พุทราไต้หวัน พันธุ์ “มิ่งเฉา” หวาน กรอบ มีกลิ่นหอม

หลายคนยังไม่ทราบว่า ไต้หวัน เป็นประเทศที่มีพุทราสายพันธุ์ดีๆ มากมาย มีเกษตรกรไทยนำพันธุ์พุทราจากไต้หวันมาปลูกในบ้านเราจนประสบผลสำเร็จหลายราย เนื่องจากพุทราไต้หวันมีขนาดของผลใหญ่ รสชาติดี และเป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้วงการการปลูกพุทราในประเทศไทยได้เปลี่ยนจากการปลูกพันธุ์ดั้งเดิมหันมาปลูกพุทราไต้หวันกันมากขึ้น อย่างที่เรารู้จักมักคุ้นกันดี อย่าง พุทราพันธุ์ “ซุปเปอร์จัมโบ้” และ พันธุ์ “ซื่อมี่” ที่คนไทยมักเรียกกันว่า “พุทรานมสด”

มิ่งเฉา สายพันธุ์พุทรายักษ์สายพันธุ์ดีของไต้หวัน

ในขณะเดียวกันที่ไต้หวันเองได้มีการพัฒนาสายพันธุ์พุทราอย่างต่อเนื่อง อย่างกรณีของ พุทราพันธุ์ “มิ่งเฉา” ซึ่งเมื่อแปลเป็นภาษาไทย เรียกว่า พันธุ์ “น้ำผึ้ง” เป็นสายพันธุ์ที่มีการปลูกมากในไต้หวันในปัจจุบันนี้ด้วยคุณภาพที่เนื้อหวานและกรอบ มีกลิ่นหอมมาก มีรูปทรงยาวเป็นรูปกระสวย ขนาดของผลใหญ่ มีน้ำหนักผลเฉลี่ย 6-8 ผล ต่อ 1 กิโลกรัม (ผลใหญ่สุด หนักมากกว่า 300 กรัม) แตกต่างจากพันธุ์ซุปเปอร์จัมโบ้และพันธุ์นมสดที่มีปลูกอยู่ในบ้านเราในขณะนี้ จากการที่ผู้เขียนได้ทดลองบริโภคพุทราพันธุ์ “มิ่งเฉา” พบว่า มีรสชาติหวาน กรอบ มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว และเมล็ดเล็กมาก (เมล็ดเล็กกว่าพันธุ์ซุปเปอร์จัมโบ้)

วิธีการปลูกและบำรุงรักษาพุทราพันธุ์ “มิ่งเฉา”

พุทรามิ่งเฉา หวาน กรอบ มีกลิ่นหอมที่ชวนรับประทาน

มีหลายเรื่องที่น่าสนใจ จากการดูงานปลูกพุทราที่ประเทศไต้หวัน เมื่อปี 2552 พบข้อมูลหลายประการเกี่ยวกับการปลูกพุทราในไต้หวันที่นำมาประยุกต์ใช้ในบ้านเราได้ อาทิ อุณหภูมิของสภาพพื้นที่ปลูกพุทรา เฉลี่ยไม่ควรสูงกว่า 35 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุด เฉลี่ยจะต้องไม่เกิน 5 องศาเซลเซียส สภาพดินที่ใช้ปลูกพุทราในไต้หวันจะให้ความสำคัญในเรื่องของอินทรียวัตถุมาก โดยเฉพาะการใส่ปุ๋ยคอก ค่าของความเป็นกรดและด่างของดิน เฉลี่ย 6-6.5 (pH = 6-6.5) เหมาะสมที่สุด ต้นพุทราไม่ชอบสภาพดินเป็นกรด ถ้าสภาพดินมีค่า pH ต่ำกว่า 5 จะต้องใส่ปูนขาวก่อนปลูก นอกจากนั้น สภาพดินควรจะมีการระบายน้ำที่ดี ถึงแม้จะเป็นสภาพที่ดอนควรจะทำแปลงแบบยกร่องลูกฟูก

