมะนาวออกไปส่วนหนึ่ง ราคามะนาวจะกลับมาสู่ภาวะปกติ โดยเฉพาะมะนาวหน้าแล้งที่เกษตรกรมุ่งหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น

มะนาวมีราคาสูงสุดในรอบปี คือราคาขยับขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่เดือนมกราคม-เมษายน มะนาวจะกลับมาแพงแล้วจะแพงต่อเนื่องไปอีก ลองมาดูเกษตรกรที่มีประสบการณ์ที่ปลูกมะนาวเป็นอาชีพ เขาจะปฏิบัติอย่างไร ที่ปลูกมะนาวให้ได้เงินทุกปี

. มะนาวนอกฤดูที่สวนคุณลี จังหวัดพิจิตร

โดยปกติแล้ว มะนาว จะมีราคาสูงในช่วงหน้าแล้ง บางทีขายถึงผู้บริโภค ราคาผลละ 5-10 บาท ทำให้เกษตรกรหลายรายต่างพยายามบังคับมะนาวของตนให้ออกดอก ติดผล ไว้ขายในช่วงฤดูแล้งเป็นหลัก ประสบการณ์ในการทำมะนาวขายหน้าแล้งของ “สวนคุณลี” อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โทร. (081) 886-7398, (056) 613-021 มีประสบการณ์การผลิตมะนาวนอกฤดูมานานกว่า 15 ปี

พันธุ์แป้นดกพิเศษ เป็นมะนาวที่เหมาะแก่การปลูกในเชิงการค้า ผลใหญ่ น้ำมาก เปลือกบาง เมล็ดน้อย

โดยเน้นการปลูกมะนาวพันธุ์ “แป้นดกพิเศษ” เนื่องจากเป็นมะนาวที่ผลใหญ่ ทรงผลแป้น น้ำหอม เมล็ดน้อย เปลือกบาง ติดผลดกมาก และเป็นที่ต้องการของตลาดหากปลูกเชิงการค้า โดยที่ผ่านมาในรอบ 1 ปี จะบังคับมะนาวให้มีผลผลิตขายได้เพียง 5 เดือน โดยจะเริ่มเก็บผลผลิตขายตั้งแต่เดือนธันวาคม-เมษายนของทุกปี ซึ่งช่วงดังกล่าวจะเป็นช่วงมะนาวมีราคาแพง และจะแพงมากที่สุดในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน

และคำถามที่ถูกถามมากที่สุดก็คือ “จะทำอย่างไร ให้มะนาวติดผลหน้าแล้ง” ทางสวนคุณลีจึงได้สรุปขั้นตอนการปฏิบัติเป็นรายเดือนไว้ให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติได้จริง เพื่อวางแผนปฏิบัติงานในสวนมะนาวของท่าน ดังต่อไปนี้

1. ปลายเดือนเมษายน (ตัดแต่งกิ่ง) ปกติแล้วการตัดแต่งกิ่ง ถ้าจะให้ได้ผลดี เกษตรกรควรจะเริ่มตัดแต่งกิ่งในช่วงปลายเดือนเมษายน หรือช่วงต้นเดือนพฤษภาคม เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงที่ราคามะนาวเริ่มลดลง และเป็นช่วงที่ฝนตกน้อย สภาพอากาศเหมาะกับการแต่งกิ่งมาก เคล็ดลับ การตัดแต่งกิ่งในช่วงที่ฝนทิ้งช่วงจะช่วยลดการเกิดโรคกับต้นมะนาวได้มาก โดยเฉพาะโรคแคงเกอร์และโรคเปลือกและกิ่งเน่า การตัดกิ่งช่วงที่ฝนตกชุก ถ้าเราตัดกิ่งใหญ่ๆ จะเกิดปัญหาเปลือกเน่าลุกลามไปตามกิ่งต่างๆ บางครั้งทำให้ต้นมะนาวแห้งตายได้

