มาทำความรู้จัก’อินทผลัม’กัน 1 ต้น ให้ผลผลิต 150-200 กก.

 

 

ต้นอินทผลัมมีความสูงประมาณ 30 เมตร ลำต้นมีขนาดประมาณ 30-50 เซนติเมตร มีใบติดอยู่บนต้น ประมาณ 40-60 ก้าน ทางใบยาว 3-4 เมตร ใบเป็นแบบขนนก ใบย่อยพุ่งออกหลายทิศทาง ช่อดอกจะออกจากโคนใบ ผลทรงกลมรี ยาวประมาณ 2-4 เซนติเมตร ให้ผลครั้งแรกเมื่ออายุ 5-7 ปี และมีอายุยืนยาวถึงกว่า 100 ปี โดยจะให้ผลผลิตต่อปีเฉลี่ยประมาณ 7,000-8,000 ลูกต่อปี หรือประมาณ 100-150 กิโลกรัม ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับขนาดและความสมบูรณ์ของต้น

ผลอินทผลัมสามารถรับประทานได้แบบผลสด หรือเมื่อผลสุกจัดมักนิยมนำไปตากแห้ง ทำให้เก็บไว้ได้เป็นเวลาหลายปี มีลักษณะเหมือนการอบแห้งแบบหวาน จึงมักเข้าใจผิดว่ารสหวานจัดของอินทผลัมนั้นเกิดจากการแปรรูปด้วยการนำไปเชื่อมด้วยน้ำตาล จนไม่กล้ารับประทาน เพราะเกรงว่าจะอ้วนหรือไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ

in22234-6

แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นผลไม้ที่ไม่มีคอเลสเตอรอลและมีไขมันต่ำ นอกจากนั้น ยังอุดมไปด้วยสารอาหารและวิตามินหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

อินทผลัม เป็นผลไม้ที่มีหลากหลายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์มีคุณสมบัติเด่นในด้านการนำไปบริโภคต่างกัน อีกทั้งเกรด ราคา รวมทั้งรสชาติแตกต่างกันด้วย สำหรับสายพันธุ์ต่างประเทศที่นิยมนำมาปลูกในไทยเพื่อรับประทานเป็นผลสดคือ พันธุ์ Barhee หรือ Barhi (บาร์ฮีหรือบัรฮี) มีแหล่งกำเนิดในประเทศอิรัก ปัจจุบันมีการปลูกกันแพร่หลายในหลายประเทศ กล่าวกันว่า พันธุ์ Barhi เป็น “แอปเปิลแห่งตะวันออกกลาง”

in22234-4

การเป็นพืชไม้ผลที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศแถบตะวันออกกลาง ซึ่งมีสภาพอากาศร้อนและแทบไม่มีฝน อีกทั้งยังทนแล้งได้ดี จึงทำให้คนไทยส่วนมากเข้าใจว่า อินทผลัม เป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว อินทผลัมเป็นพืชที่ต้องการน้ำมากถึงปีละ 2,000-2,500 มิลลิเมตร (ประเทศไทยมีฝนตกปีละ 1,000-1,600 มิลลิเมตร) ดังนั้น ถ้าหากเราต้องการอินทผลัมที่มีคุณภาพ จะต้องมีการดูแลรักษาที่ดี และต้องมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าแล้ง

ทางด้านการขยายพันธุ์อินทผลัมสามารถทำได้ 3 วิธี คือ เพาะจากเมล็ด แยกหน่อจากต้นแม่ และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อดี/ข้อเสีย ต่างกัน โดยเหตุผลของการขยายพันธุ์ในแต่ละวิธีไม่มีสูตรตายตัว ขึ้นอยู่กับดุลพินิจความเหมาะสมของผู้ปลูกแต่ละรายเป็นหลักที่นำมาใช้ ทั้งนี้ อาจใช้วิธีใดเป็นหลักหรืออาจรวมหลายวิธีเข้าด้วยกัน

สภาพพื้นที่ปลูกที่เหมาะสมกับอินทผลัม ควรเป็นดินร่วนปนทรายที่มีความอุดมสมบูรณ์ ควรมีระบบระบายน้ำที่ดีและมีอากาศถ่ายเทที่สะดวกด้วย ทั้งนี้ ไม่ควรเป็นพื้นที่ราบลุ่ม ถึงแม้จะได้ผลผลิตก็ตาม ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากปัจจัยดังกล่าวแล้ว ดูเหมือนว่าพื้นที่ทางภาคอีสานและภาคเหนือมีความได้เปรียบกว่าภาคอื่น

