เครื่องเจาะหลุม ฝีมือหนุ่มลพบุรี ขุดหลุมได้เยอะ ลดแรงเหวี่ยง ช่วยให้การเจาะหลุม กลายเป็นเรื่องง่าย

เครื่องเจาะดินรุ่นนี้ลดปัญหาเครื่องสะบัดเหวี่ยงผู้ใช้งาน

“เกษตรกร” นับเป็นงานอาชีพที่เหนื่อยและงานหนัก ต้องทำงานกลางแดดร้อนหรือกลางสายฝนในบางครั้ง การทำสวน ทำไร่ ต้องใช้แรงงานคนจำนวนมาก พืชบางชนิดเพาะปลูกได้เพียงปีละครั้ง ถึงช่วงฤดูเก็บเกี่ยวกลับขายสินค้าได้ในราคาถูก ไม่คุ้มค่ากับตัวเลขค่าใช้จ่าย รวมทั้งแรงกาย แรงใจ ที่ทุ่มเทเวลาทำงานมาตลอดทั้งปี ความล้มเหลวที่เกิดขึ้น ทำให้ลูกหลานเกษตรกรที่เป็นคนหนุ่มคนสาวรุ่นใหม่จำนวนมากปฏิเสธที่จะยึดอาชีพเกษตรกรรมตามรอยพ่อแม่

ความจริง การทำเกษตรในยุคนี้ อาจเป็นเรื่องง่ายๆ สำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่รู้จักลงทุนจัดหาอุปกรณ์เครื่องจักรกลการเกษตรที่ทันสมัยเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เช่น รถไถ เครื่องหว่านข้าว เครื่องเจาะหลุม เป็นต้น ในฉบับนี้ขอพาท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับเครื่องเจาะหลุมรุ่นใหม่ ที่ถูกพัฒนาจากแนวคิดสร้างสรรค์ของหนุ่มลพบุรี ผลงานชิ้นนี้ ช่วยให้การเจาะหลุม กลายเป็นเรื่องง่าย เหมือนกับการปอกกล้วยเข้าปากเลยทีเดียว

รู้จักเกษตรกรคนเก่ง  

คุณปรีชา บุญส่งศรี หรือที่รู้จักกันดีในโลกโซเชียลว่า “ทอม นิวบอร์น” เจ้าของกิจการน้ำหมักชีวภาพ ได้เล่าความเป็นมาของเขาให้ฟังว่า เขาเกิดและเติบโตในครอบครัวเกษตรกร เมื่อเรียนจบการศึกษาในบ้านเกิด ก็ออกเดินทางไปหางานทำที่ กทม. ทำงานหลากหลายอาชีพ แต่ไม่ประสบความสำเร็จตามที่คาดหวัง เขาจึงตัดสินใจกลับบ้านเกิด เพื่อช่วยครอบครัวทำงานอาชีพเกษตรกรรม

คุณปรีชา บุญส่งศรี โชว์เครื่องเจาะดิน
คุณปรีชา บุญส่งศรี โชว์เครื่องเจาะดิน

เมื่อกลับมาบ้าน คุณทอมต้องทำงานขุดดินซึ่งเป็นงานหนักและเหนื่อย คุณทอมจึงมองหาตัวช่วย โดยเลือกซื้ออุปกรณ์เครื่องเจาะหลุมที่มีวางขายในท้องตลาด หลังนำมาใช้งานปรากฏว่า อุปกรณ์เครื่องเจาะหลุมทำงานได้ไม่ค่อยดีนัก ต้องหยุดทำงานบ่อยๆ เมื่อเครื่องเจาะหลุมเจอเศษหิน รวมทั้งเจอปัญหาหญ้าพันใบมีด นอกจากนี้ ยังเจอปัญหาเครื่องสะบัดเหวี่ยงผู้ใช้งาน เสี่ยงทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ หากใช้งานโดยไม่ระมัดระวัง

อาศัยประสบการณ์ด้านงานช่าง ที่เคยเรียนรู้ระหว่างทำงานที่ กทม. คุณทอม ได้ปรับปรุงจุดอ่อนของเครื่องเจาะหลุมให้มีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้นกว่าเดิม เขาถ่ายคลิปการทำงานของอุปกรณ์เครื่องเจาะหลุมดังกล่าว ผ่านทางเฟซบุ๊กของเขา ทำให้อุปกรณ์ชิ้นนี้ได้รับความสนใจจากเกษตรกรทั่วไป เขาจึงเริ่มเปิดการจำหน่ายอุปกรณ์ “เครื่องเจาะหลุม นิวบอร์น” ทางเฟซบุ๊ก ในราคาตัวละ 7,500 บาท สามารถขนส่งสินค้าให้ผู้สนใจได้ทั่วประเทศ ผ่านบริษัทรับส่งพัสดุเอกชน ในราคา 500 บาท 

