สะระแหน่ ผักสมุนไพรคู่ครัวไทย ผักชนิดนี้ ไม่ชอบปุ๋ยเคมีเลย

บนโต๊ะอาหาร สำรับกับข้าววันนี้ ผักเคียงที่นิยมคู่อาหารประเภท ลาบ ยำ พร่า ก้อย น้ำพริก เพิ่มรสชาติกับข้าวเราขึ้นเยอะมาก หากจะสำรวจความนิยมและเรารู้จักกันมากคือ “สะระแหน่” เชื่อว่าหลายบ้านคงมีปลูกไว้ ใส่กระบะ กระถาง อ่าง ปี๊บ ลงแปลงดิน เป็นผักเครื่องเทศ และสมุนไพรชั้นยอด ที่ทุกบ้านไม่ควรละเลยที่จะมีปลูกไว้ ถึงแม้อาจจะดูแลยากไปนิด แต่ถ้ารู้วิธีดูแลรักษา วิธีปลูก ก็จะเป็นเรื่องง่ายๆ สำหรับทุกคน

เคยมีหลายคนที่ได้สัมผัสรู้จักกับสรรพคุณของสะระแหน่กันมาแล้ว ช่วงเข้าสู่ฤดูกาล ปลายฝน ต้นหนาว มักจะเป็นหวัดคัดจมูก ได้เคี้ยวสะระแหน่สักยอดสองยอด เป็นหายใจโล่งสะดวกสบาย ไข้หวัดไม่ได้เกาะแกะแซะตามตัวเรา ไม่เคี้ยวกิน ก็เด็ดยอด ใบแช่น้ำร้อน ดื่มแทนน้ำชา เป็นน้ำยาที่ได้ผลดีเช่นกัน และบ้านเรามีคำพ้องเสียงอยู่คำหนึ่ง ไม่รู้ว่า มีความเกี่ยวพันกันอย่างไรบ้าง สมัยนี้มักจะเอามาใช้ปนกัน ว่ากันตรงๆ คือคำว่า “สาระแน” แปลว่า สู่รู้ไม่เข้าเรื่อง หรือเสือกนั่นกระมัง

“สะระแหน่” เป็นพืชล้มลุก อายุหลายปี แตกต้นกิ่งก้านสาขา เลื้อยไปตามดิน มีขนสั้นๆ นิ่มๆ ปกคลุมทุกส่วนของลำต้น ใบกลมมนรูปไข่ ขอบใบจักแบบซี่ฟัน ออกใบสลับกัน ทุกส่วนมีกลิ่นหอม น้ำมันหอมระเหย

สะระแหน่เป็นพืชในวงศ์ LABIATAE ชื่อวิทยาศาสตร์ Mentha cordifolia Opiz. มีชื่อเรียกกันหลากหลาย ตามภูมิภาคต่างๆ ภาคกลางเรียก สะระแหน่ หรือ สะระแหน่สวน ภาคใต้เรียก สะแน่ มักเงาะ ภาคเหนือเรียก หอมด่วน

สะระแหน่ พบมีอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก ภูมิภาคแถบอบอุ่นและแถบร้อน แบบทวีปเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศไทยเรา มีปลูกกันมาก ทั้งปลูกเป็นการค้าและปลูกเป็นพืชผักสวนครัว สวนหลังบ้าน แม้แต่ปลูกเป็นสวนหย่อมประดับ สวนครัวลอยฟ้า

การปลูกสะระแหน่ เราต้องเข้าใจธรรมชาติของสะระแหน่ก่อนว่า เป็นพืชที่ชอบดินร่วนซุย ชอบที่ลุ่ม มีความชื้นสูง แต่ไม่ชอบที่น้ำขัง ต้องการแสงแดดรำไร ถึงแดดจัด สามารถปรับตัวกับสภาพอากาศได้ดีพอสมควร เช่น อากาศร้อน แดดจัด น้ำน้อย ใบจะเล็ก ก้านใบจะแกร่งแข็ง อาจจะออกสีน้ำตาลถึงสีม่วง เพื่อลดการคายน้ำ การปรุงอาหาร

ถ้าอยู่ในที่ร่มจะพยายามเลื้อยกิ่ง ชูยอดใบไปหาแสง ถ้าอยู่ในกระถางที่จำกัดพื้นที่ รากจะขดเต็มแน่น ต้องคอยเปลี่ยนดิน แยกปลูกที่ใหม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะยุบตายซะก่อน เพราะขาดอาหาร ทั้งๆ ที่ให้น้ำตลอด ก็ไม่รอด

 

