“อุทัยไลฟ์ ไฮโดร์ฟาร์ม” ปลูก-จำหน่าย ผักสลัด ที่อุทัยธานี สด สะอาด ปลอดภัย ใส่ใจต่อสุขภาพ

ถ้าโฟกัสไปเรื่องการตลาดของผักสลัดในตอนนี้ ต้องบอกว่ากำลังได้รับความนิยมมาก มีเมนูอาหารต่างประเทศหลายชนิดที่เป็นจุดกำเนิดของผักสลัดจนได้รับความนิยมมากในไทย โดยเฉพาะผู้ที่ดูแลสุขภาพร่างกายจะให้ความสำคัญกับผักเหล่านี้เป็นพิเศษ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้กูรูอาหารหลายแห่งดัดแปลงเมนูสุขภาพที่ใช้ผักสลัดเป็นองค์ประกอบ

ผักสลัดเป็นพืชไม้ใบเมืองหนาวที่นิยมปลูกแถบจังหวัดภาคเหนือในช่วงแรก เนื่องจากพื้นที่มีอากาศหนาวเย็นเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาเริ่มแพร่กระจายไปปลูกหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เนื่องจากสามารถปรับวิธีปลูกให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในแต่ละแห่งได้ ผักชนิดนี้ปลูกได้ทั้งในดินหรือโรงเรือน ซึ่งแนวทางการปลูกแต่ละแบบมีทั้งข้อดี/ข้อเสียต่างกันไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของลักษณะแต่ละพื้นที่และทุน

“อุทัยไลฟ์ ไฮโดร์ฟาร์ม” เป็นสถานที่ปลูก-จำหน่ายผักสลัดไฮโดรโปนิกที่มีคุณภาพของจังหวัดอุทัยธานี โดยปลูกในโรงเรือนเพื่อต้องการผลิตผัดสลัดและผักใบหลายชนิดให้เป็นผักที่มีความสด ใหม่ ปลอดภัยได้คุณภาพมาตรฐาน (GAP) รองรับกับตลาดในจังหวัดตลอดทั้งปี

คุณชยุต สุขพิบูลย์ (ซ้าย) กับ คุณปัญจพัฒน์ ธนาสุขพิบูลย์

คุณชยุต สุขพิบูลย์ (เล็ก) กับ คุณปัญจพัฒน์ ธนาสุขพิบูลย์ (นก) สามี-ภรรยา ที่ยึดอาชีพปลูกผักสลัดและผักใบในโรงเรือนมานานกว่า 3 ปี โดยแบ่งพื้นที่ภายในบริเวณบ้านพักอาศัยกลางใจเมือง เลขที่ 521 ถนนศรีอุทัย ตำบลอุทัยใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี เพื่อสร้างโรงเรือน จากจุดเริ่มต้นเพียงต้องการหารายได้เสริม จนทุกวันนี้กลายเป็นรายได้หลักเพราะปลูกขายเฉพาะในจังหวัดอุทัยธานีเท่าไรก็ไม่พอ รวมถึงยังต่อยอดสร้างชุดปลูกสำเร็จจำหน่ายควบคู่ด้วย พร้อมกับสร้างแบรนด์ในชื่อ “อุทัยไลฟ์ ไฮโดร์”

“อุทัยไลฟ์ ไฮโดร์ฟาร์ม” ปลูก-จำหน่ายผักสลัดจำนวน 6 ชนิดเป็นหลัก ได้แก่ คอส บัตเตอร์ ฟิลเลย์ เรดโครอล กรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค นอกจากนั้น ยังมีผักชนิดอื่นอย่าง ขึ้นฉ่าย คะน้า กวางตุ้ง และผักบุ้ง มีเป้าหมายต้องการผลิตผักให้มีความสด ใหม่ สะอาด ปลอดภัย เพราะใส่ใจต่อสุขภาพของผู้บริโภค จนได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP

ขึ้นฉ่ายที่ปลูกแบบไฮโดรโปนิก
คุณเล็กเดินดูความเรียบร้อยภายในโรงเรือนเพื่อเตรียมเก็บผัก

