ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม แนวใหม่ ขายไหมสุก ที่พะเยา มีรายได้ 20,000-30,000 บาท ต่อรุ่น ในระยะเวลาไม่ถึงเดือน

ที่บ้านร่องส้าน หมู่ที่ 20 ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา มีเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เพื่อขายตัวไหมสุกไม่เลี้ยงขายเส้นไหม ต้องตามไปดู

แม่เฉลา มูลลิวัล อดีตผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 20 บ้านร่องส้าน ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงไหม เล่าให้ฟังว่า เมื่อปี 2509 ได้อพยพมาจากภาคอีสานเพื่อหนีความแห้งแล้งไปอยู่ที่บ้านทับกุมารทอง ตำบลท่าข้าวเปลือก อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย แต่ประสบกับภาวะน้ำท่วม พื้นที่ทำกินที่เชียงรายเป็นพื้นที่เช่า เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายได้นำหน่วยทหารตำรวจมาแจกสิ่งของบรรเทาทุกข์

และทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้ถามว่า อยากจะย้ายไปอยู่ที่อำเภอเชียงคำไหม เพราะสมัยนั้นอำเภอเชียงคำ ยังขึ้นอยู่กับจังหวัดเชียงราย ชาวบ้านจึงตกลงย้ายมา โดยมีหน่วยราชการไปรับมาสร้างแคมป์อยู่ที่ทำการตำรวจตระเวนชายแดน บก 308 และได้รับการจัดสรรที่ดินทำกิน 15 ไร่ ที่อยู่อาศัย 1 ไร่ ต่อครอบครัว

แม่เฉลา มูลลิวัล และลูกสาว กับผู้เขียน

เมื่อก่อน พื้นที่นี้ยังมีความแห้งแล้ง นายอำเภอเชียงคำในขณะนั้นได้อนุมัติให้สร้างอ่างเก็บน้ำ ซึ่งเป็นอ่างเล็กๆ กั้นลำห้วยขึ้นเพื่อให้มีน้ำไว้ใช้ ก่อนที่จะสร้างอ่างกั้นห้วย การขุดบ่อน้ำแทบไม่มีน้ำ เมื่อสร้างเสร็จจึงมีน้ำ ชาวบ้านเรียกอ่างนี้ว่า อ่างน้ำนายอำเภอ

เมื่อปี 2516 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยลเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมาบ้านร่มเย็น ชาวบ้านร่องส้าน ซึ่งได้นำวิถีชีวิตของคนภาคอีสานในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมมาทำ และได้นำไปทูลเกล้าฯ ถวาย

เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ทรงทราบว่าเกษตรกรบ้านร่องส้านมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจึงพระราชทานเงินให้จัดทำแปลงสาธิตการปลูกหม่อน จำนวน 300,000 บาท ปลูกได้ประมาณ 70 ไร่ เดิมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมก็ทำแบบตามมีตามเกิด ไม่มีตลาดรับซื้อ ส่วนใหญ่ก็ทอผ้าไหมขายให้กับพี่น้องชนเผ่าหมู่บ้านใกล้เคียง นำไปปักลวดลาย ชาวบ้านฟักไข่ไหมเอง แล้วจึงสาวเส้นไหม และขายเส้นไหม

จ่อสำหรับการชักใยทำรัง กลายเป็นอดีต

ช่วงหลังมีการสร้างอ่างเก็บน้ำตามพระราชดำริ จึงมีน้ำในการทำการเกษตร มีการปลูกหม่อนเพื่อเลี้ยงไหมรังขาว ในระยะต่อมามีบริษัทเอกชนเข้ามารับซื้อไหม ประมาณ 5-6 ปี บริษัทก็ปิดกิจการลง แต่ชาวบ้านก็ยังเลี้ยงเพื่อสาวไหมอยู่ แต่ว่าการสาวไหมขั้นตอนจะยุ่งยากและสาวได้น้อย

ต่อมาศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ น่าน ได้เข้ามาสนับสนุนให้เลี้ยงเพื่อขายรังโดย แม่เฉลา มูลลิวัล เป็นผู้รวบรวมไปขายที่จังหวัดน่าน ขายอยู่ 2 ปี ก็มีบริษัทเอกชนเข้ามาส่งเสริมการเลี้ยงไหมขายตัวไหมสุก จึงชักชวนกันเลี้ยงเพราะใช้เวลาในการเลี้ยงสั้นลง เพียง 19-25 วัน ก็สามารถขายได้ ต้นทุนการผลิตลดลง

ชั้นเลี้ยงหนอนไหม

ไข่ไหม 1 แผ่น จะได้ตัวไหมสุก ประมาณ 20-30 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 100 บาท แผ่นหนึ่งจะขายได้ 2,000-3,000 บาท แม่เฉลา เลี้ยงครั้งละ 10 แผ่น รายได้รวมจะประมาณ 20,000-30,000 บาท ต่อรุ่น ในเวลาไม่ถึงเดือน แม่เฉลา ยืนยันว่าเป็นกิจกรรมทางการเกษตรที่มีรายได้ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการทำการเกษตรอื่น แต่แม่เฉลาฝากถึงเกษตรกรรายอื่นว่า ถ้าจะเลี้ยงไหมต้องปลูกหม่อนเพื่อเตรียมไว้ให้ตัวไหมกินก่อน

สำหรับพันธุ์หม่อนที่นิยมปลูกมี 2 พันธุ์ คือ

หนึ่ง พันธุ์บุรีรัมย์ 60 ใน ปี 2525 คุณไชยยงค์ สำราญถิ่น และ คุณเธียรศักดิ์ อริยะ ผู้อำนวยการสถานีทดลองหม่อนไหมศรีษะเกษและบุรีรัมย์ ได้นำท่อนพันธุ์หม่อน หมายเลข 44 มาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีการเจริญเติบโตดี ใบใหญ่หนา ข้อปล้องถี่ ให้ผลผลิตต่อไร่สูง แต่ต้องขยายพันธุ์ด้วยการติดตาหรือเสียบกิ่ง ในขณะนั้นหม่อนน้อยที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก มีคุณภาพใบดีขยายพันธุ์ได้ง่าย แต่มีผลผลิตค่อนข้างต่ำ

แม่เฉลา มูลลิวัล กับผู้เขียน

สถานีทดลองหม่อนไหมบุรีรัมย์จึงได้ปรับปรุงพันธุ์หม่อน โดยการผสมหม่อน หมายเลข 44 (เพศเมีย) กับหม่อนน้อย (เพศผู้) เพื่อรวมลักษณะที่ดีเข้าด้วยกัน ในปี 2526 และเพาะกล้าหม่อน 140 ต้น และคัดเลือกต้นที่ดีไว้ 58 ต้น

ปี 2527 ขยายพันธุ์หม่อนที่คัดเลือกไว้ 58 ต้น โดยการปลูกด้วยพันธุ์แล้วคัดเลือกต้นที่ออกรากได้ดี สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยท่อนพันธุ์ และต้านทานต่อโรคใบด่าง

ในปี 2528 คัดเลือกต้นที่มีความแข็งแรง ปลูกง่าย ทรงพุ่มดี ใบใหญ่ และหนาไว้ 12 พันธุ์

ในปี 2529-2530 เปรียบเทียบผลผลิตใบหม่อนเพื่อคัดเลือกพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูงสุด โดยใช้หม่อน 5 พันธุ์ คือ บร. 4, บร. 5, บร. 9, บร. 10, บร. 36 กับพันธุ์มาตรฐานหม่อนน้อย นอกจากนี้ ยังได้นำไปปลูกทดสอบในไร่เกษตรกร นิคมสร้างตนเองบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ นิคมสร้างตนเองปลวกแดง จังหวัดระยอง และโครงการศึกษาพัฒนาเขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา พบว่า พันธุ์ บร. 9 ให้ผลผลิตสูงที่สุดในทุกสถานที่

ลักษณะเด่นของ พันธุ์ บร. 9 คือให้ผลผลิตต่อไร่สูง 4,328 กิโลกรัม ต่อไร่ มีการเจริญเติบโตและตอบสนองต่อปุ๋ยดี แตกกิ่งเร็วหลังตัดแต่ง ใบมีขนาดใหญ่ หนา อ่อนนุ่ม ไม่เหี่ยวง่าย ใบมีคุณค่าทางอาหารสูงใกล้เคียงกับหม่อนน้อย ทรงต้นตั้งตรง สะดวกในการเขตกรรมและดูแลรักษา นอกจากนี้ ยังต้านทานต่อโรคใบด่างและทนทานต่อโรคราแป้งได้ดีกว่าหม่อนน้อย ข้อจำกัดของ พันธุ์ บร. 9 คือ ไม่เหมาะกับการปลูกในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ หรือปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอ ประกาศเป็นพันธุ์รับรองในชื่อพันธุ์ บุรีรัมย์ 60