ค้างพุทรามิ่งเฉา ปลูกที่ สวนคุณลี จังหวัดพิจิตร

จากการที่ผู้เขียนได้เดินดูสภาพแปลงปลูกพุทราหลายแปลงของเกษตรกรไต้หวัน พบว่า มีพื้นที่ปลูกไม่มาก จะมีการกางมุ้งเพื่อป้องกันแมลง เป็นที่สังเกตว่าการปลูกพุทราไต้หวันหลังจากที่เก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จในแต่ละปี จะมีการตัดแต่งกิ่งทั้งหมดทิ้ง ให้เหลือเพียงต้นตอและกิ่งหลัก หลังจากนั้น จะมีการนำยอดหรือตาพันธุ์ดีมาเสียบใหม่ทุกปี ซึ่งแตกต่างจากการปลูกพุทราพันธุ์ซุปเปอร์จัมโบ้ในบ้านเรา หลังจากที่เก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ จะตัดแต่งกิ่งเหลือเพียงแต่ลำต้นและกิ่งหลักที่สูงจากพื้นดิน ประมาณ 50 เซนติเมตร เท่านั้น เมื่อถึงเดือนเมษายนหรือเข้าสู่ช่วงฤดูฝนจะใส่ปุ๋ยคอกและให้น้ำเต็มที่ จะมีกิ่งและใบอ่อนแตกออกมาใหม่ มีการบำรุงรักษาเพื่อให้ต้นเจริญเติบโตออกดอกและติดผลในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม จะได้พุทราที่มีคุณภาพดีที่สุด

เหตุผลที่มีการติดตาหรือเสียบยอดใหม่ทุกปีของการปลูกพุทราที่ไต้หวันนั้น เนื่องมาจากการเปลี่ยนยอดทุกปีหลังการเก็บเกี่ยวเสร็จ ยอดที่แตกมาใหม่จะมีกิ่งก้านไม่มากจนเกินไป จัดการทรงพุ่มง่าย ซึ่งต่างจากที่ตัดต้นหลังการเก็บเกี่ยวแล้วให้แตกยอดใหม่เหมือนการปลูกพุทราในบ้านเราที่จะได้กิ่งก้านใหม่จำนวนมาก ต้องคอยมาตัดแต่งกิ่งอยู่ตลอดนั่นเอง

การให้ปุ๋ย ในการปลูกพุทราพันธุ์ “มิ่งเฉา”

เลือกผลที่สวยที่สุดไว้เพียง 1 ผล ต่อกิ่งแขนง

ในการให้ปุ๋ยพุทราพันธุ์ “มิ่งเฉา” นั้น จากการสอบถามนักวิชาการเกษตรทางด้านพุทราของไต้หวัน แนะนำปุ๋ยที่มีไนโตรเจนและฟอสฟอรัสสูงในช่วงบำรุงต้นก่อนออกดอก เมื่อกิ่งระยะออกดอกจะเน้นธาตุฟอสฟอรัส ใช้ปุ๋ยเคมี N:P:K = 1:5:1 เมื่อถึงระยะติดผลอ่อน จะเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ย สูตร N:P:K = 5:1:1 และช่วงผลใกล้แก่จะเน้นโพแทสเซียมเพื่อเพิ่มความหวาน ยังมีข้อมูลเดิมว่า การใส่ธาตุโบรอนลงไปในดินจะช่วยให้ผลสวยขึ้น เป็นที่สังเกตว่ารากของต้นพุทราที่หาอาหารนั้น จะอยู่ที่ความลึกไม่เกิน 20 เซนติเมตร รากใหญ่และรากเก่าๆ จะมีหน้าที่ยึดลำต้นให้แข็งแรง รากที่หาอาหารจึงมีอยู่ปริมาณมาก ลึกลงไปเพียง 20 เซนติเมตร เท่านั้น การให้น้ำจะต้องคำนวณให้พอดี ถ้าให้น้ำมากเกินไป ปุ๋ยจะใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่

