ถอดบทเรียน ปัจจัยสู่ความสำเร็จ ของแปลงใหญ่ “เงาะโรงเรียนนาสาร”

“เงาะโรงเรียนนาสาร” หนึ่งในผลไม้โปรดของหลายๆ คน เงาะโรงเรียนนาสาร มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและครองใจผู้บริโภคมานานกว่า 50 ปี เพราะมีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร คือ ขนาดผลใหญ่ สีแดงเข้ม ปลายขนสีเขียว เนื้อล่อน กรอบ หวาน หอม แถมมีรสชาติอร่อยที่สุด

จุดเริ่มต้นของความอร่อย

เงาะโรงเรียนนาสาร มีต้นกำเนิดมาจาก เงาะพันธุ์เจ๊ะมง ซึ่งเป็นเงาะพันธุ์พื้นเมืองของปีนัง ที่ นายเคหว่อง ชาวปีนังได้นำ “เงาะพันธุ์เจ๊ะมง” ติดตัวเข้ามารับประทานที่เหมืองแร่ดีบุก อำเภอบ้านนาสาร หลังรับประทานได้ทิ้งเมล็ดไว้ ด้วยเหตุของดินที่ดีและมีความชุ่มชื้นอุณหภูมิพอเหมาะ ทำให้เมล็ดเงาะที่ถูกทิ้งไว้งอกขึ้นมา จำนวน 3 ต้น ประมาณ พ.ศ. 2500-2501

หลังเลิกกิจการเหมืองแร่ ทางราชการได้ซื้อบ้านพักพร้อมที่ดินของนายเคหว่อง เพื่อนำมาสร้างโรงเรียน “นาสาร” หลังจากต้นเงาะทั้ง 3 ต้น เจริญเติบโตงอกงาม ติดดอกออกผล ปรากฏว่า มีเงาะอยู่ต้นหนึ่งที่มีรสชาติหวานกรอบ เนื้อล่อน อร่อย แตกต่างจากพันธุ์เดิม (เงาะพันธุ์เจ๊ะมง ผลใหญ่ สีแดง ลักษณะทรงรี เปลือกหนา รสไม่หวาน) ครูแย้ม พวงทิพย์ ซึ่งเป็นครูใหญ่โรงเรียนนาสาร จึงนำพันธุ์เงาะดังกล่าวไปให้กับชาวบ้านได้ทดลองปลูก จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของอำเภอบ้านนาสารในเวลาต่อมา และเกิดการกระจายพันธุ์ไปยังจังหวัดต่างๆ โดยชาวบ้านนิยมเรียกชื่อเงาะพันธุ์นี้ ว่า “เงาะโรงเรียนนาสาร” ตามแหล่งกำเนิดคือ โรงเรียนนาสาร

ในปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินไปจังหวัดสุราษฎร์ธานี คุณชัช อุตตมางกูร ผู้นำชาวสวนเงาะได้ทูลเกล้าฯ ถวาย ผลเงาะโรงเรียน และขอพระราชทานชื่อพันธุ์เงาะนี้ใหม่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชดำรัสว่า “ชื่อเงาะโรงเรียนดีอยู่แล้ว” ตั้งแต่นั้นมา เงาะพันธุ์นี้จึงได้ชื่อว่า เงาะโรงเรียนนาสาร อย่างเป็นทางการ ปัจจุบัน จังหวัดสุราษฎร์ธานีได้จัดงานเงาะโรงเรียนขึ้นเป็นประจำ ในช่วงเดือนกรกฎาคม-เดือนสิงหาคมของทุกปี

จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียน สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) เงาะโรงเรียนนาสาร เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2557 กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของเงาะโรงเรียนนาสารอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561 โดยระบุพื้นที่การปลูกเงาะโรงเรียนนาสารครอบคลุมเขตพื้นที่ 3 อำเภอ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้แก่ อำเภอบ้านนาสาร อำเภอบ้านนาเดิม และอำเภอเวียงสระ

ต้นแบบเงาะแปลงใหญ่

ปัจจุบัน “เงาะโรงเรียนนาสาร” ได้รับการยกย่องว่า เป็นต้นแบบเงาะแปลงใหญ่ของประเทศไทย ผลสำเร็จของโครงการ เกิดจากประชาชนส่วนใหญ่ในอำเภอบ้านนาสาร ที่ทำอาชีพสวนเงาะหันมาทำงานรวมกลุ่มในรูปแบบแปลงใหญ่ ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มุ่งส่งเสริมการเกษตรโดยยึดพื้นที่เป็นหลัก

