ชาวบ้านพิษณุโลกหันปลูกเครื่องเทศ-พืชผักสวนครัว ตลาดต้องการสูง!

ชาวอำเภอเนินมะปราง หันมาปลูกพืชผักสวนครัวขายแทนการทำนา โดยเฉพาะข่า ซึ่งถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าจับตา เพราะเป็นพืชเครื่องเทศที่มีความนิยมสูงในการนำมาเป็นส่วนประกอบในหลากหลายเมนูอาหาร อีกทั้งเป็นพืชที่ทนแล้งใช้น้ำน้อย ต้านทานโรคทางวัชพืชได้ดี ปลูกและดูแลง่าย สรรพคุณมากมายและตลาดมีความต้องการสูง

นางมัธวรรณ แสนลาด หรือป้าน้อย อยู่บ้านเลขที่ 98/1 ม.1 ต.เนินมะปราง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก มีอาชีพทำนา จนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว จึงได้คิดหาอาชีพใหม่ด้วยการเริ่มต้นปลูกข่าในพื้นที่ 1 ไร่ ผลปรากฏว่ารายได้จากการปลูกข่าอ่อนขาย สามารถทำรายได้ดีกว่าการทำนาและมีการดูแลรักษาน้อยกว่า จึงยึดเป็นอาชีพหลักสำหรับครอบครัว ปัจจุบันป้าน้อย ได้ขยายพื้นที่ปลูกข่าในพื้นที่ 6 ไร่ สภาพดินที่เหมาะต่อการปลูกข่ามากที่สุดควรเป็นดินร่วนปนทรายและจะต้องไม่มีน้ำท่วมขัง การเตรียมดินมีการไถดะ, ไถแปรและพรวนชักร่องเหมือนกับการปลูกอ้อย ระยะปลูกที่นิยมคือ 80×80 เซนติเมตร พื้นที่ 1 ไร่ปลูกได้ 2,500 หลุม ต้นพันธุ์ที่จะใช้ปลูกจะใช้เหง้าอ่อนหรือเหง้าแก่ก็ได้

1469694901

โดยข่าที่ปลูกไปแล้วจะเริ่มขุดขายเมื่อมีอายุตั้งแต่ 8 เดือน และจะทยอยขุดขายไปเรื่อย ๆ จนถึงอายุ 2 ปี ช่วงที่เหมาะต่อการขุดข่าขายและมีน้ำหนักดีได้กำไรมากที่สุดควรขุดในช่วงอายุ 10 เดือน ใน 1 กอ จะได้ข่าที่มีน้ำหนักเฉลี่ย 8-10 กิโลกรัม และมีสัดส่วนของข่าอ่อนประมาณ 80% และข่าแก่ประมาณ 20% ในการขุดแต่ละครั้งจะมีออเดอร์สั่งมา จะขุดวันต่อวันเพื่อความสดและจะขุดในช่วงเช้า

ป้าน้อย บอกว่า “ใช้พื้นที่ของตัวเอง ปลูกข่า ตระไคร้ ใบมะกรูดบ้าง แต่ที่ปลูกมากคือ ข่า เพราะข่าเราดูแลก็ไม่ยาก เพราะเป็นพืชที่ไม่ต้องใช้สารเคมีมาก ดูแลแต่พวกเชื้อรา ส่งขายที่พิษณุโลก พิจิตร ราคาก็ขึ้นลงตามกลไกของตลอด ถ้าของขาดก็แพงหน่อย ตอนนี้ ราคากิโลกรัมละ 20 – 25 บาท เราก็จะตัดขุดไปเรื่อย ๆ ขุดได้ทุกวัน หมุนเวียนไป ปลูกรอบหนึ่งใช้เวลา 7-8 เดือน ก็เริ่มตัดได้ ครั้งหนึ่งตัดได้ประมาณ 200 กิโล เพราะเราทำแบบครัวเรือน ส่งขายทีก็ได้ 2000 – 3000 บาท ก็อยู่ได้สบาย ถ้ามีออเดอร์มาก็จะตัดทุกวัน”

ส่วนเคล็ดลับในการรักษาสภาพของเหง้าข่าให้คงความสดและ สีสวยอยู่ได้นานจนถึงปลายทาง ด้วยการตัดแต่งรากและเหง้าให้เสร็จเรียบร้อย นำเหง้าข่าจุ่มลงในน้ำสะอาดที่กวนด้วยสารส้ม (น้ำสารส้มจะช่วยรักษา เหง้าข่าให้ดูสดและสีสวย) หลังจากนั้นบรรจุข่าลงถุงพลาสติกใสน้ำหนัก 10 กิโลกรัมต่อถุง พ่อค้าจะมารับสินค้าในช่วงเวลาบ่ายเพื่อนำไปส่งยังตลาด ต่อไป

ที่มา : มติชนออนไลน์