“ส้มโอหอมควนลัง” ไม้ผลทางเลือก สำหรับผู้สนใจทำเกษตรหลังเกษียณ

กศน. อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา ส่งเสริมให้ชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จึงเปิดศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในตำบลต่างๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบ

สำหรับ ตำบลโคกม่วง มีแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงหลายแห่ง เช่น
1. สวนป่าครัวเรือนเกษตรอินทรีย์ หมู่ที่ 5 ตำบลโคกม่วง
2. แหล่งเรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หมู่ที่ 5 ตำบลโคกม่วง
3. ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพ การผลิตสินค้าเกษตร 73/1 หมู่ที่ 7 ตำบลโคกม่วง เป็นต้น

นอกจากนี้ กศน. อำเภอคลองหอยโข่ง ยังได้เผยแพร่แนวคิดเกษตรอินทรีย์สู่วิถีชีวิตเกษตรกรและนักศึกษา กศน. โดยจัดคณะไปศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ กับ คุณประภาส สุวรรณรัตน์ ณ บ้านเลขที่ 94/1หมู่ที่ 4 บ้านโคกสัก ตำบลโคกม่วง อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา อย่างสม่ำเสมอ

“ประภาส สุวรรณรัตน์”
ครูภูมิปัญญาไทย ด้านเกษตรผสมผสาน

คุณประภาส สุวรรณรัตน์ เป็นอดีตข้าราชการครู โรงเรียนบ้านปักคล้า เป็นผู้มีความรู้ ความเข้าใจ ในการทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรแบบผสมผสานในพื้นที่จำกัด ได้ผลผลิตดี สามารถปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ที่ให้ผลผลิตทั้งปี ขยายพันธุ์ผักที่มีคุณภาพดี คัดเลือกเมล็ดพันธุ์โดยวิธีธรรมชาติทำให้ได้ต้นกล้าที่แข็งแรง แบ่งเครือข่ายการปลูกพืชตามความเหมาะสมของพื้นที่ในชุมชน ฝึกเยาวชนให้เรียนรู้เรื่องการตลาดจากการขายผลผลิต ตั้งศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ในโรงเรียน เป็นต้นแบบให้กับชุมชน

เนื่องจาก ครูประภาส ได้นำความรู้เรื่องการทำเกษตรผสมผสานที่ตนเองได้ศึกษาค้นคว้า ค้นพบ ฝึกฝนจนประสบความสำเร็จเป็นประโยชน์โดยรวมแก่สังคม จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติ จากสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 7 ด้านเกษตรกรรม ประจำปี 2554

สวนคุณประภาส สุวรรณรัตน์

หลังจากเกษียณอายุราชการ ครูประภาสเปิดบ้านเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ เพื่อรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานในท้องถิ่น เช่น สำนักงานเกษตรอำเภอคลองหอยโข่ง สถานีพัฒนาที่ดินสงขลา และที่ทำการปกครองอำเภอคลองหอยโข่ง จึงมีผู้คนจากทั่วสารทิศแวะเวียนเข้ามาเยี่ยมชมงานที่นี่ตลอดทั้งปี

แปลงสาธิตเกษตรอินทรีย์

เมื่อ 15 ปีก่อน ครูประภาส ใช้ที่ดินทำกิน เนื้อที่ 6 ไร่ ปลูกข้าว ต่อมา ส้มโอ ราคาดีก็ปรับที่ดินหันมาปลูกส้มโอ ต่อมาเจอปัญหาราคาส้มโอตกต่ำ ก็โค่นต้นส้มโอทิ้ง และหันมาปลูกยางพาราแทน เพราะให้ผลกำไรเยอะกว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริเตือนเกษตรกรในช่วงนั้นว่า สวนยางพาราอย่าปลูกเยอะนะ ต่อมาเจอปัญหายางพาราราคาตกต่ำ ครูประภาส จึงตัดสินใจเปลี่ยนมาทำไร่นาสวนผสมแทน ปรากฏว่า สร้างรายได้ที่ยั่งยืนจนถึงทุกวันนี้

ครูประภาส ใช้ที่ดิน 5.5 ไร่ ของตัวเอง ที่ตั้งอยู่ 2 ฝั่งเหมืองน้ำชลประทาน ใกล้ๆ กับวัดปลักคล้า เป็นแปลงสาธิตและเผยแพร่แนวคิดเรื่องเกษตรอินทรีย์สู่ชุมชน เพื่อเป็นต้นแบบให้ผู้สนใจนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างรายได้เป็นรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน รายสามเดือน และรายได้ครึ่งปีจากการปลูกพืชหลายชนิด

