“MD 2” สับปะรดที่นิยมบริโภคสดทั่วโลก ปลูกลงดินดี ปลูกในถุงได้

ไทย เป็นประเทศที่มีการส่งออกสับปะรดแปรรูปบรรจุกระป๋องมาก เป็นอันดับ 1 ของโลก มีส่วนแบ่งของตลาดสับปะรดกระป๋องมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ของตลาดโลก สายพันธุ์สับปะรดที่ปลูกเข้าสู่อุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋อง นั้นคือ สายพันธุ์ “ปัตตาเวีย” ซึ่งมีพื้นที่ปลูกเป็นจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ อยู่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และพื้นที่อื่นๆ กระจายอยู่ที่จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี จังหวัดชลบุรี จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดชุมพร เป็นต้น ปัจจุบัน จากข้อมูลพบว่าผลผลิตสับปะรดที่ปลูกได้ในประเทศไทย 70-80 เปอร์เซ็นต์ ปลูกเพื่อส่งเข้าโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเป็นสับปะรดกระป๋องและผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากสับปะรด เช่น น้ำสับปะรดเข้มข้น สับปะรดกวน และสับปะรดสดแช่แข็ง เป็นต้น ส่วนที่เหลืออีก 20-30 เปอร์เซ็นต์ เป็นการใช้เพื่อบริโภคสดภายในประเทศ ประเทศไทยนั้นเป็น อันดับ 1 ในการผลิตและส่งออกสับปะรดกระป๋องเท่านั้น แต่ถ้าพูดถึงการส่งออกสับปะรดในรูปสับปะรดผลสดนั้น ถือว่าไทยเรามีการส่งออกน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งของไทย อย่างประเทศฟิลิปปินส์ ที่สามารถส่งออกสับปะรดผลสดได้ปีละกว่าแสนตันต่อปี หรือแม้แต่ไต้หวันซึ่งมีพื้นที่ปลูกสับปะรดน้อยกว่าไทย แต่มีตัวเลขการส่งออกสับปะรดผลสดมากกว่า โดยเฉพาะส่งไปขายที่ประเทศญี่ปุ่น

คุณศราวุธ เรืองเอี่ยม

ตัวอย่าง ไร่สับปะรดของ คุณศราวุธ เรืองเอี่ยม ตำบลแม่น้ำคู้ อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง 21140 โทร. (081) 862-0073 คุณศราวุธ เป็นบุคคลหนึ่งที่ทำงานด้านสับปะรดมานานกว่า 20 ปี ทั้งการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์สับปะรดและการผลิตสับปะรดเพื่อส่งเข้าโรงงานสับปะรดกระป๋อง ตลอดจนคัดผลผลิตสับปะรดผลสดคุณภาพส่งออกขายในประเทศแถบตะวันออกกลาง และอีกส่วนส่งผลสดจำหน่ายห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ ภายในประเทศ ด้วยประสบการณ์การผลิตสับปะรด รวมถึงพัฒนาสายพันธุ์สับปะรดควบคู่ไปด้วย คุณศราวุธจึงมีแนวคิดและช่วยแนะนำในการผลิตสับปะรดพืชเศรษฐกิจของไทยว่า ควรไปในทิศทางใดบ้าง การปลูกและดูแลสับปะรดให้ผลผลิตมีคุณภาพ คุณศราวุธได้เผยแพร่สับปะรดบริโภคสดพันธุ์ใหม่จากฮาวาย ชื่อพันธุ์ “MD2” ที่ทั่วโลกกำลังเร่งการปลูกและผลิตเพื่อแข่งขันกันในตลาดโลกขณะนี้

