เกษตรกรเกษตรสมบูรณ์ ปลูก และแปรรูปยาสูบ จำหน่าย

ในบรรดาพืชที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรของอำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ มีหลายชนิด อาจเป็นเพราะความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ รวมไปถึงอากาศ ทำให้ผลผลิตหลายอย่างมีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด จนสร้างรายได้ให้กับชาวเกษตรสมบูรณ์ทุกคน

แสดงวิธีการตากยาเส้นหลังจากหั่น

บ้านร่องแสนคำ หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านเป้า อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ถือเป็นหมู่บ้านหนึ่งและอาจเป็นเพียงหมู่บ้านเดียวที่ประสบความสำเร็จในด้านการปลูกยาสูบ ที่น่าสนใจเพราะเป็นพืชอีกชนิดที่สร้างรายได้อย่างงดงามให้กับชาวบ้าน

จากข้อมูลของสำนักงานเกษตรอำเภอเกษตรสมบูรณ์ระบุว่า มีเกษตรกรที่ปลูกยาสูบทั้งหมด จำนวน 341 ราย มีพื้นที่ปลูกยาสูบทั้งหมด จำนวน 1,175 ไร่

ตัวเลขดังกล่าวแม้จะดูน้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมดของอำเภอ แต่หากดูตัวเลขที่เป็นมูลค่ารายได้แล้วถือว่าไม่น้อยเลย ที่สำคัญยังสร้างรายได้อย่างมากให้กับเกษตรกรที่ปลูกยาสูบ และอาจจะมากกว่าพืชหลักเสียด้วยซ้ำ

คุณประกาย ดาวศรี เกษตรกรที่ปลูกยาสูบของบ้านร่องแสนคำ แล้วเธอยังมีบทบาทในการทำหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านดูแลทุกข์สุขและความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่ หมู่ที่ 6 ตำบลบ้านเป้า อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ขณะเดียวกันได้มีกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกยาสูบจำนวนเกือบ 20 คน ร่วมกันเดินทางมาเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกยาสูบ

บรรจุหีบห่อเตรียมส่งขาย

ผู้ใหญ่ประกายกล่าวว่า ชาวบ้านร่องแสนคำ ไม่ได้เน้นการปลูกยาสูบเป็นรายได้หลักนอกจากการปลูกข้าวเท่านั้น แต่มีการปลูกผักและพริกเข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งคุณภาพพริกอาจสู้ที่อื่นไม่ได้ แต่เป็นพริกที่ทางหมู่บ้านเน้นให้เป็นพริกปลอดสารเคมี

เริ่มปลูกยาสูบ สร้างรายได้ดี

ด้านความเป็นอยู่ของชาวบ้านผู้ใหญ่บอกว่าเมื่อก่อนชาวบ้านมีฐานะความเป็นอยู่ไม่ค่อยดีเท่าที่ควร ต่อมาภายหลังที่ได้เริ่มประกอบอาชีพปลูกยาสูบ ปรากฏว่าสามารถสร้างรายได้ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แถมยังมีการออมเกิดขึ้นอีก

“ชาวบ้านที่นี่ไม่ได้มีการจัดตั้งกลุ่มถาวรแต่อย่างใดเลย เพียงแต่ในตอนแรกมีการรวมตัวกันของชาวบ้าน 56 หลังคาเรือน ได้เข้ายื่นของบประมาณจากทางองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 1 แสนบาท จากนั้นได้มีการจัดสรรแบ่งเป็นเงินต้นทุนและแจกจ่ายให้กับบรรดาลูกบ้านเพื่อเป็นทุนในการเริ่มต้นทำอาชีพ” คุณประกาย เผย

ชาวบ้านกว่า 90 เปอร์เซ็นต์

ปลูกยาสูบทันที หลังเก็บเกี่ยวข้าว

รุ่นนี้รอการเก็บคราวต่อไป

นับจากนั้นชาวบ้านจึงเริ่มทำอาชีพปลูกยาสูบและเป็นอีกอาชีพหนึ่งภายหลังการเก็บเกี่ยวข้าวที่ทำรายได้อย่างงดงาม ชาวบ้านร่องแสนคำ ถือเป็นหมู่บ้านแรกที่เริ่มปลูกยาสูบ ดังนั้นจึงถือเป็นต้นแบบของการผลิตยาสูบ และคุณภาพใบยาสูบจะดีกว่าที่อื่น

