ข้าวพื้นเมืองภาคใต้ ราคาดี มีเสถียรภาพ

คุณสุทธิพร กาฬสุวรรณ เจ้าของโรงสีข้าวโสภณเจริญพาณิชย์ นายกกิตติมศักดิ์โรงสีข้าวและกลุ่มชาวนาภาคใต้ และอุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ให้ข้อมูลว่า นาข้าวทางภาคใต้ โดยภาพรวม 3 จังหวัดภาคใต้ นครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุง จะปลูกข้าว ประมาณ 500,000-600,000 ไร่/ปี

แต่ละปี ปริมาณข้าวที่ออกมาจะใกล้เคียงกัน ในบางปีจังหวัดสงขลาจะมากกว่า และบางปีจังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนพัทลุงปริมาณจะน้อยที่สุด ภาพรวมการผลิตจะมากกว่า 300,000 ตัน และบางปี 400,000 ตัน/ปี

ภาวะข้าวภาคใต้ขณะนี้ มีผลผลิตต่อการบริโภค เพราะพื้นที่ทำนาลดลง จากเดิมที่มีอยู่ประมาณกว่า 1 ล้านไร่ ใน 3 จังหวัด คือ พัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลา โดยเกษตรกรหันมาปลูกปาล์มน้ำมัน 500,000-600,000 ไร่ และเป็นสวนยางพารา นอกนั้นยังเป็นนาร้างอีก 20-30 เปอร์เซ็นต์

“ความจริงที่นายังมีอีกมาก แต่เมื่อราคาข้าวไม่ดี ชาวนาก็ทิ้งไป จนกลายมาเป็นนาร้างกัน ทั้งนี้นาข้าวก็จะขยายตัวเติบโตมาก สมัยที่รัฐบาลมีโครงการ เช่น โครงการการรับจำนำข้าว ประกันราคาข้าว ภาคใต้ขณะนั้นจะมีข้าวประมาณ 400,000-500,000 ตัน/ปี”

สำหรับประชากรภาคใต้ มีมากกว่านาข้าว ข้าวจึงไม่พอต่อการบริโภค และหากมีการรื้อฟื้นนาร้างก็จะมีนาข้าวขยายตัวขึ้น ประมาณ 700,000 ไร่ ทั้ง 3 จังหวัด แต่ถึงอย่างไร ทางภาคใต้ข้าวก็ยังไม่พอ

“ทิศทางการทำนาข้าว จึงมีแนวโน้มที่ดีมาก  นาร้างจะเริ่มฟื้นขึ้นมา เพราะชาวนาเริ่มมีรายได้ที่ดี พัทลุง สงขลา นครศรีธรรมราช ชาวนามืออาชีพและมีศักยภาพ บางรายมีรายได้ประมาณ 100,000 บาท/ไร่/ปี”

การทำนามืออาชีพ ทำนาสวนผสม โดยทำหลังเสร็จนาข้าว ทำเกษตร พืชผัก ปศุสัตว์ ประมง เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา เลี้ยงวัว ฯลฯ พืชผักล้มลุก ดีปลี มะเขือ ฯลฯ ผลไม้ยืนต้น เช่น มะพร้าว มะม่วง เป็นต้น

นาข้าวขณะนี้ เป็นพืชเศรษฐกิจ อันดับ 1 ของภาคใต้ ที่ราคาสูงนำยางพารา ปาล์มน้ำมัน ราคาดี มีเสถียรภาพ โดยเฉพาะข้าวสายพันธุ์พื้นเมือง ราคาจะมีเสถียรภาพมาตลอด และราคาสูงดีมาตลอดเช่นกัน เช่น

ข้าวสายพันธุ์เล็บนก ราคา 12,000-15,000 บาท/ตัน จากเดิม 10,000-11,000 บาท ข้าวหอมปทุม ราคา 12,000-15,000 บาท เฉี้ยง 15,000 กาบดำ 10,000 บาท ไข่มดริ้น 10,000 สังข์หยด 12,000-13,000 บาท/ตัน แต่ต้องเป็นข้าว 15 เปอร์เซ็นต์

