“ทองหลาง” ปุ๋ยพืชสดยืนต้น เมืองนนท์ผลไม้รสดี ส่วนหนึ่งมาจากทองหลาง

ทองหลางเป็นพืชตระกูลถั่ว ถือว่าเป็นถั่วขนาดยักษ์ พบไม่น้อยกว่า 2 ลักษณะ

ขอแนะนำทองหลางลักษณะแรกก่อน คือ “ทองหลางด่าง”  ชื่ออื่นๆที่เรียกกันคือทองบ้าน,ทองเผือก,ทองหลางลาย

ทองหลางด่าง
ทองหลางด่าง

เป็นไม้ขนาดกลางถึงใหญ่ มีความสูงประมาณ 18 เมตร ลักษณะลำต้นและกิ่งก้านมีหนามแหลมโค้ง คม ปลายหนามเป็นสีม่วงคล้ำ ผิวเปลือกลำต้นบาง สีเทาหรือสีเหลืองอ่อนๆ

ใบออกเป็นช่อ มีประมาณ 3 ใบ ใบรูปมน ปลายใบแหลมยาวคล้ายใบโพธิ์ ใบที่อยู่ยอดมีขนาดใหญ่กว่าใบย่อยคู่ล่าง ขนาดของใบกว้าง 2-4 นิ้ว ยาว 2-5 นิ้ว หลังใบเป็นสีด่างเหลืองๆเขียวๆ

ดอก ออกเป็นช่อติดกันเป็นกลุ่ม สีแดงสด ออกตามบริเวณข้อต้นหรือโคนก้านใบ ช่อหนึ่งยาว 4-9 นิ้ว ลักษณะของดอกมีกลีบกว้างประมาณ 1-1.4 นิ้ว ยาวประมาณ 2-2.5 นิ้ว ลักษณะคล้ายดอกถั่ว ออกดอกช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์

ผลมีลักษณะเป็นฝัก แบน โคนฝักเล็กลีบ ส่วนที่ค่อนไปทางปลายฝักจะบวม ซึ่งจะเห็นเป็นสัณฐานของเมล็ดได้ชัดมาก พอฝักแก่เต็มที่ปลายฝักจะแตกอ้าออก ภายในฝักมีเมล็ดเป็นเหลี่ยม

นิยมขยายพันธุ์โดยการปักชำกิ่ง ส่วนการใช้ประโยชน์นิยมปลูกประดับ เป็นไม้จัดสวนได้ดี เพราะสีที่สดใสของใบ

ทองหลางด่างหรือทองหลางลาย เป็นไม้ประจำจังหวัดปทุมธานี

ทองหลางอีกชนิดหนึ่งคือ “ทองหลางบ้าน” มีปลูกกันมานานแล้ว

ทองหลางบ้านกับทองหลางด่างมีข้อแตกต่างกันพอสมควร

เริ่มจากลำต้น ทองหลางบ้านมีต้นขนาดใหญ่  แผ่กิ่งก้านสาขามากกว่า ลักษณะการเกิดของใบเหมือนกันคือมีใบย่อย 3 ใบ แต่ทองหลางบ้านใบเล็กเรียวกว่า มีสีเขียว ชาวสวนแถบจังหวัดนนทบุรี ยืนยันว่า ทองหลางบ้านนั้น หากขยายพันธุ์โดยการปักชำ แทบไม่พบว่ามีหนามที่ลำต้นแต่อย่างใด แต่หากขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด อาจจะพบหนามเล็กๆที่กิ่งของทองหลาง

การแพร่พันธุ์ของทองหลางในยุคแรกๆ ใช้เมล็ดเป็นหลัก ฝักของทองหลางเมื่อแก่แล้วร่วงลงดิน หากมีสภาพแวดล้อมเหมาะสมก็จะเกิดต้นใหม่ขึ้นมา ต้นที่แข็งแรงก็จะยืนต้นอยู่ได้พัฒนาเป็นต้นใหญ่ ฝักทองหลางส่วนหนึ่งร่วงลงน้ำและลอยไปตามแม่น้ำลำคลอง เมื่อไปติดอยู่ในบริเวณที่เหมาะสม ก็เกิดต้นใหม่ขึ้นมา ด้วยเหตุนี้เอง จึงพบต้นทองหลางในพื้นที่ราบลุ่มกระจายเป็นวงกว้าง

คุณสุทธิพันธ์ บุญใจใหญ่ ชี้ให้ดูต้นทองหลางที่ได้จากการเพาะเมล็ด
คุณสุทธิพันธ์ บุญใจใหญ่ ชี้ให้ดูต้นทองหลางที่ได้จากการเพาะเมล็ด

แล้วผู้คนเริ่มรู้จักใช้ประโยชน์จากต้นทองหลางได้อย่างไร

เข้าใจว่า แรกทีเดียว ทองหลางคงจะเป็นเหมือนพืชทั่วๆไป ที่คนไม่รู้จักใช้ประโยชน์ จนกระทั่งมีการใช้ประโยชน์จากที่ดินซึ่งทองหลางเคยขึ้นอยู่ แล้วพบว่า บริเวณนั้นพืชเจริญงอกงามดี

ชาวบ้านบางคนเห็นต้นทองหลางขึ้น แต่ไม่อยากตัดทิ้ง ขณะเดียวกันก็ปลูกไม้แซมเข้าไป ปรากฏว่า ไม้แซมที่มีทองหลางเป็นร่มให้ งอกงามดีกว่าบริเวณไม่มีทองหลางเสียอีก

ดังนั้น ชาวบ้านชาวสวนจึงพัฒนาการปลูกพืชร่วมกับทองหลางเรื่อยมา จนกลายเป็นภูมิปัญญาที่ล้ำค่า

ทองหลางมีชื่อเสียงในพื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะเขตที่มีการปลูกทุเรียน มังคุด อย่างจังหวัดนนทบุรี ปกติแล้ว ดินในเขตที่ลุ่มดินเหนียว เกิดจากการทับถมของอินทรียวัตถุมานานปี โดยทั่วไป จะมีปุ๋ยที่ช่วยให้พืชผลมีคุณภาพดี มีความหวานสูง

พื้นที่การทำสวนในภาคกลาง ชาวสวนจะยกร่อง ที่เรียกกันว่าร่องจีน อาศัยปรากฏการณ์น้ำขึ้นก็ปล่อยน้ำเข้าสวน เมื่อได้ปริมาณตามที่ต้องการก็กักไว้ คนมีที่ดิน 60-100 ไร่ เขาจะแบ่งสวนออกเป็นแปลงย่อง ที่เรียกกันว่า “ขนัด” ทั้งนี้เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ อย่างเรื่องน้ำ น้ำน้อยก็สูบเข้าทีละขนัด น้ำมากก็ป้องกันทีละขนัด

ผืนดินของภาคกลาง เป็นดินเหนียว ถึงแม้จะมีความอุดมสมบูรณ์จริง แต่การระบายน้ำหรือความเหมาะสมที่รากพืชจะเจริญเติบโต สู้ดินร่วนซุยบนที่สูงไม่ได้ เมื่อมีการปลูกทองหลางเข้าไป รากของทองหลางจะชอนใช เมื่อรากเน่าผุก็จะกลายเป็นอินทรียวัตถุ ช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดีขึ้น

รากของทองหลาง จะมีปมคล้ายๆปมในต้นถั่วลิสง จึงไม่แปลกเลยที่ทองหลางสามารถตรึงไนโตรเจนมาให้เป็นประโยชน์กับต้นพืชได้

ทองหลางบ้านต้นเล็ก ถอนดูมีปมที่ราก
ทองหลางบ้านต้นเล็ก ถอนดูมีปมที่ราก

ปุ๋ยที่ได้ ไม่ได้เฉพาะจากรากทองหลางเท่านั้น ใบทองหลางเมื่อแก่ก็ร่วงหล่นลงดิน ส่วนหนึ่งตกลงไปยังท้องร่อง กิ่งอ่อนของทองหลางก็ถูกชาวสวนตัดแต่งกิ่ง แล้วนำไปสุมกองไว้ ไม่นานก็ผุสลายไปกับดิน ถึงขวบปี ชาวสวนจะลอกเลน ขึ้นมากองทับสันร่อง เป็นที่น่าสังเกตุว่า บริเวณใดที่มีใบทองหลางจำนวนมาก บริเวณนั้นดินและน้ำจะเป็นสีดำ เมื่อการลอกเลนผ่านไป 2-3 เดือนต้นไม้ก็จะงาม

