โรคของผักหวานป่าหน้าฝน จากประสบการณ์ตรง ของ จ่าติ๊ก (มือตอน) พระพุทธบาท สระบุรี

เทคโนโลยีชาวบ้าน เคยนำเรื่องการตอนผักหวานป่า โดยนักตอนมืออาชีพมาแล้ว ในช่วงต้นปี 2551 เจ้าของสวนผักหวานป่ารายนี้คือ จ่าสิบเอก เทวัญ ปาลกะวงศ์ (จ่าติ๊ก) นี่แหละ นับเป็นที่ฮือฮาพอสมควร ไม่ว่าจากสื่อมวลชนต่างๆ พากันไปสัมภาษณ์และทำข่าวจากจ่าติ๊กหลายสำนัก ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มเกษตรกรหลายส่วนไปศึกษาดูงาน และ สั่งจองกิ่งตอนกันมากมาย  เวลาผ่านมาหลายปี จึงพาท่านหันกลับไปยังสวนผักหวานป่าจ่าติ๊กอีกครั้ง ว่าเป็นอยู่อย่างไร

จ่าติ๊กปลูกผักหวานป่าแบบต้นชิด เพราะหวังผลจากการตอนกิ่ง ทำให้กิ่งก้านแทบชนกัน เลยกลายเป็นความทึบรก จึงเป็นผลดีต่อการขยายพันธุ์ ต้นแม่ก็เติบโตดี ให้กิ่งให้ผลแก่ผู้เป็นเจ้าของกว่าปีที่แล้ว จ่าติ๊กบอกว่าขายลูกได้เงินหมื่นเชียวแหละ เมื่อมีส่วนดีส่วนเสียก็ยังคงอยู่ คือส่วนที่น้ำท่วมขัง หากท่วมไม่นานเกินครึ่งเดือนก็ไม่ตาย แต่ต้นที่ตายถูกน้ำท่วมนานเกินเดือน

จ่าติ๊ก เล่าให้ฟังว่า ในหน้าฝนมีโรคมากมายหลายชนิดเกิดขึ้น ไม่ว่ากับพืชหรือสัตว์ แม้กระทั่งมนุษย์ โรคของผักหวานป่าก็เหมือนโรคของพืชทั่วไป

โรคที่เกิดจากน้ำหรือฝน

โรคชนิดแรกคือ โรคที่เกิดจากน้ำหรือฝน เมื่อฝนตกมาก ดินก็อุ้มน้ำจนเป็นดินเละ เมื่อดินมันแฉะย่อมเป็นอันตรายต่อระบบของราก รากผักหวานป่าหายใจไม่ได้ เพราะขาดอากาศ การดูดหาอาหารไปเลี้ยงลำต้นก็ชะงัก ซึ่งเป็นเหตุให้ผักหวานป่าขาดอาหาร ใบก็จะเหี่ยวเฉา และที่สุดก็สลัดใบร่วงหล่นจนหมดจากต้น แต่ถ้าฝนไม่ตกติดต่อกันนาน ผักหวานป่าก็จะฟื้นคืน แตกผลิกิ่งใบขึ้นมาทดแทน

น้ำท่วม

ที่หนักกว่านั้นคือ น้ำท่วม จ่าติ๊กว่า ถ้าท่วมไม่นานเกิน 2 สัปดาห์ ไม่เป็นเหตุให้ถึงตาย เพราะที่สวนผ่านเหตุการณ์นี้มาแล้วหลายครั้ง อาจมีบางท่านสงสัยว่าน้ำท่วมเป็นโรคหรือ อันนี้ผู้เขียนขอตอบเองว่าเป็นโรคแน่ๆ เพราะมนุษย์ก็เคยเป็นโรคน้ำท่วมมาแล้ว ก็โรคน้ำท่วมปอดนั่นไง  การบรรเทาความเสียหายจากโรคนี้ จ่าติ๊กแนะนำว่าไม่ควรเหยียบย่ำบริเวณโคนหรือใกล้ต้นผักหวานป่า เพราะจะทำให้รากได้รับการกระทบกระเทือน หรืออาจถึงขั้นรากหัก

 

โรครากเน่าหรือโคนต้นเน่า

โรคอีกชนิดที่จ่าติ๊กพบเห็นคือ โรครากเน่าหรือโคนต้นเน่า โรคนี้อาจเกิดขึ้นได้ไม่ว่าฝนตก ฝนแล้ง จุดที่พบว่าเป็นโรคจะอยู่ตรงโคนลำต้น โดยอยู่ระดับใต้ผิวดิน ถ้าไม่คุ้ยเขี่ยดินก่อนจะมองไม่เห็น ถ้าคุ้ยเขี่ยดินตรงโคนต้นออก จะเห็นเป็นคล้ายผลเน่าสีน้ำตาลคล้ำ ใช้มือแคะเปลือกส่วนที่เน่าดู หากเน่ารอบโคนต้นก็หมายถึงตาย

