สร้างมูลค่าจากไผ่ ด้วยการแปรรูปเป็นตะเกียบ และไม้เสียบลูกชิ้น รายได้ดี

ตะเกียบไม้ไผ่

“ไผ่” เป็นพืชที่อยู่คู่กับชาวผาปังมายาวนาน การเจริญเติบโตของไผ่มีบทบาทช่วยให้ชาวผาปังนำมาใช้ประโยชน์ด้วยการทำเป็นวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ มากมาย เพื่อสร้างรายได้ และหนึ่งในนั้นคือ การทำตะเกียบ และไม้เสียบลูกชิ้น

การนำไผ่มาใช้ประโยชน์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผาปังยึดแนวทางด้วยหลักคิดที่ว่า ต้องใช้ให้เกิดคุณค่าทุกส่วน โดยไม่มีการทิ้งอะไรแม้แต่อย่างเดียว ฉะนั้น ไผ่ 1 ลำ เมื่อแปรรูปเป็นตะเกียบหรือไม้เสียบลูกชิ้น จะใช้ได้เพียง 30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลืออีก 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นเศษวัสดุเหลือ อย่าง ฝอยไผ่ หรือเยื่อไผ่ที่ได้จากการขัดออกจากไม้ไผ่แล้ว จะนำเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นฝอยแห้งเพื่อส่งขาย หรือแม้กระทั่งข้อไผ่ที่ถูกตัดออก ก็จะนำไปเผาเป็นถ่านขายเช่นกัน

คุณวิรัตน์ สีคง ประธานวิสาหกิจชุมชนผาปัง
คุณวิรัตน์ สีคง ประธานวิสาหกิจชุมชนผาปัง

คุณวิรัตน์ สีคง ประธานวิสาหกิจชุมชนผาปัง บอกว่า การนำไผ่มาแปรรูปเป็นตะเกียบ อยู่ในความรับผิดชอบของวิสาหกิจชุมชนแปรรูปไผ่ ซึ่งในกลุ่มนี้ยังมีการแตกย่อยตามลักษณะเนื้องานและความรับผิดชอบออกไปอีก

ประธานวิสาหกิจฯ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ชนิดไผ่ที่นำมาใช้ผลิตตะเกียบ ส่วนใหญ่เป็นตระกูลไผ่ซางและไผ่บง แต่ในแง่การนำมาผลิตเป็นตะเกียบนั้น คุณภาพของไผ่ซางจะดีกว่า เพราะมีความแข็งแรง แต่ควรเป็นไผ่ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 3 ปี

ก่อนนำไผ่มาใช้ต้องตัดข้อไผ่ออกให้หมดทั้งลำ เหลือเฉพาะส่วนที่เป็นไม้ และทุกครั้งที่มีการผลิตตะเกียบจะมีชาวบ้านออกไปตัดไม้ไผ่ตามแหล่งต่างๆ แล้วแบ่งเป็นท่อนมาส่งขายที่กลุ่ม โดยมีการรับซื้อในราคา กิโลกรัมละ 2 บาท ขณะเดียวกันจะดูว่าถ้าเนื้อไม้มีความหนา มักนำไปใช้ทำตะเกียบ แต่ถ้าเนื้อบาง จะใช้ทำไม้เสียบลูกชิ้น                 

ทั้งนี้ ไผ่ที่ตัดแล้วแต่ละท่อนเมื่อนำมาแปรรูป จะได้เป็นตะเกียบ จำนวน 10-15 ชิ้น โดยจะใช้ไผ่ จำนวน 2,500-3,000 กิโลกรัม ต่อวัน แล้วต้องทำกันทุกวัน เพราะยอดการสั่งมีเข้ามาตลอดอย่างต่อเนื่อง

เครื่องยิงขึ้นรูปเป็นแท่งตะเกียบ ไม้เสียบปลาดุก ลูกชิ้น
เครื่องยิงขึ้นรูปเป็นแท่งตะเกียบ ไม้เสียบปลาดุก ลูกชิ้น