สภาพสวนเกษตรผสมผสาน

ซึ่งกิจกรรมการทำเกษตรในพื้นที่แห่งนี้ประกอบด้วย บ่อพักน้ำ แปลงยางพารา 1 ไร่ ทำนาข้าว 1 ไร่ ปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ 200 ตารางวา ปลูกส้มโอ 200 ตารางวา ปลูกพืชอื่นๆ เช่น กล้วยหอมทอง สับปะรด ฝรั่ง ไผ่ โรงปุ๋ยหมัก โรงเพาะเห็ด 1 ไร่ ร่องสวนและบ่อปลา 1 ไร่

ครูประภาส กล่าวว่า การทำเกษตรพอเพียงตามแนวพระราชดำริ เป็นการทำเกษตรแบบพึ่งพาตัวเอง เน้นเกษตรธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีต่างๆ หันมาปลูกพืชโดยใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และปุ๋ยชีวภาพ ช่วยให้การปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแนวคิดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งเป็นรูปแบบการทำเกษตรแบบยั่งยืน เกษตรกรพึ่งตัวเองได้ ประหยัด และพอเพียง พออยู่ พอกิน พอใช้ เหลือจำหน่ายเพิ่มรายได้

ชี้ช่องทาง “ทำเกษตรหลังเกษียณ”

หากใครสนใจอยากทำเกษตรหลังวัยเกษียณ ครูประภาส ให้คำแนะนำว่า ควรทดลองทำเกษตรล่วงหน้าสัก 5-6 ปี เพราะช่วงนั้นร่างกายยังพอมีเรี่ยวแรงกำลังเต็มที่ในการบุกเบิกพื้นที่ทำการเกษตร ขณะเดียวกันการทำเกษตรต้องอาศัยระยะเวลาปลูกดูแล พืชบางชนิดกว่าจะให้ผลผลิตต้องอาศัยระยะเวลาพอสมควร หากลงทุนทำเกษตรไว้ล่วงหน้า หลังเกษียณอายุ ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตออกขายได้ทันที

ครูประภาส สุวรรณรัตน์ เปิดบ้านเป็นแหล่งเรียนรู้เกษตรผสมผสาน

หากใครสนใจลงทุนทำไร่นาสวนผสม ครูประภาส แนะนำให้ปลูกพืชทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก เช่น ปลูก “กล้วยน้ำว้า” เพื่อสร้างร่มเงาในสวน ระหว่างทำงานดูแลต้นไม้จะได้ไม่ร้อนมาก แถมต้นกล้วยยังให้ผลผลิตเร็ว หลังปลูก 7-8 เดือน ก็เริ่มให้ผลผลิตแล้ว หรือปลูก “พืชอายุสั้น” ได้แก่ พืชผักสวนครัว ผักบุ้ง ผักคะน้า ถั่วงอก ฯลฯ ซึ่งปลูกดูแลง่าย ให้ผลผลิตเร็ว มีรายได้หมุนเวียนตลอด ทำให้เกิดกำลังใจในการทำเกษตรต่อไป

จุลินทรีย์แสง ตัวช่วยเพิ่มผลผลิตในสวนเกษตรอินทรีย์

“การทำเกษตรหลังเกษียณ ข้อควรระวังก็คือ อย่าปลูกพืชตามกระแส ควรปลูกพืชที่ให้ผลผลิตที่เก็บไว้ได้นาน ซึ่ง “ส้มโอ” ตอบโจทย์ข้อนี้ได้ดีที่สุด เพราะปลูกดูแลง่าย ขายได้ราคาดี หากได้ผลผลิตดี จะมีรายได้ก้อนโต 1 ไร่ มีรายได้เกิน 1 แสนบาท แน่นอน” ครูประภาส กล่าว

“หอมควนลัง” ส้มโอพื้นเมืองสงขลา
ไม้ผลทางเลือก ปลูกง่าย ขายดี

ส้มโอหอมควนลัง (Pomelo Hom Khuanlang) เป็นส้มโอที่เปลือกมีความหอมพิเศษโดดเด่นแตกต่างจากส้มโออื่น โดยมีผลกลมสูง ไม่มีจุก น้ำหนักผลอยู่ระหว่าง 1-2.5 กิโลกรัม เนื้อสีชมพูเข้มถึงแดง เนื้อผลนิ่มฉ่ำ เนื้อกุ้งกรอบ เมล็ดลีบถึงไม่มีเมล็ด รสชาติหวานอมเปรี้ยว ไม่ขม นิยมปลูกแพร่หลายในพื้นที่เทศบาลเมืองควนลัง ตำบลควนลัง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ต่อมาจังหวัดสงขลาได้ส่งเสริมให้ส้มโอพันธุ์นี้ เป็นผลไม้เด่นของอำเภอหาดใหญ่ เนื่องจากเกษตรกรปลูกส้มโอพันธุ์นี้กันมาก “ควนลัง” จึงได้ชื่อใหม่เป็น “ส้มโอหอมหาดใหญ่” ทำให้ระยะหลังส้มโอพันธุ์นี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อของ “ส้มโอหอมหาดใหญ่” เช่นเดียวกัน

ส้มโอหอมควนลัง รสหวานอมเปรี้ยว เนื้อล่อน สีแดง

ส้มโอหอมควนลัง มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว ความหวาน 12-13 องศาบริกซ์ ลักษณะพิเศษอีกอย่างของส้มโอพันธุ์นี้คือ เปลือกส้มโอมีกลิ่นหอมพิเศษแตกต่างจากส้มโออื่นๆ แถมมีเนื้อแน่นและล่อนออกจากเปลือกง่าย ไม่มีเมล็ด เนื้อแห้ง สีสวย เป็นสีแดงอมชมพู

ข้อดีประการต่อมาคือ เมื่อตัดผลจากต้นแล้ว สามารถนำส้มโอหอมควนลังไปรับประทานได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องรอให้ลืมต้น ทำให้ส้มโอพันธุ์นี้เป็นที่ต้องการของตลาดในวงกว้าง จนผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญของคนไทยเชื้อสายจีนนิยมใช้ส้มโอหอมควนลังมาใช้ไหว้เจ้า ทำให้เกษตรกรสามารถขายส้มโอหอมควนลังต่อผลได้ในราคากว่าร้อยบาท

ส้มโอหอมควนลัง ขายได้ราคาดี

โดยทั่วไป พื้นที่ 1 ไร่ สามารถปลูกส้มโอได้ประมาณ 25-35 ต้น ใช้เวลาปลูกดูแล 2-3 ปี ก็จะเริ่มให้ผลผลิต ในรุ่นแรกๆ จะได้ไม่เยอะมาก จนกระทั่งย่างเข้าปีที่ 4 ต้นส้มโอเติบโตสมบูรณ์เต็มที่ หากบำรุงดูแลต้นดีจะให้ผลผลิตเฉลี่ย 100 ผล ต่อต้น เกษตรกรนิยมขยายพันธุ์โดยใช้วิธีการตอนกิ่ง

การปลูกมะนาว ในวงบ่อซีเมนต์

อีกหนึ่งทางเลือกที่ครูประภาสแนะนำสำหรับการลงทุนทำเกษตรหลังเกษียณก็คือ การปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ใช้พื้นที่น้อย จะผลิตมะนาวนอกฤดูได้สะดวก ใช้เวลาเพียง 8 เดือน ถึง 1 ปี เท่านั้น สามารถเก็บผลมะนาวออกขายได้ ขั้นตอนการปลูก เริ่มจากกำหนดระยะการปลูก 1.20×1.50 เมตร เว้นทางเดิน 2 เมตร

วัสดุอุปกรณ์การปลูก ให้เลือกใช้วงบ่อซีเมนต์ ขนาด 80-100 เซนติเมตร และฝารองก้นบ่อ และใช้วัสดุปลูกหลัก 3 ชนิด คือ หน้าดิน 1 ส่วน ปุ๋ยคอก 1 ส่วน แกลบดำ 2 ส่วน ผสมคลุกเคล้ากัน ส่วนพันธุ์มะนาวที่แนะนำให้ปลูก ได้แก่ มะนาวแป้น หอมพิจิตร มะนาวไร้เมล็ด “ตาฮิติ”

ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์

การปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ เริ่มจากใส่วัสดุปลูกลงในบ่อซีเมนต์เป็นรูปหลังเต่า ขุดเปิดปากหลุมให้มีขนาดเท่ากับขนาดของถุงที่ใช้ชำต้นมะนาว พอดีกับระดับดินเดิม กลบดินแล้วใช้เท้าเหยียบรอบๆ การดูแลรักษา ให้รดน้ำต้นมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ ช่วงเช้า-เย็น ประมาณ 5-10 นาที และตัดแต่งกิ่งหลังการเก็บเกี่ยว

วิธีบังคับต้นมะนาวให้มีผลผลิตออกนอกฤดู เริ่มจากคลุมโคนด้วยพลาสติก งดให้น้ำจนใบเหี่ยวสลดและหลุดร่วงประมาณ 50-60% หลังจากนั้นให้น้ำตามปกติ ใส่ปุ๋ยที่มีตัวกลาง สูตร 12-24-12 หรือ สูตร 15-30-15 ปริมาณ 1 กำมือ ต่อวงบ่อ รดน้ำ หลังต้นมะนาวติดดอกแล้ว จึงค่อยให้น้ำตามปกติ การเก็บเกี่ยวผลผลิต หลังออกดอกติดผล 4-5 เดือน ก็เก็บเกี่ยวผลผลิตได้