ผักสวนครัวใน ‘ล้อยาง’ แก้ปัญหาวัชพืช-ใช้พื้นที่น้อย เปลี่ยนรายได้เสริมเป็นรายได้หลัก!

พืชที่เรียกได้ว่าปลูกได้ทุกฤดูกาล ก็น่าจะเป็นพืชผักสวนครัว ที่ควรจะมีปลูกในทุกฤดูกาล แม้ว่าผักสวนครัวบางชนิดอาจไม่เหมาะกับฤดู แต่วิธีการปลูกก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยให้ผลผลิตมีได้ในทุกฤดูได้เช่นกัน

ที่หมู่ 7 บ้านช่างแก้ว ตำบลคลองหลา อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา พื้นที่ส่วนหนึ่งมีความเป็นชุมชนเมือง เพราะความเจริญที่เข้าถึง แต่ยังคงมีพื้นที่ส่วนที่เป็นสวนอยู่ ดังนั้น เกษตรกรที่นี่จึงต้องอยู่อย่างปรับตัว เช่น ทำสวนควบคู่ไปกับการประกอบอาชีพเสริมอื่น หากการทำสวนไม่ได้มีรายได้หลักจุนเจือครอบครัว

คุณธนพร คงบุญ หรือ พี่แตง

คุณธนพร คงบุญ หรือ พี่แตง ผู้หญิงที่มีความแคล่วคล่องว่องไวในการจัดการหลายๆ เรื่อง ภายในระยะเวลาจำกัดได้อย่างลงตัว เธอเป็นผู้หญิงที่มองเห็นประโยชน์เพื่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว เพราะที่ผ่านมาเมื่อเธอสำเร็จการศึกษามีครอบครัว ก็มุ่งมั่นทำงานเลี้ยงครอบครัว แต่ในที่สุดความห่างไกลกับสามีทำให้เธอพยายามมองหาอาชีพ เพื่อกลับมาอยู่ในถิ่นกำเนิดและอยู่กับครอบครัวอันเป็นที่รัก

เมื่อคุณธนพร กลับมาที่บ้านช่างแก้ว อาชีพแรกที่มองเห็น เพราะไม่มีความถนัดในการเกษตร จึงเป็นการเปิดร้านซัก อบ รีด เพราะมีความเป็นชุมชน แต่บริเวณใกล้เคียงไม่มีร้านซัก อบ รีด เมื่อลงมือจึงประสบความสำเร็จ ลูกค้าจำนวนมากหลั่งไหลมาให้ดูแล แต่เมื่อเป็นต้นแบบแล้วก็มีคนเห็นช่องทางดำเนินรอยตาม จึงเกิดร้านซัก อบ รีด ขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง คุณธนพร จึงมองว่า เมื่อมีการแชร์กลุ่มลูกค้าแล้ว ความอยู่รอดจะเป็นไปได้ยาก

ผลผลิตที่นำไปเปิดท้ายขายตามตลาดชุมชน

“คงต้องหาอาชีพใหม่ จึงกลับมามองตัวเองว่าเราชอบอะไร มาจบที่การปลูกต้นไม้ ถึงแม้จะไม่ได้เรียนมาโดยตรง แต่สมัยที่เรียนเพื่อนสนิทล้วนแต่เรียนด้านเกษตรทั้งนั้น และส่วนตัวชอบปลูกต้นไม้อยู่แล้ว จึงคิดว่า การปลูกต้นไม้ให้เป็นอาชีพ น่าจะทำได้ไม่ยาก ประกอบกับที่ดินเดิม เป็นสวนผลไม้อยู่แล้ว เพียงแค่ต้องเริ่มจริงจังเท่านั้น”

คุณธนพร เห็นว่า ต้นไม้ที่น่าจะขายได้เงินทุกวันก็คือ พืชที่ให้ผลผลิตเป็นของกิน และมีรอบการเก็บเกี่ยวสั้น จึงโฟกัสไปที่พืชผักสวนครัว แต่เมื่อพื้นที่สวนเต็มจึงคิดปลูกใส่กระถาง และด้วยความที่ไม่ถนัด ไม่มีความรู้เฉพาะทางในการปลูกต้นไม้ การเตรียมแปลงจึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคุณธนพร ในที่สุดการปลูกใส่กระถางหรือภาชนะจึงเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุดที่คุณธนพรคิดว่าน่าจะทำได้

Advertisement

คุณธนพร เห็นยางรถยนต์เก่าเหลือทิ้งจำนวนมาก จึงมีไอเดียนำมาใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับปลูกผักสวนครัว ยิ่งเมื่อศึกษาเพิ่มเติมจากเว็บไซต์ยูทูบ พบว่า เมื่อกรีดยางรถยนต์ออก จะทำให้พื้นที่ปลูกในวงยางรถยนต์มีพื้นที่เพิ่มมากขึ้น จึงขอยางรถยนต์เหลือทิ้งแล้วนำมากรีดให้พื้นที่ปลูกมีความกว้างมากขึ้น ก่อนจะติดต่อกับสำนักงานเกษตรอำเภอ ในฐานะที่เป็นแหล่งความรู้ด้านเกษตร และสำนักงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ให้ช่วยประสานหน่วยงานที่มีความรู้ด้านเกษตรเพื่อขอคำปรึกษา ในที่สุดคุณธนพรก็มีแหล่งเพาะเมล็ดผักสวนครัวหลายชนิด รวมถึงการเพาะด้วยตนเอง และการซื้อต้นกล้ามาเพื่อเป็นต้นทุนสำหรับการปลูกผักสวนครัวบางชนิดด้วย

Advertisement

ด้วยพื้นที่ที่มีอยู่จำกัด และไอเดียการนำยางรถยนต์เก่าเป็นอุปกรณ์สำหรับปลูกผักสวนครัว ทำให้การปลูกผักสวนครัวเพื่อหวังจะเป็นอาชีพเสริมรายได้ให้กับคุณธนพรจึงไม่เป็นเพียงอาชีพเสริมรายได้ แต่กลับเป็นรายได้หลักที่ทำเงินให้กับคุณธนพรในทุกวัน

“พอดีแม่ทำขนมไปขายตลาดนัดอยู่แล้ว จึงเก็บผักที่ปลูกตอนแรกฝากแม่ไปขาย ก็ขายได้ เราจึงคิดว่า น่าจะพัฒนาให้ผักเรามีคุณภาพ เพราะเริ่มแรก เราทำปลอดสาร จะเรียกว่าผักอินทรีย์ก็ได้ เพราะเราปลูกในวัสดุปลูกที่เราทำขึ้นเอง จากขี้วัว ดิน น้ำหมัก ใบไม้ ซึ่งเป็นวัสดุที่ปลอดสารและเป็นอินทรีย์ อีกทั้งไม่ได้ปลูกลงดิน แต่ปลูกในวัสดุที่เราควบคุมได้ ผักจึงมีคุณภาพมากกว่าที่อื่น”

คุณธนพร ยกตัวอย่างการปลูกผักที่เรียกได้ว่าเป็นผักอินทรีย์ และสร้างมูลค่าได้มาก เช่น ผักคะน้า ซึ่งในวงล้อยางรถยนต์ 1 วง คุณธนพรจะหยอดเมล็ดผักคะน้าไว้ 3 เมล็ด เมื่อเจริญเติบโตขึ้น คะน้าแต่ละต้นจะมีลำต้นที่อวบ แข็งแรง น่ารับประทาน และสามารถขายได้ 3 ต้น ในราคา 10 บาท ซึ่งผักชนิดใกล้เคียงก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวผักเองแบบเดียวกัน เช่น ผักกวางตุ้ง หรือผักโขม เป็นต้น

ข้อดีของการปลูกผักสวนครัวในยางรถยนต์ หรืออุปกรณ์อื่นที่พอหาได้ คือ การควบคุมวัชพืช ทำให้วัชพืชไม่สามารถขึ้นได้ ไม่ต้องเสียแรงงานถอนวัชพืช หรือการใช้เครื่องตัดหญ้ามากำจัดวัชพืชเมื่อปลูกลงดิน