การขยายพันธุ์ ใช้วิธีแยกไหล ชำก้าน ที่ยังไม่แก่จัด หรือยอดที่ไม่อ่อนมากนัก บางส่วนถ้าหาก้านที่เริ่มออกรากบ้างแล้ว ก็จะปลูกติดได้เร็วขึ้น หรือถ้าซื้อสะระแหน่มาจากตลาด สามารถชำกิ่งก้านเพื่อให้ออกรากเล็กน้อยได้ โดยเมื่อเด็ดยอดไปกินแล้ว ก้านที่เหลือนำมาทำเป็นแพ หุ้มโคนก้านด้วยกาบกล้วย ไว้ในที่เย็น มีความชื้น 3-5 วัน จะได้ก้านสะระแหน่ที่มีรากงอกออกมา นำไปปลูกใหม่ได้

หรือจะใช้วิธีชำกระบะทราย ขี้เถ้าแกลบดำ ก็ได้ มีเวลาไม่มากพอหรือขี้เกียจมากๆ ก็จิ้มก้านลงดินที่เตรียมไว้เลยก็ได้ แนะนำถ้าเป็นการชำก้านหรือชำยอดอ่อน ควรใช้วิธีชำแบบ “ควบแน่น” คือชำในกระถางขนาดกลาง ใส่ลงในถุงพลาสติกขนาดใหญ่ ชำแล้วปิดปากถุงให้แน่น วางไว้ที่แสงรำไร 3 วัน 5 วัน ได้ต้นสะระแหน่ใหม่ เปิดถุง เอากระถางออกมา แยกต้นปลูกลงกระถางใหม่ หรือแปลงดินที่เตรียมไว้ได้

ข้อสำคัญในการปฏิบัติดูแลรักษา สะระแหน่ไม่ชอบปุ๋ยเคมีเลย เจอเป็นยุบ โดยเฉพาะปุ๋ยยูเรียและปุ๋ยสูตรต่างๆ ถ้ากระถางสะระแหน่มีดินดีอยู่แล้วก็ไม่มีปัญหาด้านการเจริญเติบโต ดินปลูกสะระแหน่ต้องมีสัดส่วนของอินทรียวัตถุมากๆ เช่น มูลสัตว์ ใบไม้ ขุยกาบมะพร้าว แต่ถ้าต้องการจะบำรุงให้ได้ต้นที่อวบอ้วน ปุ๋ยที่ดีที่สุดคือ น้ำล้างปลา ที่มีทั้งเมือกคาว เลือด หรือน้ำล้างเนื้อ ล้างไก่ ก็ได้ คือสุดยอดปุ๋ยสำหรับสะระแหน่

การบำรุงให้สะระแหน่เจริญเติบโตอวบอ้วนสวยงามเป็นการดี แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ ความคงทน สะระแหน่ไม่ใช่พืชที่เราเด็ดกินทุกวัน และไม่ได้เด็ดกินปริมาณมาก ให้เขาเจริญอยู่ตามแบบธรรมชาติของสะระแหน่ จะอยู่นาน

การเก็บหรือเด็ดสะระแหน่ ควรใช้วิธีตัดยอดด้วยมีดหรือกรรไกร อย่าใช้วิธีเด็ด เพราะจะพลั้งเผลอ เวลาเด็ดมักจะออกแรงดึงต้นขึ้นมา ทำให้รากขาดได้ โบราณว่า ผู้หญิงมีประจำเดือน ไม่ให้ไปเด็ดสะระแหน่ เพราะจะนั่งยองๆ เด็ดยอดสะระแหน่ ก็ลำบาก มักจะยืนแล้วก้มไปดึงเด็ดยอดสะระแหน่ ยุบ ตาย เป็นข้อสันนิษฐานของผู้เขียนเมื่อได้ฟังคำบอกเล่าจากผู้แก่

สะระแหน่ มีรสเผ็ด เย็น ก็คือรสเมนทอลนั่นแหละ มีสรรพคุณเป็นยาช่วยขับลม ขับเหงื่อลดความร้อน ระบายความร้อน แก้ไข้หวัด รักษาอาการท้องอืด ขับเลือดที่คั่งค้างภายในร่างกาย ชงน้ำร้อนดื่มช่วยย่อยอาหาร สามารถนำมาเป็นผักสด แกล้มกับยำ พร่า ลาบ ใบสะระแหน่ทอด ปรุงรสและกลิ่นข้าวหมกไก่ ข้าวหมกแพะ ช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ ปลาได้ ให้กลิ่นและสีสัน ชวนให้อาหารน่ารับประทาน เป็นทั้งเครื่องเทศ เป็นทั้งสมุนไพร เป็นผักสด มีสารอาหารต่างๆ มากมาย และมีเส้นใยอาหารอย่างมากด้วย