ช่วงที่ปลูกต้นไม้ใหม่ๆ ชาวสวนเมืองนนท์จะตัดกิ่งทองหลางไปปักไว้ 4 มุม กะให้ช่วยบังแดด เมื่อปลูกไปนานๆ ไม้หลักเติบโตจึงค่อยๆแต่งกิ่งทองหลางให้มีความเหมาะสมที่จะอยู่ร่วมกันได้ ระหว่างไม้หลักกับต้นทองหลางเอง

คุณสุทธิพันธ์ บุญใจใหญ่ เกษตรกรที่อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เล่าให้ฟังว่า สมัยปู่ ย่า ตา ยาย เห็นความสำคัญของทองหลางมาก มักจะปลูกให้ร่มเงาไม้หลัก อย่าง ทุเรียน มังคุด กระท้อน แต่ปัจจุบันงานเกษตรมีพื้นที่น้อยลง ความสำคัญของทองหลางจึงลดลง

“เป็นไม้ที่มีคุณค่ามาก ถ้าไม่มีทองหลาง ชื่อเสียงของทุเรียนจังหวัดนนท์ คงไม่ขจรไกลและขายได้ลูกละเป็นพันเป็นหมื่นบาท สำคัญที่สุดเรื่องของการบำรุงดิน โดยเฉพาะที่ราก ทองหลางนี่ทน ปลูกแล้วน้ำท่วมไม่ตาย เพียงแต่ต้นอาจจะผุนิดหน่อยหากท่วมนานๆ ต้นของทองหลางมีประโยชน์คือเป็นปุ๋ยได้อย่างดี ใบกินกับปลาแนม กินกับลาบ ส้มตำ มีคนปลูกเพื่อขายใบโดยเฉพาะ ตัดยอดอ่อนจำหน่าย”

คุณสุทธิพันธ์บอก และเล่าต่ออีกว่า

“สมัยก่อน บรรพบุรุษไม่ค่อยมีของเล่นให้กับลูกหลาน จึงนำไม้ทองหลางมาทำเป็นเรือขนาดเล็กๆ สามารถลอยน้ำอยู่ได้ให้ลูกหลานเล่น เพราะทองหลางเป็นไม้เนื้ออ่อนขุดเรือง่าย บางครั้งก็นำมาถากเป็นมีดดาบให้เด็กผู้ชายเล่นฟันดาบกัน วิธีปลูกทองหลาง นิยมใช้กิ่งปัก งอกง่ายมาก”

ถึงแม้ทองหลางจะเป็นไม้เนื้ออ่อน แต่ก็ใช้ประโยชน์บางอย่างได้ดี

คุณสุทธิพันธ์ ในฐานะที่เป็นเกษตรกรในเขตปริมณฑล และมีประสบการณ์เกี่ยวกับทองหลางเล่าให้ฟังอีกว่า ทองหลาง เป็นไม้เนื้ออ่อน แต่ช่างสมัยโบราณ นิยมตัดทองหลางที่มีขนาดใหญ่ เป็นท่อน ไปวางเป็น “หมอน” คือทำหน้าที่คล้ายๆเสาเข็ม สำหรับการสร้างเรือนไทย หมอนจากทองหลางกันเรือนไทยทรุดได้ดี คุณสมบัติของทองหลางนั้น เมื่อต้นขนาดใหญ่แล้วแห้ง มีโอกาสผุได้ในเวลาไม่นาน แต่เมื่อใดที่ถูกน้ำ ต้นทองหลางจะอยู่ได้นาน เคยมีการรื้อเรือนไทย แล้วพบมีไม้หมอนจากทองหลางที่อายุกว่า 100 ปีโดยไม่ผุกร่อน

