ปลูกองุ่นไร้เมล็ด ราคาดี ติดผลง่าย เป็นที่นิยมของผู้บริโภค

คุณปรีชา ใจบาล เกษตรกรรุ่นใหม่ หัวไว ใจสู้ พักอยู่บ้านเลขที่ 106 หมู่ที่ 4 บ้านดอกบัว ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ด้วยวัย 43 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอสมควร เห็นเรื่ององุ่น ในสื่ออินเตอร์เน็ต มีความสนใจ จึงศึกษาดู ประกอบกับแรงบันดาลใจอยากจะปลูกพืชยืนต้น ลงทุนครั้งเดียวสามารถอยู่ได้นาน จึงติดต่อกับ อาจารย์ชินพันธ์ ธนารุจ อาจารย์ประจำสาขาไม้ผล คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาชมรมผู้ปลูกองุ่นระดับประเทศและภาคเหนือ เพื่อขอความรู้และได้ติดต่อซื้อต้นพันธุ์จากการแนะนำของอาจารย์ จนแน่ใจแล้วจึงตัดสินใจที่จะปลูกองุ่น โดยเลือกปลูกองุ่นไร้เมล็ด ซึ่งยังมีปลูกกันน้อยในจังหวัดพะเยา

ในปี 2558 คุณปรีชา ใจบาล จึงลงมือปลูกทั้งหมด 175 ต้น รวมต้นรองที่ใช้เชื่อมต้น แต่คิดเป็นต้นหลักเพียง 35 ต้น ใช้เวลาเพียง 7 เดือน ทำให้กิ่งใบเต็มเร็ว โดยซื้อต้นพันธุ์ต้นตอป่าเปลี่ยนยอด ในราคาต้นละ 180 บาท แต่ราคาขายปลีกเขาจะขายในราคา 250 บาท ต่อต้น

การปลูกองุ่นในพื้นที่ราบ สิ่งสำคัญคือ น้ำ ที่ให้จะต้องปราศจากคลอรีน เพราะฉะนั้นน้ำประปา ทั้งของการประปาและประปาหมู่บ้าน ไม่สามารถให้ได้ ที่แปลงคุณปรีชาใช้น้ำประปาภูเขา ในระยะหลังประสบปัญหาภัยแล้งจึงขุดบาดาลน้ำลึก แต่ก็มีปัญหาออกไซด์สูง จึงต้องสูบขึ้นมาพักไว้ในสระที่ทำขึ้นก่อนให้องุ่น

สายพันธุ์องุ่น

องุ่น ที่คุณปรีชาปลูกคือ พันธุ์บิวตี้ซีดเลส เป็นองุ่นไม่มีเมล็ด ทรงผลรี ขนาดปานกลาง สีดำช่อใหญ่ ออกดอกติดผลง่าย รสชาติอร่อย หวาน กรอบ เป็นที่นิยมของผู้บริโภคและมีราคาแพง อายุตั้งแต่ตัดแต่งกิ่งจนถึงเก็บผลผลิตได้ ประมาณ 4 เดือนครึ่ง (ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับช่วงฤดู และสภาพพื้นที่ด้วย) ส่วนอีกพันธุ์ที่โครงการหลวงกำลังจะส่งเสริม คือ พันธุ์ “รูบี้ซีดเลส” เป็นองุ่นไม่มีเมล็ดเหมือนกัน ผลโต ยาวรี ผลมีสีแดงช่อใหญ่ เปลือกหนาพอๆ กัน พันธุ์บิวตี้ซีดเลส มีรสชาติอร่อย หวาน กรอบ และเป็นพันธุ์ที่มีราคาแพงเช่นกัน อายุตั้งแต่เริ่มตัดแต่งกิ่งจนถึงเก็บผลผลิตได้ ประมาณ 5-6 เดือน

การปลูกองุ่น

ข้อมูลทางวิชาการของการปลูกองุ่นคือ การปลูกในที่ดอน ควรไถพรวนเพื่อกำจัดวัชพืชและทำให้ดินร่วนซุย ใช้ระยะปลูก 3×4-3.50×5 เมตร ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน

วิธีการปลูก…ควรขุดหลุมปลูกให้มีขนาดกว้าง ยาว และลึก ประมาณ 50 เซนติเมตร ผสมดิน ปุ๋ยคอก และปุ๋ยร็อกฟอสเฟต เข้าด้วยกันในหลุมให้สูงประมาณ 2 ใน 3 ของหลุม ยกถุงกล้าต้นองุ่นวางในหลุม โดยให้ระดับของดินในถุงสูงกว่าระดับดินปากหลุมเล็กน้อย ใช้มีดที่คมกรีดถุงจากก้นขึ้นมาถึงปากถุงทั้ง 2 ด้าน (ซ้ายและขวา) ดึงถุงพลาสติกออก โดยระวังอย่าให้ดินแตก กลบดินที่เหลือลงไปในหลุม กดดินบริเวณโคนต้นให้แน่น ปักไม้หลักและผูกเชือกยึด เพื่อป้องกันลมพัดโยก หาวัสดุคลุมดินบริเวณโคนต้น เช่น ฟางข้าว หญ้าแห้ง รดน้ำให้โชก ทำร่มเงา เพื่อช่วยพรางแสงแดด

การทำค้าง

การทำค้าง จะทำหลังจากที่ปลูกองุ่นไปแล้วประมาณ 1 ปี ซึ่งต้นองุ่นจะสูงพอดีที่จะขึ้นค้างได้ ค้างต้นองุ่นมีหลายแบบด้วยกัน แต่แบบที่นิยมกันมากคือ ค้างแบบเสาคู่ แล้วใช้ลวดขึง มีวิธีการและขั้นตอน ดังนี้

การเลือกเสาค้าง

เสาค้างอาจใช้เสาซีเมนต์หน้า 3 นิ้ว หรือ 4 นิ้ว ก็ได้ เสาค้างซีเมนต์จะแข็งแรงทนทานอยู่ได้นานหลายปี แต่มีราคาแพงและหนัก เวลาทำค้างต้องเสียแรงงานมาก ถ้าใช้เสาไม้ให้ใช้ไม้เนื้อแข็ง ขนาดหน้า 2×3 นิ้ว หรือ หน้า 2×4 นิ้ว หรือเสากลมก็ได้ เสาควรยาวประมาณ 2.5-3 เมตร หรือยาวกว่านี้ ซึ่งเมื่อปักลงดินเรียบร้อยแล้ว ให้เหลือส่วนที่อยู่เหนือดิน ประมาณ 1.50 เมตร

วิธีการปักเสา

การปักเสสให้ทำเป็นคู่ 2 ข้าง ของแปลงในแนวเดียวกัน โดยให้เสาห่างกัน 2 เมตร และเมื่อติดคานแล้ว ให้เหลือหัวไม้ยื่นออกไปทั้ง 2 ข้าง ข้างละ 50 เซนติเมตร ถ้าปักเสาห่างกัน 3 เมตร เมื่อติดคานบนแล้วจะพอดีหัวไม้ การติดคานเชื่อมระหว่างเสาแต่ละคู่ให้ใช้น็อตเหล็กเป็นตัวยึด ไม่ควรยึดด้วยตะปู เพราะจะไม่แข็งแรงพอ ระยะห่างระหว่างเสาแต่ละคู่ ประมาณ 10-20 เมตร

ยิ่งปักเสาถี่จะยิ่งแข็งแรงทนทานแต่ก็สิ้นเปลืองมาก บางแห่งจึงปักเสาเพียง 3 คู่ คือ หัวแปลง กลางแปลง และท้ายแปลง และระหว่างเสาแต่ละคู่ให้ค้างไม้รวกช่วยค้ำไว้เป็นระยะๆ ซึ่งก็สามารถใช้ได้และประหยัดดี แต่ต้องคอยเปลี่ยนค้างไม้รวกบ่อย