คุณประกาย ดาวศรี ในฐานะที่เป็นเกษตรกรรายหนึ่งที่ปลูกยาสูบแบบครบวงจร คือทั้งการปลูกต้นยาสูบ การเก็บ บ่ม แปรรูปเป็นยาเส้น การบรรจุผลิตภัณฑ์ ไปจนกระทั่งการจัดจำหน่าย ได้กล่าวว่า ชาวบ้านร่องแสนคำทำยาสูบกันเกือบทุกครัวเรือน เรียกว่าประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ จำนวนเนื้อที่ของแต่ละครัวเรือนที่ทำมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับผืนนาที่มี แต่บางครอบครัวไม่มีผืนนาเป็นของตัวเองก็อาจไปเช่าทำ ส่วนรายได้จากการทำยาสูบถือเป็นทั้งรายได้หลักและรายได้เสริม ระยะเวลาปลูกเพียงปีละครั้ง และจะเริ่มลงมือปลูกหลังทำนาเสร็จ

“จำนวนต้นประมาณ 3,500 ต้น ต่อไร่ แต่อาจมีมากหรือน้อยกว่านี้ ขึ้นอยู่กับระยะห่างของต้นที่แต่ละแปลงปลูกเว้นไว้ไม่เท่ากัน แต่ข้อควรระวังคือ ไม่ควรปลูกใกล้กันมาก เพราะเวลาเจริญเติบโตใบจะเบียดกัน ทำให้ใบไม่ใหญ่และขาดความสมบูรณ์ทั้งเรื่องน้ำหนัก ความหนา แล้วจะส่งผลต่อราคาจำหน่ายด้วย

ความสูงของต้นขึ้นอยู่กับความต้องการของเกษตรกรแต่ละแห่ง บางที่ต้องการ ต้นละ 8 ใบ บางที่ต้องการต้นละ 12 ใบ แต่ความสูงโดยเฉลี่ย ประมาณ 80 เซนติเมตร การใส่ปุ๋ยก็ควรใส่ให้พอเหมาะ เพราะถ้าใส่มากใบจะไม่เหลือง ถ้าน้อยไปสีจะซีด สำหรับพันธุ์ที่ใช้มี 2 ชนิด คือ อีดำ และเวอร์จีเนีย” คุณประกาย แจงในเบื้องต้น

ใบล่างสุดจะแก่ก่อน

เพื่อให้ใบสวย ต้องใส่ปุ๋ยให้เหมาะสม

และอย่าขาดน้ำเด็ดขาด

เกษตรกรรายหนึ่งอธิบายถึงวิธีการปลูกยาสูบว่าจะเริ่มด้วยการหว่านเมล็ดลงในแปลงปลูกก่อน ซึ่งบางคนอาจเพาะให้แตกต้นอ่อนก่อน โดยใช้ปุ๋ยหมักกับปุ๋ยคอกผสมกับดิน และไม่ต้องปูฟาง แต่จะใช้แกลบคลุมแทน ควรรดน้ำให้ชุ่มอย่างสม่ำเสมอทุกวัน พอต้นโตขึ้นมาประมาณ 1-2 เดือน ที่ความสูงประมาณ 15 เซนติเมตร ให้ย้ายไปปลูกในแปลงที่เตรียมไว้ และในแปลงนั้นเกษตรกรจะต้องไถดินเตรียมไว้ก่อน บางคนอาจไม่ไถเพราะกลัวเสียค่าใช้จ่ายมากก็จะไปปลูกทันที

“เมื่อปลูกลงในแปลงจะต้องใช้ฟางคลุมให้มีความพอดี ไม่หนา หรือบางเกินไป ควรรดน้ำให้ชุ่ม จากนั้นขึงเชือกให้เป็นแถว แนว แล้วให้ปลูกตามแนวที่กำหนด ด้วยระยะห่างของต้นไม่ต่ำกว่า 75 เซนติเมตร และระยะแถวไม่ควรต่ำกว่า 80 เซนติเมตร เพราะต้องเว้นเป็นทางเดินเข้าไปเก็บใบ

ประมาณ 7 วัน ให้เริ่มใส่ปุ๋ยทีละน้อย เป็นปุ๋ย สูตร 15-15-15 ผสมน้ำหยอดลงไป และเพิ่มปริมาณเมื่อต้นโต เมื่อต้นมีความสูงที่ 40-50 เซนติเมตร ต้องเปลี่ยนไปใช้ปุ๋ยเพื่อบำรุงใบอย่างเดียว สูตร 21-0-0   และควรใช้ปุ๋ยในปริมาณ 1,000 ต้น ต่อปุ๋ย 1 กระสอบ หากทำเช่นนี้ยาสูบจะมีคุณภาพทั้งใบและสี

