ส้มโมง…ผักรสเปรี้ยว ที่น่าปลูก

ในบรรดาผักพื้นบ้านที่มีรสเปรี้ยวทั้งหลายนั้น ผักที่เป็นที่นิยมรับประทานมากที่สุดของชาวอีสาน น่าจะเป็นผักติ้วขาว ใบส้มโมง และยอดมะกอกป่า โดยเรามักจะพบเห็นแม่ค้านำมาวางขายตามตลาดสดหรือตลาดนัดอยู่เสมอๆ โดยที่ยอดผักติ้วกับยอดมะกอกอาจจะเห็นได้ค่อนข้างบ่อย ส่วนใบส้มโมง (หรือบางจังหวัดเรียกว่า ผักโมง หรือหมากโมง) นั้น อาจจะเห็นได้ไม่บ่อยนัก แล้วแต่ที่ตั้งของจังหวัดนั้นๆ หากจังหวัดไหนมีป่าธรรมชาติเหลืออยู่มากก็อาจจะพบเห็นได้บ่อย แต่หากจังหวัดไหนเหลือป่าธรรมชาติอยู่น้อยก็นานๆ ครั้ง จึงจะได้เห็นผักรสเปรี้ยวชนิดที่ว่านี้

แท้ที่จริงผักชนิดนี้เป็นผักที่พบเห็นได้ในภาคอื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคใต้และภาคตะวันออก เพียงแต่ว่า ชาวบ้านเรียกชื่อผักส้มโมงต่างออกไป ในเทคโนโลยีชาวบ้านฉบับนี้ เราจะลองไปติดตามดูว่า ผักส้มโมง ผักโมง หรือหมากโมง นั้น ชาวบ้านในภาคอื่นเรียกชื่อว่าอย่างไร?

ส้มโมง หรือ ชะมวง

ส้มโมง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Garcinia cowa Roxb. ex DC. อยู่ในวงศ์ Guttiferae วงศ์เดียวกันกับมะขามแขก มังคุด และมะพูด ชื่อที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางก็คือ ชะมวง หรือที่ชาวใต้เรียกว่า ใบมวง หรือ กะมวง นั่นเอง ซึ่งพอเอ่ยชื่อ ชะมวง ออกมา หลายคนต่างก็พากันร้อง อ๋อ ขึ้นมาทันที

เพราะหลายคนเคยลิ้มรสของแกงหมูชะมวง แกงส้มไข่ปลาเรียวเซียว แกงเนื้อใส่ใบชะมวง ต้มเนื้อใบชะมวง ต้มส้ม หรือยำชนิดต่างๆ มาแล้ว โดยเฉพาะชาวใต้และชาวจันทบุรีคงจะรู้ได้ดีว่าตำรับอาหารที่ได้เอ่ยชื่อมานั้นมีรสโอชาขนาดไหน แม้แต่คนเขียนเอง ขณะที่เขียนเรื่องนี้อยู่ก็ยังต้องกลืนน้ำลายลงคอไปพลางๆ เพราะอัตลักษณ์เฉพาะตัว (รสเปรี้ยว) ของผักดังกล่าว

ส้มโมง เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 15-20 เมตร เรือนยอดมีลักษณะเป็นพุ่มรูปกรวยต่ำ แตกกิ่งชั้นเดียว เปลือกเรียบ สีน้ำตาลปนเทาเข้ม เปลือกชั้นในสีแดง มีน้ำยางสีเหลืองซึมออกมาเป็นเม็ดๆ, ใบเดี่ยว รูปรีแกมรูปหอก ผิวใบเกลี้ยง ปลายใบเรียวแหลม ใบอ่อนมีสีแดงอมเหลือง เมื่อแห้งเป็นสีน้ำตาลแกมชมพู, ดอก อยู่ต่างต้นและมีกลิ่นหอม

ผล รูปกลมแกมรูปไข่ ลักษณะคล้ายผลมังคุด เมื่อสุกสีเหลืองส้ม เมื่อแห้งมีสีดำ และมีเมล็ดในสีส้ม ระยะเวลาที่ออกดอก คือ เดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน และติดผล (ช่วงผลแก่) ราวๆ เดือนเมษายน-พฤษภาคม ที่ว่าดอกอยู่ต่างต้น หมายความว่า มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียแยกอยู่คนละต้น

ในเมื่อพี่น้องของเรา ในเกือบทุกภาค ต่างก็รู้จักส้มโมง หรือชะมวงเป็นอย่างดี อีกทั้งยังรู้จักวิธีการที่จะนำเอาใบเพสลาดของชะมวงไปปรุงอาหารในตำรับต่างๆ เป็นอย่างดีอยู่แล้ว เหตุใดเล่าที่เกษตรกรของเราจะไม่คิดปลูกชะมวงขึ้นไว้ในไร่ในสวนของตนเอง หากปลูกน้อยก็พอได้ใช้ประกอบอาหาร ไม่ต้องซื้อผักจากตลาด ประหยัดเงินในกระเป๋าได้

แต่หากปลูกมาก ก็น่าจะนับเป็นไม้เศรษฐกิจ ใช้เป็นสินค้าวางตามตลาดนัดใกล้บ้าน สร้างเงินให้แก่ครอบครัวได้ หรือคนที่มีหัวก้าวหน้าหน่อย ก็อาจจะนำเมล็ดมาเพาะต้นพันธุ์ขายได้ เป็นการเผื่อแผ่แก่เกษตรกรรายอื่นและเป็นการหารายได้ไปในเวลาเดียวกัน แม้จะขายได้เพียงต้นละ 20-30 บาท ก็นับว่าไม่เหนื่อยเปล่า

เพื่อว่าคนที่ยังไม่เคยชิมต้มขาหมู (ใส่ใบชะมวง) แบบชาวจังหวัดระยอง หรือต้มส้มปลาไหล ต้มเครื่องใน หรือต้มส้มปลาแห้ง หรือต้มกระดูกหมู-กระดูกวัว (ตำรับชาวใต้) ก็จะมีโอกาสได้ชิมเพิ่มมากขึ้น

คุณค่าสารอาหารจากใบอ่อนชะมวง

กองโภชนาการ กรมอนามัย เคยศึกษาคุณค่าสารอาหารจากใบอ่อนของชะมวง พบว่า ใบชะมวง 100 กรัม พบว่ามีสารอาหารหลักๆ คือ พลังงาน 51 กิโลแคลอรี โปรตีน 1.9 กรัม ไขมัน 0.6 กรัม คาร์โบไฮเดรต 9.6 กรัม แคลเซียม 27 มิลลิกรัม วิตามินเอ 7,333 หน่วยสากล (I.U.) และยังมีวิตามินบี 1 วิตามินซี และไนอะซิน

ส่วนที่จะนำมาใช้ประโยชน์ได้นั้น นอกจากใบเพสลาดและยอดอ่อนแล้ว ผลอ่อนก็ยังนำมาใช้ในการประกอบอาหารได้ นอกจากนี้ ส่วนต่างๆ ของชะมวงก็ยังมีรสเปรี้ยวที่มีสรรพคุณทางยาอีกด้วย กล่าวคือ ใบและผล-ใช้กัดเสมหะ แก้ไข้ ระบายท้อง และแก้ธาตุพิการ, ผลอ่อน-แก้ไข้ ระบายท้อง กัดเสมหะ ฟอกโลหิต และราก ใช้แก้ไข้

โดยธรรมชาติแล้ว ชะมวงเป็นไม้ที่พบกระจายพันธุ์ทั่วไปในป่าดิบชื้นที่ลุ่มต่ำ และแถวป่าพรุทางภาคใต้และภาคตะวันออก ส่วนแถวป่าในเขตภูพานก็ทราบว่ามีส้มโมงขึ้นอยู่ประปราย แต่ไม่ทราบว่าปัจจุบันนี้จะเหลืออยู่มากน้อยขนาดไหน ถ้ามันเหลืออยู่น้อยนัก พี่น้องชาวอีสานก็เร่งช่วยกันปลูกก็สิ้นเรื่อง ในไม่ช้าป่าแถบอีสานก็จะมีส้มโมงให้เก็บกินเช่นเดียวกับในอดีต

นอกจากชะมวงแล้ว ยังมีไม้ในวงศ์เดียวกันกับชะมวงอีก แต่ต่างชนิดกัน เรียกชื่อว่า ชะมวงป่า หรือชะมวงกา (นราธิวาส) เป็นไม้ที่พบมากในแถบภาคใต้ มีลักษณะคล้ายๆ กับชะมวง ผลและใบ สามารถนำมาแกงส้ม ใส่ในต้มแกงได้ หรือรับประทานเป็นผักสดได้ ชะมวงป่า มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Garcinia bancana Mig. ก็ขอนำมาบอกกล่าวไว้เป็นของแถม

คนที่มีต้นชะมวง หรือต้นส้มโมงอยู่แล้ว ก็ขอให้ท่านจงเข้าใจว่า ท่านมีของดีไว้ในครอบครองแล้ว และจงอย่ารีรอที่จะศึกษาตำรับอาหารต่างๆ ที่ปรุงด้วยใบและผลอ่อนของชะมวงให้มากขึ้น คนอีสานที่อาจจะคุ้นเคยอยู่กับอาหารประเภทลาบ พล่า และส้มตำ หรือแม้แต่แจ่วฮ้อน ก็ควรจะศึกษาอาหารที่ใช้ใบชะมวงตามตำรับชาวใต้ หรือชาวภาคตะวันออก เช่น แกงหมูชะมวง ต้มขาหมู หรือต้มส้มต่างๆ ไว้บ้าง

และในทางกลับกัน พี่น้องชาวใต้หรือชาวภาคตะวันออก ก็อาจจะศึกษาการปรุงอาหารตำรับอีสานที่ใช้ใบชะมวงเป็นผักแกล้มหรือผักปรุงรสไว้บ้าง หากทำได้เช่นนี้ ไม่ว่าเราจะเดินทางไปในภาคไหน เราก็จะหาอาหารตำรับที่เข้ากับใบชะมวงได้ทั่วไป การใช้ใบชะมวงและผลชะมวงก็จะกว้างขวางขึ้น เกษตรกรผู้ปลูกชะมวงก็จะมีต้นไม้เป็นที่พึ่งได้อีกชนิดหนึ่ง เพราะตลาดกว้างขึ้นนั่นเอง

ต้นส้มโมง ส้มมวง หมากโมง หรือชะมวง หากเริ่มปลูกในวันนี้ อีกเพียง 2-3 ปีข้างหน้า ก็จะมีผักชะมวงไว้รับประทานแล้ว ฉะนั้น หากใครคิดได้ในวันนี้ หาต้นพันธุ์มาปลูกเสีย ในอนาคตเราก็จะไม่น้อยหน้าพี่น้องชาวใต้ ชาวตะวันออก หรือแม้แต่ชาวอีสานอีกต่อไป