14

คุณประทิน อภิชาติเสนีย์ อยู่บ้านเลขที่ 261 หมู่ 13 ตำบลธงชัยเหนือ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา และเป็นเจ้าของสวนอินทผลัมที่มีชื่อว่า “KDP” KORAT DATE PALM หรือ “อินทผาลัม โคราช”

“เรื่องตลาดไม่ค่อยกังวล เพราะการทำเกษตรกรรมที่ผ่านมามีตลาดเป็นฐานรองรับสินค้าอยู่แล้ว อีกทั้งตำแหน่งสวนที่ตั้งในปัจจุบันเป็นทำเลที่รายล้อมไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเขาใหญ่หรือวังน้ำเขียว ฉะนั้น หากบรรทุกใส่รถไปตั้งขายในราคาที่พอสมควร คงได้รับความสนใจอย่างแน่”

คุณประทินเริ่มปลูกอินทผลัมเมื่อปี 2554 ด้วยการไปซื้อต้นพันธุ์ที่เชียงใหม่มา จำนวน 250 ต้น พอถึงปี 2556 ออกดอกจำนวน 55 ต้น จากนั้นอีก 2 ปีครึ่ง ออกดอกอีกจำนวน 160 ต้น แล้วถัดมาอีก 3 ปีครึ่ง ออกดอกได้ทั้งหมด 224 ต้น ไม่เพียงเท่านั้นเขายังซื้อผลสดมาอีก 2 พวงใหญ่ เพื่อมาทดลองเพาะ ซึ่งสรุปแล้วในช่วงนั้นมีต้นเพาะเมล็ดทั้งหมดราว 700 ต้น

ภายหลังได้ผลผลิต คุณประทินพบว่า ต้นเพาะเมล็ดที่ปลูกเกิดการกลายพันธุ์ขึ้น เนื่องจากผลผลิตที่ได้มีความหลากหลายทั้งสีเหลือง สีแดง ขนาดผลทั้งเล็ก ใหญ่ ทั้งรสหวานและฝาด คงยากที่จะทำให้นิ่งได้อย่างสมบูรณ์ เพียงแต่ที่ทำอยู่คือ พยายามคัดสายพันธุ์ให้ใกล้เคียงได้มากที่สุด ซึ่งก็ทำได้ประมาณ 50 ต้น เมื่อเป็นเช่นนั้นจึงตัดสินใจซื้อพันธุ์อินทผลัมเพาะเนื้อเยื่อจากต่างประเทศเข้ามาปลูกด้วย

คุณประทินชี้ว่า ผลผลิตที่ได้ระหว่างต้นเพาะเมล็ดกับเนื้อเยื่อไม่ต่างกันเท่าไร แต่สิ่งที่ต่างกันเห็นได้ชัดเจนคือคุณภาพ

เจ้าของสวนแนะว่า ถ้าคิดจะปลูกอินทผลัมเป็นเชิงพาณิชย์ ควรปลูกต้นพันธุ์เนื้อเยื่อ เนื่องจากประกันความเสี่ยงในเรื่องเพศ โดยเฉพาะเมื่อต้องมีการลงทุนค่าขุดหลุม ค่าปุ๋ย ค่าต่อระบบน้ำ ค่าดูแล และอื่นๆ ซึ่งจะต้องปลูกกันไปยาวนานถึง 4 ปี และตลอดระยะเวลาที่ปลูกมีค่าใช้จ่ายต่างๆ เกิดขึ้นตลอด แต่เมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตมีรายรับได้ประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกันต้นที่สมบูรณ์จริง อาจขายได้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ส่วนที่หายไปเป็นค่าใช้จ่ายสูญเปล่า

สำหรับพันธุ์เนื้อเยื่อผลสดที่แนะนำขณะนี้เป็นพันธุ์บาร์ฮี มีราคาซื้อ-ขาย ทั่วไป ประมาณ 1,200 บาท แต่ถ้าซื้อจำนวนมากอาจมีส่วนลดตามแหล่งที่ซื้อซึ่งจะไม่เท่ากัน ถามว่ารับประกันได้มากน้อยแค่ไหน คงบอกได้ว่าประมาณ 99.99 เปอร์เซ็นต์ เพราะอาจเกิดความผิดพลาดทางแล็บของผู้ผลิตในต่างประเทศ

“เพราะฉะนั้น ถ้าให้เลือกปลูกคงปลูกต้นเนื้อเยื่อมากกว่า หรือหากจำเป็นต้องใช้เพาะเมล็ด ควรเป็นเพาะเมล็ดจากพันธุ์บาร์ฮี เพราะมาจากต้นเนื้อเยื่อ เมื่อพ่อ-แม่พันธุ์ รุ่นแรก F1 โอกาสกลายพันธุ์มีน้อย”