การขึงลวด

ลวดที่ใช้ทำค้าง ให้ใช้ลวดขนาดใหญ่พอสมควรคือ ลวดเบอร์ 11 ซึ่งลวดเบอร์ 11 หนัก 1 กิโลกรัม จะยาวประมาณ 18 เมตร ให้ขึงลวดพาดไปตามคานแต่ละคู่ตลอดความยาวของแปลง โดยใช้ลวด 4-6 เส้น เว้นระยะลวดให้ห่างเท่าๆ กัน ที่หัวแปลงและท้ายแปลงให้ใช้หลักไม้ขนาดใหญ่ตอกฝังลงไปในดินให้แน่น แล้วใช้ลวดโยงจากค้างมามัดไว้ที่หลักนี้เพื่อให้ลวดตึง

หลังจากขึงลวดเสร็จแล้วให้ตรวจดูว่าลวดหย่อนตกท้องช้างหรือไม่ ถ้าหย่อนมากให้ใช้ไม้รวกขนาดใหญ่ปักเป็นคู่ตามแนวเสาค้าง แล้วใช้ไม้รวกอีกอันหนึ่งพาดขวางผูกด้านบนในลักษณะเดียวกับค้าง เพื่อช่วยรับน้ำหนักเป็นระยะๆ ไปตลอดทั้งแปลง เพราะเมื่อต้นองุ่นขึ้นค้างจนเต็มแล้วจะมีน้ำหนักมาก จำเป็นต้องช่วยรองรับน้ำหนักหรือค้ำยันไว้ไม่ให้ค้างหย่อน

ตัดแต่งทรงต้นในระยะเลี้ยงเถา

องุ่น เป็นพืชที่เจริญเติบโตและมีการแตกกิ่งก้านสาขาเร็ว จึงจำเป็นต้องมีการตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ต้นองุ่นเจริญเติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้อง ต้นองุ่นที่ปลูกเสร็จแล้วให้หาไม้รวกปักขนาบลำต้น แล้วจึงผูกต้นชิดกับเสาเพื่อบังคับให้ต้นตั้งตรง ในระหว่างนี้ตาข้างจะเจริญพร้อมกับตายอด ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะทำให้การเจริญส่วนยอดลดลง

ดังนั้น จึงต้องตัดตาข้างทิ้งเสมอๆ และผูกให้ยอดองุ่นตั้งตรง เมื่อต้นองุ่นเติบโตจนมีความสูง 1.5 เมตร หรือจากยอดถึงระดับค้าง หรือเสมอระดับลวด ต้องตัดยอดทิ้ง จัดกิ่งให้อยู่ตรงข้ามกันเพื่อให้ตาข้างที่อยู่บริเวณยอดเจริญออกมา 2 ยอด ตรงข้ามกัน ซึ่งจะเอาไว้ทั้ง 2 กิ่ง หรือกิ่งเดียวกันก็ได้ ถ้าเอาไว้ 2 กิ่ง ให้จัดกิ่งทั้งสองอยู่ตรงข้ามกัน

ไว้ทั้ง 2 กิ่ง มักพบปัญหาคือ

กิ่งทั้ง 2 เจริญเติบโตไม่เท่ากัน ทำให้การกระจายของผลไม่สม่ำเสมอกัน จึงมักนิยมไว้กิ่งเพียงกิ่งเดียว คือหลังจากที่ตัดยอด และตาแตกออกมาเป็นกิ่งแล้ว ให้เลือกกิ่งที่สมบูรณ์ แข็งแรง ไว้เพียงกิ่งเดียว อีกกิ่งหนึ่งตัดออก กิ่งที่คงค้างไว้ของทุกต้นให้จัดกิ่งหันไปในทิศทางเดียวกัน คือหันไปทางหัวแปลงหรือท้ายแปลง

หลังจากที่จัดกิ่งให้หันไปในทิศที่ต้องการแล้ว เมื่อกิ่งนั้นยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ให้ตัดยอดออก กิ่งนั้นจะแตกตาใหม่เติบโตเป็นกิ่งใหม่ 2 กิ่ง ให้คงเหลือไว้ทั้ง 2 กิ่ง และเมื่อกิ่งใหม่ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ก็ตัดยอดอีกและเหลือไว้ทั้ง 2 กิ่ง เช่นเดียวกัน ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งองุ่นเต็มค้างจึงหยุดการตัดยอด

ในระหว่างที่ตัดยอดให้กิ่งแตกใหม่นั้น จะต้องจัดกิ่งให้กระจายเต็มค้างอย่างทั่วถึง อย่าให้ทับกันหรือซ้อนกันมาก จัดให้กิ่งอยู่บนค้างเสมอ อย่าให้กิ่งชูโด่งขึ้นไปด้านบนหรือห้อยย้อยลงด้านล่าง

การจัดกิ่งให้อยู่ในที่ที่ต้องการอาจจะใช้เชือกกล้วยผูกมัดกับลวดก็ได้ เพราะเชือกกล้วยจะผุเปื่อยเร็ว ทำให้การตัดแต่งกิ่งในครั้งต่อไปทำได้สะดวก กิ่งเหล่านี้ เรียกว่า “เคน” ซึ่งเป็นกิ่งที่ใช้ตัดแต่งเพื่อการออกดอกต่อไป ช่วงการเจริญเติบโตของต้นองุ่นตั้งแต่ปลูกตัดแต่งทรงต้นจนต้นมีอายุพอที่จะตัดแต่งกิ่งได้ เรียกว่า “ระยะเลี้ยงเถา” ซึ่งใช้เวลาประมาณ 8-12 เดือน

การตัดแต่งกิ่งเพื่อให้ออกดอก

ต้นองุ่นที่นำมาปลูกในบ้านเรานั้น ถ้าไม่ตัดแต่งกิ่งแล้วจะไม่ออกดอกหรือออกเพียงเล็กน้อยให้ผลที่ไม่สมบูรณ์ การจะให้ต้นองุ่นออกดอกได้ต้องตัดแต่งกิ่งช่วยหลังจากต้นองุ่นพักตัวอย่างเต็มที่แล้ว และก่อนตัดแต่งกิ่ง ต้องงดการให้น้ำ 7 วัน เพื่อให้องุ่นออกดอกได้มาก อายุการตัดแต่งให้ออกดอกในครั้งแรก หรือ “มีดแรก” ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น อายุของต้น และพันธุ์ เป็นต้น เช่น

แต่งกิ่งและการจัดกิ่ง

หลังจากการตัดแต่งกิ่งได้ 15 วัน องุ่นจะแตกกิ่งใหม่ออกมาจำนวนมาก มีทั้งกิ่งที่มีช่อดอก กิ่งที่มีแต่ใบอย่างเดียว และกิ่งแขนงเล็กๆ ซึ่งกิ่งแขนงเล็กพวกนี้ให้ตัดออกให้หมด เหลือไว้เฉพาะกิ่งที่มีช่อดอก และกิ่งที่มีแต่ใบอย่างเดียวที่เป็นกิ่งขนาดใหญ่เท่านั้น

นอกจากนี้ ใบที่อยู่โคนๆ กิ่ง ก็ให้ตัดออกด้วย เพื่อให้โปร่ง ไม่ทึบเกินไป เมื่อตัดแต่งกิ่งแล้ว และเห็นว่ากิ่งยาวพอสมควร จัดกิ่งให้อยู่บนค้างอย่างเป็นระเบียบ กระจายตามค้างและไม่ทับซ้อนกันหรือก่ายกันไปมา เพราะกิ่งที่แตกออกมาใหม่จะแตกออกทุกทิศทุกทางเกะกะไปหมด