หากแผลเน่ายังไม่รอบโคนต้น พอมีทางเยียวยา คือให้ใช้น้ำสะอาดล้างชำระแผลส่วนที่เน่าออกให้หมด แล้วใช้น้ำส้มควันไม้ 1 ส่วน อีเอ็ม 1 ส่วน ผสมน้ำสะอาด 30 ส่วน ฉีดล้างหรือพ่นที่โคนต้น ทำทุก 15 วัน สำหรับส่วนที่เหลือก็ฉีดพ่นตามพุ่มใบ ป้องกันพวกแมลงกินใบ หรือหนอนต่างๆ ได้อีกด้วย

หอยทาก

โรคต่อมาคือ หอยทาก ปีนี้ฝนตกชุกกว่าปีที่แล้ว ทำให้การเจริญพันธุ์ของหอยทากไร้อุปสรรค อาหารของหอยทากคือใบหรือยอดอ่อนผักหวานป่า จ่าติ๊กว่าในยามค่ำคืนหรือแม้แต่วันที่ฟ้าครึ้มๆ ฝนปรอยๆ พวกมันพากันขึ้นไปกัดกินยอดหรือใบอ่อนต้นละหลายสิบตัว บางครั้งมองดูคล้ายกับคนเราตอนไปกินโต๊ะจีนทีเดียว

หากเป็นต้นผักหวานป่าที่เพาะด้วยเมล็ดแล้วมันจะกินทั้งลำต้นอ่อนด้วย เรื่องของหอยทากนี้ผู้เขียนเองก็เพิ่งเจอปัญหาในปีนี้เอง เพราะกล้าผักหวานป่าหลายพันถุงต้องเสียหายไปกับหอยทากเกือบครึ่ง

การป้องกันแก้ไข จ่าติ๊กเคยนำกระดาษหนังสือพิมพ์ ผสมสารเคมีฆ่าแมลงยี่ห้อหนึ่งชุบกับกระดาษ ก็สามารถป้องกันได้ในระดับหนึ่ง แต่วิธีนี้ก็ไม่สามารถทำได้ทั่วถึงนัก ปกติแล้วจ่าติ๊กเป็นคนรักษาศีล 5 อย่างเคร่งครัด เห็นว่าวิธีที่กล่าวผิดศีล ข้อ 1 จึงต้องเ ลิกทำ หันมาใช้วิธีเก็บใส่ถุงแล้วนำไปปล่อยในที่ที่ห่างไกลชุมชนแทน

พูดถึงหอยทากจ่าติ๊กขอต่ออีกว่า เจ้าของสวนตานิด ผู้เคยซื้อกิ่งพันธุ์ผักหวานป่าไปปลูกจำนวนมาก สวนตานิดที่ว่านี้อยู่ที่สลกลบาตร ที่ชื่อว่าปั๊มสลกบาตรปิโตรเลียม สวนแห่งนี้ปลูกพืชพันธุ์มากมายหลายชนิด มีคนสวน คนงานมากตามขนาด เจ้าของสวนตานิดบอกว่า ถ้าที่สลกบาตรมีหอยทาก ไม่จำเป็นต้องฆ่าทิ้งหรือจับไปปล่อย เพราะมันจะกลายเป็นของว่างหรือกับแกล้มอย่างดีของพวกคนงาน

พายุลมแรง

นอกจากภัยดังกกล่าวที่เล่ามาแล้ว ยังมีภัยที่เกิดจากพายุลมแรงอีก เพราะพายุจะพัดต้นไม้ที่เป็นพี่เลี้ยงผักหวานป่าล้ม โค่น หรือกิ่งก้านหักทับ ก็สร้างความเสียหายให้กับผักหวานป่าเช่นโรคอื่นๆ ไม้ที่หักง่าย เช่น มะขามเทศ ตะขบ แค เป็นต้น

รากของกิ่งตอนผักหวานป่า เมื่อแก่พร้อมตัดได้ จะมีสีเขียว (เริ่มออกใหม่จะมีสีขาว) จะไม่เป็นสีน้ำตาลเหมือนกิ่งตอนต้นไม้ชนิดอื่น ที่บางตำราเขียนไว้

การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผักหวานป่า

การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผักหวานป่า ซึ่งจ่าติ๊กคิดเอง โดยจัดเป็นกระเช้าของขวัญของฝาก คือจัดกระเช้าที่ประกอบไปด้วยยอดผักหวานป่า กิ่งตอน เมล็ดผักหวานป่าที่สุก ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากผู้พบเห็นมาก  ท่านผู้อ่านอยากทราบข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อสอบถามได้ที่ โทรศัพท์ (081) 989-6184 สวัสดีครับ

ขอขอบคุณ ภาพประกอบข่าว จาก เฟสบุ๊ค เทวัญ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา