ศูนย์บริหารศัตรูพืชสุพรรณบุรี ส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์ในพืชหลายชนิด

ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืชจังหวัดสุพรรณบุรี เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมส่งเสริมการเกษตร ภายใต้การดูแลของสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขต 2 จังหวัดราชบุรี เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2544 ตั้งอยู่เลขที่ 2 หมู่ที่ 12 บ้านดอนห้วยราบ ตำบลพลับพลาไชย อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี ความเป็นมานั้นเริ่มจากได้รับการสนับสนุนจาก ฯพณฯ บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 11

คุณวีรธรรม ชูใจ คุณสมคิด เฉลิมเกียรติ คุณวิชา งามยิ่ง และ คุณธีระพงศ์ เล่าโจ้ว

คุณปราโมทย์ รักษาราษฎร์ อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร จัดหาที่ดินราชพัสดุเพื่อก่อสร้างศูนย์ จำนวน 100 ไร่ และได้รับบริจาคจาก คุณนภดล มาตรศรี รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุพรรณบุรี ในสมัยนั้น อีกจำนวน 94 ไร่ รวมเป็นพื้นที่ 194 ไร่ ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดสรรงบประมาณก่อสร้างอาคารที่ทำการ อาคารฝึกอบรม อาคารโรงอาหาร อาคารหอพัก อาคารผลิตขยายศัตรูพืชธรรมชาติ ภายในวงเงิน 54 ล้านบาท ได้ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2545

คุณสมคิด เฉลิมเกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์ เล่าให้ฟังว่า ศูนย์มีบทบาทในการศึกษา ทดสอบการใช้เทคโนโลยีการควบคุมศัตรูพืชในพื้นที่รับผิดชอบ ส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ด้านการใช้เทคโนโลยีควบคุมศัตรูพืช การอนุรักษ์และขยายพันธุ์จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ดำเนินการผลิตขยายชีวินทรีย์และสารธรรมชาติควบคุมศัตรูพืช เพื่อใช้ในงานส่งเสริมการเกษตร ให้บริการตรวจวิเคราะห์ วินิจฉัยศัตรูพืช พยากรณ์เตือนการระบาดการป้องกันกำจัดศัตรูพืช

ปุ๋ยหมักในวงตาข่าย

ทั้งนี้ ทางศูนย์ส่งเสริมและให้การฝึกอบรม การใช้ 2 ชีวภัณฑ์ คือ เชื้อราบิวเวอเรีย เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า สารสกัดธรรมชาติคือ สารสกัดจากสะเดา ในระยะนี้มีเกษตรกรปลูกพืชผักกันจำนวนมาก ศูนย์จัดทำแปลงศึกษาวิจัยศัตรูพืชโดยใช้เชื้อราบิวเวอเรีย แปลงทดสอบการใช้น้ำเปล่าฉีดพ่น แปลงใช้เชื้อราที่แตกต่างกันคือ ใช้เชื้อราจำนวน 1 ถุง 2 ถุง 3 ถุง และ 4 ถุง ถุงละ 250 กรัม ตามลำดับ เปรียบเทียบกันทั้งหมด พบว่า การใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า 4 ถุง จะได้ผลดีกว่า และตลอดระยะเวลาการทดสอบ จะมีเกษตรกรเข้ามาร่วมในการวิเคราะห์ศัตรูพืชว่า ในแปลงพืชผักจะพบศัตรูพืชอะไรบ้าง เพื่อการป้องกันศัตรูพืชก่อนที่จะระบาดเพิ่มมากขึ้น

งานส่งเสริมการเกษตรอีกอย่างหนึ่งคือ การลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร คือการส่งเสริมการทำปุ๋ยหมักแบบง่ายๆ โดยใช้ตะแกรงหรือตาข่ายพลาสติกล้อมเป็นวงกลม ใช้หลักไม้ไผ่ปักเพื่อป้องกันการโค่นล้ม จากนั้นใช้เศษใบไม้ที่มีอยู่ในแปลงใส่ลงไปสลับกับการใส่ปุ๋ยคอก โดยเฉพาะขี้วัว ขี้ควาย จะเหมาะสมที่สุด กองสลับกันเป็นชั้นๆ ทิ้งไว้โดยไม่ต้องกลับกอง ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ก็สามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์แก่พืชที่ปลูกได้เลย เป็นวิธีการที่ง่าย สะดวก ใช้เวลาน้อย วัสดุหาง่ายในท้องถิ่น พื้นที่ในเขตเมืองหรือเขตชุมชนก็สามารถทำได้เอง ประหยัดพื้นที่ด้วย หรืออาจจะใช้ใส่ลงในเข่งพลาสติกก็ใช้ได้เช่นกัน

แปลงรวบรวมพันธุ์พืช

คุณสมคิด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันศูนย์ได้สนองนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตร ด้วยการนำระบบอินเตอร์เน็ตเข้ามาร่วมการปฏิบัติงานด้วย เกษตรกรสามารถได้รับข้อมูลข่าวสารการเกษตรโดยตรง มีการรวมกลุ่มกันที่เรียกว่า กลุ่มไลน์ มีการปรึกษาหารือติดต่อกันระหว่างเจ้าหน้าที่ นักวิชาการ หรือเกษตรกรด้วยกันเอง ปรึกษาหารือกันโดยตรง ตลอดจนสอบถามเรื่องราคาสินค้าและปริมาณการผลิตที่ตนเองมีอยู่ ถือว่าเป็นการสอบถามกันเองด้านการตลาดไปในตัวด้วย

ผู้เขียนขอขอบคุณทีมงานที่มีคุณภาพของศูนย์ที่ให้ข้อมูลและการต้อนรับ ประกอบด้วย คุณสมคิด เฉลิมเกียรติ ผู้อำนวยการ คุณวีรธรรม ชูใจ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ คุณวิชา งามยิ่ง และ คุณธีระพงศ์ เล่าโจ้ว นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ

สภาพปุ๋ยหมักแบบง่าย พร้อมใช้งาน

ท่านที่สนใจติดต่อขอรับการปรึกษา ขอรับวัสดุสารชีวภัณฑ์ ติดต่อได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช โทรศัพท์ (035) 440-926, (035) 440-927

อาคารที่ทำการศูนย์