ใบมีดรูปก้นหอย ช่วยลดแรงต้าน ลดปัญหาหญ้าพันใบมีด
ใบมีดรูปก้นหอย ช่วยลดแรงต้าน ลดปัญหาหญ้าพันใบมีด

จุดเด่น เครื่องเจาะหลุม นิวบอร์น

Advertisement

คุณทอม รีวิวการทำงานของ “เครื่องเจาะหลุม นิวบอร์น” ให้ฟังว่า เขาใช้เครื่องยนต์เบนซิน 2 จังหวะ เฟืองทด 50:1  ใบมีดกว้าง 8 นิ้ว ยาว 60 เซนติเมตร ก้านเจาะยาว 10 เซนติเมตร สามารถเจาะหลุมได้ลึกสุด 70 เซนติเมตร ลักษณะใบมีดเป็นรูปก้นหอย ช่วยลดแรงต้าน ลดปัญหาหญ้าพันใบมีด ลดปัญหาใบมีดติดเมื่อเจอรากไม้หรือเจอหิน เบาแรง ช่วยลดปัญหาเครื่องสะบัดเหวี่ยงผู้ใช้งาน ใช้ล้อลากแบบล้อเดี่ยว สามารถเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ได้สะดวก และเบาแรง

เครื่องเจาะดินรุ่นนี้ลดปัญหาเครื่องสะบัดเหวี่ยงผู้ใช้งาน
เครื่องเจาะดินรุ่นนี้ลดปัญหาเครื่องสะบัดเหวี่ยงผู้ใช้งาน
ใบเจาะกว้าง 8 นิ้ว เจาะได้สุดใบ 70 เซนติเมตร ทุ่นแรงขุดหลุมปลูกต้นไม้ได้เยอะ
ใบเจาะกว้าง 8 นิ้ว เจาะได้สุดใบ 70 เซนติเมตร ทุ่นแรงขุดหลุมปลูกต้นไม้ได้เยอะ

คุณทอม ทดลองโชว์การทำงานเครื่องเจาะหลุมของเขา พบว่า เครื่องเจาะหลุม ขนาดใบเจาะกว้าง 8 นิ้ว สามารถเจาะดินได้สุดใบ 70 เซนติเมตร สามารถทุนแรงขุดหลุมปลูกต้นไม้ได้เยอะมาก สามารถลดแรงเหวี่ยงของรุ่นเดิมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใบเจาะรูปก้นหอย สามารถลดแรงต้าน ลดปัญหาหญ้าพันใบเจาะได้จริง อุปกรณ์เครื่องเจาะหลุมตัวนี้ ทำงานได้ดี และที่สำคัญขายในราคาไม่แพง

Advertisement

tn1

ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 2 จังหวะ เฟืองทด 50:1
ใช้เครื่องยนต์เบนซิน 2 จังหวะ เฟืองทด 50:1

เมื่อถามถึงผลการทดลองอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมัน คุณทอมให้คำตอบว่า หากใช้แก๊สโซฮอล์ 95 จำนวน 1 ลิตร  เครื่องเจาะหลุม นิวบอร์น สามารถเจาะหลุมดินได้ 50 หลุม ในระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง กับสภาพดินเปียกหลังฝนตก ถือว่าเครื่องเจาะหลุม นิวบอร์น ช่วยให้การทำงานขุดดินกลายเป็นเรื่องง่ายๆ และคล่องตัวกว่าเดิม

หากผู้อ่านท่านใด สนใจเครื่องเจาะหลุม นิวบอร์น สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับ คุณทอม หรือ คุณปรีชา บุญส่งศรี ได้ที่บ้านเลขที่ 28 หมู่ที่ 6 ตำบลโคกตูม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี โทรศัพท์ 086-618-2302 หรือ Line ID:organicfertilizer และเฟซบุ๊ก นิวบอร์น น้ำหมักชีวภาพ http://www.facebook.com/organicfertilize

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2559