โรงเรือนเลี้ยงไหม

สอง พันธุ์หม่อนสกลนคร 72 ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างหม่อนพันธุ์คุณไพ tetraploid (2n = 28) ได้หม่อนลูกผสม tripoid ในปี พ.ศ. 2538 ที่สถานีทดลองหม่อนไหมสกลนคร ในปี พ.ศ. 2538-2541 คัดเลือกได้ พันธุ์ SKN-M95-3-82 ใน ปี พ.ศ. 2542-2545 ปลูกเปรียบเทียบพันธุ์มาตรฐานหม่อน 5 พันธุ์ ในปี พ.ศ. 2547-2550 มีการปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ในท้องถิ่นต่างๆ ที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 ส่วนแยกหม่อนไหม ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตชัยภูมิ เลย สุรินทร์ และสกลนคร และศูนย์วิจัยหม่อนไหมศรีสะเกษได้นำข้อมูลเสนอ เป็นพันธุ์แนะนำต่อคณะอนุกรรมการการปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2547 และจะได้รวบรวมข้อมูลเสนอเป็นพันธุ์รับรอง

ลักษณะเด่น ผลผลิตใบสด 3,507 กิโลกรัม ต่อไร่ มีความทนทานต่อสภาวะแห้งแล้งได้ดีกว่าพันธุ์บุรีรัมย์ 60 ออกรากดีเมื่อมีการปักชำ ขยายพันธุ์ง่าย สามารถใช้ท่อนพันธุ์ปลูกในแปลงได้โดยตรงหรือปักชำก่อนปลูก มีการเจริญเติบโตรวดเร็ว หลังการตัดแต่ง มีความต้านทานโรครากเน่า

หนอนไหมที่เลี้ยง

ลักษณะประจำพันธุ์ เป็นหม่อนเพศผู้ มีช่อดอกค่อนข้างใหญ่ ใบใหญ่ แผ่นเรียบ รูปไข่ ค่อนข้างกว้างส่วนใบรูปหัวใจ ผิวใบหยาบ ขอบใบเป็นหยักปลายใบแหลมสั้น การเรียงตัวแบบสลับ ลำต้นตั้งตรง กิ่งมีสีเขียวหม่นปนเทา ปลายกิ่งออกสีน้ำตาล ระหว่างข้อปล้องสั้น ความสูงของต้นประมาณ 1.80 เมตร (75 วัน หลังตัดต่ำ ใบร่วงช้า มีความทนทานเพลี้ยไฟได้ดี มีความต้านทานโรครากเน่า ให้ผลผลิตในสภาพท้องถิ่น ประมาณ 2,500 กิโลกรัม ต่อไร่ ต่อปี

สำหรับพันธุ์ไหมที่ใช้เลี้ยงได้รับจากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ น่าน ในราคาแผ่นละ 10 บาท เป็นลูกผสมพันธุ์ระหว่างทับทิมสยามกับวนาสวรรค์

แม่เฉลา ถ่ายภาพ ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมหม่อนไหมและเอกชนภายหลังลงนามซื้อขาย
หม่อนสิ่งสำคัญที่ต้องมีสำหรับเป็นอาหารหม่อนไหม

แม่เฉลา เล่าปิดท้ายว่า การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจะไม่ใช้เคมี เพราะแม่เฉลาเคยไปซื้อใบหม่อนที่ปลูกในสวนมะม่วงที่มีการฉีดพ่นสารเคมี ปรากฏว่าตัวไหมตายหมด ฉะนั้น คนที่เลี้ยงไหมจะปลอดภัยจากสารเคมี เพราะไม่ใช้เคมีอย่างแน่นอน ซึ่งจะดีต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงและสภาพแวดล้อมโดยรวม และรายได้ก็ดีเมื่อเปรียบเทียบกับการทำกิจกรรมการเกษตรอื่น ให้ผลตอบแทนเร็วสำหรับเกษตรกรที่ใจร้อน หรือหากเกิดความเสียหายในรุ่นใดรุ่นหนึ่งสามารถแก้ตัวได้ทันที เดือนหนึ่งๆ รับเงินอย่างน้อยห้าหลักแน่นอน

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อสอบถามหรือศึกษาดูงานได้ที่ แม่เฉลา มูลลิวัล บ้านร่องส้าน ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา โทรศัพท์ 085-695-2231