“ปรีชา วงค์พิมณ” ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ หนองบัวลำภู จากลูกจ้างร้านทอง สู่ปราชญ์เพาะเห็ดฟาง

Young Smart Farmer เป็นคนหนุ่มสาวที่มีความรู้ มีความคิดก้าวไกล ทันสมัย และใช้เทคโนโลยีสารสนเทศได้ดี หากสนับสนุนให้คนเหล่านี้ประสบผลสำเร็จ จะขยายผลสู่เกษตรกรข้างเคียงได้เป็นอย่างดี อย่างเช่น

คุณปรีชา วงค์พิมณ อายุ 42 ปี Young Smart Farmer จังหวัดหนองบัวลำภู อยู่บ้านเลขที่ 27 หมู่ที่ 4 บ้านหนองบัวคำแสน ตำบลด่านช้าง อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู โทรศัพท์ 086-090-3818

คุณปรีชา วงค์พิมณ

คุณปรีชา ให้ข้อมูลว่า หลังจากจบการศึกษาระดับ ม.6 ได้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ คือทำงานโรงงานผลิตทองคำ ได้เงินเดือน เดือนละ 6,000 บาท และยังมีค่าโอทีเดือนละประมาณ 4,000 บาท ทำงานอยู่ประมาณ 2 ปี ก็เลยมีแนวความคิดอยากจะกลับมาทำการเกษตรที่บ้านของตนเอง ในระยะแรกได้ทำนาและปลูกดาวเรือง แต่ในการทำการเกษตรนั้นยังมีความเสี่ยงต่อภัยแล้ง ดังนั้น จึงได้ขุดสระน้ำประจำไร่นา ต่อมามีการเจาะบ่อบาดาลเพื่ออาศัยน้ำมาทำการเกษตร ได้ทำการเกษตรในรูปแบบเกษตรผสมผสาน

เพาะเห็ดฟางด้วยเปลือกหัวมันสำปะหลัง (ขี้มัน)

ปัจจุบัน ทำการเกษตรหลายอย่าง ได้แก่ ทำนา 8 ไร่ เพื่อบริโภคในครัวเรือน ที่เหลือขายเป็นรายได้ การทำสวนดาวเรือง ตัดดอกขายส่งให้พ่อค้าที่จังหวัดอุดรธานี เลย ตลาดไท มีรายได้ปีละร่วม 250,000 บาท ต่อปี ปลูกผักขายในชุมชน มีรายได้เสริมเดือนละ 7,000-8,000 บาท ปลูกไผ่กิมซุ่ง 60 กอ พันธุ์บริโภคหน่อและแบบหน่อกินสด ปลูกผักหวานป่าแบบผสมผสานร่วมกับมะละกอ กล้วยน้ำว้า ฯลฯ ปลูกพะยูง 100 ต้น อายุ 4 ปี ปลูกกล้วยน้ำว้า 100 กอ เลี้ยงกบในกระชัง 200 ตัว รวมทั้งเลี้ยงเป็ดเทศอีกด้วย

คุณปรีชา บอกว่า อาชีพอีกอาชีพหนึ่งที่ตนเองเชี่ยวชาญ ให้ผลผลิตเร็วและทำรายได้ดีคือ

“การเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย” ฤดูฝนเพาะในที่ดอน ส่วนฤดูแล้งเพาะหลังนา รุ่นละประมาณ 2 งาน ในรอบปีทำ 3-4 รุ่น ทำรายได้ 120,000-160,000 บาท ต่อปี

ออกดอกดี

ใช้อะไรเพาะบ้าง
วัสดุ อุปกรณ์ ส่วนผสมและค่าใช้จ่ายในการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย ดังนี้

Advertisement

1. เปลือกหัวมันสำปะหลัง (ขี้มัน) จำนวน 8 ตัน (เพาะได้ 30 แปลง แปลงละ 10 บล็อก พื้นที่ประมาณ  2 งาน) เป็นเงิน 4,000 บาท

2. ผ้าพลาสติกคลุมแปลง จำนวน 20 ม้วน (ม้วนละ 180 บาท กว้าง 160 เซนติเมตร ยาวม้วนละ 30 เมตร เพาะได้ 5 รุ่น) เป็นเงิน 3,600 บาท เฉลี่ยรุ่นละ 750 บาท

Advertisement

3. มูลวัว จำนวน 20 กระสอบปุ๋ย กระสอบละ 40 บาท (โดยได้เลี้ยงวัวไว้ จำนวน 2 ตัว สามารถให้มูลเพียงพอสำหรับการเพาะเห็ดฟางได้ตลอดปี) เป็นเงิน 800 บาท