เงาะแปลงใหญ่ ดำเนินงานในลักษณะบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สถานีพัฒนาที่ดินสุราษฎร์ธานี ถ่ายทอดเทคโนโลยีการปรับปรุงบำรุงดิน การใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมี การส่งเสริมการใช้ปุ๋ยตามค่าการวิเคราะห์ดิน สนับสนุนสารเร่ง พด. เมล็ดพันธุ์พืชปุ๋ยพืชสด สารปรับปรุงดิน สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 7 ดำเนินการตรวจรับรองมาตรฐานการผลิตพืช GAP สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี ส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มผู้ผลิตและการตลาด องค์การบริหารส่วนตำบลเพิ่มพูนทรัพย์ สนับสนุนการรวบรวมผลผลิต ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านการอารักขาพืชจังหวัดสุราษฎร์ธานี ถ่ายทอดความรู้ด้านการป้องกันและกำจัดศัตรูพืช เป็นต้น

แผนผังการทำงานแปลงใหญ่เงาะนาสาร

เงาะแปลงใหญ่ มีผู้จัดการพื้นที่เป็นผู้บริหารจัดการทุกกิจกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยมีความเข้มแข็งสามารถบริหารการผลิตและการตลาดร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับฟาร์มขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันสามารถพัฒนากระบวนการทำงานในพื้นที่ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ศักยภาพของพื้นที่ และตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรได้อย่างต่อเนื่อง

คุณสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร (คนที่ 2 จากซ้าย) เยี่ยมชมกิจการ

คุณสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้พาคณะสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมกิจการแปลงใหญ่เงาะโรงเรียนนาสาร ณ หมู่ที่ 4 ตำบลเพิ่มพูนทรัพย์ อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของ คุณวารินทร์ เพชรโกษาชาติ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไม้ผลเพิ่มพูนทรัพย์ บ้านเลขที่ 59 หมู่ที่ 4 ตำบลเพิ่มพูนทรัพย์ อำเภอบ้านนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี โทร. 087-870-4304

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนไม้ผลเพิ่มพูนทรัพย์ ได้เริ่มต้นทำเกษตรแปลงใหญ่เงาะโรงเรียนนาสาร ตั้งแต่ ปี 2558 มีสมาชิก 118 คน เนื้อที่ 1,163 ไร่ เดิมเกษตรกรมีผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 1,000-2,000 กิโลกรัม หลังจากเข้าสู่ระบบแปลงใหญ่ ก็มีผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 4,000-7,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ผลผลิตรวม 3,489 ตัน สมาชิกทุกราย ผ่านการรับรองมาตรฐานระบบการผลิต GAP ทั้งหมด และมีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม

ล้างทำความสะอาดผลเงาะ ก่อนส่งออกไปจีน

แปลงใหญ่เงาะโรงเรียนมีเป้าหมายการดำเนินงาน 5 ด้าน ดังนี้

  1. ลดต้นทุนการผลิต โดยใช้ปุ๋ยเคมีตามค่าวิเคราะห์ดิน ใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนสารเคมี ใช้ปุ๋ยหมักร่วมกับปุ๋ยเคมี
  2. การเพิ่มผลผลิต โดยเน้นการปรับปรุงดิน ตัดแต่งกิ่ง ใช้ฮอร์โมนกระตุ้นการออกดอก การใช้ผึ้งผสมเกสรเงาะ
  3. การเพิ่มคุณภาพผลผลิต โดยยกมาตรฐานการผลิต GAP และดูแลจัดการแปลงปลูกอย่างเป็นระบบ
  4. การตลาด ใส่ใจพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า
  5. การบริหารจัดการ โดยสนับสนุนให้เกษตรกรวางแผนการผลิตร่วมกัน บริหารจัดการจุดรวบรวมผลผลิตร่วมกัน บริหารจัดการน้ำร่วมกัน เป็นต้น

เทคนิคการผลิตเงาะคุณภาพ

คุณวารินทร์ มีพื้นที่ปลูกเงาะ 10 ไร่ ปลูกในระยะห่าง 10×10 เมตร จำนวน 160 ต้น อายุเงาะ 28 ปี โดยดูแลเอาใจใส่แปลงปลูกเงาะอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปี เพราะต้องการให้ต้นเงาะมีผลผลิตคุณภาพดี ขนาดผลใหญ่ 22-24 ผล ต่อกิโลกรัม หลังหมดฤดูเก็บเกี่ยว ช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน จะเตรียมความพร้อมโดยการตัดแต่งกิ่งที่เป็นโรค กิ่งซ้อนออกไป ให้แดดส่องถึง 20% พ่นสารเคมีป้องกันเชื้อรา หว่านสารปรับสภาพดิน (โดโลไมท์) ก่อนใส่ปุ๋ย 1 เดือน ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยเคมี สูตร 32-0-26 ช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ จะฉีดพ่นอาหารเสริม แคลเซียมโบรอน น้ำหมักชีวภาพ ใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน เตรียมแต่งช่อดอกโดยควบคุมน้ำ ให้อาหารเสริมทางใบ ปุ๋ยเกล็ดสูตร 0-43-56 ช่วงเดือนพฤษภาคม เมื่อต้นเงาะติดผลอ่อน จะพ่นสารเคมีป้องกันเชื้อราด้วยกำมะถัน