สับปะรด พันธุ์ “MD2” เป็นสับปะรดที่นิยมบริโภคสดทั่วโลก

สับปะรด พันธุ์ “MD2” เป็นสับปะรดที่พัฒนาขึ้นที่ฮาวาย สหรัฐอเมริกา โดยมีคุณสมบัติที่โดดเด่นทั้งภายในและภายนอก เช่น ภายในคือเรื่องของรสชาติที่หวาน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เนื้อมีสีเหลืองเข้ม (คล้ายๆ กับสับปะรดพันธุ์ภูเก็ต หรือตราดสีทองบ้านเรา) เนื้อตัน แน่น และไม่เป็นโพรง น้ำหนักผลเฉลี่ย 1.7-1.8 กิโลกรัม จากข้อมูลพบว่า มีวิตามินซีสูงถึง 4 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับสับปะรดพันธุ์อื่นๆ เมื่อรับประทานแล้วไม่กัดลิ้น สามารถทำให้คนรับประทานได้มากขึ้น ภายนอกเมื่อสับปะรด พันธุ์ “MD2” แก่ ผลแก่จะเปลี่ยนจากผิวสีเขียวเป็นสีเหลืองทองทั้งผล ทำให้เป็นที่ดึงดูดลูกค้าเป็นอย่างมาก และประสบการณ์การปลูกสับปะรด พันธุ์ “MD2” มา คุณศราวุธ พบว่า สามารถบังคับให้ต้นสับปะรดออกดอกได้ง่ายและมีอายุการเก็บเกี่ยวที่เร็วกว่าพันธุ์ปัตตาเวีย ลักษณะของใบ พันธุ์ “MD2” จะมีสีเขียวตลอดทั้งใบ แต่ใบของสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียนั้นจะมีเส้นสีม่วงตรงกลางใบ และจุดเด่นอีกประการของสับปะรด พันธุ์ “MD2” นั้นคือ มันถูกพัฒนามาเพื่อให้เดินทางขนส่งทางเรือได้โดยไม่เป็น “ไส้สีน้ำตาล” เมื่อเปรียบเทียบกับสับปะรดปัตตาเวีย อยู่ในห้องเย็นที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส นานสัก 10 วัน ผลสับปะรดจะเกิดไส้สีน้ำตาลโดยรอบๆ แกนสับปะรดมันจะมีสีน้ำตาลศ0,000 ไร่ และพื้นที่อื่นๆ อีก 300,000 ไร่ ตาม จ.ระยอง, จ.จันทุบรี , จ.ชลบ ในขณะที่ พันธุ์ “MD2” ไม่เป็น

 

ผลผลิต MD2 จากไร่คุณศราวุธ

ประวัติความเป็นมา ของ สับปะรด สายพันธุ์ “MD2”

ปัจจุบันนี้ สับปะรด พันธุ์ “MD2” เป็นที่รู้จักและกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก เดิมสับปะรดสายพันธุ์นี้เป็นลิขสิทธิ์ของ บริษัท เดลมอนเต้ จำกัด แต่เมื่อ 3 ปีที่แล้วลิขสิทธิ์คุ้มครองสายพันธุ์ได้หมดลงไป ทำให้หลายๆ บริษัทกำลังเร่งขยาย สับปะรด สายพันธุ์ “MD2” เป็นการเร่งด่วน เพื่อแข่งขันทางการตลาด เพราะทราบดีว่า สับปะรด “MD2” ตลาดให้การยอมรับและมีแนวโน้มของความต้องการสูงขึ้นมากเป็นลำดับ และในอนาคต สับปะรด “MD2” จะยึดตลาดสับปะรดบริโภคสดอย่างแน่นอน

สับปะรด พันธุ์ “MD2” นั้น มีการปลูกและดูแลเช่นเดียวกับการปลูกสับปะรดปัตตาเวียในบ้านเราทุกประการ แต่จะต้องมีการเตรียมแปลงที่ดี ควรยกร่องให้สูง ให้แปลงมีการระบายน้ำให้ดี เพราะเท่าที่ดูสับปะรด พันธุ์ “MD2” ยังมีจุดอ่อนที่ยังอ่อนแอต่อโรคไฟทอปทอร่า เมื่อเทียบกับพันธุ์ปัตตาเวียคิดว่าต้องคัดเลือกพันธุ์และต้องอาศัยเวลาในการปรับตัวในสภาพแวดล้อมบ้านเราสักระยะหนึ่ง

