ปลูกมะนาวบนต้นตอส้มต่างประเทศ ทนน้ำท่วม

ที่ผ่านมาในอดีต การปลูกมะนาวของเกษตรกรไทยนิยมปลูกโดยใช้กิ่งตอนหรือกิ่งปักชำ โดยคิดว่าต้นมะนาวเจริญเติบโตและให้ผลผลิตเร็ว โดยไม่ได้นึกถึงปัญหาในเรื่องของระบบรากที่ไม่แข็งแรง เนื่องจากกิ่งตอนมีแต่รากฝอย เมื่อต้นมะนาวเริ่มให้ผลผลิตเต็มที่มักจะพบปัญหาว่าต้นมะนาวทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีภาระเลี้ยงผลมาก ที่สำคัญในปี 2554 ประเทศไทยประสบปัญหามหาอุทกภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ภาคการเกษตรได้รับความเสียหายอย่างยับเยิน เกษตรกรที่ปลูกมะนาวโดยใช้กิ่งตอนน้ำท่วมขังเพียงไม่กี่วัน พบว่าต้นมะนาวยืนต้นตายเกือบทั้งหมด ในขณะที่เกษตรกรที่ปลูกต้นมะนาวโดยใช้กิ่งเสียบยอดบนต้นตอส้มต่างประเทศรอดตายหลายรายเนื่องจากมีระบบรากที่แข็งแรง

การออกดอกของมะนาวพันธุ์แป้นดกพิเศษ

การปลูกมะนาวในปัจจุบันเกษตรกรจะปลูกมะนาวซ่อมกันทุกปี สาเหตุจากต้นมะนาวอายุไม่ยืน (ตายเร็ว) คือ อายุได้ 2 – 3 ปี ก็ตายแล้ว ปัญหาเหล่านี้เกิดจาก

  1.   กิ่งพันธุ์มะนาวที่นำมาปลูก “อมโรค” เป็นโรคทริสเตซ่าที่มีอาการ ใบเหลือง ต้นโทรม สาเหตุจากเกษตรกรตอนกิ่งภายในสวนตัวเองหรือแหล่งเดิมๆ ที่มีการปลูกมะนาวมานาน พบว่าต้นแม่พันธุ์มะนาวดังกล่าวมักจะอมโรคทริสเตซ่า ทำให้เกษตรกรจะต้องเสียเวลาและเสียโอกาส
  2.   ปัญหาต้นโทรม จากการที่มะนาวติดผลดกมากแต่ขาดการบำรุงที่ดีพอ หลังการเก็บเกี่ยว และใช้สารแพคโคลบิวทราโซลราดต้นมะนาวเพื่อบังคับให้ออกนอกฤดู เป็นสาเหตุให้ต้นโทรมทำให้ระบบรากอ่อนแอ จากนั้นก็จะมีโรครากเน่าและโคนเน่าซ้ำเติมทำให้ต้นมะนาวตายในที่สุด

ในแวดวงของนักวิชาการเกษตร และเกษตรกรผู้ปลูกมะนาวในเชิงพาณิชย์ต่างก็ยอมรับกันว่า “มะนาวพันธุ์แป้นดกพิเศษ” ซึ่งมีลักษณะผลและคุณภาพเหมือนกับพันธุ์แป้นรำไพทุกประการ แต่ผลผลิตดกกว่า 4-5 เท่า ในอายุต้นที่เท่ากันและมีการติดผลเป็นพวง เป็นพันธุ์ที่ตลาดต้องการผลผลิตมากที่สุด เนื่องจากพันธุ์ที่ออกดอกและติดผลง่าย ขนาดของผลค่อนข้างโต เปลือกผลบางและมีปริมาณน้ำในผลมาก มีอายุตั้งแต่ออกดอกจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตใช้เวลาประมาณ 4 เดือน ที่สำคัญมะนาวพันธุ์แป้นดกพิเศษสามารถบังคับให้ออกฤดูแล้งได้ง่ายมาก ในช่วงปลายปี 2555 เป็นต้นมา จนมาถึงเดือนมีนาคม 2556 ราคามะนาวแป้นดกพิเศษขายจากสวนได้ราคาแพงมากเฉลี่ยผลละ 3-5 บาท เมื่อขายถึงผู้บริโภคราคาเฉลี่ยผลละ 7-10 บาท นับเป็นปีทองของชาวสวนมะนาวอีกครั้งหนึ่ง

เทคนิคการใช้รากของต้นตอที่งอกจากรากใต้ต้นมาเสริมช่วยค้ำยันต้นมะนาว

การทำสวนมะนาวที่ปลูกด้วยกิ่งตอนนั้นอายุไม่ยืนยาว เฉลี่ยอายุประมาณ 3-5 ปีก็ตาย เกษตรกรจำเป็นต้องปลูกใหม่ ถ้าคิดการลงทุนปลูกใหม่ก็มีค่าใช้จ่ายมิใช่น้อย ทางเลือกใหม่ของเกษตรกรที่คิดจะลงทุนปลูกมะนาวแป้นอย่างยั่งยืน โดยที่ต้นมะนาวควรจะมีอายุยืนอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป ควรจะใช้ต้นตอส้มต่างประเทศ เช่น ทรอยเยอร์, สวิงเกิล, โวลคา-เมอเรียน่าฯลฯ โดยเฉพาะต้นมะนาวที่เสียบยอดบนต้นตอส้มโวลคา-เมอเรียน่า เจริญเติบโตเร็วมาก ปลูกไปเพียงปีเศษก็ให้ผลผลิตแล้ว และสภาพต้นแข็งแรงมาก ติดผลดกและให้ผลใหญ่มาก มีข้อมูลยืนยันทางวิชาการว่าทนทานโรครากเน่าและโคนเน่าได้ดี เนื่องจากมีระบบรากที่แข็งแรงและมีรากแก้ว

จากประสบการณ์การปลูกมะนาวบนต้นตอต่างประเทศที่แผนกฟาร์มของชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร จ.พิจิตร พบว่า ต้นมะนาวมีลำต้นที่แข็งแรง ทนทานต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี แม้แต่สภาพพื้นที่ที่เป็นดินลูกรังก็สามารถเจริญเติบโตได้ดี ข้อดีอีกประการคือ การปลูกมะนาวบนต้นตอต่างประเทศยังช่วยลดการใช้ไม้ค้ำช่วงติดผลดก โดยหากเราปลูกมะนาวด้วยกิ่งตอนจำเป็นต้องใช้ไม้ไผ่ค้ำกิ่งรอบทรงพุ่ม ถ้าคิดคำนวณให้พื้นที่ 1 ไร่ เราต้องใช้ไม้ไผ่นับพันลำ ถ้าคิดเป็นตัวเงินก็ประมาณ 5,000 – 6,000 บาท แต่จากการที่ปลูกมะนาวที่เปลี่ยนยอดบนต้นตอต่างประเทศ ปริมาณการใช้ไม้ไผ่ช่วยในการค้ำน้อยลงไปกว่าครึ่งหนึ่ง เนื่องจากความแข็งแรงของกิ่งก้าน ทรงต้น สามารถแบกรับน้ำหนักผลมะนาวในต้นได้ มิต้องใช้ไม้ช่วยค้ำยันเป็นจำนวนมาก และสามารถบังคับให้ออกนอกฤดูได้ง่าย ต้นที่เปลี่ยนยอดจะขยันออกดอกอย่างชัดเจน

ต้นมะนาวแป้นดกพิเศษที่ใช้ต้นตอโวลคาเมอเลียน่า อายุ 2 ปีเศษ

โดยทดลองนำมะนาวที่เสียบยอดบนต้นตอไปปลูกแทรกในแถวที่มะนาวปลูกด้วยกิ่งตอน ก็สังเกตเห็นชัดว่าสามารถออกดอกง่ายกว่า ซึ่งสันนิษฐานว่าเกิดจากการลำเลียงน้ำและอาหารอาจจะไม่สะดวกโดยเฉพาะรอยต่อทำให้มีผลต่อการออกดอกง่ายขึ้น และบริเวณโคนที่เป็นต้นโตต่างประเทศที่เหนือพื้นดินขึ้นมาจะทนต่อยาฆ่าหญ้า หากฉีดโดนบ้างก็ไม่เป็นไร เทคนิคในการเสียบยอดให้ใช้ต้นตอส้มทรอยเยอร์ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-1 เซนติเมตร ตัดยอดต้นตอส้มให้สูงจากพื้นดินประมาณ 15 เซนติเมตร จากนั้นนำกิ่งมะนาวพันธุ์แป้นดกพิเศษเสียบยอดด้วยวิธีการผ่าลิ่มให้แผลมีความยาวประมาณ 1 นิ้ว ใช้เวลาประมาณ 45 วัน ยอดที่เสียบจะแตกยอดใหม่ออกมา นอกจากข้อดีของการปลูกมะนาวแป้นดกพิเศษที่เสียบยอดบนต้นตอส้มต่างประเทศที่ได้กล่าวมาแล้ว จากการปลูกจริงพบว่า ต้นมะนาวแป้นดกพิเศษที่เสียบยอดบนต้นตอส้มพันธุ์สวิงเกิล จะให้ผลผลิตมะนาวที่มีขนาดผลใหญ่มากและสภาพต้นเตี้ยสะดวกต่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต

แป้นดกพิเศษ เปลือกบาง เมล็ดน้อย น้ำเยอะและมีกลิ่นหอม

การจัดการสวนที่ถูกต้องเป็นส่วนสำคัญต่อความสำเร็จของการผลิตมะนาวนอกฤดู รศ.ดร.รวี  เสรฐภักดี ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตรกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์สรุปว่า สิ่งที่ชาวสวนมะนาวและนักวิชาการเกษตรไม่ควรมองข้ามในการบังคับให้มะนาวออกนอกฤดูนั้น เรื่องของการจัดการสวนเป็นหัวใจที่มีความสำคัญ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้ โครงสร้างของดิน ดินที่มีลักษณะเป็นทราย มีการระบายน้ำที่ดีจะมีผลทำให้การชักนำการออกดอกได้ดีกว่าดินที่อุ้มน้ำสูงและดินเหนียว ขนาดของพุ่มต้น ควรเตรียมแปลงปลูกในลักษณะของแนวแถวยกสูงเป็นแบบลูกฟูกอันที่จะช่วยให้เกิดการระบายน้ำได้ดีขึ้น และการชักนำการออกดอกจะง่ายกว่า ขนาดของพุ่มต้นมะนาวที่มีขนาดพุ่มต้นที่เล็กกว่าสามารถชักนำการออกดอกเพื่อการผลิตนอกฤดูได้ดีกว่า ต้นตอบสนองต่อสภาพการงดน้ำได้เร็วมากขึ้น(ใช้เวลาสั้นกว่า) และการปฏิบัติเพื่อชักนำการออกดอก ควรจะต้องเข้าใจถึงธรรมชาติและนิสัยการออกดอก กิ่งมะนาวจะไม่มีการออกดอกหากว่ากิ่งนั้นยังคงมีผลติดอยู่

มะนาวแป้นดกพิเศษกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เหมาะแก่การปลูกเชิงการค้า

เมื่อเป็นดังนี้จึงจำเป็นที่จะต้องทำลายดอกหรือผลในช่วงที่ไม่ปรารถนาออกทิ้งไปก่อน กิ่งจึงจะสามารถออกดอกได้ การเปลี่ยนแปลงจากตาใบไปเป็นตาดอกยังสามารถควบคุมได้ด้วยปุ๋ยทางใบที่มีธาตุโปแตสเซียม(K) สูงในระยะที่ตาผลิก่อนมีความยาวยอดมากกว่า 7.5 เซนติเมตร การพ่นปุ๋ยทางใบที่มี ธาตุ N:P:K ในสัดส่วน 1:1:3 ; 1:1:4 ; 1:1:5 หรือ 1:2:5 ในระยะยอดอ่อนผลิจะมีบทบาทช่วยให้การสร้างตาดอกดีมากยิ่งขึ้น

เทคนิคการผลิตมะนาวนอกฤดูแบบต่างๆ  ปัจจุบันมีเทคนิคในการผลิตมะนาวนอกฤดูหลายวิธีทั้งภาคเกษตรกรและนักวิชาการเกษตรจึงจำเป็นที่จะต้องใช้หลายๆ วิธีเข้ามาใช้ร่วมกัน ดังนี้ การปลิดดอกและผลอ่อนของมะนาว มะนาวมีการออกดอกในฤดูกาลใหญ่ 2 ระยะ รวมทั้งกิ่งที่มีผลผลิตติดอยู่ก็ไม่สามารถออกดอกได้ดีตามต้องการจึงจำเป็นต้องกำจัดดอกและผลอ่อนที่ไม่ต้องการในฤดูกาลนั้นทิ้งไปเสียก่อน การตัดแต่งกิ่งนอกจากจะเป็นการกำจัดดอกและผลอ่อนออกไปได้บางส่วนแล้ว ยังเป็นตัวช่วยกระตุ้นให้มีการผลิยอดอ่อนใหม่ที่ค่อนข้างสม่ำเสมออีกด้วย ซึ่งไม่ควรตัดลึกมากควรจำกัดอยู่ที่ปลายกิ่งระดับ 5-10 ซม. สามารถกำจัดดอกและผลอ่อนที่เหลือโดยการฉีดพ่นสารเอทธิฟอนที่ความเข้มข้น 300 ppm พ่นในระยะดอกบาน, กลีบดอกโรย รวมถึงระยะผลอ่อน, การยับยั้งการออกดอกของต้นมะนาวในฤดู สารควบคุมการเจริญเติบโตที่มีชื่อว่า จิบเบอเรลลิกแอซิด หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “จิบเบอเรลลิน”