ต้นทองหลางอยู่กับน้ำได้นานๆ
ต้นทองหลางอยู่กับน้ำได้นานๆ

เกษตรกรบางพื้นที่ใช้ทองหลางเป็นหลักแล้วปลูกพลูที่กินกับหมากให้เลื้อยเจริญเติบโตไปตามต้น แรกทีเดียวเข้าใจว่า คงไม่มีใครทราบว่า ทองหลางจะเป็นหลักที่ดี แต่ชาวสวนหาหลักไม่ได้ ก็ลองปลูกๆไป ปรากฏว่าพลูกงอกงามดีกว่าไม้ชนิดอื่นเสียอีก

ยุคสมัยก่อนนิยมใช้ต้นทองหลางที่เป็นไม้เนื้ออ่อน ทำเป็นก้านไม้ขีด แต่ทุกวันนี้มีน้อยลง

งานสวนที่ปลูกทองหลางเป็นกลุ่มใหญ่ จะช่วยให้ธรรมชาติลงตัว มีการพึ่งพากันระหว่างพืชและสัตว์ ลดการระบาดของโรคแมลง ขณะเดียวกันต้นไม้หลักที่ปลูกก็มีความแข็งแรง สิ่งแวดล้อมโดยรวมก็จะดีขึ้น

งานปรับปรุงบำรุงดินของทางราชการ นิยมใช้พืชล้มลุก อย่างปอเทือง ถั่วพร้า โสนแอฟริกัน  พืชเหล่านี้ใช้กับพืชไร่ได้ดี แต่หากนำทองหลางไปใช้ร่วมคงไม่เหมาะสม เพราะเป็นไม้ยืนต้น กรณีของพืชสวน น่าจะพิจารณาใช้ทองหลาง หากทำจริงๆจัง คงประหยัดปุ๋ยได้ไม่มากก็น้อย

เพราะเป็นไม้ที่มีคุณค่า จึงมีคำว่า “ทอง” ใช้เรียกทองหลาง

มีการนำชื่อไม้ทองหลางมาตั้งเป็นชื่อท้องถิ่น อย่างเขตบึงทองหลาง เข้าใจว่า เมื่อก่อนบริเวณนั้นมีบึงน้ำและมีต้นทองหลางขึ้นอยู่เต็มไปหมด ในต่างจังหวัดก็มีชื่อหมู่บ้านและตำบล ที่มีคำว่า”ทองหลาง” เข้าไปเกี่ยวข้อง เช่นตำบลทองหลาง อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี ตำบลทองหลาง อำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา

ในแง่สมุนไพร ทองหลางก็มีคุณสมบัติทางด้านนี้

ใช้เปลือกลำต้นสด มาต้มเอาน้ำกินเป็นยาแก้โรคตับ แก้ไข้ แก้ปวด บวมตามข้อ และแก้ปวดได้ทุกชนิด หรือนำมาบดเป็นผงละเอียดแล้วใช้น้ำผสมเล็กน้อย แล้วใช้อุดฟันแก้ปวดฟัน

นำใบสดมาต้มน้ำกิน แก้ไข้ แก้โรคบิด แก้ปวดเมื่อยตามไขข้อ

ดอกสด นำมาต้มกินเป็นยาขับระดู

เมล็ด นำมาตำละเอียดให้เป็นผง หรือนำมาต้มน้ำกิน เป็นยาแก้พิษงู รักษาฝี

เปลือกราก นำมาต้มกินเป็นยากระตุ้นหัวใจ กระตุ้นไขสันหลัง ทำให้ความดันโลหิตในเส้นโลหิตแดงเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ใบของทองหลางยังมีคุณค่าอาหาร นอกจากคนบริโภคได้แล้ว ยังเหมาะในการนำไปเลี้ยงสัตว์อีกด้วย

ประชากรของทองหลางในปัจจุบันลดลง สาเหตุนั้นมาจาก พื้นที่การเกษตรลดลง

เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยสมัยใหม่ที่ตอบสนองต่อพืชเร็วและสะดวกในการใช้

แต่ทองหลางก็ยังน่าปลูก เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน

ใบทองหลางบ้าน
ใบทองหลางบ้าน
ต้นทองหลางที่บ้านจัดสรรอนุรักษ์ไว้
ต้นทองหลางที่บ้านจัดสรรอนุรักษ์ไว้

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559