MD2 เนื้อแน่น สีเหลืองเข้ม รสหวานเข้ม ไม่กัดลิ้น

การเตรียมแปลงปลูก ควรทำแปลงยกร่อง

เตรียมเหมือนแปลงผัก โดยปรับระดับดินให้มีความลาดเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ให้น้ำระบายไหลจากพื้นที่สูงไหลลงสู่พื้นที่ต่ำ ยกร่องให้สันร่องกว้าง ประมาณ 60 เซนติเมตร เว้นช่องทางเดิน 70 เซนติเมตร บนร่องปลูกต้นสับปะรดเป็นแถวคู่ ใช้ระยะปลูก 30×30 เซนติเมตร ในพื้นที่ปลูก 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 8,500 ต้น ซึ่งระยะปลูกขนาดนี้ จะได้ผลสับปะรดที่ผลอ้วนโต ทรงกระบอกหัวท้ายเท่ากัน ผลมีความสม่ำเสมอ ในแง่ของโรงงานแปรรูปกระป๋องผลสับปะรดจะต้องมีขนาดผลโต ผลมีความสม่ำเสมอ ขนาดหัวท้ายเท่ากัน ซึ่งจะเข้าเครื่องปอกได้ง่าย แต่ถ้าหากปลูกในระยะที่ห่างเกินไป ก็จะทำให้ผลสับปะรดอ้วน แต่ปลายผลจะแหลม ซึ่งก็สามารถส่งเข้าโรงงานได้ แต่เมื่อเข้าเครื่องปอก มันก็จะเกิดการสูญเสียในส่วนปลายผลที่ถูกตัดทิ้งไป หรือหากต้องการปลูกในระยะที่ถี่มากขึ้นนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นการปลูกเพื่อจำหน่ายเป็นสับปะรดผลสดที่ลูกค้าไม่ต้องการขนาดผลที่มีขนาดใหญ่จนเกินไปนั้น เป็นความต้องการของคู่ค้าว่า จะกำหนดลักษณะและน้ำหนักของสับปะรดไว้เช่นไร เมื่อผู้ผลิตรู้ล่วงหน้าก็จะสามารถมาจัดการกับระยะปลูกให้พอเหมาะ

แปลงปลูกสับปะรด MD2 ของคุณศราวุธ ที่ จ.ระยอง

การเตรียมหน่อพันธุ์ หรือจุก ก่อนปลูก

ถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าเกษตรกรจะขยายพันธุ์จากหน่อหรือจากจุกก็ตาม จะต้องมีการคัดขนาดให้เท่าๆ กัน ซึ่งส่วนมากจะใช้วิธีการ “ชั่งน้ำหนัก” เพื่อแบ่งแยกขนาดของต้นพันธุ์ อย่างเช่น ถ้าเป็นการใช้หน่อ ก็จะใช้หน่อที่มีน้ำหนักอย่างน้อย 200 กรัม ขึ้นไป แล้วก็จะแบ่งย่อยเป็นน้ำหนักที่ใกล้เคียงกันขึ้นไป เช่น น้ำหนัก 400, 600, 800 เป็นต้น หรือย้ายปลูกจาก “จุก” ก็ต้องชั่งคัดแยกขนาดเช่นกัน เวลาปลูกก็ต้องปลูกเป็นชุดๆ หรือเป็นแปลงๆ ไป จะทำให้การเจริญเติบโตของต้นสม่ำเสมอกันทั้งแปลง ง่ายต่อการจัดการดูแล เช่น การใส่ปุ๋ยแต่ละต้น ได้พร้อมๆ กัน และปริมาณปุ๋ยที่ใส่ก็เท่าๆ กัน สามารถบังคับให้ผลผลิตออกพร้อมกันทั้งแปลง สับปะรดจะแก่พร้อมๆ กัน หลังจากที่คัดแยกขนาดต้นพันธุ์สับปะรดเสร็จ แนะนำว่าจะต้องนำต้นพันธุ์คือหน่อหรือจุกไปชุบในสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เพื่อลดการเกิดหรือระบาดของโรคยอดเน่าหรือต้นเน่า สารเคมีที่ใช้จะนิยมใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อรากลุ่ม “ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม” (เช่น อาลีเอท) โดย เกษตรกรทั่วไปนิยมผสมยาเชื้อราในถัง 200 ลิตร หรือ วงบ่อซีเมนต์ เพื่อชุบต้นพันธุ์ แต่หากเป็นแปลงปลูกขนาดใหญ่ก็จะใช้รถลำเลียงพันธุ์ปลูกไปตามสายพาน ลงชุบในถังสารเคมีขนาดใหญ่ ถ้าพบเพลี้ยแป้งมากับหน่อพันธุ์ก็อาจจะต้องผสมสารป้องกันกำจัดแมลงลงไปด้วย โดยจะชุบต้นพันธุ์นานประมาณ 3-5 นาที จึงนำไปปลูก แต่ถ้าหากหลังการนำต้นพันธุ์สับปะรดไปปลูกในแปลงเผอิญมีฝนตกชุก ก็ควรฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อราตามซ้ำอีกครั้งให้ทั่วแปลง