มะนาวแป้นดกพิเศษติดผลเป็นพวง

จิบเบอเรลลิน มีคุณสมบัติช่วยในการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางกิ่งใบในไม้ยืนต้น ใช้พ่นเพื่อยับยั้งการออกดอก, การกำจัดใบ ต้นมะนาวที่สมบูรณ์มากมีพุ่มต้นแน่นทึบหรือมีลักษณะที่เรียกว่า บ้าใบ การปลิดใบออกบ้างบางส่วน อาจมีผลในด้านการลดระดับไนโตรเจนในต้นให้ลดต่ำลง อันเป็นการช่วยปรับระดับของคาร์โบไฮเดรตต่อระดับของไนโตรเจน หรือที่ภาษาวิชาการเรียกว่า ซี/เอ็น เรโช(C/N ratio) ให้สูงขึ้น อาจช่วยให้มีการออกดอกดีขึ้นได้ และเทคนิคสุดท้ายการใช้สารเคมี สารในกลุ่มชะลอการเจริญเติบโต เช่น สารแพคโคลบิวทราโซล มีบทบาทในการยับยั้งการสังเคราะห์จิบเบอเรลลินในธรรมชาติของต้นพืช ดังนั้นพืชจึงมีการเจริญทางกิ่งใบลดลงส่งผลให้มีโอกาสในการออกดอกมากขึ้น แนะนำให้ฉีดพ่นสารแพคโคลบิวทราโซล

เทคนิคการผลิตมะนาวฤดูแล้งภาคเกษตรกร ในช่วงเดือนสิงหาคม – เดือนกันยายน จะสะสมอาหารและสะสมตาดอกด้วยการใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 8 – 24 – 24 ทางดิน และ ทางใบจะฉีดสะสมอาหารด้วยปุ๋ยเกร็ดสูตร 0 – 52 – 34  ร่วมกับสารโปรดั๊กทีฟเป็นหลัก จะฉีดพ่นช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน จนใบมะนาวจะเริ่มแก่จัด หรือ“แก่ก้าน” มีใบลักษณะใบสีเขียวเข้มจับใบดูจะกรอบแสดงว่าต้นมะนาวมีความพร้อมที่จะเปิดตาดอก ช่วง 2 เดือนนี้เกษตรกรต้องดูต้นมะนาวอย่าให้แตกใบอ่อนออกมา เราต้องบังคับให้ไปแตกใบอ่อนพร้อมดอกหรือเปิดตาดอกในเดือนตุลาคมเท่านั้น ถ้ามีฝนชุกหรือต้นมะนาวดูงามเกินไปจะต้องเพิ่มอัตราปุ๋ย   0 – 52 – 34 เข้าไปอีกจากอัตรา 150 กรัม เป็น 200 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ 2 กิโลกรัมต่อน้ำ 200 ลิตร

มะนาวแป้นดกพิเศษบนต้นตอทรอยเยอร์ที่มีความแข็งแรง ทนต่อสภาพดินลูกรัง

เป็นที่ทราบกันดีว่าในการปลูกมะนาวในเชิงพาณิชย์ในปัจจุบันนี้ตลาดมีความต้องการมะนาวพันธุ์แป้นรำไพและพันธุ์แป้นดกพิเศษมากที่สุด และการเลือกใช้กิ่งพันธุ์มะนาวได้เปลี่ยนจากการใช้กิ่งตอนมาใช้กิ่งเสียบยอดบนต้นตอส้มต่างประเทศ เนื่องจากต้นมีความสมบูรณ์แข็งแรงและอายุยืนยาวกว่าปลูกด้วยกิ่งตอน