“ข้าวสายพันธุ์ 6 ตัว ทุกปีไม่เคยตกต่ำ เพราะเป็นสายพันธุ์ข้าวที่มีปริมาณปลูกกันจำนวนจำกัดและเป็นข้าวนาปี   ราคาข้าวสายพันธุ์พื้นเมือง ขยับขึ้นมาถึง 10 เปอร์เซ็นต์”

ที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐ รัฐบาล ไม่ได้มีนโยบายส่งเสริมเท่าใดนัก จึงขอให้มีนโยบายเน้นส่งเสริมปลูกข้าวสายพันธุ์พื้นเมือง และก็ไม่ได้ปลูกทั้งหมด เช่น พื้นที่นาปี เน้นให้ปลูกข้าวสายพันธุ์พื้นเมือง เพราะภาคใต้นั้นเป็นพื้นที่เหมาะสมกับข้าวสายพันธุ์นี้

“ข้าวพันธุ์พื้นเมือง 6 ตัวนี้ มีส่วนแบ่งการตลาด ประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้มีส่วนแบ่ง 50 เปอร์เซ็นต์ ข้าวขาว กข อีก 50 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นการสร้างรายได้ที่ดี”

คุณสุทธิพร กล่าวอีกว่า ทิศทางโอกาสทางด้านการตลาดภาคใต้ มีสูงกว่าภาคอื่นๆ ของประเทศ เพราะจำนวนประชากรมีมากกว่าพื้นที่ทำนา ชาวนาจึงมีโอกาสมากกว่าที่อื่นๆ เพราะข้าวยังไม่เพียงพอบริโภค และในภาคใต้ยังไม่สามารถล้นตลาดได้

ที่ผ่านมาเน้นปลูกข้าวที่คนไม่กินกัน เช่น ข้าวพันธ์ุ กข ต่างๆ ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐก็ช่วยกันส่งเสริมพันธุ์ข้าวพื้นเมือง และช่วยกันบริโภคด้วย เพราะข้าวสายพันธุ์พื้นเมือง ที่มีโภชนาการ มีคุณค่าทางอาหาร และที่ผ่านมาการช่วยเหลือจากภาครัฐ อุตสาหกรรมโรงสีข้าว เรื่องชดเชยดอกเบี้ยเสียโอกาสไป เนื่องจากไม่ได้กู้เงินมาทำ พีเอ็นสต๊อก

จึงอยากให้รัฐบาลให้มีนโยบายเฉพาะกิจสนับสนุนโครงการ พีเอ็นสต๊อก ข้าวกับโรงสี โดยให้สมาคมโรงสีข้าวและกลุ่มชาวนาภาคใต้ร่วมกับภาครัฐ ซึ่งจะเป็นการช่วยพยุงราคาข้าว และราคาข้าวจะสูงขึ้น ชาวนาจะขายข้าวได้ราคาที่ดี

การทำ พีเอ็นสต๊อก ดอกเบี้ย ร้อยละ 3-4/ปี มูลค่า 2,000 ล้านบาท/ปี ดอกเบี้ย 3-4 เปอร์เซ็นต์ ให้ ธ.ก.ส. เป็นเจ้าภาพ เพื่อนำเงินไปซื้อข้าวเปลือกชาวนา ซึ่งจะสามารถซื้อข้าวในภาคใต้ได้ทั้งหมด การทำ พีเอ็นสต๊อก คือเก็บข้าวเปลือกไว้ในโรงสีเป็นหลักประกันกับ ธ.ก.ส. จะทำให้ชาวนาภาคใต้ ขายข้าวได้หมด โดยไม่ต้องส่งไปยังส่วนกลาง ซึ่งแต่ละปีจะส่งขาย ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้ราคาข้าวตกต่ำลง เพราะผู้ค้าต้องหักค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าขนส่ง ฯลฯ

“ปัจจุบัน โรงสี 50 เปอร์เซ็นต์ มีศักยภาพ และอีก 20 เปอร์เซ็นต์ ยังขาดการต่อยอด เพราะขาดทายาทสืบทอด นอกนั้นเป็นโรงสีขนาดเล็กและเป็นโรงสีชุมชน โดยภาคใต้มีรายได้จากข้าวภาพรวม ประมาณ 300,000 ตัน มูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท/ปี”