MD2 เป็นพันธุ์ที่ราดสารบังคับให้ออกดอกได้ง่ายมาก
ปลูกได้ทั้งในกระถาง,ถุงดำ,วงบ่อ

วิธีการใส่ปุ๋ยสับปะรด

แนะนำว่า ถ้าพื้นที่ปลูกสับปะรดเป็นดินทราย ซึ่งค่อนข้างขาดอินทรียวัตถุมาก จึงควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ในช่วงของการเตรียมแปลงเป็นอันดับแรก เลือกใช้ปุ๋ยคอกขี้ไก่แกลบโดยจะโรยเป็นแถวหลังไถแปรตามแนวร่องปลูก เน้นย้ำว่าการปลูกสับปะรดจะต้องทำให้สับปะรดงามและเจริญเติบโตเร็วมากที่สุดในช่วง 5 เดือนแรก อย่าให้ต้นชะงักการเจริญเติบโตเป็นอันขาด ต้องทำน้ำหนักต้นให้ได้น้ำหนักต้นราว 2.5 กิโลกรัม เพราะเป็นน้ำหนักต้นที่เหมาะแก่การบังคับให้ออกดอกมากที่สุด

การให้ปุ๋ยสับปะรด เมื่อต้นสับปะรดมีอายุได้ 2-3 เดือน หลังการปลูกซึ่งจะเป็นช่วงของการสร้างราก ก็จะเริ่มให้ปุ๋ยทางดินครั้งแรก ก็จะเป็นสูตรปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง (N) เช่น สูตร 15-5-20 หรือ 21-0-0 หรือบ้างก็ใช้สูตร 16-16-16 ตามความสมบูรณ์ของสภาพดินในพื้นที่นั้นๆ การใส่ปุ๋ยให้ใส่ชิดโคนต้น อัตราประมาณ 20 กรัม ต่อต้น ต้องระวังอย่าให้ปุ๋ยกระเด็นตกลงไปที่ยอดสับปะรด ซึ่งจะทำให้ยอดไหม้และเน่าได้ จากนั้นในเดือนที่ 4-6 ให้ใส่ปุ๋ยที่มีตัวท้ายสูง คือ โพแทสเซียม เช่น สูตร 15-5-20 อัตรา 20 กรัม ต่อต้น ให้ใส่ปุ๋ยบริเวณกาบใบล่างของต้นสับปะรดได้เลย ควรใส่ปุ๋ยในขณะที่กาบใบมีน้ำอยู่อย่างพอเพียง หรือหลังจากมีการให้น้ำแก่ต้นสับปะรดแล้วมีน้ำค้างขังอยู่ที่กาบใบ จะทำให้ปุ๋ยละลายได้ดี การใส่ปุ๋ยเกษตรกรจะนิยมใช้ช้อนหรือกระบวยตักปุ๋ยใส่ที่กาบใบล่างได้เลย คุณศราวุธ กล่าวว่า สับปะรดนั้นคิดว่าน่าจะเป็นพืชชนิดเดียวที่สามารถใส่ปุ๋ยที่ต้นได้เลย แล้วเกษตรกรจะต้องใส่ปุ๋ยหรือฉีดพ่นสารเคมีให้สับปะรดในช่วงเย็นจนถึงค่ำจะดีที่สุด เพราะใบสับปะรดจะเปิดปากใบในช่วงกลางคืน แล้วจะปิดปากใบในตอนกลางวัน ปุ๋ยทางใบก็สามารถเสริมให้ต้นสับปะรดได้ เดือนละ 1 ครั้ง ตามความเหมาะสม โดยจะเน้นปุ๋ยสูตรที่มีไนโตรเจน (N) และโพแทสเซียม (K) สูง และควรเพิ่มธาตุอาหารเสริมเช่น เหล็ก และสังกะสี ลงไปด้วย หรือปุ๋ยทางใบบางสูตรก็จะมีมาให้ สูตรปุ๋ยทางใบที่นิยมใช้ก็จะมีสูตร 23-0-25 หรือบ้างก็จะใช้ปุ๋ยผสม คือ ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) อัตรา 500 กรัม บวกกับโพแทสเซียมซัลเฟต (0-0-50) อัตรา 500 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร โดยมักจะฉีดให้ประมาณ 3 ครั้ง คือ 1 เดือน และ 5 วัน ก่อนที่จะบังคับให้สับปะรดออกดอก และจะฉีดให้อีกครั้ง ราว 20 วัน ภายหลังจากที่บังคับดอก ต้องมีความระมัดระวัง ต้องอาศัยประสบการณ์เพราะการใช้ปุ๋ยมากเกินไป ก่อนการบังคับให้ออกดอก 1 เดือน อาจจะส่งผลให้การบังคับให้ออกดอกยากตามมา จากนั้นจะมีการใส่ปุ๋ยครั้งสุดท้ายในช่วงหลังการบังคับดอก ประมาณ 3 เดือน ใส่ปุ๋ยบำรุงคุณภาพผลและลดปัญหาเรื่องโรคเนื้อแกน โดยจะใส่ปุ๋ยที่มีสูตรตัวท้ายสูงคือ โพแทสเซียม (K) เช่น โพแทสเซียมซัลเฟต (0-0-50) อัตรา 10 กรัม ต่อต้น ใส่บริเวณกาบล่างสุดในขณะที่ใบมีน้ำเพียงพอที่จะละลายปุ๋ยได้