สำหรับมะนาวเล็ก จะเน้นการใส่ปุ๋ยสูตรเสมอสลับกับปุ๋ยสูตรตัวหน้าสูง เพื่อเร่งการแตกใบอ่อน สร้างทรงพุ่ม

2. หลังแต่งกิ่งต้องเร่งการแตกใบอ่อน เป็นปกติของต้นไม้ คือหลังจากเราเก็บผลผลิตเสร็จแล้ว และตัดแต่งกิ่งแล้ว เราจะต้องเร่งการแตกใบอ่อน เพื่อเป็นการฟื้นสภาพต้นให้แข็งแรง สมบูรณ์ดังเดิม (ช่วงติดผลมะนาวจะโทรมเหมือนคนคลอดลูกใหม่ๆ ต้องบำรุงให้แข็งแรง)
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจในการใส่ปุ๋ยอินทรีย์ให้แก่ต้นมะนาว จะต้องเป็นปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยคอกที่ผ่านการหมักจนย่อยสลายดีแล้ว

เพราะเมื่อนำไปใส่ต้นมะนาวหรือพืชอื่นจะนำไปใช้ได้เลย ยกตัวอย่าง เช่นการใส่ปุ๋ยคอก เช่น ขี้วัว ถ้าไม่ผ่านการหมักหรือทิ้งไว้ให้ย่อยสลายดีก่อนที่เราจะนำมาใช้ จะพบปัญหาหลายอย่าง เช่น ปัญหาวัชพืชที่ติดมากับขี้วัว เนื่องจากวัวไปกินมา ซึ่งชนิดของวัชพืชก็จะขึ้นอยู่กับแหล่งเลี้ยงสัตว์ บางครั้งสวนของเราก็จะมีวัชพืชชนิดใหม่ๆ แปลกๆ ขึ้นในสวนมะนาวของเรา เช่น ต้นพุทรา ต้นฉำฉา หนามกระสุน เป็นต้น

หากมีการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบอย่างสม่ำเสมอ ต้นมะนาวมีความพร้อม ต้นมะนาวจะบังคับให้ออกนอกฤดูได้ง่าย
การออกดอกของมะนาวพันธุ์แป้นดกพิเศษ

ปัญหาใบมะนาวจะเหลืองหลังใส่ปุ๋ยคอก แทนที่ใบจะเขียวเข้ม ง่ายๆ คือ ปุ๋ยคอก ที่ไม่ผ่านการหมักหรือทิ้งระยะเวลาให้ย่อยสลาย เมื่อนำปุ๋ยคอกใหม่หรือสดมาใส่ จุลินทรีย์ที่ทำหน้าที่ย่อยสลายจะมีการดึงไนโตรเจนและปุ๋ยต่างๆ ออกมาจากดินหรือบริเวณใต้ต้นมะนาวที่เราใส่

ทำให้ต้นมะนาวสูญเสียธาตุอาหาร โดยเฉพาะธาตุไนโตรเจน (N) เบื้องต้นหากใส่ปุ๋ยที่หมักมาไม่ดี แนะนำว่าควรใส่ปุ๋ยเคมีที่มีสูตรตัวหน้าหรือไนโตรเจนสูง เช่น 46-0-0 เล็กน้อย เพื่อช่วยทดแทนธาตุอาหารลงในดิน การใส่ปุ๋ยจะช่วยให้ใบมะนาวไม่เหลืองหลังการใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักให้กับต้นมะนาว

ทางดิน แนะนำให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน จากนั้นจะต้องตรวจวัดความเป็นกรด-ด่าง หรือ pH ในดิน ให้อยู่ในช่วง 6.5-7 ถ้า pH ของดินต่ำกว่า 6 จะต้องใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพดินให้เหมาะสม

