ปลูกถั่วเหลืองอินทรีย์หลังนา ที่กาฬสินธุ์ ได้ขายเมล็ดถั่วเหลือง ได้ปุ๋ยพืชสด บำรุงดินเพิ่มผลผลิตข้าว

จากสภาพดินเค็ม เสื่อมโทรม และขาดความอุดมสมบูรณ์มีอินทรียวัตถุต่ำ การขาดแคลนน้ำต้องอาศัยพึ่งพาเพียงน้ำฝนในการเพาะปลูกปีละครั้ง นับเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการประกอบอาชีพของเกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสาน ทำให้เกิดผลกระทบตามมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งวิถีชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ เกษตรกรเป็นจำนวนมากจำต้องละทิ้งผืนนาและบ้านเกิดเข้ามาขายแรงงานในเมืองหลวง เนื่องจากรายได้จากการเพาะปลูกพืชผลในผืนดินที่แห้งแล้งและขาดความอุดมสมบูรณ์ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพและครอบครัว

ปี 2537 เกษตรกรที่บ้านหนองว้า อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับผลกระทบจากสภาพปัญหาดังกล่าว นาข้าวให้ผลผลิตต่ำ ทำให้มีฐานะยากจน แต่ในวันนี้ แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง เมื่อเกษตรกรปรับเปลี่ยนวิถีการประกอบอาชีพ ด้วยการปลูกถั่วเหลืองหลังการเก็บเกี่ยวข้าว กลายเป็นอาชีพเสริมที่ช่วยสร้างรายได้ และช่วยพลิกผืนนาให้คืนสู่ความอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง

ทั้งนี้ ถั่วเหลือง ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ และเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถนำไปแปรรูปอาหารได้หลากหลายชนิด เช่น น้ำมันถั่วเหลือง นมถั่วเหลือง เต้าเจี้ยว เต้าหู้ นอกจากนี้ กากถั่วเหลืองยังใช้เป็นส่วนผสมที่สำคัญในการทำอาหารสัตว์ ประเทศไทยนั้นมีพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ ทำให้ต้องนำเข้าเมล็ดและกากถั่วเหลืองจากต่างประเทศทุกปี จึงนับได้ว่าถั่วเหลืองเป็นพืชที่มีอนาคตสำหรับเกษตรกร และที่สำคัญถั่วเหลืองยังมีไนโตรเจนสูง ช่วยเพิ่มแร่ธาตุในดินได้ดี จึงเหมาะเป็นปุ๋ยพืชสดในการช่วยปรับปรุงบำรุงดิน

ท้องนามีสภาพดินทรายแห้งแข็งขาดความอุดสมบูรณ์ ใช้ปลูกข้าวเหนียว พันธุ์ กข 6 ได้ผลผลิตแต่ละปีน้อยมาก เพียง 20-30 ถัง ต่อไร่ ทำให้เกษตรกรดำรงชีพด้วยความยากลำบาก แต่หลังจากสำนักงานเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรในหมู่บ้านหนองหว้าได้ปลูกถั่วเหลืองหลังนา ตั้งแต่ ปี 2537 เป็นต้นมา ทำให้วิถีชีวิตของเกษตรกรในท้องถิ่นแห่งนี้ปรับเปลี่ยนไปแบบหน้ามือเป็นหลังมือ ผืนนาที่เคยแห้งแล้ง กลับมาเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์ ข้าวและถั่วเหลืองเติบโตและให้ผลผลิตที่ดี

ถั่วเหลืองกำลังออกฝัก

ทุกวันนี้เกษตรกรได้ประโยชน์อย่างมากจากการปลูกถั่วเหลือง เพราะได้ปุ๋ยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์แก่ท้องนา หลังจากปลูกถั่วเหลืองมาได้ 3 ปี เกษตรกรเลิกใส่ปุ๋ยในนาข้าว เพราะดินมีความอุดมสมบูรณ์ดีมาก เพราะหลังจากเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองแล้ว เกษตรกรจะไถกลบต้นถั่วเหลืองให้กลายเป็นปุ๋ยพืชสด