ราดสารเอทีฟอนลงที่ยอดสับปะรดMD2

วิธีการบังคับให้ออกดอก

เมื่อต้นสับปะรดมีขนาดน้ำหนัก 2.5 กิโลกรัม ต่อต้น ก็จะพร้อมที่จะบังคับให้ออกดอก คุณศราวุธแนะนำว่าจะนิยมฉีดพ่นด้วย สาร “เอทิฟอน” อัตรา 100 ซีซี บวกกับปุ๋ยยูเรีย (46-0-0)  อัตรา 3 กิโลกรัม โดยทั้งหมดจะผสมกับน้ำจำนวน 200 ลิตร จะฉีดด้วยสูตรนี้ 2 ครั้ง โดยแต่ละครั้งห่างกัน 5-10 วัน ช่วงเวลาที่เหมาะต่อการฉีดพ่น บังคับดอกคือช่วง 20.00-22.00 น. และสภาพอากาศ ควรจะมีอุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส จะทำให้การบังคับให้ต้นออกดอกค่อนข้างเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ หลังจากบังคับดอกแล้วอีก 40-45 วัน จะเริ่มเห็นสับปะรดเป็นจุดแดงอยู่ภายในยอด ต่อมา 60-70 วัน จะเห็นผลสับปะรดขนาดเล็กทรงกลมสีแดงโผล่ขึ้นมาจากยอด อาจมีดอกสีม่วงอยู่ด้วย ดอกจะเริ่มบานจากฐานไปยอดผล ประมาณ 90 วัน ดอกดังกล่าวก็จะแห้ง แล้วเข้าสู่กระบวนการขยายขนาดของผล ที่จะต้องให้ปุ๋ยที่มีตัวท้ายสูง คือ โพแทสเซียม (K) เช่น 0-0-50 ห้ามมีการใช้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจน (N) หรือปุ๋ยไนเตรตต่างๆ เพราะจะทำให้เกิดการสะสม “ไนโตรเจน” ในผลสับปะรด ซึ่งจะเป็นปัญหาสำคัญในการรับซื้อผลผลิตจากโรงงานที่ต้องมีการตรวจสารไนเตรตก่อน

MD2 ที่ปลูกในวงบ่อซีเมนส์

การปลูกสับปะรดโดยทั่วไปนั้น มีการปลูกและดูแลที่เหมือนกัน อาจจะแตกต่างกันบ้างในเรื่องของการเอาใจใส่ เช่น พันธุ์ปัตตาเวีย จะค่อนข้างทนโรคกว่า พันธุ์ “MD2” ที่ต้องระวังเรื่องโรคเน่า แต่ก็แก้ปัญหาได้โดยการเตรียมแปลงแบบยกร่องให้มีการระบายน้ำที่ดี พันธุ์ “MD2” เป็นพันธุ์ที่สีเนื้อสวย รับประทานอร่อย ไม่กัดลิ้น วิตามินซีสูงถึง 4 เท่ากว่าสับปะรดทั่วไป และสามารถขนส่งทางเรือได้นาน

หรืออย่าง สวนคุณลี อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โทร. (081) 886-7398 ที่นำสับปะรด MD2 มาปลูกหลายปี นอกจากจะปลูกลงดินแล้วก็สามารถนำไปปลูกในถุงดำ กระถาง วงบ่อปูน ได้เป็นอย่างดี สำหรับคนที่มีพื้นที่จำกัด เมื่อต้นสับปะรดมีขนาดใหญ่ก็สามารถราดหรือฉีดสาร “เอทิฟอน” ผสมกับ ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) บังคับให้ออกดอกติดผลได้เป็นอย่างดี และสามารถจำหน่ายผลสับปะรด MD2 ได้ผลละ 50-100 บาท