4. หัวเชื้อเห็ดฟาง 144 กิโลกรัม (บรรจุถุงละ 12 ก้อน ก้อนละ 1 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 10 บาท ใช้จำนวน 12 ถุง) เป็นเงิน 1,440 บาท

5. อาหารเสริม
– ถุงเงิน 12 กิโลกรัม (ชนิดผง 1 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 40 บาท ใช้ผสมหัวเชื้อเห็ดได้ 12 กิโลกรัม) เป็นเงิน 480 บาท

– แป้งมัน/แป้งข้าวเหนียว 6 กิโลกรัม (0.5 กิโลกรัม/ถุง ถุงละ 20 บาท ผสมเชื้อเห็ด 12 กิโลกรัม) เป็นเงิน 240 บาท

6. ไม้ไผ่สำหรับทำโครง 30 ลำ (ลำละ 1 แปลง ราคาลำละ 10 บาท ทำเป็นชิ้นยาว 150 เซนติเมตร ใช้งานได้ 5 รุ่น) เป็นเงิน 300 บาท เฉลี่ยรุ่นละ 60 บาท

7. ค่าไถพรวน 2 ครั้ง เป็นเงิน 700 บาท

8. ค่าไถตีแปลง โดยใช้รถไถเดินตามของตนเอง (ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง) เป็นเงิน 100 บาท

9. น้ำมันเชื้อเพลิงปั๊มน้ำ (ฉีดพ่นหลังเก็บเห็ด) เป็นเงิน 500 บาท

10. ฟางคลุมแปลง (ใช้เศษฟางหลังการเก็บเกี่ยวข้าว)

ผลผลิตดี มีคุณภาพ ขายได้ราคาดี
เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเพาะเห็ดฟาง

ขั้นตอนการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย ดังนี้

1. การเตรียมแปลง ไถ 2 ครั้ง เตรียมแปลง กว้าง 120 เซนติเมตร ยาว 4 เมตร แต่ละแปลงห่างกัน 30 เซนติเมตร

2. ภายในแปลง ทำบล็อกกว้างxยาวxสูง (20x80x20 เซนติเมตร) และอัดบล็อก โดยนำเปลือกหัวมันสำปะหลังผสมน้ำพอชุ่มมาอัดลงในบล็อกให้แน่น จำนวน 10 บล็อก ต่อแปลง

3. รดน้ำ ด้วยส่วนผสมของจุลินทรีย์หน่อกล้วย อัตรา 5-10 ลิตร ต่อน้ำ 200 ลิตร (การผลิตจุลินทรีย์จากหน่อกล้วย ทำได้โดย ใช้หน่อกล้วย 50 กิโลกรัม สับให้ละเอียด ผสมกากน้ำตาล 10 ลิตร น้ำ 30 ลิตร หมักทิ้งไว้ 3 เดือน คนทุก 7 วัน สามารถนำไปใช้ได้)

4. หว่านมูลวัวรอบๆ บล็อก

5. รดน้ำให้ชุ่ม

6. นำเชื้อเห็ดที่ผสมอาหารเสริมเรียบร้อยแล้ว โรยทับมูลวัว ประมาณ 3-4 กิโลกรัม ต่อแปลง หรือ ต่อ 10 บล็อก

7. รดน้ำให้ชุ่มอีกครั้งหนึ่ง

8. ขึ้นโครง โดยใช้ไม้ไผ่ ยาวประมาณ 150 เซนติเมตร

9. คลุมด้วยผ้าพลาสติก ใช้ดินกลบชายพลาสติก คลุมด้วยฟางข้าวอีกชั้นหนึ่ง

10. รดน้ำลงบนฟางข้าวและแปลงเพาะ

11. ปล่อยทิ้งไว้ 4 วัน วันที่ 5 ให้ตัดใย โดยเปิดผ้าพลาสติกออกบางส่วน แล้วใช้น้ำฉีดพ่นเป็นฝอยภายในแปลงเพาะ

12. นับอีก 3 วัน ตรงกับ วันที่ 8 ให้เปิดผ้าพลาสติก เพื่อระบายอากาศเป็นจุดๆ จำนวน 6 จุด (ฝั่งซ้าย   3 จุด ฝั่งขวา 3 จุด) โดยใช้ฟางข้าวมัดขนาดเท่าแขน เป็นช่องระบายอากาศ บริเวณที่ติดกับดิน

