อานุภาพ ธีระกุล อดีต ผอ.พืชสวนชุมพร สุขจริงๆ กับงานเกษตรหลังเกษียณ

ต้องย้อนไปโน่นเลยปี 2532 ทีมงานเทคโนโลยีชาวบ้าน ร่วมเดินทางไปทำข่าวศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ผู้ดำรงตำแหน่งศูนย์วิจัยแห่งนี้คือ คุณอานุภาพ ธีระกุล สิ่งที่เห็นตื่นตาตื่นใจมาก เพราะมีการรวมพันธุ์มะพร้าวไว้กว่า 10 พันธุ์ มีปลูกมะพร้าวระยะชิดเพื่อตัดยอดมาแกง รวมทั้งผสมคัดเลือกมะพร้าวให้ได้พันธุ์ใหม่…สารระบบมะพร้าวในประเทศไทยต้องที่นี่

เวลาผ่านไป ยังติดตามงานของศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร กรมวิชาการเกษตร อย่างต่อเนื่อง ทราบว่า ผอ.อานุภาพ มีหน้าที่การงานใหญ่โตและรับผิดชอบมากขึ้น จนกระทั่งทราบว่า ท่านเกษียณจากราชการ

เมื่อปี 2559 มีโอกาสได้พบกับ ผอ.อานุภาพ เพราะร่วมเดินทางไปเก็บดีเอ็นเอมะพร้าวเกาะสมุย เกาะพงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดูแล้ว ผอ.อานุภาพยังแข็งแรง สอบถามได้ความว่า ท่านยังเป็นที่ปรึกษาให้กับศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ขณะเดียวกัน ก็ทำสวนอยู่ห่างจากศูนย์ไม่มากนัก

บุคลากรระดับผู้อำนวยการทางด้านพืชสวน เกษียณแล้วมาทำสวน ต้องมีอะไรเด็ดๆ แน่ เนื่องจากช่วงรับราชการสั่งสมประสบการณ์ไว้มาก คงมีอะไรดีแน่นอน เมื่อมีโอกาสจึงแวะลงไปพูดคุย สิ่งที่พบเห็นยังตื่นตาตื่นใจดังเดิม

มะพร้าวพวงร้อย

ผสมผสาน

ไม้ป่า-ไม้ผล

พื้นที่เกษตรของ ผอ.อานุภาพ อยู่เลขที่ 15/4 หมู่ที่ 8 ตำบลวิสัยใต้ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร มีทั้งหมด 24 ไร่เศษ ปลูกผสมผสาน มีมะพร้าว หมาก มังคุด ส้มโอ กระท้อน มะม่วง รวมทั้งไม้ป่า อย่างมะฮอกกานี ตะเคียน พะยูง

“ผมเรียนจบคณะเกษตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาทำงานที่นี่ปี 2515 อยากทำสวน ซื้อที่ไว้ก่อน ที่ซื้อตรงนี้เพราะใกล้ที่ทำงาน แต่ดินไม่ดี ไม่มีใครต้องการ เป็นนาร้าง ที่ลุ่ม ดินแน่น เมื่อก่อนเขาใช้เลี้ยงวัวเลี้ยงควายกัน ผมมาทำเหนื่อย เกือบถอดใจ ช่วงทำงาน เราอยากทำบางอย่าง แต่ไม่ได้ทำ เขาบอกว่าโลว์เทคโนโลยี อย่างการใช้เกลือกับมะพร้าว ผมศึกษาข้อมูล มาทำเองได้ผลดี” ผอ.อานุภาพ บอก

ผอ.อานุภาพ บอกว่า ช่วงทำงานอยู่ ต้นไม้เจริญเติบโตแล้ว แต่เพราะไม่ได้ลงมือเต็มที่ เรื่องผลตอบแทนจึงไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ จนกระทั่งเกษียณเมื่อปี 2547 มาทำจริงจัง จากนั้น 4-5 ปี ผลตอบแทนเริ่มมา

ผอ.อานุภาพ และ คุณพรรณี (ภรรยา) ธีระกุล

มะพร้าว-มังคุด

พืชประจำสวน

ผอ.อานุภาพพาเดินชมสวน ท่านบอกว่า ปลูกมะพร้าวลูกผสมพันธุ์ “สวี 1” ซึ่งมีการรับรองพันธุ์โดยกรมวิชาการเกษตรเมื่อปี 2525 ผลผลิตมะพร้าวลูกผสมสวี 1 ได้ผลดี เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง แต่ปัญหาอยู่ที่ผลขนาดเล็ก บ้านเราต้องผลโตๆ ไว้ก่อน แต่หากต่างประเทศไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