อย่างไรก็ตาม คุณธนพร ยังคงปลูกพืชบางชนิดลงดิน เช่น ข้าวโพด กะเพรา มะเขือ พริก ถั่วฝักยาว เพราะปัจจุบัน วัสดุที่ใช้สำหรับปลูกผักสวนครัว เช่น ยางรถยนต์เริ่มหายาก หากจะทำได้ก็ต้องใช้กระถางแทน หรือกะละมังที่ไม่ใช้แล้ว จึงจะเป็นต้นทุนที่ไม่สูงมาก

เมื่อปลูกผักสวนครัวลงแปลง การดูแลก็ค่อนข้างยากขึ้น

“พอลงแปลง เรื่องของวัชพืชก็ตามมา จากนั้นก็เป็นเรื่องของแมลงศัตรูพืชที่ต้องควบคุมดูแล เราใช้น้ำหมัก เพราะเราต้องการปลูกผักสวนครัวให้เป็นอินทรีย์ จึงทำน้ำหมักขึ้นเอง เช่น น้ำหมักจากสับปะรด จะใช้กำจัดวัชพืชได้ แต่ต้องไม่ผสมน้ำ และฉีดพ่นในเวลากลางวันที่มีแสงแดด จะทำให้วัชพืชตายเอง โดยไม่ต้องถอน และไม่ต้องเสียเวลาใช้รถตัดหญ้าให้สิ้นเปลือง”

นอกจากการเก็บผลผลิตที่ได้จากการปลูกผักสวนครัวแล้ว คุณธนพรยังเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้สำหรับเพาะต้นกล้า และจำหน่ายต้นกล้าผักสวนครัวต่างๆ ตามที่ลูกค้าต้องการ

ในทุกวัน คุณธนพรจะเก็บผลผลิตไปขายยังตลาดนัดหรือตลาดชุมชนใกล้บ้าน ซึ่งทุกวันจะมีรายได้จากการเก็บผักสวนครัวไปจำหน่ายอย่างน้อย 500 บาท ซึ่งหากมีตลาดอินทรีย์ คุณธนพร จะมีรายได้มากกว่า เนื่องจากสามารถขายในราคาสูงได้ แต่ที่มีรายได้เพียงเท่านี้คุณธนพรก็พึงพอใจแล้ว เพราะเธอบอกว่า  ต้องการให้ผู้บริโภคได้บริโภคผักอินทรีย์ หรือผักปลอดสารที่มีคุณภาพ ไม่ทำร้ายผู้บริโภคด้วยกันเอง และราคาที่จำหน่ายก็เป็นราคาที่จับต้องได้ เพียงถุงละ 5-10 บาท เท่านั้น

ทุกวันนี้ คุณธนพร กลายเป็นเกษตรกรหญิงที่มีคุณภาพ ไม่เพียงแค่ปลูกผักสวนครัวในยางรถยนต์ แต่เป็นวิทยากรด้านต่างๆ จากความสามารถของเธอเองให้กับ กศน. คลองหอยโข่ง รวมถึงสำนักงานเกษตรอำเภอคลองหอยโข่ง เพราะคุณธนพร คิดเสมอว่า ความรู้และประสบการณ์ที่เธอมี ควรถ่ายทอดและเผยแพร่เป็นวิทยาทานให้กับผู้สนใจ โดยไม่คิดมูลค่า สอบถามเพิ่มเติมหรือต้องการความรู้ที่คิดว่า คุณธนพร สามารถถ่ายทอดให้ได้ ติดต่อได้ที่ คุณธนพร คงบุญ หรือ พี่แตง หมู่ที่ 7 บ้านช่างแก้ว ตำบลคลองหลา อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา โทรศัพท์ 081-959-7899 ได้ตลอดเวลา

วันพฤหัสที่ 27 กันยายน พ.ศ.2561