การผลิตพุทราไต้หวัน ให้ผลใหญ่สม่ำเสมอทั้งต้น

เนื่องจากพุทราสายพันธุ์ไต้หวันมีขนาดของผลใหญ่และให้ผลผลิตดก และวิธีการที่จะทำให้พุทรามีขนาดของผลใหญ่สม่ำเสมอทั้งต้นจะต้องมีการดูแลแตกต่างจากการปลูกพุทราโดยทั่วไป โดยยึดหลักการเทคนิคสำคัญ ดังนี้

เปลี่ยนยอดพันธุ์จัมโบ้เป็นพุทราพันธุ์มิ่งเฉา
  1. หากปล่อยให้ติดผลดกเกินไป จะทำให้ผลมีขนาดเล็กลงและไม่ได้คุณภาพ จะต้องปลิดผลทิ้งบ้าง โดยจะไว้ผลเพียงกิ่งแขนงละ 1 ผล เท่านั้น ยกตัวอย่างเกษตรกรไต้หวันจะให้ความสำคัญในการปลิดผลเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ผลพุทรามีขนาดใหญ่ เป็นเกรดเอให้ได้มากที่สุด ซึ่งส่งผลต่อราคาที่ดี
  2. เมื่อผลพุทราไต้หวันมีขนาดใหญ่เท่ากับผลมะนาวจะต้องห่อผล
  3. หลังจากปลูกพุทราไต้หวันไปได้ 8 เดือน จะเริ่มออกดอกติดผล ใส่ขี้ไก่เพื่อบำรุงต้นและใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 8-24-24 เดือนละ 1 ครั้ง และพ่นปุ๋ยทางใบที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น สูตร 0-0-50 เพื่อบำรุงให้ผลผลิตมีรสชาติดี
  4. เมื่อต้นพุทรามีขนาดของต้นใหญ่ขึ้น ให้ใช้ไม้ไผ่มาทำค้างเป็นรูปตัววี หรือค้างแบบองุ่น เพื่อควบคุมทรงต้น สะดวกต่อการดูแลรักษาและเก็บเกี่ยวผลผลิต
  5. พุทราสายพันธุ์ไต้หวัน ที่ปลูกในเชิงการค้าทั่วไป ที่ให้ผลผลิตเพียงปีละครั้งเดียวเท่านั้น ตั้งแต่ออกดอกจนเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ใช้เวลาประมาณ 120 วัน
  6. การปลูกพุทราไต้หวันในเชิงพาณิชย์ จะต้องมีแรงงานเพียงพอและมีความชำนาญในการปลิดผล ห่อผล และเก็บเกี่ยว เพราะจะต้องทำอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะถ้าห่อผลช้าแมลงวันทองจะเข้าทำลายเสียก่อน

วิธีการเก็บเกี่ยวผลผลิตพุทราพันธุ์ “มิ่งเฉา”

พันธุ์มิ่งเฉา หรือ น้ำผึ้ง ขนาดผลเฉลี่ย 6-8 ผล ต่อกิโลกรัม

เป็นที่สังเกตว่าการเก็บเกี่ยวพุทราพันธุ์ “มิ่งเฉา” จะเก็บเกี่ยวที่ความแก่ของผล 70-85% แล้วนำเข้าห้องเย็นทันที ควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ย 2-6 องศาเซลเซียส พุทราจะคงความสดและคุณภาพดีได้นานเฉลี่ย 15-20 วัน (บางทีอาจอยู่ได้เป็นเดือน) แต่ในการเก็บเกี่ยวแต่ละครั้งจะต้องมีความประณีต อย่าให้ชอกช้ำ โดยปกติถ้าเก็บขายสดเพื่อส่งตลาดจะเก็บเกี่ยวผลผลิตตอนเช้า ตอนบ่ายจะบรรจุหีบห่อส่งตลาดทันที

ปัจจุบัน พุทราพันธุ์ “มิ่งเฉา” จะแบ่งการขายออกเป็น 5 เกรด ดังตารางต่อไปนี้

เกรด A มีน้ำหนักผล 150 กรัม
เกรด B มีน้ำหนักผล 130-150 กรัม
เกรด C มีน้ำหนักผล 110-130 กรัม
เกรด D มีน้ำหนักผล 90-110 กรัม
เล็กสุด มีน้ำหนักผล 90 กรัม