มะพร้าวชุมพร 2 น่าสนใจทีเดียว

“มีมะพร้าวพันธุ์ชุมพร 2 ปลูกไว้กว่า 100 ต้น ชุมพร 2 เป็นมะพร้าวลูกผสมระหว่างพันธุ์มาลายูสีเหลืองต้นเตี้ยกับมะพร้าวพันธุ์ไทยต้นสูง ค่อนข้างดี ช่วงติดผลใหม่ๆ ทางไม่มาก เมื่อมีผลจึงไม่ค่อยนั่งทาง กระทั่ง 10 ปีไปแล้ว ทางถี่ขึ้น ทะลายจึงนั่งทางได้ดี…ต้นอายุ 10 ปีขึ้นไป ชุมพร 2 ให้ผลผลิตได้ 60-70 ผล ต่อต้น ต่อปี เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงคือ 64 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่มะพร้าวพื้นเมืองไทยน้ำมัน 50 เปอร์เซ็นต์…การผลิตพันธุ์ของหน่วยงานราชการค่อนข้างจำกัด ต้องเข้าคิวจองกัน อาจจะนานเป็นปี เลยแนะนำให้ปลูกพันธุ์พื้นเมืองที่คัดพันธุ์กันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย อย่างมะพร้าวพื้นเมืองชุมพร ประจวบฯ อาจจะติดผลช้ากว่าลูกผสม 1-2 ปี” ผอ.อานุภาพ พูดถึงมะพร้าวลูกผสมชุมพร 2 เป็นมะพร้าวแกง มะพร้าวเพื่ออุตสาหกรรมน้ำมันที่ได้รับความนิยมมาก

เนื้อมะพร้าวชุมพร 2

ยังมีอีกพันธุ์หนึ่งคือ คิงออฟโคโคนัท

“นำมาปลูกบ้านเรามีข้อจำกัด มีจุดอ่อน คือไม่ทนแล้ง ขนาดผลดี ก้านผลยาว จึงหักง่าย นำมาจากศรีลังกา เปอร์เซ็นต์ความหวานของน้ำ 6 บริกซ์ ที่ศรีลังกากินเป็นมะพร้าวอ่อนกัน เมืองไทยเพิ่งเผยแพร่ นี่น่าจะเป็นครั้งแรกที่เผยแพร่ทางสื่อ อยากนำเสนอในแง่ปรับปรุงพันธุ์ นำผสมกับมะพร้าวกะโหลก ตอนนี้ยังไม่มีพันธุ์” ผอ.อานุภาพ พูดถึงราชามะพร้าวของศรีลังกา

พวงร้อย ก็น่าสนใจ

มะพร้าวแกง จากสวน ผอ.อานุภาพเคยขายได้สูงถึง 18 บาท ต่อผล แต่ช่วงลงก็มีคือ 4 บาท แต่มะพร้าวตัดเป็นมะพร้าวอ่อน ราคา 6 บาท ค่อนข้างแน่นอน

“มะพร้าวน้ำหอม รวบรวมมาจากจังหวัดนครปฐม ตั้งแต่ปี 2503 คัดพันธุ์กันมานาน ผมก็นำมาปลูก สังเกตว่า มีทรงต้นที่ไม่มีสะโพกและมีสะโพก…มีพวงร้อยน่าสนใจ เพราะทะลายหนึ่งผลดก ขนาดดื่มได้พอดี ทะลายหนึ่งอาจจะ 50 ผล หรือมากกว่า เป็น 100 ก็มี แต่บางครั้งพบว่า บางทะลายมีมะพร้าวทุย หรือทุยทั้งทะลาย ผลแก่ผมเคยนำไปทำกะทิปรุงอาหารแกงครั้งหนึ่ง ครอบครัวไม่ใหญ่พอดี…ปลูกเพื่อขายผลอ่อนก็น่าสนใจเพราะดื่มน้ำพอดี น้ำหวาน” ผอ.อานุภาพ พูดถึงมะพร้าวพวงร้อย

ผอ.อานุภาพ ปลูกมังคุด 250 ต้น แซมกับมะพร้าว โดยปลูกมะพร้าวระยะระหว่างต้นระหว่างแถว 10 คูณ 10 เมตร จากนั้นแซมมังคุดตรงกลาง

เนื้อมะพร้าวพวงร้อย

“มะพร้าวกับมังคุดไปกันได้ โดยเฉพาะมะพร้าวน้ำหอมต้นไม่สูงไม่ใหญ่มาก มังคุดต้นใหญ่แล้ว แต่การออกดอกติดผล หากฤดูกาลไม่แปรปรวนก็ได้ผลผลิตถือว่าเป็นโบนัส แต่ทุกวันนี้ออกดอกติดผลไม่ดีนัก…ผมสนใจวนเกษตร จึงปลูกไม้ป่า หลังๆ มีพะยูงเข้ามา เหมือนฝากธนาคาร อย่างตะเคียนสู้หญ้าได้ ต้นสูงขึ้นไป” ผอ.อานุภาพ ให้แนวคิด