สิ่งที่ควรรู้ ดินที่เป็นกรด หรือมี pH ต่ำกว่า 6 จะเป็นเหตุทำให้มะนาวเกิดโรครากเน่า โคนเน่าได้ง่าย นอกจากนั้น ยังทำให้ต้นมะนาวเหลืองเหมือนขาดธาตุอาหาร แต่จริงๆ แล้ว เกิดจากสภาพดินที่เป็นกรด จะไปตรึงธาตุอาหารในดิน ทำให้ต้นมะนาวแสดงอาการขาดธาตุอาหาร เกษตรกรบางรายไม่รู้ก็ใส่ปุ๋ยเคมีลงไป ยิ่งทำให้ดินเป็นกรดมากขึ้น มะนาวก็ไม่งาม ใบไม่เขียว

เบื้องต้นถ้าทราบว่าดินมีความเป็นกรดก็จะแก้ไขโดยการหว่านปูนขาวรอบๆ ทรงพุ่ม เพื่อเป็นการปรับ pH ให้ขยับมาเป็นกลางมากขึ้น ดังนั้น ควรจำไว้เสมอว่า “จะต้องตรวจดินทุกครั้งที่เห็นมะนาวไม่งาม หรือมีใบเหลือง” ซึ่งอุปกรณ์ตรวจเช็ก pH ดินมีจำหน่าย ราคาไม่แพง ในปัจจุบันหาซื้อได้ไม่ยากนัก ส่วนทางใบ เกษตรกรบางท่านอาจฉีดพ่นปุ๋ย นิวตริไจเซอร์ ร่วมกับ เฟตามิน คอมบี เพื่อเร่งให้มะนาวแตกใบอ่อนสม่ำเสมอกัน

ช่วงแตกใบอ่อน ศัตรูที่พบมากที่สุด คือ “หนอนชอนใบ” เป็นแมลงศัตรูที่ทำลายใบมะนาวมากที่สุด โดยจะเข้าทำลายใบอ่อนมะนาวตั้งแต่เริ่มแตกใบอ่อน จนถึงระยะเพสลาด วิธีสังเกตว่าเป็นหนอนชอนใบทำลายหรือไม่ ให้ดูที่ใบอ่อนจะม้วนลง เมื่อพลิกดูใต้ใบจะพบหนอนตัวเล็กๆ ชอนไชอยู่ โดยมองเห็นเป็นทางสีขาววกไปเวียนมา หนอนชอนใบ

นอกจากจะทำลายพื้นที่ใบแล้ว ยังเป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรคแคงเกอร์ตามมาอีกด้วย ป้องกันและกำจัดได้ง่าย ด้วยสารอะบาเม็กติน เช่น โกลแจ็กซ์, แจคเก็ต อัตรา 5-10 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น 2 ครั้ง ห่างกัน 5-7 วัน หรือใช้สารโปรวาโด อัตรา 1-2 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

โรคแคงเกอร์ เป็นโรคที่มักทำลายมะนาวให้เกิดความเสียหายอย่างมาก โดยเฉพาะมะนาวกลุ่มแป้นสายพันธุ์ที่ค่อนข้างอ่อนแอ (แป้นพวง แป้นรำไพ ฯลฯ) ป้องกันโดย จะต้องป้องกันใบมะนาวไม่ให้เกิดแผลจากแมลงศัตรู โดยเฉพาะ หนอนชอนใบ หรือฉีดพ่นสารคอปเปอร์ ไฮดรอกไซด์ เพื่อป้องกันโรคควบคู่กับไปกับยาฆ่าแมลง เช่น ฟังกูราน อัตรา 20 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ฉีดพ่นช่วงมะนาวแตกใบอ่อน-ใบเพสลาด เพื่อป้องกันโรคแคงเกอร์ (รวมถึงโรคสแค็ป โรคเมลาโนส ฯลฯ)