 

จากการสอบถามข้อมูลเกษตรกรไต้หวัน พบว่า ในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น วันตรุษจีน สารทจีน วันไหว้พระจันทร์ ประชาชนชาวไต้หวันจะนำพุทราไปใช้เซ่นไหว้ในเทศกาลมาก และยังเป็นช่วงที่พุทรามีราคาแพงที่สุด

วิธีการปลูกพุทราไต้หวัน พันธุ์ “มิ่งเฉา” ที่ “สวนคุณลี”

การออกดอกและติดผลอ่อนของพุทรามิ่งเฉา

สวนคุณลี อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร โทร. (081) 886-7398 โดยปกติแล้ว พุทรา เป็นพืชที่สามารถปลูกได้ในดินเกือบทุกชนิด ตั้งแต่ดินเหนียว ดินทราย หรือแม้กระทั่งดินลูกรัง ขอเพียงให้มีการปรับปรุงดินที่ดี มีการใส่อินทรียวัตถุจำพวกปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก และดูแลเรื่องการระบายน้ำให้ดีก็สามารถปลูกพุทราได้ผลดี (แต่จะชอบดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำดี) ประกอบการขยายพันธุ์พุทรา “มิ่งเฉา” นั้นจะใช้วิธีการทาบกิ่ง โดยใช้ต้นตอพุทราป่าซึ่งหากินเก่ง ต้นโตเร็วและทนต่อทุกสภาพดิน การปลูกควรปลูกในแนวเหนือ-ใต้ จะดีที่สุด เพราะพุทราต้องการแสงแดดเต็มที่ตลอดวัน กรณีปลูกในพื้นที่ราบ แนะนำให้ปลูกระยะระหว่างต้น 4 เมตร และระยะระหว่างแถว 5 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 80 ต้น

ในการปลูก เกษตรกรส่วนใหญ่จะนิยมใช้กิ่งพันธุ์ที่ได้จากการติดตาหรือทาบกิ่งมาปลูก หรือเกษตรกรบางรายอาจจะใช้วิธีการปลูกต้นตอป่าลงไปก่อน เมื่อตอป่ามีขนาดเท่าดินสอ จึงนำตาพุทรายักษ์ไปติดซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน ตาที่ติดจะแตกเป็นต้นใหม่ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ต้นจะเจริญเติบโตได้เร็วมาก จากการที่สวนคุณลีปลูกพุทราพันธุ์ “มิ่งเฉา” มานานเกือบ 10 ปี ได้รับการตอบรับในเรื่องของรสชาติที่อร่อย หวาน กรอบ และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวมาก (รสชาติหวานกว่าที่เคยรับประทานที่ไต้หวันมาก) ราคาจำหน่าย กิโลกรัมละ 50 บาท

พุทรามิ่งเฉา ขายออกจากสวน กิโลกรัมละ 50 บาท

สำหรับเกษตรกรที่มีเพียงแรงงานในครัวเรือนหรือมีเป้าหมายในการขายผลผลิตพุทราเพียงในตลาดท้องถิ่น ควรจะวางแผนปลูกในพื้นที่ 1 ไร่ ก็เพียงพอแล้ว โดยใช้ระยะปลูกระหว่างแถว 6 เมตร และระหว่างต้น 3 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ประมาณ 90 ต้น ต้นพุทราพันธุ์ไต้หวันที่ปลูกไปเพียง 5-6 เดือน ต้นจะเริ่มออกดอกและติดผลและเมื่อต้นมีอายุได้ครบ 1 ปี จะสามารถเก็บผลผลิตได้อย่างน้อย 1,000 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 ไร่ และเมื่อเข้าปีที่ 2 ขึ้นไป จะได้ผลผลิตทวีคูณมากกว่า 3-4 เท่าตัว คือ 2,000-3,000 กิโลกรัม ต่อไร่ทีเดียว และจะขายผลผลิตจากสวนได้เฉลี่ย กิโลกรัมละ 50 บาท เลยทีเดียว

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2561