วิธีจัดกิ่งคือ โน้มกิ่งให้มาพาดอยู่บนลวดแล้วอาจผูกด้วยเชือกกล้วย หรือใบกล้วยแห้งฉีกเป็นริ้วๆ ไม่ให้กิ่งที่ชี้ขึ้นไปด้านบนหรือห้อยย้อยลงด้านล่าง เพราะจะไม่สะดวกในการปฏิบัติงาน เวลาจัดกิ่งต้องระมัดระวังอย่าให้กระทบกระเทือนดอก เพราะจะฉีกขาดเสียหายได้ง่าย พยายามจัดให้ช่อดอกห้อยลงใต้ค้างเสมอ เพื่อสะดวกในการปฏิบัติงานต่างๆ ในสวน

การตัดแต่งช่อดอก

หลังจากจัดกิ่งเรียบร้อยแล้ว ช่อดอกจะเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งต้นองุ่นออกดอกมากเกินไป ถ้าปล่อยไว้ทั้งหมดจะทำให้ต้นโทรมเร็ว คุณภาพของผลไม่ดีเท่าที่ควร ฉะนั้น ถ้าเห็นว่ามีช่อดอกมากเกินไป ให้ตัดออกบ้าง การตัดแต่งช่ออาจทำตั้งแต่กำลังเป็นดอกอยู่ก็ได้ แต่ไม่ค่อยนิยม เพราะไม่แน่ว่าช่อที่เหลือจะติดผลดีหรือไม่

จึงแนะนำให้ตัดแต่งช่อที่ติดเป็นผลเล็กๆ แล้ว โดยเลือกช่อที่เห็นว่ามีขนาดเล็กรูปทรงไม่สวย ติดผลไม่สม่ำเสมอ มีแมลงทำลาย และเหลือช่อที่มีรูปทรงสวยไว้ให้กระจายอยู่ทั่วทุกกิ่งอย่างสม่ำเสมอ

ตัดแต่งผล

องุ่นที่ปลูกกันอยู่ปัจจุบันในบ้านเรามักติดผลแน่นมาก ถ้าไม่ตัดแต่งผลในช่อจะแน่นเกินไป จะทำให้ผลที่ได้มีขนาดเล็ก คุณภาพไม่ดี หรือเบียดเสียดกันจนผลบิดเบี้ยว ทำให้ดูไม่สวยงาม จำเป็นต้องตัดแต่งผลในช่อออกบ้างให้เหลือพอดี ไม่แน่นเกินไปหรือโปร่งเกินไป การตัดแต่งผลออกจากช่อมักทำ 1-2 ครั้ง เมื่อผลโตพอสมควร ผลองุ่นอ่อนที่ตัดออกมาไปดองไว้ขายได้

วิธีการ ให้ใช้กรรไกรขนาดเล็กสอดเข้าไปตัดที่ขั้วผล อย่าใช้มือเด็ดหรือดึง เพราะจะทำให้ช่อผลช้ำเสียหาย ฉีกขาด และมีส่วนของเนื้อผลติดอยู่ที่ขั้ว ทำให้โรคเข้าทำลายได้ง่าย

ข้อควรระวัง เมื่อองุ่นติดผลแล้ว ผู้ที่จะเข้าไปปฏิบัติงานในสวน ต้องสวมหมวกหรือโพกศีรษะเสมอ อย่าให้เส้นผมไปโดนผลองุ่น จะทำให้ผลองุ่นเน่าเสียได้

การใส่ปุ๋ย

ปุ๋ยนับว่ามีความสำคัญมาก เพราะองุ่นเจริญเติบโตทั้งปี ให้ผลผลิตมาก ดังนั้น จึงต้องใช้ธาตุอาหารต่างๆ มาก ปุ๋ยที่ใช้ ได้แก่

ปุ๋ยอินทรีย์…เช่น ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ถึงแม้จะมีแร่ธาตุอาหารที่พืชต้องการจำนวนน้อย แต่มีคุณสมบัติทำให้โครงสร้างของดินดี ดังนั้น ควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักทุกปีๆ ปีละอย่างน้อย 1 ครั้ง ครั้งละ 5-10 กิโลกรัม ต่อต้น แต่ต้องคำนึงเสมอว่าปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักที่จะนำมาใส่นั้น ต้องเป็นปุ๋ยที่มีการย่อยสลายหมดแล้ว โดยเฉพาะปุ๋ยมูลค้างคาวใช้ได้ผลดี