สำหรับขั้นตอนการทำตะเกียบ คุณวิรัตน์ อธิบายว่า ก่อนอื่นต้องผ่าลำไผ่ออกเป็น 3-4 ซีก จากนั้นจึงนำเข้าเครื่องยิงเพื่อทำให้ออกมาตามขนาด ซึ่งขนาดกลางทำไม้เสียบลูกชิ้น และขนาดใหญ่ที่สุดทำเป็นตะเกียบ หลังจากได้แท่งตะเกียบแล้ว จึงนำไปอบในโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อให้แห้งสนิท แล้วจึงนำไปขัดเกลาให้เรียบมัน

เครื่องขัดเกลาให้เรียบ มีขนาดใหญ่
เครื่องขัดเกลาให้เรียบ มีขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนการขัดเกลาตะเกียบให้เรียบ จะมีฝอยไผ่ที่เกิดขึ้นจากการขัด โดยสมาชิกจะรวบรวมฝอยเหล่านั้นนำไปเข้าสู่กระบวนการต้มในเตา โดยนำฝอยไผ่ในปริมาณ 20 กิโลกรัม ใส่ลงในกะละมังที่มีน้ำเปล่าอยู่ แช่ฝอยไผ่ให้มิดน้ำ แล้วต้มนาน 30 นาที เหตุผลที่ต้องนำไปต้มเพื่อต้องการไล่น้ำตาลออก มิเช่นนั้นจะเป็นปัญหาต่อการฟอกสี

ฝอยไผ่ที่เพิ่งขัดเกลาเสร็จ ต้องนำมาคัดแยกเศษไม้ไผ่ออกก่อนนำไปต้ม
ฝอยไผ่ที่เพิ่งขัดเกลาเสร็จ ต้องนำมาคัดแยกเศษไม้ไผ่ออกก่อนนำไปต้ม

จากนั้นนำไปปั่นแห้งในเครื่องซักผ้าสัก 3-5 นาที แล้วนำไปตากที่โรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ ครั้งละ 300-400 กิโลกรัม สัก 1-2 วัน แล้วจึงเก็บใส่กระสอบเตรียมส่งขายไปที่นครปฐม ในราคากิโลกรัมละ 25 บาท หรือตันละ 25,000 บาท เพื่อนำไปแปรรูปเป็นวัสดุต่างๆ แทนการใช้โฟม โดยมียอดการสั่งเดือนละ 15-20 ตัน

ตากฝอยไผ่ในโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์
ตากฝอยไผ่ในโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์

ประธานกลุ่มฯ ชี้ว่า ราคาขายสินค้าแปรรูปจากไม้ไผ่ในแต่ละชนิดจะไม่เท่ากัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับฤดูกาล เพราะหากเป็นช่วงหน้าฝนไม้ไผ่หายาก มีน้อย เพราะการตัดไม้และขนส่งทำด้วยความลำบาก ต้องใช้ทุนเพิ่ม แต่อย่างไรก็ตาม ราคามักจะไม่เปลี่ยนแปลงมากแล้วอยู่ระหว่าง 30-40 บาท ต่อกิโลกรัม

ส่วนรายได้ของสมาชิก คุณวิรัตน์ บอกว่า ชาวบ้านมีรายได้ 2 แบบ คือการจ้างรายวัน ในอัตรา คนละ 250-300 บาท (ตามความสามารถ) หรือการจ้างเหมา ในราคา กิโลกรัมละ 4-5 บาท ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านแต่ละคนสามารถทำงานมีรายได้ วันละ 300-400 บาท ต่อคน นับเป็นค่าตอบแทนที่สูง แล้วยังทำงานอยู่กับบ้านด้วย

การจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผาปังขึ้น มีเจตนาเพื่อเป็นการสร้างอาชีพให้ชาวบ้านมีรายได้ โดยมีการแบ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ให้สอดคล้องกัน เกื้อกูลกัน ในลักษณะลูกโซ่ แต่เนื่องจากชาวผาปังมีวิถีชีวิตอยู่ร่วมกับไผ่ จึงมีการผลักดันให้ไผ่เป็นพืชเศรษฐกิจของชุมชน เนื่องจากสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มากมาย โดยเฉพาะด้านพลังงาน