คุณหวน ทนงาน นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา บอกว่า สำหรับพื้นที่ภาคใต้ ที่มีนาข้าวปลูกข้าวมากคือ จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา และจังหวัดพัทลุง ตามลำดับ โดยภาพรวมปริมาณข้าวที่ผลิต ประมาณ 300,000 ตัน นาข้าวไม่น่าจะเกิน 600,000 ไร่

“สำหรับภาคใต้ผลิตข้าวกินเองไม่พอ และสำหรับจังหวัดสงขลาผลิตขายโดยส่วนใหญ่ไปยัง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา นราธิวาส และปัตตานี ที่นิยมบริโภค นอกนั้นนำไปแปรรูปทำขนมจีน ทำแป้ง เป็นต้น”

คุณไพรวัลณ์ ชูใหม่ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง บอกว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัด ที่มีที่นาและผลิตข้าวมากคือ จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา และจังหวัดพัทลุง โดยทำนาปีและนาปรัง ทำ 2 ฤดูกาล/ปี มีที่นาอยู่ประมาณ 500,000-ไม่เกิน 600,000 ไร่ เฉพาะจังหวัดพัทลุง 150,000-160,000 ไร่ เป็นต้น สงขลา ประมาณ 200,000 ไร่ นอกนั้นเป็นนาข้าวของจังหวัดนครศรีธรรมราช

“ปัจจุบัน การทำนา ได้มีคนรุ่นใหม่เริ่มหันมาทำกันมากขึ้น โดยทดแทนคนรุ่นเก่า และยังเริ่มการทำนารูปแบบนวัตกรรม ภูมิปัญญา เทคโนโลยี ทำให้มีผลผลิตเพิ่มมาก พร้อมกับผลผลิตปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น”

สำหรับรูปแบบการทำนานวัตกรรม ภูมิปัญญา เทคโนโลยี โดยทำเต็มระบบ จะได้ลดต้นทุนได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ เช่น เตรียมดินปรับปรุงบำรุงดินดี ใช้น้ำหมัก สลายตอซัง ทำให้ลดการใช้ปุ๋ยลง และต้นข้าวแข็งแรง และตลอดจนการเก็บเกี่ยว ฯลฯ จะทำให้ได้ปริมาณผลผลิตเพิ่มมากขึ้น

“3 จังหวัดภาคใต้ ทำนา 2 ฤดู มีนาปี และนาปรัง นาปีทำประมาณ 100,000 ไร่ จะเป็นข้าวอายุสั้น และนาปรัง ทำประมาณ 60,000 ไร่ จะเป็นการปลูกข้าวสายพันธุ์พื้นเมือง เช่น ข้าวสังข์หยด เล็บนก เฉี้ยง ทับทิมชุมแพ กระดังงา ฯลฯ ผลิตและแปรรูปด้วยความประณีต และความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้บริโภคจะเป็นระดับกลางขึ้นไป”

คุณสมศักดิ์ พานิชน เจ้าของโรงสีข้าวทิพย์พาณิชย์ และประธานชมรมโรงสีข้าว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา บอกว่า จังหวัดสงขลา ทำนาข้าวในขณะนี้ ประมาณ 200,000 ไร่ จากเดิมมีประมาณ 400,000 ไร่ ปัจจัยที่นาข้าวลดลง เนื่องจากได้หันไปปลูกปาล์มน้ำมันกันมากขึ้น และส่วนหนึ่งเมื่อข้าวมีราคาผันแปร ราคาต่ำลง จึงเลิกทำนา ทิ้งให้เป็นนาร้าง

“ที่ผ่านมา นาข้าวจังหวัดสงขลา มีความสมบูรณ์ เนื่องจากไม่มีภัยแล้ง ทำให้น้ำในทะเลสาบสงขลาไม่มีความเค็ม สามารถนำน้ำมาใช้กับนาข้าวได้อย่างมีคุณภาพ พื้นที่ปลูกข้าวมาก คือ อำเภอระโนด กระแสสินธุ์ และอำเภอสิงหนคร ให้ผลผลิตพื้นที่นาที่มีระบบชลประทาน ประมาณ 700 กิโลกรัม/ไร่ ส่วนพื้นที่นา นอกระบบชลประทาน ให้ผลผลิตประมาณ 500 กิโลกรัม/ไร่ ภาพรวมน่าจะไม่เกิน 120,000 ตัน/ปี”