กำลังบ่ม

พอได้ความสูงประมาณ 50-60 เซนติเมตร จึงเริ่มเด็ดยอดหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าตอน การเด็ดยอดนี้เพื่อต้องการให้ปุ๋ยที่ใส่เดินทางไปเลี้ยงเฉพาะใบที่ต้องการเท่านั้น เรียกง่ายๆ ว่าเป็นการควบคุมความสูงไว้ เพื่อให้ได้ใบที่มีอยู่มีขนาดใบใหญ่ ทั้งนี้จะต้องมียาหยอดเพื่อควบคุมแขนงไม่ให้โต ที่สำคัญต้องรดน้ำให้มากๆ อย่าขาดน้ำเด็ดขาด” เกษตรกรรายเดิมอธิบาย

ต้นยาสูบเก็บใบได้หลายคุณภาพ

คุณประกาย บอกว่า จะเริ่มปลูกประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ใช้เวลา 3 เดือน จึงเก็บผลผลิตยาสูบประมาณเดือนมีนาคม จากนั้นเก็บได้ทุก 3 เดือน

เธอบอกต่ออีกว่า ต้นที่เก็บใบออกหมดแล้ว จะปล่อยให้แตกใบอ่อนหรือที่ชาวบ้านเรียกว่าแขนง ซึ่งแขนงนี้เองสามารถเก็บไปบ่มได้อีก แต่ราคาจะถูกกว่า เพราะถือเป็นยาจืด ส่วนมากคนแก่นิยมนำไปใช้กินกับหมาก และจะทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งหมดฤดู แล้วจึงไถกลบทิ้งเพื่อเตรียมทำนาต่อไป

“ให้สังเกตว่า ถ้าต้นมีใบสัก 12 ใบ แล้วจึงเด็ดยอดอ่อนด้านบนออก จากนั้นใบที่อยู่ด้านล่างจะขยายขนาดออก แล้วขนาดใบจะค่อยทยอยโตจากด้านล่างขึ้นไปด้านบน พอใบแก่ได้ที่จึงทยอยเก็บ สำหรับใบที่ใช้งานได้เมื่อเก็บจากต้นแล้วจะฉีกทางที่อยู่แกนกลางของใบออก เพื่อให้เหลือแต่เนื้อใบล้วน และระหว่างนั้นจะต้องคัดเกรดใบแยกไว้ด้วย เพราะหลังจากที่บ่มแล้วจะได้สีที่สม่ำเสมอ

ใบที่ฉีกทางแล้วนำมาวางซ้อนกันแล้วม้วนนำไปเก็บไว้ในโรงเรือนที่ไม่โดนแดด ฝน และลม จะทิ้งไว้ประมาณ 3-4 วัน ทั้งนี้ระยะเวลาการบ่มขึ้นอยู่กับลักษณะความแก่ของใบยา” คุณประกาย บอก

ราคาดี อยู่ที่สีใบด้วย

เครื่องหั่นใบยา ที่ใช้มากว่า 20 ปี

สีของใบยาสูบจะเป็นตัวหนึ่งที่กำหนดราคาสูงหรือต่ำ สำหรับสีที่ตลาดต้องการคือ สีเหลืองอมแดงเล็กน้อย ดังนั้นเพื่อให้ได้สีที่ต้องการและมีความสมบูรณ์ของใบ เกษตรกรจะต้องคอยหมั่นสังเกตอยู่เสมอ และควรปรับปริมาณปุ๋ยที่ใช้ควบคู่ไปด้วย อีกทั้งการใส่ปุ๋ยควรใช้ความระมัดระวังอย่าให้ไปโดนใบ เพราะมิฉะนั้นทำให้เกิดจุดด่างแล้วจะเสียราคาทันที

หลังจากบ่มเสร็จให้นำมาหั่นแล้วตากแห้ง การหั่นใบยาในสมัยก่อนชาวบ้านจะหั่นด้วยมือ ซึ่งจะต้องใช้ความชำนาญมาก ทั้งนี้เพื่อให้เส้นยาที่หั่นแล้วมีขนาดเท่ากัน

แต่ในปัจจุบันมีวิวัฒนาการมากขึ้น ได้นำเครื่องหั่นไฟฟ้าเข้ามาใช้งาน ทำให้สามารถย่นเวลาได้เร็ว พร้อมกับปริมาณงานที่มากขึ้น

การผลิตยาสูบจะมีการแบ่งช่วงของการเก็บใบเป็นสามช่วง ขณะเดียวกันการแบ่งดังกล่าวถือเป็นการแบ่งเกรดของยาสูบไปในตัว ดังนี้ ช่วงที่ 1 เป็นยาแรกหรือยาตีนที่หมายถึงใบยาสูบที่อยู่ล่างสุดและจะแก่ก่อนใบอื่น ช่วงที่ 2 ยากลาง และช่วงที่ 3 ยาสุดท้าย ทั้งนี้ยาแรกจะสวยและราคาดีกว่า นอกจากนั้นอาจมีใบยาแขนงซึ่งมีคุณภาพด้อยที่สุด

หนอนผีเสื้อ ปัญหาสำคัญ

การปลูกต้นยาสูบที่ผ่านมามักพบปัญหาแมลงกินใบ นั่นคือ หนอนผีเสื้อ ดังนั้น การแก้ปัญหาของเกษตรกรส่วนมากใช้วิธีพลิกดูตามใบ เมื่อพบก็จะทำลาย แต่หากพบมากและบ่อยมักจะใช้สารฉีดพ่นและเกษตรรายหนึ่งกล่าวว่าเคยใช้สารอินทรีย์ฉีดพ่นตามคำแนะนำของสำนักงานเกษตรอำเภอแล้ว แต่ไม่ได้ผล

ปัญหาดังกล่าว ท่านเกษตรอำเภอซึ่งได้ติดตามไปในครั้งนี้ บอกเพิ่มเติมว่า การที่คนปลูกมักเข้าใจว่าการใช้สารอินทรีย์ในการปราบหนอนผีเสื้อไม่ค่อยได้ผลหรือไม่ค่อยทันใจ เพราะมีความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน

“จริงๆ แล้วหนอนกลัวยาสูบ แต่ปรากฏว่าหนอนจะเข้ามาในตอนวัยอ่อน คือตอนที่ต้นยาสูบยังอ่อนอยู่ ยังไม่แก่ สารที่เป็นนิโคตินที่อยู่ในใบหนอนจะกลัวมาก ดังนั้น หากสังเกตจะพบว่าในช่วงใบแก่หนอนจะไม่กินใบ คราวนี้ถ้าหนอนจะกินใบหรือต้นจะเลือกกินในช่วงใบอ่อน

แนวทางการแก้ไขคือ ควรใช้ใบยาสูบที่แก่ของปีนี้บ่มไว้ใส่น้ำยาแล้วแช่ทิ้งไว้เช่นเดียวกับการทำน้ำหมัก จากนั้นให้นำมาฉีดพ่นตอนวัยอ่อนของปีถัดมาในรุ่นใหม่ และควรฉีดในวัยที่ 1 และ 2 ของหนอน ซึ่งถือเป็นวัยอ่อน หากทำเช่นนั้นแล้วหนอนก็จะตาย แต่ถ้าปล่อยหนอนไว้จนกระทั่งเป็นวัยที่ 3-4 ซึ่งเป็นวัยแก่แล้วคงลำบาก ใช้ยาดังกล่าวไม่ได้ผล” ท่านเกษตรอำเภออธิบาย

ส่วนปัญหาแมลงศัตรูพืชอีกชนิดที่มักพบในต้นยาสูบคือ เพลี้ยอ่อน ที่มักจะพบได้ในช่วงการปลูกระยะกลาง สิ่งที่สำคัญและจะช่วยบรรเทาปัญหาได้คือ อย่าให้ขาดน้ำ เพราะหากขาดน้ำ เพลี้ยจะลงต้นทันที และการป้องกันเพลี้ยคือ การใช้ยาฉีด

ทางด้านการจำหน่าย จะมีพ่อค้ามารับซื้อโดยตรง และราคาที่ซื้อขายกันจะถูกกำหนดโดยพ่อค้าเช่นกัน ที่ผ่านมาราคามักขึ้นลงตามปริมาณยาสูบในตลาด เช่นถ้ามีมากราคาจะตก แต่ถ้ามีน้อยราคาจะสูง อย่างไรก็ตาม ราคาที่เคยซื้อขายกันสูงสุด ที่ราคา 120 บาท ต่อกิโลกรัม และต่ำสุด ที่ราคา 40 บาท ต่อกิโลกรัม ปัจจุบัน ราคายาสูบ กิโลกรัมละ 100 บาท บรรจุถุงใหญ่ จำนวน 10 กิโลกรัม ถ้าเป็นยาแขนงหรือยาลูกขายกิโลกรัมละ 40 บาท

นอกจากนั้นแล้ว เพื่อเป็นการดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของชาวบ้านร่องแสนคำ ที่มีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีควบคู่ไปกับการทำเกษตรกรรม และอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพในระยะยาว ดังนั้น จึงมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ของโรงพยาบาลส่งเสริมตำบลบ้านเป้าได้เดินทางเข้ามาตรวจสุขภาพของชาวบ้านในละแวกนี้ทุกคน

สนใจขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณประกาย ดาวศรี โทรศัพท์ 087-259-7256