3. ค้ำกิ่ง เพื่อช่วยจัดทรงพุ่มและลดการเกิดโรค หลังแต่งกิ่งทุกครั้ง เกษตรกรจะต้องหาไม้ไผ่มาค้ำยันกิ่ง เพื่อช่วยจัดทรงต้นให้เหมาะสม และป้องกันลมโยกต้นมะนาว ถ้ามะนาวต้นไหนไม่ค้ำยัน กิ่งจะคลุมดิน ทำให้เก็บผลยาก และโคนต้นชื้น เกิดโรครากเน่าได้ง่าย อีกอย่างการค้ำกิ่งจะช่วยลดการฉีกขาดของใบ ทำให้ลดการเกิดโรคแคงเกอร์ได้มาก

การออกดอกติดผลอ่อนของมะนาวพันธุ์แป้นดกพิเศษ ต้องระวังเพลี้ยไฟทำลาย
การติดผลอ่อนของมะนาวแป้นดกพิเศษ

4. เดือนสิงหาคม-กันยายน สะสมอาหารเร่งความพร้อมให้ต้นมะนาวออกดอกได้ง่ายหลังจากเรารักษาใบอ่อนมะนาวได้ 1-2 ใบแล้ว ให้เริ่มสะสมอาหารให้ใบมะนาวแก่ พร้อมจะออกดอก ทางดิน ปกติจะใช้ปุ๋ยเคมี สูตร 8-24-24 ใส่อัตรา ต้นละ 1-2 กิโลกรัม (แบ่งใส่ 2-3 ครั้ง) แล้วแต่ขนาดพุ่ม เช่น ถ้าต้นมะนาว อายุ 2 ปี หรือต้นที่มีทรงพุ่ม 1-2 เมตร จะใส่ปุ๋ย 2-3 ครั้ง ครั้งละ 3-5 ขีด ห่างกัน 20 วัน แต่ถ้าทรงพุ่มใหญ่ขึ้นก็ให้เพิ่มตามความเหมาะสม

เคล็ดลับการใส่ปุ๋ยทางดิน จะต้องใส่ในช่วงดินมีความชื้น หลังใส่ปุ๋ยต้องรดน้ำจนปุ๋ยละลายทุกครั้ง สำหรับท่านที่ปลูกมะนาวไว้ในวงบ่อซีเมนต์ การใส่ปุ๋ยเคมีสูตรสะสมอาหารจะต้องลดอัตราลง เหลือต้นละ 2-3 ขีด เท่านั้น หากใส่มาก ดินจะเป็นกรดได้ง่าย ทำให้มะนาวเกิดปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าได้ในอนาคต

รู้หรือเปล่า ถ้าสภาพดินที่ปลูกมะนาวเป็นดินทราย หรือร่วนปนทราย แนะนำให้ใช้ปุ๋ยสะสมอาหารสูตร 12-24-12 แทนสูตร 8-24-24 ทางใบ ฉีดพ่นปุ๋ยทางใบที่มีสูตรตัวกลางและท้ายสูง เช่น ปุ๋ยเฟอร์ติไจเซอร์ (3-16-36) หรือปุ๋ยซุปเปอร์เค (6-12-26) หรือปุ๋ยเกล็ด สูตร 0-52-34 หรือปุ๋ยเกล็ด สูตร 10-52-17 ฉีดพ่นปุ๋ยสูตรใดสูตรหนึ่ง ร่วมกับธาตุอาหารรอง เช่น โฟลบาย อย่างใดอย่างหนึ่ง

การฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ ช่วงสะสมอาหารในช่วงนี้ จะต้องงดปุ๋ยที่มีสูตรไนโตรเจนสูงๆ (ตัวหน้า) ยกตัวอย่าง สูตรปุ๋ยที่นิยมฉีดสะสมอาหารทางใบ

สูตรที่ 1 – เฟอร์ติไจเซอร์ 40 กรัม
– เฟตามิน 10 ซีซี
– โฟลบาย 3 กรัม
ต่อน้ำ 20 ลิตร

สูตรที่ 2 – ปุ๋ยเกล็ด 0-52-34 50 กรัม
– โปรซิงค์ 10 ซีซี
– เทรนเนอร์ 10 ซีซี
ต่อน้ำ 20 ลิตร