ใส่ปุ๋ยเคมีตามช่วงวัย

ระยะเลี้ยงเถา การใส่ปุ๋ยช่วงนี้เพื่อบำรุงรักษาต้นให้มีการเจริญเติบโตของลำต้น กิ่ง ก้าน ปุ๋ยที่ใช้ควรเป็นปุ๋ยเคมีสูตรเสมอ เช่น สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 อัตราที่ใส่ ไม่ควรมากนัก แต่ควรใส่บ่อยครั้ง เช่น อัตรา ต้นละ 50 กรัม ใส่ทุกๆ 1 เดือน จนถึง 3 เดือน แล้วเพิ่มเป็น 100 กรัม ต่อต้น ทุกเดือน แต่อัตราการใส่นั้นขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้นองุ่นด้วย

องุ่นที่ให้ผลแล้ว ควรแบ่งใส่ 4 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 หลังการเก็บเกี่ยวมีดแรกใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 หรือ 12-24-12 อัตราขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น เพื่อบำรุงต้นพร้อมกับปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก

ระยะที่ 2 หลังตัดแต่งกิ่ง 7-15 วัน ใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ เช่น 15-15-15 หรือ 16-16-16 เพื่อบำรุงยอด ใบ และดอก ที่ผลิขึ้นมาใหม่

ระยะที่ 3 หลังตัดแต่งกิ่ง 45 วัน ให้ใส่ปุ๋ย สูตร 13-13-21 หรือ 12-12-17 หรือ 16-24-4 ใส่เพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโตของผล ประมาณ 100 กรัม ต่อต้น

ระยะที่ 4 หลังตัดแต่งกิ่ง 75 วัน ระยะนี้ควรใส่ปุ๋ยที่มีโพแทสเซียมสูง ให้ใส่ปุ๋ย  สูตร 0-0-50 หรือ 13-13-21 ประมาณ 100 กรัม ต่อต้น เพื่อเพิ่มคุณภาพผลองุ่น สีผิวและรสชาติ

ธาตุอาหารเสริม

ต้นองุ่นที่มีสภาพค่อนข้างโทรม ขาดการบำรุงที่ดี ควรเร่งให้รากเจริญเติบโต เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ของต้นให้พัฒนาการได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้ปุ๋ยเกล็ด สูตร 15-30-15 หรือ 10-20-30 หรือ 20-20-20 ที่มีธาตุอาหารรองและธาตุปริมาณน้อย อัตรา 60 กรัม ผสมกรดฮิวมิค 100-200 ซีซี ต่อน้ำ 20 ลิตร ราดบริเวณใต้ทรงพุ่มให้ทั่วทุกสัปดาห์ รวม 3 ครั้ง

หรือฉีดพ่นอาหารเสริมทางใบ สูตร “ทางด่วน” ซึ่งประกอบด้วย สารอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเป็นองค์ประกอบหลัก เช่น ครอปไจแอน โพลีแซค มอลตานิค และฟลอริเจน เป็นต้น อัตรา 20-30 ซีซี (อาจใช้น้ำตาลกลูโคส) หรือเด็กซ์โตรส 600 กรัม ฮิวมิคแอซิค อัตรา 20 ซีซี ปุ๋ยเกล็ด สูตร 15-30-15 หรือ 20-20-20 หรือ 10-20-30 ที่มีธาตุอาหารรองและธาตุปริมาณน้อย อัตรา 40-60 กรัม สารจับใบส่วนผสมทั้งหมดผสมรวมกันในน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วต้นทุก 7 วัน ติดต่อกันนาน 3-4 สัปดาห์