คุณประทินชี้ว่า การเปรียบพันธุ์อินทผลัมขณะนี้ อาจคล้ายกับการเปรียบเรื่องเงาะ อย่างเมื่อก่อนพันธุ์สีชมพู ได้รับความนิยมมาก แต่มีพันธุ์เงาะโรงเรียนน้อยมาก ในปัจจุบันพบว่าทั่วไปมีแต่เงาะโรงเรียน แทบหาเงาะสีชมพูไม่เจอ หรืออีกกรณีอย่างทุเรียนเมื่อก่อนพันธุ์ชะนีโด่งดังมาก แต่ตอนนี้กลับเป็นหมอนทอง แล้วหาชะนีไม่ค่อยพบ

“เพราะฉะนั้น การเปรียบเทียบเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่าไม้ผลอะไรก็ตามหากมีการพัฒนาสายพันธุ์ให้ดีกว่า ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดก็จะได้รับความนิยมมาก สร้างเงินได้มาก”

คุณประทินกล่าวว่า ก่อนที่จะตัดสินใจปลูกอินทผลัมควรมองในเรื่องต้นทุนก่อน และถือเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญ เนื่องจากถ้าปลูกแล้วไม่ประสบความสำเร็จคงแย่แน่นอน

พร้อมกับให้รายละเอียดว่า ในพื้นที่ 1 ไร่ ถ้าใช้ระยะปลูก 7 คูณ 7 เมตร จะได้จำนวน 35 ต้น แล้วหากมีทุนมากพอแนะว่าให้ใช้ต้นเนื้อเยื่อตัวเมียสัก 30 ต้น และต้นตัวผู้ 5 ต้น อันนี้เป็นสัดส่วน ตัวผู้-ตัวเมีย คือ 1 ต่อ 5 หรือ 1 ต่อ 10 อันนี้มองว่าคุณมีเงินทุนสู้ได้

“หรือถ้าเป็นสูตรแบบประหยัดที่ช่วยลดต้นทุน โดยในพื้นที่และจำนวนต้นเท่ากัน ให้ใช้ต้นเนื้อเยื่อตัวเมีย 25 ต้น และใช้ตัวผู้เพาะเมล็ด จำนวน 10 ต้น ซึ่งในจำนวนนี้ถ้าหากเกิดได้ต้นตัวเมียด้วยอาจถือเป็นโชคดี”

ดังนั้น ในพื้นที่ 1 ไร่ การมีต้นตัวเมีย 25 ต้น ถ้าตามข้อมูลในต่างประเทศระบุว่า แต่ละต้นจะให้ผลผลิต 150-200 กิโลกรัม ในปีที่ 8-9 เหตุที่กำหนดในปีที่ 8 เพราะเมื่อเทียบกับยางพาราแล้วในระยะเดียวกัน จะได้ประโยชน์มากกว่า

“อย่าว่าแต่ 150 กิโลกรัมต่อต้น แค่เพียง 100 กิโลกรัมต่อต้น ก็เกินคุ้มแล้ว เพราะที่ผ่านมาอย่างสวนแห่งนี้แค่ปีที่ 5 ยังได้ถึง 60-70 กิโลกรัมต่อต้น แล้วเป็นต้นเล็กด้วย แล้วถ้าไปถึงปีที่ 8 จำนวน 100 กิโลกรัมต่อต้น ต้องเป็นไปได้แน่นอน”

คุณประทินย้ำจุดยืนในเรื่องการขายว่า ที่ผ่านมามีการตั้งราคาขายไว้ กิโลกรัมละ 500 บาท เขามองว่าอาจสูงเกินไป เพราะการปลูกอินทผลัม ถ้าได้ผลผลิตถึงต้นละ 100 กิโลกรัม เพียงขายแค่กิโลกรัมละ 100 บาท เพียงต้นเดียวมีรายได้หนึ่งหมื่นบาท แล้วถ้าปลูก 25 ต้นต่อไร่ อาจมีรายได้ถึง 2.5 แสนบาท

ขณะเดียวกันได้ให้มุมมองในเรื่องการตั้งราคาต่อไปอีกว่า ถ้าคิดว่าราคาขายกิโลกรัมละ 100 บาท ยังสูงไป แล้วฐานตลาดลูกค้ามีจำนวนหลักพันคน แต่ถ้าดึงราคาขายจากหน้าสวนให้ลดลงมาเหลือกิโลกรัมละ 50 บาท คุณจะได้เงิน 5,000 บาทต่อต้น แล้วมีรายได้ไร่ละแสนกว่าบาทต่อไร่ต่อปี