มะพร้าวลูกผสมกะทิ

ก่อนเกษียณ…เตรียมตัวอย่างไร

งานเกษตรหลังเกษียณ เป็นทางเลือกหนึ่งของคนที่ปลดประจำการจากงานประจำ แต่ก็ใช่ว่าจะเหมาะกับทุกคน

ผอ.อานุภาพให้แง่คิดว่า ควรเตรียมตัวตั้งแต่อายุยังไม่มาก

“อยากทำเกษตรต้องเตรียมตัวตั้งแต่อายุ 40 ปี อย่างรับราชการเงินไม่ค่อยมาก มีหนี้สินบ้าง…ให้เริ่มจากหาที่ดิน…จะทำอะไรให้ดูตลาด ทุกวันนี้ส่วนหนึ่งทำเกษตรตามกระแส อยากให้ทำเกษตรโดยใช้ข้อมูลเพื่อตัดสินใจ…ท้องถิ่นนี้มีมะพร้าว นานมาแล้วที่สมุยขายมะพร้าวผลละ 1 บาท ต่อมาขึ้นสูงถึง 25-30 บาท มีการเปลี่ยนแปลงเป็นบางเวลา ถึงจะ 4 บาทบางปี แต่ก็ถือว่าเป็นที่พึ่งยามยากได้ มะพร้าวปลูกแล้วอยู่ได้นาน 50-60 ปี เลี้ยงเราตลอด” ผอ.อานุภาพ ให้แง่คิด

ผลผลิตมีคนมาตัด

มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวแกง มีคนมาขึ้น

มะพร้าวกะทิ แม่ค้าที่ปากทางเข้าสวนมาซื้อไปจำหน่าย

มังคุด อาจจะใช้แรงงานมากหน่อย ช่วงผลผลิตมีมาก

คิงออฟโคโคนัท

ยังให้แง่คิด

ส่งความรู้ถึงคนรุ่นหลัง

ตำแหน่งสุดท้าย ของ ผอ.อานุภาพคือ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 จังหวัดสุราษฎร์ธานี หน่วยงานของกรมวิชาการเกษตร

ในวัย 75 ปี ท่านยังเป็นที่ปรึกษาให้กับศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร โดยเฉพาะเรื่องการวิจัยมะพร้าว ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ผลผลิตตรงกับความต้องการของตลาด ถือว่า หน่วยงานนี้มีความก้าวหน้าอย่างมาก

“วันหนึ่งเข้าสวน 3-4 ชั่วโมง ใส่ปุ๋ย เดินดูต้นไม้ พื้นที่ 24-25 ไร่ หญ้าจ้างเขาตัด เขาคิดเป็นถังน้ำมันเครื่องตัดหญ้า พื้นที่ขนาดนี้ ใช้น้ำมัน 25 ถัง คูณ 130 เข้าไป เป็นเงิน 3,250 บาท ต้นไม้ใหญ่มีร่มเงาหญ้าลดลง แสงแดดมากๆ ระวังเรื่องหญ้าคา ผมไม่อยากใช้ยาฆ่าหญ้า”

ผศ.ประสงค์ ทองยงค์ (ซ้าย) ผู้ปลูกมะพร้าวน้ำหอมรายใหญ่จากจังหวัดราชบุรี เข้าชมสวน ที่สวน ผอ.อานุภาพ นอกจากมะพร้าวที่ปลูกแล้ว ยังมีปลูกหมาก เป็นรายได้เสริม

ผอ.อานุภาพ บอกและเล่าอีกว่า

“ช่วงทำงานราชการ ไม่มีเวลาเป็นของตัวเอง คิดถึงแต่ที่ทำงาน อย่างเราเป็นผู้อำนวยการ จะมีเวลาส่วนตัวเฉพาะเวลานอนหลับเท่านั้น เมื่อเกษียณบางคนบอกว่าน่าจะอยู่สบาย ก็ต้องทำงาน มีการนัดหมาย ประชุมในฐานะที่ปรึกษาบ้างเพราะเราทำงานมะพร้าวมา 30 ปี…ผมได้สิ่งตอบแทนจากหน่วยงานหลายอย่าง อย่างเรื่องการนำมาปรับระดับผลงาน…สิ่งที่ทำคนรุ่นก่อนๆ ทำไว้ดี อย่าง อาจารย์วิเชียร รัตนพฤกษ์ รวมทั้งท่านอื่นวางรากฐานงานวิจัยไว้อย่างมั่นคง เหมือนการสร้างบ้าน ท่านลงเสาไว้ พวกเรามาต่อเติม ตีฝา ปัจจุบันจึงแข็งแรง”

สนใจมะพร้าว ถามข้อมูลท่านได้ตามที่อยู่ หรือโทรศัพท์ 081-894-4976

………………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2561