การให้น้ำ

องุ่นมีความต้องการน้ำมาก จึงควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมออย่าให้แห้ง โดยเฉพาะหลังจากตัดแต่งกิ่ง ต้องให้น้ำเพื่อให้ดินชื้นอยู่เสมอ แต่อย่าให้ถึงกับแฉะ ในระยะแรกแปลงองุ่นจะโล่งไม่มีใบปกคลุม การให้น้ำ อาจจะต้องให้ทุกวัน สังเกตดูว่าอย่าให้ดินในแปลงแห้งมาก

การให้น้ำนี้ควรให้อย่างสม่ำเสมอไปเรื่อยๆ จนถึงระยะที่ผลแก่ จึงควรงดการให้น้ำ 2-4 สัปดาห์ ก่อนวันตัดผล เพื่อให้องุ่นมีคุณภาพดี รสหวานจัด และสีสวย การให้น้ำก่อนตัดผลจะเพิ่มน้ำหนักขึ้นบ้าง แต่ผลองุ่นที่ได้จะมีคุณภาพไม่ดี เน่าเสียเร็ว เก็บไว้ได้ไม่นาน

การห่อผล

หลังจากตัดแต่งผลแล้ว ควรห่อผล เพื่อป้องกันแมลงเข้าทำลาย เช่น เพลี้ยแป้ง แมลงวันทอง อีกทั้งยังทำให้ผลองุ่นผิวสวย ลูกโตกว่าปกติ และป้องกันความเสียหายจากเส้นผมของผู้ปฏิบัติงานไปโดนผลองุ่นอีกด้วย

วัสดุที่ใช้ห่อผลองุ่น อาจทำเอง โดยใช้กระดาษ เช่น กระดาษกระสอบปูน ซึ่งทนต่อน้ำฝน ไม่ค่อยเปียกน้ำ และเมื่อถูกน้ำจะแห้งเร็ว ทำให้ไม่ฉีกขาดง่าย แต่ถ้าใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ จะใช้ได้ไม่นาน เพราะกระดาษหนังสือพิมพ์เมื่อโดนน้ำแล้วจะซับน้ำและเปื่อยยุ่ยได้ง่าย

หรืออาจจะซื้อวัสดุห่อผลองุ่นแบบสำเร็จรูปก็ได้ ปัจจุบัน จะมีบริษัทผลิตจำหน่ายหลายแบบ แต่ก่อนห่อผลจะต้องฉีดพ่นยากันเชื้อราก่อน หรือใช้วิธีการจุ่มช่อผล เหมือนกับการจุ่มฮอร์โมนยืดช่อดอกก็ได้ เพื่อป้องกันโรคผลเน่าที่เกิดจากเชื้อราเข้าทำลาย

การเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยวผลองุ่นเป็นขั้นตอนที่สำคัญตอนหนึ่ง เพราะองุ่นเป็นผลไม้บ่มไม่ได้ กล่าวคือ เมื่อเก็บมาจากต้นเป็นอย่างไร ก็จะยังคงสภาพอยู่อย่างนั้น ไม่หวานขึ้น และไม่สุกมากขึ้นอีกแล้ว การเก็บผลองุ่นจึงต้องเก็บในช่วงที่ผลแก่เต็มที่ และไม่แก่เกินไป

ผลองุ่นที่ยังไม่แก่เต็มที่จะมีรสเปรี้ยว รสฝาด คุณภาพของผลไม่ดี สีไม่สวย ส่วนผลองุ่นที่แก่เกินไป จะหวานจัดเกินไป เน่าเสียง่าย เก็บไว้ไม่ได้นาน ผลหลุดร่วงง่าย เป็นต้น ผลองุ่นที่แก่จัดสังเกตได้หลายอย่าง เช่น การนับอายุตั้งแต่ตัดแต่งจนถึงแก่จัด ซึ่งจะแตกต่างกันไปแล้วแต่พันธุ์