13. วันที่ 8-12 จะเริ่มเห็นดอกเห็ดเกิดขึ้น

14. จะเก็บดอกเห็ดชุดแรกได้ ในวันที่ 12-15

15. การเก็บดอกเห็ด ให้บิดดอกเห็ดให้หลุดออกจากวัสดุเพาะ นำไปตัดขา ตัดแต่งทำความสะอาด เพื่อจำหน่าย ทั้งนี้ ในการเก็บ จะเก็บช่วงเช้าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น และเก็บตอนเย็นหลังพระอาทิตย์ตก

16. หลังเก็บทุกครั้ง ให้รดน้ำหลังแปลงให้ชุ่ม (บริเวณฟางข้าวที่คลุมแปลง)

17. จะเก็บผลผลิตได้ทุกวัน เฉพาะดอกที่โตสมบูรณ์ ต่อเนื่องประมาณ 1 สัปดาห์

18. เมื่อหมดชุดแรกแล้ว ให้รดน้ำตัดใย ครั้งที่ 2 จากนั้นอีก 1 สัปดาห์ จะเริ่มเก็บดอกเห็ดได้ และเก็บต่อเนื่องอีก 1-2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ การดูแล และความอ่อน-แก่ ของเชื้อเห็ด รวมระยะเวลาในการเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย ประมาณ 30-37 วัน

Young Smart Farmer หนองบัวลำภู ประชุมสัญจร ณ ฟาร์ม

ในการเพาะเห็ดฟาง แต่ละรุ่นจะได้ผลผลิตประมาณ 600 กิโลกรัม ราคาที่ขายได้ เฉลี่ยกิโลกรัมละ 70 บาท มีรายได้รุ่นละประมาณ 42,000 บาท หักต้นทุนการผลิตประมาณ 7,770 บาท มีกำไร 34,320 บาท ต่อรุ่น โดยขายให้กับพ่อค้าในชุมชน บ้านหนองด่าน ทั้งนี้ ในการผลิตจะเป็นการเพาะเห็ดฟางแบบอินทรีย์ ไม่ได้ผสมปุ๋ยยูเรีย เหมือนเกษตรกรบางราย ทำให้ไม่มีปัญหาด้านการตลาดแต่อย่างใด

การเพาะเห็ดฟางยังให้ผลพลอยได้คือ วัสดุในการเพาะเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดี สร้างความร่วนซุยให้แก่ดินและลดการใช้ปุ๋ยเคมี เช่น ในอดีตปลูกข้าว 8 ไร่ ได้ผลผลิต ประมาณ 2,900 กิโลกรัม แต่ภายหลังการเพาะเห็ดทำให้ได้รับผลผลิต ประมาณ 4,400 กิโลกรัม รวมทั้งใส่ในแปลงปลูกพืชอื่นๆ ก็เจริญเติบโตดี

เป็นวิทยากรให้กับศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่หนองบัวลำภู ณ อำเภอเมืองหนองบัวลำภู

คุณปรีชา บอกอีกว่า ปัจจุบัน ได้เปิดเป็นแหล่งเรียนรู้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไป มีทั้งมาศึกษาที่ฟาร์มและไปเป็นวิทยากรตามที่ต่างๆ จัดโดยหน่วยงานต่างๆ เช่น อบต. เทศบาล ในจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นวิทยากรของศูนย์บ่มเพาะ Young Smart Farmer จังหวัดหนองบัวลำภู (คุณวิวิช พวงสวัสดิ์) ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติบ้านบุญ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติน้ำเพียงดิน กศน. ฯลฯ กว่า 1,000  คน

ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภูระบุว่า จังหวัดหนองบัวลำภู มี Young Smart Farmer มากกว่า 70 คน ซึ่งเป็นคนหนุ่มสาว อายุ 17-45 ปี ที่ทำการเกษตรอยู่แล้วทั้งที่ประสบผลสำเร็จและยังไม่ประสบผลสำเร็จ ได้มีการจัดกิจกรรมเป็นระยะๆ เช่น จัดประชุมสัญจรทั้งระดับจังหวัด ระดับเขต ระดับประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ รับความรู้ใหม่ๆ จากทางราชการและสร้างโอกาสในการพัฒนาและยกระดับศักยภาพและรายได้ของตนเอง ดังนั้น จึงขอเชิญชวนให้สมัครเข้าเป็นสมาชิกได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

จะเห็นว่า การเพาะเห็ดฟาง เป็นอาชีพที่ทำเงินได้เร็ว น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับเกษตรกร ท่านที่สนใจสอบถามข้อมูลได้ที่ คุณปรีชา วงค์พิมณ โทร. 086-090-3818

…………………………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2561