จากเดิมที่เกษตรกรปลูกข้าวเหนียวเพียง 20-30 ถัง ต่อไร่ หลังปลูกถั่วเหลืองหลังนา เก็บเมล็ดถั่วเหลืองออกขาย พวกเขาจะไถกลบต้นถั่วเหลืองเป็นปุ๋ยพืชสด สภาพดินก็ดีขึ้น ได้ผลผลิตข้าวเหนียวมากขึ้นถึง 90-100 ถัง ต่อไร่ เลยทีเดียว ส่วนถั่วเหลือง ก็มีผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 350-400 กิโลกรัม ต่อไร่ ทำให้มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น 7,000-8,000 บาท ต่อไร่

เน้นปลูกถั่วเหลืองอินทรีย์

เดิมเกษตรกรเพาะปลูกพืชโดยใช้สารเคมี แต่ปัญหาสารเคมีตกค้าง ทำให้ร่างกายเกิดการเจ็บป่วยอยู่บ่อยครั้ง พวกเขาจึงหันมาทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อความปลอดภัยของตัวเกษตรกรและอยากให้ผู้บริโภคทุกคนได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัยปราศจากสารเคมี แถมการทำเกษตรอินทรีย์ ยังช่วยลดต้นทุนการผลิต โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายจากปุ๋ยเคมีและสารเคมีต่าง ๆ

ผืนนาที่ปลูกถั่วเหลืองหลังฤดูการทำนา ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์มากกว่าในอดีต ทำให้ต้นข้าวและต้นถั่วเหลืองที่ปลูกมีความแข็งแรง ไม่ค่อยเกิดโรคแมลงเข้าทำลายมากนัก กอปรกับได้รับแนวคิดเกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์จากส่วนราชการและเอกชนต่างๆ จึงทำให้เกษตรกรหันมาเลือกทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้น

โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัด ยินดีรับซื้อเมล็ดถั่วเหลืองอินทรีย์จากกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองบ้านหนองหว้า เพื่อนำไปผลิตน้ำเต้าหู้ให้กับคนไข้กินในช่วงที่มารักษาตัว ก่อนเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองทางโรงพยาบาลจะส่งเจ้าหน้าที่มาติดตามสอบถามข้อมูลจำนวนผลผลิตและถ่ายรูปกลับไป เมื่อเกษตรกรเก็บเกี่ยวถั่วเหลืองอินทรีย์ส่งมาขาย ทางโรงพยาบาลก็ยินดีรับผลผลิตในราคาสูงกว่าท้องตลาดทั่วไป

ปลูกถั่วเหลืองโดยอาศัยความชื้นจากดิน  

การปลูกถั่วเหลืองของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองบ้านหนองหว้า จะอาศัยความชื้นจากดินมาช่วยทำให้ต้นถั่วงอกในช่วง 1 เดือนแรก หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ เกษตรกรจะไถดินเตรียมพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองโดยทันที เพราะเป็นช่วงที่ดินยังมีความชื้นเหลืออยู่มาก เพียงพอให้เมล็ดถั่วเหลืองที่หว่านลงไปงอกได้ รวมถึงสามารถดึงน้ำมาใช้ในช่วง 1 เดือนแรกของการเติบโตของลำต้นได้ และจะเริ่มให้น้ำอีกโดยการปล่อยน้ำเข้าร่องปลูกในช่วงเดือนที่สองและสามของการปลูก

โดยทั่วไป เกษตรกรนิยมใช้รถแทรกเตอร์ คูโบต้า ขนาด 36 แรงม้า ไถกลบตอซังก่อน ทิ้งไว้ไม่นานตอซังจะยุ่ยสลาย จากนั้นคราดดินให้เรียบ หว่านเมล็ดถั่วเหลือง พันธุ์ มข. 35 และเชียงใหม่ 60 ที่ได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์มาจากสยามคูโบต้า ในอัตราการหว่าน ไร่ละ 20 กิโลกรัม จากนั้นใช้แทรกเตอร์ติดโรตารี่มาปั่นดินกลบเมล็ด และทำร่องเป็นทางปล่อยน้ำเข้าเวลาให้น้ำ