คุณเล็กกับคุณนกกล่าวยอมรับว่า การปลูกผักสลัดในระบบโรงเรือนมีความละเอียด พิถีพิถัน ในทุกกระบวนการผลิต ดังนั้น ในช่วงเริ่มต้นจึงพบปัญหาอุปสรรคต่างๆ มากมายทั้งโรค/แมลง ส่งผลทำให้ผลผลิตมีคุณภาพไม่เพียงพอ แต่พวกเขาไม่ท้อ พยายามศึกษาหาความรู้จากหลายแห่งเพื่อนำมาปรับใช้กระทั่งได้รับการแนะนำและความช่วยเหลือจากนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดอุทัยธานีในเรื่องการนำสารชีวภัณฑ์มาใช้ ช่วยสร้างความเจริญเติบโตให้แก่ผักทุกชนิดเป็นอย่างดี

“ภายหลังที่นำสารชีวภัณฑ์มาใช้กับผักสลัดและผักชนิดอื่นแล้ว พบว่าแมลงศัตรูลดน้อยลงจนแทบไม่มี ผลผลิตเคยได้สูงสุดถึง 41 กิโลกรัม จากเมื่อก่อนใช้ได้เพียงครึ่งเดียว เพราะคุณสมบัติของสารชีวภัณฑ์ช่วยสร้างให้พืชแข็งแรงมีความสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่นำสารชีวภัณฑ์มาใช้ผู้ปลูกต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดด้วย เพื่อจะได้เห็นผลอย่างชัดเจน แล้วยังได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ มาตรฐาน เป็นที่ต้องการของตลาด”

คุณเล็ก เสริมว่า ปัญหาการปลูกผัดสลัดไฮโดรโปนิกของแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางกายภาพต่างกัน ทำให้โรค/แมลงที่พบในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ความสำเร็จของการแก้ปัญหาจากแห่งหนึ่งอาจไม่ใช่สูตรสำเร็จของแห่งอื่น ซึ่งจะนำวิธีมาใช้ร่วมกันไม่ได้ ยกเว้นตรวจสอบแล้วว่าเกิดจากปัญหาเดียวกัน ฉะนั้น จึงไม่มีมาตรฐานใดที่สามารถนำมาวัดหรือกำหนดเป็นเกณฑ์ตายตัว

ต้นกล้าเตรียมย้ายเข้าโรงเรือน

คุณนกอธิบายขั้นตอนการปลูกดูแลผักสลัดในโรงเรือนว่า เมื่อสั่งซื้อเมล็ดพันธุ์จากร้านจำหน่ายที่เชื่อถือได้ในจังหวัดระนครศรีอยุธยา แล้วนำมาเพาะให้เป็นต้นกล้าในฟองน้ำก่อน รดน้ำแล้วคลุมผ้าทิ้งไว้เป็นเวลา 3 วัน จึงเปิดผ้าออกจะพบว่ามีต้นอ่อนขึ้น แล้วย้ายภาชนะที่เพาะมาวางไว้ในที่ร่ม รดน้ำพอสมควรทั้งเช้า-กลางวัน-เย็น จำนวน 14 วัน หรือ 2 สัปดาห์ จากนั้นค่อยย้ายลงแปลงปลูกในโรงเรือนระบบปิดที่ได้มาตรฐาน แล้วใช้ระบบการให้น้ำแบบหมุนเวียน

การวางแผนปลูกจะปลูกทุกชนิดพร้อมกัน แต่สำหรับกรีนโอ๊คและเรดโอ๊ค เป็นผักสลัดที่ได้รับความนิยมจากตลาดผู้บริโภคมากกว่าชนิดอื่น เนื่องจากมีความเหมาะสมในการนำไปใช้กับการประกอบอาหารฝรั่งหลายรายการ แต่อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งจะต้องปลูกผักสลัดให้ครบทั้ง 6 ชนิด เพื่อหวังให้ชาวอุทัยธานีได้รู้จักแล้วสัมผัสกับผักเมืองหนาวทุกอย่าง

“ตั้งแต่เริ่มปลูกจนเก็บผลผลิตใช้เวลารวมประมาณ 45 วัน ซึ่งระหว่างที่ผักเจริญเติบโตจะต้องหมั่นวัดค่า EC ทั้งนี้ เพื่อเป็นการควบคุมปริมาณการให้ปุ๋ยหรือธาตุอาหารที่ละลายในน้ำให้ได้ตามมาตรฐาน โดยจะต้องวัดค่า EC ตลอดเวลา ขณะเดียวกัน ยังต้องหมั่นตรวจสอบความเป็นกรด-ด่างของน้ำด้วยการใช้เครื่องวัดค่า pH เนื่องจากผัดสลัดทุกชนิดมีความอ่อนไหวต่อความเป็นกรด-ด่างของน้ำมาก มิเช่นนั้นจะทำให้รากเน่าเสียหากขาดการควบคุมตลอดเวลา”