ด้วยเหตุนี้ จึงจัดตั้งกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจพลังงานชุมชนผาปัง ขึ้นมาคอยดูแลทุกกระบวนการ ตั้งแต่การปลูก การผลิต และการตลาด เพื่อใช้สำหรับขับเคลื่อนการแปรรูปไผ่ในรูปแบบต่างๆ

รุ่นนี้ทำไม้เสียบปลาดุก
รุ่นนี้ทำไม้เสียบปลาดุก

คุณวิรัตน์ กล่าวว่า สมาชิกกลุ่มเป็นพวกชอบคิด และมักเกิดความสงสัย จึงแสวงหาคำตอบด้วยการทดลองทำในเรื่องต่างๆ แต่ทั้งนี้กรอบความคิดของกลุ่มมักให้ความสำคัญกับการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบที่นำมาใช้ในแต่ละกิจกรรม

“ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การนำขี้เลื่อยไผ่มาอัดแท่งเพื่อใช้เป็นพลังงาน โดยผลิตอัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ มีขนาดกว้าง 3 นิ้ว ยาว 6 นิ้ว หนา 2 นิ้ว น้ำหนักก้อนละครึ่งกิโลกรัม เป็นขี้เลื่อยจากต้นไผ่นำมาอัดเป็นแท่ง เพื่อส่งขายต่างประเทศ ถือเป็นการนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างเพื่อเพิ่มมูลค่า นอกจากนั้นแล้ว ในอนาคตจะรับซื้อใบไผ่ กาบไผ่ และเศษใบไม้จากชาวบ้านเพื่อนำมาอัดเป็นก้อนหรือแท่ง สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิง”

ประธานกลุ่มบอกว่า การนำไผ่มาแปรรูปเป็นสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ของชาวผาปังได้สร้างประโยชน์ต่อชาวบ้านอย่างมาก จากความคิดเริ่มต้นที่ว่า ทำอย่างไร ให้ไผ่ 1 ต้น นำมาแปรรูปให้ได้ทั้งหมดโดยไม่ทิ้งเศษเลย เพราะเศษเหล่านั้นเองที่สร้างมูลค่าได้มาก ในสมัยโบราณจะใช้ประโยชน์จากไผ่เพียงการรับประทานหน่อ แล้วใช้ลำไผ่มาทำสิ่งก่อสร้างและเครื่องใช้ในบ้านเท่านั้น

“แต่ตอนนี้ได้เข้ายุคใหม่ เกิดแนวคิดใหม่ที่สามารถนำไผ่มาสร้างมูลค่าได้อย่างน่าอัศจรรย์ให้แก่ชาวบ้าน เพราะไผ่เป็นพืชที่ปลูกง่าย การดูแลไม่ยุ่งยาก มีอายุยืนยาวเป็นร้อยปีถ้าปลูกจากเมล็ด สามารถปลูกได้ทุกแห่ง จะปลูกไว้ตามหัวไร่ปลายนา ปลูกเป็นรั้วบ้าน หรือปลูกแบบเป็นสวนไผ่ก็ได้”

 

หน่วยงาน หรือคณะบุคคลที่สนใจต้องการทราบว่า ไผ่ ทำอะไรได้มากกว่าที่คิด ขอเชิญแวะมาดูการทำงานของศูนย์เครือข่ายวิสาหกิจพลังงานชุมชน ของชาวบ้านชาวผาปัง สอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณวิรัตน์ สีคง โทรศัพท์ (089) 851-8941

หากท่านสนใจ “สุดยอดนวัตกรรมจากไผ่ของไทย”

ภายใต้ความมหัศจรรย์ของพันธุ์ งานแปรรูป และผลิตภัณฑ์ชั้นยอดจากไผ่ วันเสาร์ที่ 30 กรกฎาคม 2259

ลงทะเบียน 150 ท่านแรก รับไปเลย หนังสือพริก, มะละกอ หรือ สับปะรด รวบรวมโดยกองบรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน

สำรองที่นั่ง หรือ สอบถามเพิ่มเติม ได้ที่ 082-9939097 และ 082-9939105 หรือ 02-9543977-84 ต่อ 2115, 2116, 2123, 2124