มะละกอห่มผ้า ไม่ได้หนาวแต่ป้องกันแมลง…ผลโตเร็ว รสชาติหวาน อย่างนี้ก็มีด้วย

คุณปรุง ป้อมเกิด เกษตรกรผู้ปลูกมะละกอสายพันธุ์แขกดำ ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน เริ่มจากดูที่ผลมีความยาวพอประมาณ โคนผลเล็ก ตรงกลางใหญ่ ปลายเรียว แต่ไม่แหลมจนเกินไป ปลายควรทู่พอสมควร  ผิวผลสวย ขนาด 1.5-2 กิโลกรัมต่อผล  นี่เป็นลักษณะภายนอก เมื่อผ่าผลสีเนื้อต้องแดง สำคัญที่สุดรสชาติต้องหวาน คุณปรุงคัดพันธุ์มานานกว่า 20 ปี สามารถบอกได้เลยว่า มะละกอสวนนี้เป็น”มะละกอแขกดำสายพันธุ์นายปรุง”

คุณปรุงปลูกมะละกออยู่ริมถนนสายพุทธมณฑล-นครชัยศรี คนทั่วไปรู้จักกันดี ซึ่งเป็นละที่กับบ้านัพักอาศัย

นอกจากคุณปรุงแล้ว ปัจจุบันทายาทของเขา  คุณสมจินต์ ป้อมเกิด ได้มาช่วยพ่อปลูกมะละกอ ขณะเดียวกันก็ขยายพื้นที่ออกไปไม่น้อย

คุณสมจินต์ เล่าให้ฟังว่า ตนเองช่วยพ่อปลูกมะละกอตั้งแต่ยังเล็ก เมื่อเรียนจบก็ไปทำงานเปลี่ยนบรรยากาศอยู่ที่นวนครพักหนึ่ง เมื่อแต่งงาน จึงกลับมาหาพ่อ พร้อมลงมือปลูกมะละกออย่างจริงจัง ซึ่งรายได้นั้น ปลูกมะละกอดีกว่ามาก

คุณสมจินต์เล่าถึงการปลูกมะละกอว่า เมื่อได้เมล็ดจากผลสุก นำมาล้างน้ำเอาเมือกที่หุ้มเมล็ดออก ผึ่งลมในสภาพห้อง 2-3 คืน แล้วคลุกยากันรา จึงห่อด้วยผ้าที่ชุบน้ำ เป็นเวลา 4 คืน ทุกวันนี้ทางสวนเพาะในถาดที่มี 60 หลุม หยอดเมล็ดลงหลุมละ 2 เมล็ด ตั้งแต่เพาะเมล็ดจนปลูกได้ใช้เวลาราวเดือนครึ่ง

แปลงปลูกใหม่

ดินที่ปลูก เจ้าของบอกว่า ระดับน้ำควรห่างจากสันแปลงไม่น้อยกว่า 1 เมตร หากน้ำใกล้รากมะละกอเกินไป อาจเหี่ยวเฉาได้ มะละกอต้องการความชื้น แต่ไม่ชอบดินแฉะ วิธีเตรียมดิน ใช้รถตีดิน เป็นการพรวนดินนั่นเอง

เกษตรกรรายนี้ ปลูกมะละกอโดยใช้ระยะระหว่างต้นระหว่างแถว 2 เมตร

ใน 1 หลุม ปลูกมะละกอ 2 ต้น เมื่อมีดอกก็คัดเพศ

เพาะกล้าในถาดหลุม

ดอกที่มีลักษณะรูปขวดเรียวๆ เหมือนขวดเหล้า เป็นดอกกระเทย ผลออกมายาว เป็นที่ต้องการของผู้ปลูก

ต้นที่ดอกเหมือนดอกบัวตูม เป็นต้นตัวเมีย ผลที่ออกมาอ้วนป้อม ขายไม่ได้ เจ้าของจะตัดทิ้ง

ใน 1 หลุม มี 2 ต้น เมื่อพบว่ามีดอกกระเทยทั้งสองต้น ตัดทิ้งต้นหนึ่ง หากพบว่ามีดอกกระเทยและดอกตัวเมีย ตัดต้นตัวเมียทิ้ง แต่หากพบว่า มีเป็นต้นตัวเมียทั้งคู่ ตัดทิ้งทั้งคู่แล้วปลูกใหม่ ในระยะเวลา 3 เดือน เจ้าของบอกว่า เร่งให้ทันกันได้ แต่หากช้ากว่านั้น  เจ้าของบอกว่าไม่ทัน

เรื่องการดูแลรักษา หน้าแล้งเจ้าของรดน้ำให้วันเว้นวัน

ปุ๋ย ต้นเล้กๆใส่สูตร 25-7-7 ปริมาณขนาด 1 ช้อนกาแฟทุกๆ 7 วัน เมื่อมีผลใส่สูตร 8-24-24 เดือนละครั้ง ต้นละ 1 ช้อนโต๊ะ เมื่อเก็บผลผลิตใส่สูตร 13-13-21 จำนวน 2 ครั้งต่อเดือน ส่วนปุ๋ยคอก ใส่ขี้ไก่ ช่วงที่ยังไม่เก็บผลผลิต เมื่อมีผลผลิตใส่ขี้ค้างคาว ช่วยให้เนื้อมีคุณภาพดี รสชาติหวาน ข้อควรพิจารณาในการใส่ปุ๋ย หากต้นมะละกอใบยังเขียวเข้มอยู่ แสดงว่าอาหารยังมีมาก อาจจะลดปริมาณปุ๋ยลง หากผลผลิตดก ใบไม่สมบูรณ์ อาจจะเพิ่มปุ๋ยให้มากขึ้น

โรคมะละกอที่น่ากลัวมาก คือโรคใบด่างวงแหวน ไม่มีทางรักษา เพียงแต่ป้องกัน โดยป้องกันแมลงที่เป็นพาหะ หากพบว่ามะละกอเป็นโรคต้องรีบตัดทิ้ง ห้ามเสียดายเป็นอันขาด

คุณปรุงและลูกชาย ปลูกมะละกอแล้วห่มผ้าให้ที่ผลมะละกอ โดยใช้ผ้าซับในกระโปรง สีขาว(ยังไม่เคยใช้ ซื้อมาใหม่)  ห่อรอบบริเวณที่ติดผล ผ้าที่ห่อหรือห่มให้ ช่วยป้องกันแมลงได้ส่วนหนึ่ง ทำให้คุณภาพของผลผลิตดีขึ้น ป้องกันแสงแดดที่ร้อนจัดทำลายผิวผล

ห่อหรือห่มผ้าให้ อาจจะบังเฉพาะส่วนที่ถูกแสงแดด
หลังปลูก 8 เดือน เริ่มเก็บผลผลิตได้ เจ้าของเก็บอยู่ได้นาน 14 เดือน เท่ากับว่าตั้งแต่ปลูกจนตัดต้นทิ้งแล้วปลูกใหม่ ใช้เวลา 22 เดือน ระยะเวลาที่เก็บผลผลิตอยู่ 14 เดือน เจ้าของบอกว่า น้ำหนักผลผลิตที่สมบูรณ์จำหน่ายได้ราคาดี มีราว 100 กิโลกรัมต่อ 14 เดือนต่อต้น