“เมื่อแม่ค้านำไปขายกิโลกรัมละ 70-80 บาท เป็นราคาที่ผู้บริโภคทุกคน ทุกระดับ จับต้องได้ เพราะระดับราคาใกล้เคียงกับไม้ผลชนิดอื่น ในเมื่อทุกคนมีโอกาสซื้อได้แล้ว คิดว่าถ้าตั้งราคานี้จะมีฐานลูกค้าเพิ่มขึ้นอีกจำนวนสักเท่าไร ฉะนั้น ประโยชน์ตรงนี้คุณก็ได้ แม่ค้าคนขายก็ได้”

คุณประทินชี้ว่า ความเหมาะสมของสภาพดินฟ้าอากาศในประเทศไทยสำหรับการปลูกอินทผลัมนั้นค่อนข้างเอื้อแต่อาจไม่ครบทุกจังหวัด ซึ่งถ้าจากภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ขึ้นมาจนสุดภาคเหนือสามารถปลูกได้ทุกแห่ง เนื่องจากถ้าเป็นจังหวัดทางใต้ตอนล่างมีฝนมาก อันมีผลกระทบกับอินทผลัมในช่วงสะสมตาดอก ยิ่งถ้าน้ำท่วมคงได้แต่ยอดใหม่ แต่ไม่ออกดอก

 

 

สำหรับตลาดอินทผลัมของคุณประทิน เสนอขายที่ราคากิโลกรัมละ 50 บาท คุณประทินชี้ว่า เมื่อมีราคากิโลกรัมละ 500 บาท แห่ปลูกกันจนทำให้ราคาลดลง แต่ความจริงแล้วการขายที่ราคากิโลกรัมละ 50 บาท ก็สามารถอยู่ได้ ขณะนี้มีห้างสรรพสินค้าดังหลายแห่งติดต่อเข้ามาเพื่อขอซื้อ แต่ยังไม่กล้ารับปาก เนื่องจากความไม่แน่นอนในเรื่องสภาพอากาศ จึงทำให้คุณภาพผลผลิตยังไม่คงที่

 ตั้งสมมุติฐานเพศด้วยการดูจากต้น
ถึงแม้ข้อดีของการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดคือ การได้จำนวนต้นมากในเวลารวดเร็ว แล้วมีราคาไม่สูงนัก แต่กว่าจะรู้ว่าต้นใดเป็นเพศผู้-เพศเมีย นั้น จะต้องรอไปจนกระทั่งแทงจั่นออกดอก หรือราว 3-4 ปี ฉะนั้น โอกาสเสี่ยงจึงมีมาก ด้วยเหตุนี้ผู้ปลูกบางรายจึงตัดสินใจหาซื้อต้นเนื้อเยื่อที่นำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากทราบเพศที่แน่นอนและมีคุณภาพดีเท่ากับต้นแม่ที่คัดพันธุ์ แต่มีข้อเสียคือ ต้องใช้เงินลงทุนมาก

จากประสบการณ์ที่ผ่านมา 4-5 ปี การได้คลุกคลีอยู่กับอินทผลัมของคุณประทิน ทำให้ได้สังเกตเห็นความแตกต่างระหว่างต้นตัวผู้-ตัวเมีย ในระหว่างการเจริญเติบโต ดังนั้น เพื่อเป็นการทดสอบตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ จึงทำให้คุณประทินคัดเลือกต้นที่คาดว่าน่าจะเป็นเพศเมีย จำนวน 160 ต้น แยกออกมาปลูกไว้ต่างหาก

และในเวลาอีก 2-3 ปี ข้างหน้า หากสมมุติฐานของเขาเป็นความจริง แล้วพิสูจน์ให้เห็นว่าต้นที่นำมาปลูกเป็นตัวเมียทุกต้น ก็จะลดความเสี่ยงจากการเลือกเพศได้มาก อย่างไรก็ตาม สมมุติฐานของคุณประทินขอสงวนสิทธิ์ที่ไม่ให้ข้อมูลรายละเอียด

ปัจจุบัน สวน ‘KDP’ (KORAT DATE PALM) ของคุณประทินปลูกอินทผลัมอยู่ จำนวน 60 ไร่ แล้วเตรียมไว้อีก 20 ไร่ มีต้นพันธุ์จำหน่ายตลอดทั้งปี ทั้งเพาะเมล็ดและเนื้อเยื่อ แต่ต้องสั่งจองล่วงหน้า นอกจากนั้น ยังต้อนรับคณะที่ต้องการเข้าเยี่ยมชม ศึกษาดูงานอีก แล้วได้เปิดสวนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2559

สอบถามรายละเอียด หรือสั่งจองต้นพันธุ์ได้ที่ สวน ‘KDP’ (KORAT DATE PALM) โทรศัพท์ 08-9583-5855www.koratdatepalm.com