คุณวารินทร์ เพชรโกษาชาติ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไม้ผลเพิ่มพูนทรัพย์

ปัจจุบัน ทางกลุ่มประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการผลผลิตให้มีปริมาณและคุณภาพที่ดี สามารถลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลง ร้อยละ 20 จากเดิมที่มีต้นทุนการผลิตอยู่ 8.35 บาท ต่อกิโลกรัม เหลือแค่ 6.68 บาท ต่อกิโลกรัม สร้างรายได้แก่สมาชิกไม่ต่ำกว่า ไร่ละ 216,000 บาท สามารถต่อรองด้านราคากับพ่อค้าได้ โดยจำหน่ายสินค้าผ่านกับสหกรณ์การเกษตรบ้านนาสารเจาะตลาดโมเดิร์นเทรด คือห้างท็อปส์ ซุปเปอร์มาร์เก็ต และทางกลุ่มวิสาหกิจพัฒนาไม้ผลเพิ่มพูนทรัพย์ ได้รวบรวมผลผลิตพรีเมี่ยมเกรด ส่งขายตลาดในประเทศและส่งออก ประเทศจีน สิงคโปร์ และมาเลเซีย 

แนะ ระวัง 2 แมลง ศัตรูพืชในสวนเงาะ

ในช่วงอากาศร้อน มีฝนตก และหนาวในเวลากลางคืน กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรชาวสวนเงาะควรเฝ้าระวัง 2 แมลงศัตรูพืช คือ หนอนคืบกินใบ และ แมลงค่อมทอง สามารถพบได้ในระยะที่เงาะแตกใบอ่อนและใบแก่ผสมกัน เกษตรกรควรสังเกตหนอนคืบกินใบ มักพบหนอนกัดกินใบเพสลาด ใบอ่อน และใบแก่ ส่งผลให้การปรุงอาหารของใบไม่เพียงพอ ไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ หากพบหนอนคืบกินใบ ในกรณีที่โคนต้นเงาะโล่งเตียนไม่มีหญ้ารก ให้เกษตรกรเขย่ากิ่งเงาะเพื่อให้ตัวหนอนทิ้งตัวลงสู่พื้นดิน แล้วจับไปทำลายทิ้งนอกแปลงปลูก และให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลงคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร

ส่วนแมลงศัตรูพืชอีกชนิดคือ “แมลงค่อมทอง” ซึ่งเป็นตัวเต็มวัยมักกัดกินใบอ่อน ยอดอ่อน และดอก ใบที่ถูกทำลายจะมีลักษณะเว้าๆ แหว่งๆ หากระบาดรุนแรง ใบอ่อนจะถูกกัดกินจนเหลือแต่ก้านใบ บริเวณยอดพบมูลที่ถ่ายออกมาปรากฏให้เห็น แมลงค่อมทองตัวเต็มวัยเป็นระยะที่สำคัญที่สุด เพราะกัดกินส่วนต่างๆ ของพืช สีของตัวเต็มวัยจะเปลี่ยนไป ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม จึงพบมีหลายสี เช่น สีเหลือง สีเทา สีดำ และสีเขียวปนเหลืองเป็นมัน ตัวเต็มวัยที่พบบนต้นพืชมักอยู่บนลำต้นเป็นคู่หรือเป็นกลุ่มรวมกัน ตัวเต็มวัยมีอุปนิสัยชอบทิ้งตัวลงสู่พื้นดินเมื่อต้นพืชถูกกระทบกระเทือน

หากพบแมลงค่อมทองเข้าทำลายมาก ให้เกษตรกรใช้ผ้าพลาสติกรองใต้ต้นแล้วเขย่าต้นหรือกิ่งเงาะให้ตัวเต็มวัยแมลงค่อมทองหล่นลงสู่พื้นดิน เพื่อเก็บตัวเต็มวัยแมลงค่อมทองรวบรวมนำไปทำลายทิ้งนอกแปลงปลูก และให้พ่นด้วยสารฆ่าแมลงคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 60 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคาร์โบซัลแฟน 20% อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร เกษตรกรควรพ่นให้ทั่วในระยะที่ต้นเงาะแตกใบอ่อน 2-3 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 10-14 วัน