อย่างไรก็ตาม การกำหนดการแก่ของผลโดยการนับอายุตั้งแต่ตัดแต่งนี้ มีข้อสังเกตบางประการ เช่น ผลองุ่นที่ใช้ฮอร์โมนจะสุกเร็วกว่าผลที่ไม่ใช้ฮอร์โมนหลายวัน และฤดูกาลก็มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เช่น ฤดูแล้ง ผลจะสุกเร็วกว่าฤดูฝน เป็นต้น จึงต้องใช้อย่างอื่นประกอบด้วย เช่น สีของผลที่แก่จัดจะเปลี่ยนจากสีเขียว (องุ่นทุกพันธุ์ตอนที่ผลยังเล็กอยู่จะเป็นสีเขียว) เป็นสีตามพันธุ์

นอกจากสีของผลแล้ว อาจดูจากความหวานของผลโดยการทดลองชิมดู หรือใช้เครื่องวัดเปอร์เซ็นต์ความหวาน (น้ำตาล) หรืออาจดูจากขั้วช่อผล ถ้าผลแก่จัด ขั้วของช่อผลจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาล  ดังนั้น การเก็บผลองุ่นที่แก่จัดควรอาศัยหลายๆ อย่างประกอบกัน เพื่อให้แน่ใจและที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ควรงดการให้น้ำแก่ต้นองุ่นสักระยะหนึ่งก่อนการตัดผล เพื่อให้ผลองุ่นมีคุณภาพดี

อย่างไรก็ตาม บางครั้งผู้ปลูกอาจจำเป็นต้องเก็บผลองุ่นที่จะแก่จัดด้วยเหตุหลายประการ เช่น ฝนตกขณะผลกำลังแก่จัดจะทำให้ผลแตกเสียหายมาก และเหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งคือ พ่อค้าจะเป็นคนกำหนดให้เก็บผลองุ่นตามเวลาที่เขาต้องการ ถึงแม้ว่าผลองุ่นจะยังไม่แก่จัดก็ตาม เพราะว่าองุ่นขาดตลาด เป็นต้น

สำหรับองุ่นที่ปลูกอยู่ในแปลงเดียวกันจะแก่ไม่พร้อมกัน การเก็บจำเป็นต้องเก็บหลายครั้ง โดยเลือกเก็บเฉพาะช่อที่แก่เต็มที่ก่อน และทยอยเก็บไปเรื่อยๆ จนหมด การเก็บใช้กรรไกรตัดที่ขั้วผลแล้วบรรจุลงเข่ง หรือลังไม้ที่บุหรือรองด้วยกระดาษห่อฝอยหรือใบตอง เพื่อป้องกันการชอกช้ำในขณะขนส่ง การขนส่งก็ควรทำด้วยความระมัดระวัง อย่าให้ชอกช้ำมาก และอย่านำเข่งที่บรรจุผลองุ่นวางซ้อนกัน

คุณปรีชา ได้เก็บเกี่ยวองุ่นบิวตี้ซีดเลสขาย ในราคากิโลกรัมละ 250 บาท ตามข้อตกลงของชมรมผู้ปลูกองุ่นภาคเหนือ ที่กำหนดราคาขายให้เหมือนกัน หากเป็นพันธุ์เฟรม ราคาขายจะอยู่ที่ 300-350 บาท ต่อกิโลกรัม เพราะรสชาติหวานอร่อยตรงกับรสนิยมของคนไทย แต่บิวตี้ซีดเลส จะมีรสหวานอมเปรี้ยวถือเป็นรสนิยมของคนยุโรป

คุณปรีชา ใจบาล ฝากบอกสำหรับคนที่สนใจปลูกองุ่นว่า ต้องศึกษาและตั้งใจจริง เพราะองุ่นถือเป็นพืชมรดก สามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดอายุ 30-40 ปี สนใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชิญที่บ้านดอกบัว เลขที่ 106 หมู่ที่ 4 ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา โทรศัพท์ (085) 720-1658 ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ เพราะเป็นเกษตรกรครับ