ที่มา | ตลาดสินค้าเกษตรก้าวหน้า |
---|---|
ผู้เขียน | ทะนุพงศ์ กุสุมา ณ อยุธยา |
เผยแพร่ |
การทำเกษตรกรรมในยุคดิจิทัลถูกกำหนดโดยตลาดผู้บริโภคเป็นหลัก จึงมีผลต่อแนวทางหรือวิธีปฏิบัติของเกษตรกรจากเดิมที่เคยปลูกพืชเชิงเดี่ยวต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นการปลูกพืชแบบผสมผสาน ช่วยทำให้เกษตรกรมีรายได้แน่นอน มั่นคง ลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางธรรมชาติ
ผลสำเร็จของการลงมือทำเกษตรผสมผสานอาจไม่ใช่เรื่องง่ายหากไม่ปฏิบัติตามกรอบวิธีและแนวทางที่ถูกต้อง ความสำเร็จของการทำเกษตรผสมผสานมีให้เห็นทั่วไป แม้หลายพื้นที่หรือชาวบ้านหลายแห่งอาจบรรลุวัตถุประสงค์ได้ด้วยการคิดนอกกรอบ แต่เหนือสิ่งอื่นใดที่ทุกคนต้องมี นั่นคือ ความใส่ใจและทุ่มเทอย่างจริงจัง จึงนำไปสู่การมีรายได้ที่มั่นคงอันเป็นเป้าหมายสำคัญ
อีกหนึ่งตัวอย่างของความสำเร็จจากการทำสวนเกษตรผสมผสานจนทำให้พลิกสถานการณ์ในการดำรงชีวิต แม้รายได้ที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่เงินก้อนโต แต่ก็ทำให้การจับจ่ายใช้สอยทุกวัน ทุกเดือน และตลอดทั้งปีเป็นไปอย่างไม่ขัดสนหรือต้องกู้หนี้ สร้างความผาสุกให้แก่ครอบครัว
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือทุกคนของครอบครัว คุณวัชรีญา มณีรัตน์ หรือ คุณปุ๊ก ที่พักอยู่บ้านเลขที่ 66 หมู่ที่ 6 ตำบลเสนางคนิคม อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ
เดิมครอบครัวคุณปุ๊กมีอาชีพเกษตรกรรมทั้งทำนาและปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ทั้งนี้ รายได้หลักมาจากการขายข้าว ส่วนคุณปุ๊กเดินทางไปทำงานหลายแห่ง กระทั่งเธอพบว่าอาชีพการเป็นลูกจ้างไม่ได้สร้างความมั่นคงหรือสร้างฐานะการเงินมากมาย จึงตัดสินใจเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อมาตั้งหลักสร้างอาชีพพร้อมกับครอบครัว
คุณปุ๊กศึกษาเรื่องการทำเกษตรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยมองว่าหลักคิดของทฤษฎีทั้งสองมาจากฐานความคิดเดียวกันคือ ความพออยู่พอกิน ถ้าเหลือแล้วนำไปแจก เมื่อแจกแล้วยังเหลือถึงนำไปขาย แต่ถ้าขายไม่หมดก็เปลี่ยนไปแปรรูป แล้วยังมั่นใจว่าการทำเกษตรแบบผสมผสานจะช่วยให้มีรายได้คล่องตัวกว่าเกษตรเชิงเดี่ยว
ดังนั้น จึงเริ่มจากการซื้อที่ดินจำนวน 4 ไร่ แล้วปรับปรุงพื้นที่เพื่อเริ่มปลูกหญ้าเนเปียร์ให้วัวกิน โดยการปรับปรุงพื้นที่ เริ่มจากไถเบิกหน้าดินผาล 3 ทั้งแปลง แล้วใส่ปุ๋ยคอกให้ทั่วแปลง ในอัตรา 10 กระสอบต่อไร่ พร้อมกับฉีด EM ทั่วแปลงแล้วปล่อยทิ้งไว้ 7 วัน ให้ไถผาล 7 ย่อยกลับหน้าดินทั้งแปลง พร้อมกับฉีด EM แล้วหว่านโดโลไมท์ ในอัตรา 1 กระสอบต่อไร่ พร้อมกับฉีด EM อีกทุก 15 วัน
เมื่อปรับปรุงดินเรียบร้อยจึงหว่านเมล็ดถั่วเขียวเพื่อเพิ่มไนโตรเจนในดิน ให้รดน้ำ แล้วหว่านปุ๋ยในระยะ 3 เดือน แล้วเก็บผลผลิตบางส่วน จากนั้นไถผาล 7 เพื่อกลบต้นถั่วเขียว แล้วฉีด EM แล้วจึงเริ่มปลูกหญ้าเนเปียร์ ทั้งนี้ ในระหว่างที่รอหญ้าโต ได้ขุดสระน้ำขนาดครึ่งไร่ เพื่อใช้เก็บน้ำแล้วเลี้ยงปลา โดยนำดินที่ขุดสระมาถมพื้นที่เพื่อปลูกแก้วมังกร ทำสวนมะนาว แล้วทยอยปลูกพืช ไม้ผลอีกหลายชนิด รวมถึงทำคอกเลี้ยงสัตว์ชนิดต่างๆ ด้วย
สวนเกษตรผสมผสานของคุณปุ๊กถูกวางผังการทำเกษตรกรรมแต่ละชนิดไว้อย่างเหมาะสมและมีคุณภาพ สามารถนำวัตถุดิบของแต่ละส่วน ไม่ว่าจากพืชหรือสัตว์กลับมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างคุ้มค่า จึงทำให้ลดต้นทุนการซื้อปุ๋ยและอาหารสัตว์ได้อย่างมาก
ปัจจุบัน ไม้ผลที่ปลูก ได้แก่ แก้วมังกร ไผ่ มะนาว มะม่วง กล้วยน้ำว้าปากช่อง และมะพร้าวน้ำหอม ส่วนปศุสัตว์ ได้แก่ เลี้ยงวัว เป็ด ไก่ และปลา
เธอบอกว่า กิจกรรมเกษตรที่ลงมือทำทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 3 ปี จึงเริ่มเก็บดอกผลไปขายได้ ซึ่งแก้วมังกรเป็นพืชชนิดแรกที่สร้างรายได้และเร็วกว่าที่คาดไว้ จากนั้นก็ได้ผลผลิตจากมะนาว หน่อไผ่ ตามมาด้วยสัตว์ที่เลี้ยงทุกชนิด รวมถึงยังมีไข่ไก่เก็บขายทุกวัน
“เจตนาสำคัญของแนวทางนี้คือ ทุกกิจกรรมต้องสร้างมูลค่าให้มากที่สุด พืชผลทางการเกษตรสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า คุ้มทุน อย่าง ปลูกกล้วย ก็มีรายได้จากการขายผล ขายปลี ส่วนต้นกล้วยนำไปใช้เป็นอาหารของวัว หมู ไก่ และเป็ด ขณะเดียวกัน ได้นำมูลสัตว์มาผลิตเป็นปุ๋ยแล้วกลับไปใส่ต้นหญ้าเนเปียร์ที่ปลูกไว้เป็นอาหารของวัว ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาการปล่อยวัวออกไปกินหญ้าที่อื่น ขณะเดียวกัน มูลวัวยังวนกลับมาใส่เป็นปุ๋ยสำหรับใส่หญ้าได้อีก ดังนั้น วิถีการทำเกษตรกรรมจึงมีลักษณะเป็นวงกลม”
ด้านการตลาดจะเน้นขายตามตลาดชุมชนใกล้บ้านเป็นหลัก เพราะต้องการจำหน่ายผลผลิตที่มีความสด ใหม่แก่ผู้บริโภค ซึ่งโดยมากเป็นกลุ่มพืชผักสวนครัว หรือปลาที่แพ็กใส่ถุงขนาดครึ่งกิโลกรัม ขายราคา 50 บาท ลูกค้าชอบมาก เพราะเป็นปลาที่เลี้ยงในบ่อดิน
“ในแต่ละวันตอนเช้าตรู่จะนำสินค้าไปขายที่ตลาดชุมชนเพียงไม่กี่ชั่วโมง โดยมีรายได้เฉลี่ยแล้วอย่างต่ำวันละ 300-700 บาท อีกทั้งการขายใกล้บ้านยังช่วยลดต้นทุนการเดินทาง อย่างไรก็ตาม หากผลผลิตส่วนนี้ยังมีเหลือจำนวนมากจึงนำออกไปขายที่ตลาดแหล่งอื่น”
สำหรับสัตว์ปีกอย่างเป็ด ไก่ ก็นำไปจำหน่ายยังตลาดชุมชนใกล้บ้านเช่นกัน รวมถึงยังมีพ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงสวนด้วย ส่วนวัวจะนำไปขายที่ตลาดนัดโค-กระบือ
ในปัจจุบัน ผลผลิตทางการเกษตรอินทรีย์ของครอบครัวคุณปุ๊กได้รับความสนใจจากผู้บริโภคและพ่อค้าเป็นจำนวนมาก เนื่องจากคนเหล่านั้นทราบดีว่าสวนแห่งนี้ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ไว้ใจได้ รวมถึงยังมีประสิทธิภาพตรงตามมาตรฐาน จึงมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัย ทำให้มียอดสั่งซื้อเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย
คุณปุ๊กใส่ใจและจริงจังกับการทำสวนเกษตรผสมผสานทุกอย่าง สิ่งใดที่ไม่รู้ก็จะขอคำแนะนำจากทางสำนักงานเกษตร รวมถึงยังค้นหาข้อมูลทางเน็ตร่วมด้วย นอกจากนั้น ยังขวนขวายหาความรู้จากภายนอกด้วยการเข้าอบรมในหลักสูตรต่างๆ พร้อมกับยังมีการแลกเปลี่ยนความรู้กับกลุ่มผู้ทำเกษตรอินทรีย์ในฐานะ Young Smart Farmer อีกด้วย
คุณปุ๊ก เผยว่า เมื่อก่อนครอบครัวทำนาปีละครั้ง จำนวน 30 ไร่ ปลูกข้าวหอมมะลิ พอขายข้าวได้ก็ต้องหักหนี้ให้กับ ธ.ก.ส. จึงเหลือไม่พอเลี้ยงครอบครัว ภายหลังที่ปรับวิธีทำเกษตรแบบสวนผสม แล้วจัดทำบัญชีรับ-จ่าย อย่างเป็นระบบ วางกรอบรายได้-รายจ่าย ให้ชัดเจนแล้วสร้างวินัยเรื่องการใช้เงิน กลับพบว่ามีรายได้ทุกวัน ทุกอาทิตย์ และทุกเดือนไม่มีขาดมือ โดยไม่จำเป็นต้องรอขายข้าว อีกทั้งแนวทางนี้ไม่ต้องใช้เงินซื้ออาหาร เพราะมีทุกอย่างแล้ว จึงทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก
“รายได้จากการขายผลผลิตเป็นรายวัน ได้แก่ ไข่เป็ด ไข่ไก่ พันธุ์หญ้า กลุ่มนี้สำหรับเป็นรายได้ใช้จ่ายในบ้าน ส่วนรายได้จากการขายผลิตเป็นรายเดือน ได้แก่ กล้วย เป็ด ไก่ ปลา หมู สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายรายเดือน เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าปุ๋ย อาหารสัตว์ และรายได้จากการขายผลผลิตเป็นรายปี ได้แก่ วัว และข้าว สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อชำระหนี้ของสถาบันต่างๆ ถ้าเหลือก็เก็บ”
“การทำเกษตรแบบผสมผสานมีส่วนสำคัญในการช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านได้อย่างมาก เพราะถ้าหากมัวแต่ทำเฉพาะเกษตรเชิงเดี่ยว ต้องรอจนกว่าเก็บผลผลิตจึงมีรายได้ แต่เกษตรผสมผสานช่วยให้มีรายได้สำหรับใช้จ่ายตลอดเวลา” คุณปุ๊ก กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณปุ๊ก โทรศัพท์ 089-874-7266 หรือเข้าไปส่องภาพกิจกรรมการเกษตรของเธอได้ที่ fb : Watchareeya Maneerat
………………………..
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2563