เกษตรกรจะดูแลแปลงปลูกถั่วเหลืองอย่างใส่ใจมากอีกครั้งในเมื่อต้นถั่วเหลืองแตกใบได้ 3-4 ใบ ต้องคอยดูแลเรื่องแมลงศัตรูพืชที่จะเข้าทำลาย ได้แก่ หนอนเจาะลำต้น และแมลงเต่าลาย

เกษตรกรจะเดินตรวจแปลงถั่วเหลืองทุกวัน หากแมลงเข้าทำลายไม่มาก จะกำจัดด้วยการเอามือบี้ แต่หากระบาดมาก จะใช้สารหมักจากพืชสมุนไพรมาฉีดพ่น โดยมีส่วนผสมของหัวข่าแก่ ตะไคร้หอม บอระเพ็ด และไหลแดง นำมาหมักใส่ในถังน้ำมัน 200 ลิตร เติมน้ำลงไปให้ได้ประมาณ 100 ลิตร หลังจากหมักไว้ 2 วันสามารถนำมาฉีดพ่นเพื่อเป็นสารไล่แมลงได้

หากต้องการทำเป็นสารฆ่าแมลง ก็จะนำน้ำสมุนไพรที่หมักไปทำการกลั่นอีกครั้ง ซึ่ง 1 ถังจะกลั่นได้ 15 -20 ลิตร วิธีการใช้ คือ นำน้ำสมุนไพรกลั่นครึ่งแก้วผสมกับน้ำ 20 ลิตร แล้วนำไปฉีด จำนวนครั้งที่ฉีดพ่นขึ้นอยู่กับปริมาณการระบาด หากระบาดมากต้องฉีดพ่น 2 อาทิตย์ต่อครั้ง

ส่วนการให้น้ำ เกษตรกรจะดูที่ความชื้นของดินเป็นหลัก หากพบว่าดินแห้งมาก ต้นถั่วเหลืองที่ปลูกแสดงอาการเหี่ยวก็จะเริ่มให้น้ำ ทั้งนี้ เกษตรกรจะคอยระวังไม่ให้น้ำขังในแปลงปลูก เพราะจะทำให้ต้นถั่วเหลืองเกิดอาการเน่าได้ มักให้น้ำแค่พอให้ดินเปียกชื้นๆ เป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่อย่างไรก็ตามการปลูกถั่วเหลืองหลังนาลักษณะนี้ ไม่ค่อยได้ใช้น้ำมากอยู่แล้ว

วิธีเพิ่มผลผลิตถั่วเหลือง

เคล็ดลับสำคัญที่ช่วยทำให้ต้นถั่วเหลืองเจริญเติบโตได้ดีและติดเมล็ดได้ปริมาณน้ำหนัก 350-400 กิโลกรัมต่อไร่ คือ การให้ปุ๋ยทางใบเสริม เกษตรกรนิยมใช้น้ำขี้หมู ซึ่งเป็นของเหลือจากขบวนการผลิตก๊าซชีวภาพจากถังหมักที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์

ทั้งนี้ เกษตรกรที่มีคอกเลี้ยงหมู จะใช้น้ำจากคอกเลี้ยงและขี้หมูนำไปผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ ส่วนของน้ำที่แยกออกมาจะมีธาตุอาหารมากมายจะช่วยให้ต้นถั่วเหลืองเติบโตได้ดี โดยใช้ฉีดพ่นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง  เมื่อต้นถั่วเหลืองเริ่มออกดอกออกฝักก็จะหยุดใช้ ต้นถั่วเหลืองจะเจริญเติบโตดีและให้ผลผลิตดีมาก พอครบอายุประมาณ 3 เดือน จะเก็บเกี่ยวเมล็ดถั่วเหลืองออกไปขาย ส่วนต้นถั่วเหลืองจะไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน ก่อนใช้ปลูกข้าวในฤดูกาลต่อไป ทำให้นาข้าวจะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอีก

วันนี้ กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองบ้านหนองหว้า ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จของการปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรรูปแบบใหม่ที่ช่วยเพิ่มผลผลิต ด้วยการใช้ผืนนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่ใครๆ ก็สามารถทำตามได้ง่าย เพียงแค่เปลี่ยนแนวคิดการเพาะปลูก ก็สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร ก้าวไปสู่การกินดีอยู่ดีได้เช่นกัน เพียงแต่ลงมือปฏิบัติเท่านั้นเอง