สูตรที่ 3 – ปุ๋ยเหลว 0-30-35 40 กรัม
– เทรนเนอร์ 10 ซีซี
ต่อน้ำ 20 ลิตร

การฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ แต่ละครั้งอาจใส่ยาป้องกันโรคและแมลงลงไปในคราวเดียวกันก็ได้ เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการฉีดพ่นยา ส่วนจะเลือกใช้สูตรไหน ก็ให้พิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละสวน

มะนาวที่ปลูกบนต้นตอ อายุ 1 ปีครึ่ง บังคับให้ออกนอกฤดู

รู้ไว้ใช่ว่า ช่วงสะสมอาหาร หากช่วงนั้นอากาศร้อนอบอ้าว หรือสังเกตเห็นใบมะนาวมีสีซีดหรือจางลง หรือมีสีเหลืองด้าน ให้พยายามดูที่ใบว่า มี “ไรแดง” ลงทำลายหรือไม่ (ไรแดง เป็นแมลงที่มีขนาดเล็กมาก อาจจะต้องใช้แว่นขยายส่องดู)

หากพบไรทำลายให้ฉีดพ่นด้วยสาร “โอเบรอน” (ชื่อสามัญ สไปโรมีซิเฟน คุณสมบัติเป็นสารกลุ่มใหม่ล่าสุด กำจัดไรได้ดี กำจัดไรได้ทุกวัย โดยเฉพาะตัวเมียคุมไรได้นานกว่า 30 วัน ฉีดพ่นได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของพืช (ฉีดพ่นช่วงออกดอกได้) ปลอดภัยต่อแมลงมีประโยชน์ เช่น ผึ้ง และแมลงศัตรูตามธรรมชาติ อัตรา 6 ซีซี

หรือฉีดสลับกับสาร “โอไม้ท์” (ชื่อสามัญ โพรพาไกต์ คุณสมบัติ ใช้กำจัดไรศัตรูพืชชนิดต่างๆ เช่น ไรแดงแอฟริกัน แมงมุมแดง ไรสนิม ไรกำมะหยี่ และไรศัตรูพืชดื้อยาอื่นๆ)

โดยออกฤทธิ์กำจัดไรศัตรูพืชทั้งแบบถูกตัวตาย และกำจัดโดยไอระเหย มีความเป็นพิษต่ำต่อผู้ใช้และแมลงที่มีประโยชน์ กำจัดไรได้นาน 2-3 สัปดาห์ อัตรา 10 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่น 1-2 ครั้ง ห่างกัน 7-15 วันครั้ง โดยสังเกตจากการระบาดของไรประกอบการตัดสินใจฉีดพ่น แต่อย่างน้อยต้องฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดไรแดง เดือนละ 1 ครั้ง ทุกเดือน

หลังจากฉีดพ่น สูตรสะสมอาหารไปประมาณ 3 ครั้ง ถ้ามะนาวต้นไหนพร้อมจะออกดอกเอง ที่สำคัญในช่วงของการสะสมอาหาร จะงดการให้น้ำแก่ต้นมะนาว แต่ช่วงนั้นจะมีฝนตกตามธรรมชาติ เพราะเป็นฤดูฝน เกษตรกรไม่ต้องกังวลมาก เพียงแต่คอยดูการระบายน้ำในแปลง ไม่ให้ท่วมขังโดยเด็ดขาด

หากเป็นมะนาวที่ปลูกในวงบ่อซีเมนต์ ก็จะหาพลาสติกมาคลุมวงบ่อให้มะนาวขาดน้ำ ใบเหี่ยวสลด เมื่อต้นมะนาวเครียดแล้วให้น้ำติดต่อกันสัก 7-10 วัน มะนาวก็จะแตกใบอ่อนพร้อมออกดอก

ใส่กระสอบรวมเบอร์ก่อนนำไปคัดด้วยเครื่องคัดที่ท่ารับซื้อ
คัดมะนาวแป้นดกพิเศษส่งขายตลาด