แจกสูตร การเพาะต้นอ่อนผักบุ้ง 10 วัน ตัดกินได้ ตัดขายทำเงิน

เหตุผลประการหนึ่งที่ต้นอ่อน (SPROTS) เป็นอาหารที่มีคุณค่าก็คือ ต้นอ่อน เป็นอาหารที่ย่อยง่ายและให้พลังงานสูง เมล็ดพืชที่สามารถนำมาเพาะเป็นต้นอ่อนได้มีหลายชนิด ได้แก่

ตระกูลถั่ว (Beans) เป็นพืชที่อุดมไปด้วยโปรตีนและคาร์โบไฮเดรต แต่เมื่ออยู่ในรูปของต้นอ่อนกลับเป็นอาหารที่ไม่ได้ทำให้เกิดภาวะเป็นกรดในร่างกาย

ทานตะวัน (Sunflower) ประกอบด้วยวิตามินบีและดีสูง นอกจากนี้ ยังอุดมไปด้วยกรดอะมิโนจำเป็นหลายชนิด

งา (Sesame seeds) เป็นแหล่งของแคลเซียม ธาตุเหล็ก ไนอะซิน โปรตีน และฟอสฟอรัส

อัลฟาฟ่า (Alfalfa) เป็นแหล่งพืชที่นิยมนำมาเพาะเป็นต้นอ่อน เนื่องจากมีคลอโรฟิลล์จำนวนมาก วิตามินเอ วิตามินบีคอมเพลกซ์ ซี ดี อี จี เค นอกจากนี้ ยังประกอยด้วยธาตุเหล็ก แคลเซียม ฟอสฟอรัส และซัลเฟอร์ ปริมาณมาก

ธัญพืช (Grains) ต้นอ่อนของข้าวสาลีอุดมไปด้วยสารอาหารนานาชนิด ได้แก่ วิตามินซี อี บีคอมเพลกซ์ แมกนีเซียม แคลเซียม ฟอสฟอรัส โซเดียม โพแทสเซียม โปรตีน เอนไซม์ และคลอโรฟิลล์

ต้นอ่อน จัดเป็นพืชมหัศจรรย์ เนื่องจากมีปริมาณวิตามินและสารอาหารสูงกว่าพืชชนิดเดียวกันที่โตเต็มที่ และพบว่า ต้นอ่อนบางชนิดมีวิตามินเพิ่มขึ้นถึง 500%  ยกตัวอย่าง เช่น ต้นอ่อนข้าวสาลี มีวิตามินบี 12 เพิ่มขึ้น 4 เท่า วิตามินบีอื่นๆ เพิ่มขึ้น 3-12 เท่า วิตามินอีเพิ่มขึ้น 3 เท่า ในถั่วงอกมีวิตามินเอมากกว่าเมล็ดถั่วแห้ง 2.5 เท่า ในเมล็ดถั่วซึ่งเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน แต่ไม่มีวิตามินซี เมื่อเพาะเป็นต้นอ่อนกลับพบว่า มีปริมาณวิตามินซี 3.5 ออนซ์ ซึ่งมีมากถึง 20 มิลลิกรัม

ต้นอ่อนผักบุ้ง (Kangkong sprouts)

ต้นอ่อนผักบุ้ง มีวิธีปลูกไม่ยาก เพราะเมล็ดผักบุ้งจะเพาะขึ้นง่ายและใช้เวลาปลูกสั้น ประมาณ 8-10 วัน ก็สามารถเก็บมาประกอบอาหารได้ ต้นอ่อนผักบุ้ง 100 กรัม จะให้พลังงานต่อร่างกาย 22 กิโลแคลอรี ประกอบด้วยสารอาหารมากมาย เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี1 และวิตามินบี 2 วิตามินซี และยังช่วยบำรุงสายตา

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้

  1. เมล็ดพันธุ์
  2. ดินละเอียด ดินผสม ขุยมะพร้าว แกลบดำ มูลไส้เดือน
  3. กระบะสำหรับเพาะ หรือตะกร้า

วิธีการเพาะ

  1. ล้างเมล็ด 1-2 น้ำ และแช่เมล็ดในน้ำ ประมาณ 8 ชั่วโมง หรือ 1 คืน
  2. เอาเมล็ดขึ้นจากน้ำ ใส่ตะแกรงให้สะเด็ดน้ำ ประมาณ 10-20 นาที แล้วนำเมล็ดไปบ่มโดยห่อผ้าขาวบางทิ้งไว้ ประมาณ 20 ชั่วโมง สังเกตว่าจะมีตุ่มเล็กๆ งอกออกมา ก็สามารถเอาลงดินหรือวัสดุปลูกต่อไปได้
  3. เตรียมภาชนะปลูก ดินเพาะ นำเมล็ดที่บ่มแล้วโรยลงในภาชนะให้สม่ำเสมอ ไม่ควรแน่นเกินไป กลบดินบางๆ แล้วฉีดน้ำละอองฝอย
  4. รดน้ำ เช้า-เย็็็น ให้ชุ่ม ประมาณ 8-10 วัน จะได้ต้นอ่อนผักบุ้งไว้รับประทาน

ทั้งนี้ ยังมี พืชอีกหลายชนิดที่สามารถเพาะเป็นต้นอ่อนกินได้ ทั้ง ต้นอ่อนถั่วลันเตา อัลฟาฟ่า ทานตะวัน  และหัวไชเท้า

ขอบคุณข้อมูล  จาก เอกสารแจก บริษัท อีสต์ เวสท์ ซีด จำกัด  www.eastwestseed.com