ผักที่เก็บมาแล้วต้องมาคัดแยกก่อน
ผักสลัดที่ลูกค้าสั่งจอง

ลักษณะการปลูกผักสลัดกับผักอื่นของ “อุทัยไลฟ์ ไฮโดร์” จะใช้พื้นที่ภายในบริเวณบ้านพักเพื่อสร้างโรงเรือนขนาด 2 คูณ 6 เมตร จำนวน 15 โรงแล้วกำลังวางแผนเพิ่มอีก ซึ่งแต่ละโรงเรือนสามารถปลูกผักได้จำนวน 300 ต้น ทั้งนี้ โรงเรือนจะตั้งอยู่บนพื้นดิน เนื่องจากต้องการให้มีหญ้าขึ้นบ้างเพื่อต้องการล่อให้แมลงมากินหญ้าแทนที่จะเข้าไปกินใบผัก

จัดสรรพื้นที่ภายในบ้านพักสร้างโรงเรือนปลูกผัก

สำหรับตลาดจำหน่ายผักสลัด คุณนกบอกว่า แหล่งขายของเธอมีหลายช่องทาง ไม่ว่าจะมีวางขายที่ตลาดสดในจังหวัด หรือมีกลุ่มลูกค้าที่ผลิตสลัดโรลกับสเต๊กมารับซื้อ ขณะที่ตัวคุณนกยังนำไปขายเองที่ตลาดถนนคนเดินในเมือง แล้วยังมีวางขายที่หน้าร้านของตัวเองพร้อมกับนำผลิตภัณฑ์ที่ปลูกนำไปประกอบอาหารให้ลูกค้าด้วย นอกจากนั้น ยังมีลูกค้านิยมให้นำผัดสลัดจัดเป็นกระเช้าของขวัญอีกด้วย ส่วนราคาขายอยู่ที่ 100-120 บาท

นำผักสลัดมาจัดทำกระเช้าได้ประโยชน์และมีคุณค่ามาก
คุณนกนำผักสลัดไปขายที่ตลาดถนนคนเดินทุกครั้ง

ตอนนี้ผลิตขายในจังหวัดยังไม่พอเลย กำลังวางแผนเพิ่มการผลิตเพราะต้องการรักษาคุณภาพให้คงที่ เนื่องจากการออกแบบโรงเรือนที่สามารถให้ผลผลิตได้ตลอดทั้งปี แล้วสม่ำเสมอทั้งคุณภาพและปริมาณ จึงไม่กังวล

คุณเล็กชี้ว่า อาชีพนี้ต้องเริ่มจากใจก่อน ต้องมีความอดทน ทุ่มเท ละเอียดรอบคอบ ถึงจะมีทุนก็ไม่สำคัญ เนื่องจากหลายคนล้มเหลวจากอาชีพปลูกผักสลัดเพราะมองว่าคงไม่ยาก โดยเฉพาะคนที่เริ่มต้นใหม่ๆ จะรู้สึกเกิดความท้อแท้ เพราะเป็นอาชีพที่ต้องอาศัยความใส่ใจ เฝ้าสังเกต ตลอดจนแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา แต่หากผ่านจุดนั้นได้แล้วทุกอย่างจะง่ายไปหมด มีความคล่องแคล่ว จะเกิดความสนุก เพลิดเพลิน มีความสุข

นำผักสลัดไฮโดรโปนิกไปทำสลัดโรล ได้รับความนิยมมาก
คุณเล็กส่งมอบผักสลัดตามที่ลูกค้าสั่งไว้

“เชิญชวนผู้อ่านที่สนใจบริโภคผักไฮโดรโปนิกให้มาชมและชิมผักปลอดสารขนานแท้ที่ใหม่ สด แล้วปลอดภัยต่อสุขภาพ พร้อมไปกับยังเลือกซื้อกลับบ้านได้ หรือถ้าสนใจปลูกก็ยังมีชุดอุปกรณ์ปลูกผักสลัดสำเร็จรูปทั้งชุดเล็ก-ใหญ่เตรียมไว้จำหน่ายด้วย” คุณนกและคุณเล็ก กล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณเล็กกับคุณนก ที่โทรศัพท์ (081) 785-3070, (098) 767-7678 หรือ Fb : ไกรจิตต์ Krijit Sukpiboon Fb : ปัญจพัฒน์ ธนาสุขพิบูลย์