เกษตรกรพัทลุง ปลูกสะละแซมในสวนยาง สร้างรายได้ 450,000 บาท ต่อไร่

สะละ พัทลุง ขยายตัวได้ 5 หมื่นไร่

ด.ต. ชนาธิป คงใหม่ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์สะละบ้านเขาปู่ หมู่ที่ 5 ตำบลเขาปู่ อำเภอศรีบรรพต จังหวัดพัทลุง บอกว่า ที่พื้นที่อำเภอศรีบรรพต เป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ริมเทือกเขาบรรทัด อาชีพเกษตรกรรมส่วนใหญ่ปลูกยางพารา สวนไม้ผล ซึ่งในช่วงที่ยางพารามีราคาที่ตกต่ำ ได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง และเพื่อเป็นการแก้ปัญหา ตนจึงได้ตั้งกลุ่มปลูกสะละแซมในสวนยางพาราขึ้น ขณะนี้มีสมาชิก 18 คน มีพื้นที่ปลูกมากกว่า 80 ไร่ โดยสะละที่ปลูกประกอบด้วย พันธุ์สุมาลี พันธุ์เนินวง และพันธุ์อินโด

ส่วนผลผลิตของสะละนั้น ส่วนใหญ่จะจำหน่ายให้แก่ลูกค้าในจังหวัดภูเก็ต กระบี่ ตรัง สงขลา และประเทศมาเลเซีย จนบางครั้งผลผลิตที่ได้ไม่เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า

ขณะนี้มีเกษตรกรเข้ามาร่วมโครงการปลูกสะละหลายรายแล้ว ทำให้พื้นที่การปลูกสะละพันธุ์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

และจากการที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณ โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อพัฒนาการเกษตรยั่งยืนนั้น วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตและแปรรูปสะละบ้านเขาปู่ ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จากโครงการในการแปรรูปสะละ เป็นสะละลอยแก้ว สะละกวน

“สะละ 1 กิโลกรัม สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้มากถึง กิโลกรัมละ 250-300 บาท” ด.ต. ชนาธิป กล่าว

ส่วนผลผลิตของสะละและผลิตภัณฑ์สะละแปรรูปนั้น สามารถส่งออกจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี จนสามารถสร้างรายได้เป็นที่น่าพอใจยิ่ง

นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง ให้ข้อมูลว่า สะละพัทลุง มี 3 พันธุ์ด้วยกัน แต่ที่ได้รับความนิยมอันดับต้นๆ คือ พันธุ์สุมาลี รองลงมา เนินวง และพันธุ์อินโด โดยขณะนี้มีการปลูกอยู่ประมาณ 20,000 ไร่ เติบโตปีละ 3-5 เปอร์เซ็นต์ โดยจะให้ผลผลิต กอละ 150-200 กิโลกรัม โดยเฉลี่ยจะมีรายได้ประมาณ 10,000 บาท/กอ/ปี จำนวน 1 ไร่ ปลูก 45 กอ รวมรายได้เป็นเงิน ประมาณ 450,000 บาท/ปี/ไร่ ที่สวนสะละ มีรายได้ สำหรับผู้ปลูกที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ สำหรับราคามีตั้งแต่ 80 บาท และ 120 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาหน้าแผง

ส่วนสะละที่แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่ของจังหวัดพัทลุงจะเป็นสะละลอยแก้ว น้ำพร้าวหวาน เป็นต้น ส่วนสะละอบแห้ง ผง กวน แยม และสะละสอดไส้ ยังไม่ได้แปรรูปทุกผลิตภัณฑ์ และยังสามารถแปรรูปได้อีกหลายผลิตภัณฑ์

“สะละแปรรูปจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาสะละที่มีผลตกเกรดอีกด้วย ซึ่งจะได้นำมาแปรรูป เพื่อมิให้เสียของ สำหรับพื้นที่จังหวัดพัทลุง การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เริ่มต้นที่อำเภอป่าบอน จุดเด่นของสะละ เป็นผลไม้ไม่มีฤดูกาล ออกได้ตลอด เป็นผลไม้ยั่งยืน แต่ที่สำคัญคือ แหล่งน้ำ และการระบายน้ำ มีน้ำสนับสนุนตลอดทั้งปี และพื้นที่ปลูกน้ำจะไม่ท่วม ประการสำคัญคนทำสวนสะละจะต้องเป็นคนที่ละเอียดอ่อน ต้องมีฝีมือ เอาใจใส่ จะประสบความสำเร็จ”

ทางด้านการตลาดนั้น ทั้งในและต่างประเทศ เช่น ประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย มีความต้องการในปริมาณที่มาก แต่ของจังหวัดพัทลุงไม่สามารถผลิตได้ตามความต้องการ มีปริมาณไม่พอ แม้เฉพาะใช้บริโภคสดก็ยังไม่พอ

“หากจะให้ปริมาณผลผลิตเพียงพอและเหมาะสม จังหวัดพัทลุงจะต้องขยายพื้นที่ปลูกให้ได้ประมาณ 50,000 ไร่ โดยสามารถส่งออกที่รองรับได้ ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย มีความต้องการมาก จากการที่ไปทำโรดโชว์ที่ผ่านมา” นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง กล่าวในที่สุด