เตือนด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นในสวนมะม่วงโชคอนันต์นอกฤดู

ช่วงนี้มีสภาพอากาศร้อนชื้นและมีฝนตก กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรชาวสวนมะม่วงโชคอนันต์นอกฤดูให้เฝ้าระวังสังเกตการเข้าทำลายของด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นมะม่วง มักพบตัวเต็มวัยด้วงหนวดยาวเพศเมียวางไข่ฝังไว้ใต้เปลือกลำต้นในเวลากลางคืน เมื่อไข่ฟักตัวเป็นหนอนจะกัดกินชอนไชตามเปลือกไม้ด้านใน ทำให้เกิดยางไหล บางครั้งหนอนอาจควั่นเปลือกไม้จนรอบลำต้น อาจส่งผลให้ท่อน้ำและท่ออาหารถูกตัดทำลายเป็นเหตุให้ต้นมะม่วงทรุดโทรม ใบแห้ง และยืนต้นตายได้ เกษตรกรสามารถสังเกตรอยทำลายได้จากขุยไม้ที่หนอนถ่ายออกมาบริเวณเปลือกลำต้น

เกษตรกรควรใช้วิธีในการป้องกันกำจัดด้วงหนวดยาวเจาะลำต้นมะม่วงแบบผสมผสาน คือ การใช้วิธีกล และการใช้สารเคมีช่วยในการป้องกันกำจัด สำหรับการใช้วิธีกล ให้เกษตรกรหมั่นสำรวจตรวจสวนอย่างสม่ำเสมอ โดยให้สังเกตรอยแผลเล็กและชื้นที่เกิดจากตัวเต็มวัยด้วงหนวดยาวทำขึ้นเพื่อการวางไข่ หากพบให้ทำลายไข่ของด้วงหนวดยาวทิ้งทันที

กรณีพบขุยและรอยทำลายที่เปลือกไม้บริเวณลำต้น ให้ใช้มีดแกะเปลือกไม้ที่พบรอยทำลายออก และจับตัวหนอนมาทำลายทิ้งทันที จากนั้น เกษตรกรควรกำจัดแหล่งเพาะขยายพันธุ์ของด้วงหนวดยาว โดยให้ตัดต้นมะม่วงที่ถูกเข้าทำลายรุนแรงจนไม่สามารถให้ผลผลิตได้ ให้นำออกมาเผาทำลายทิ้งนอกสวน

ส่วนการใช้สารเคมีช่วยในการป้องกันกำจัด หากพบหนอนชนิดที่เจาะเข้าไปในลำต้นมะม่วง ให้เกษตรกรใช้สารฆ่าแมลงคลอร์ไพริฟอส 40% อีซี เข้มข้น 3-5 มิลลิลิตร นำมาฉีดเข้าในรูที่หนอนเจาะทำลาย และใช้ดินเหนียวอุดรูให้แน่น

กรณีพบหนอนชนิดที่เจาะกินใต้เปลือกลำต้น ให้เกษตรกรพ่นให้ทั่วบริเวณต้นและกิ่งขนาดใหญ่ด้วยสารฆ่าแมลงอิมิดาโคลพริด 10% เอสแอล อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอะซีทามิพริด 20% เอสพี อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารไทอะมีทอกแซม 25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 40 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร