เผยแพร่ |
---|
ทางเดินชีวิต…สู่แนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
คุณสงวน มงคลศรีพันเลิศ อยู่บ้านเลขที่ 63 หมู่ที่ 7 บ้านเขากลม ตำบลหนองทะเล อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ 81000 เดิมประกอบอาชีพเป็นพนักงานบริษัทเคมีภัณฑ์แห่งหนึ่งในจังหวัดปราจีนบุรี มีรายได้เดือนละ 28,000 บาท แต่ไม่เคยมีเงินเหลือเก็บ ทำให้คิดถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสอนให้คิดเรื่องกินก่อนคิดเรื่องเงิน เนื่องจากเป็นพนักงานบริษัทเคมีภัณฑ์ ทำให้เห็นข้อดีและข้อเสียของเคมีภัณฑ์ จึงหันมาทดลองทำการเกษตรโดยไม่พึ่งพาสารเคมี จากนั้นจึงตัดสินใจกลับมาเริ่มต้นชีวิตการทำการเกษตรที่บ้านเกิดของภรรยาในจังหวัดกระบี่ ซึ่งมีพื้นที่ 8 ไร่ และศึกษาเรียนรู้เอง โดยได้น้อมนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นหลักในการใช้ชีวิต
จนในที่สุดประสบผลสำเร็จ หลังจากที่ตัดสินใจกลับมาทำการเกษตรแบบไม่พึ่งพาสารเคมี ก็ได้สร้างโรงปุ๋ยประกอบกับพื้นที่เป็นสวนปาล์ม ทางปาล์มมีเยอะจึงสามารถใช้เป็นอาหารของโค โดยใช้ทางปาล์มซึ่งชาวสวนต้องตัดทิ้งอยู่แล้ว นำมาเข้าเครื่องบดเป็นอาหารให้โค เมื่อโคถ่ายออกมา นำมูลโคมาหมักในบ่อก๊าซชีวภาพ ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อก๊าซหุงต้ม ส่วนมูลโคที่เหลือยังไปทำเป็นอาหารปลาและปุ๋ยหมักได้ โดยการคำนวณว่ามูลโค 1 ตัว จะมีปริมาณถึง 2 ตัน ต่อเดือน ทำให้ได้ก๊าซชีวภาพ 15-16 กิโลกรัม สำหรับใช้ในการปรุงอาหาร เมื่อมีปุ๋ยแล้วก็ลงมือปลูกต้นไม้ ใช้วิธีปลูกผักแบบไฮโซ เพื่อแสดงให้เห็นว่าคนที่ไม่มีที่ดินก็ปลูกผักได้ โดยการใช้ยางรถยนต์เก่าๆ มาเป็นกระถาง ไม่ว่าจะเป็นผักสลัด พริก มะเขือ ปลูกถั่วฝักยาวบนต้นกระถินป้องกันปลวกกิน ปลูกผักหลายชนิดสลับกันเพื่อป้องกันแมลง เมื่อมีผักแล้วอาหารประเภทเนื้อสัตว์ก็สร้างเองได้โดยการขุดบ่อเลี้ยงปลา นอกจากอาหารปลาจากมูลสัตว์ ยังใช้เปลือกผลไม้ที่หาได้ง่ายในสวนผลไม้ในชุมชน ทั้งเงาะ มังคุด ชมพู่ แม้กระทั่งเปลือกทุเรียน นำมาใส่กากน้ำตาลหมักให้เปื่อยทิ้งไว้ 1 เดือน โยนให้ปลากิน นับตั้งแต่การเริ่มใช้ชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง แม้ว่ารายได้ในตอนแรกจะเริ่มเพียงเดือนละ 900 บาท จากเดิมที่เคยได้รับเงินเดือน 28,000 บาท ได้สร้างความกลัวให้คุณสงวนอยู่ไม่น้อย แต่เมื่อมาย้อนดูบัญชีรายรับ-รายจ่าย คุณสงวนยังมีเงินเหลือเก็บ 300 บาท ซึ่งต่างจากตอนที่ได้เงินเดือน 28,000 บาท แต่ไม่มีเงินเหลือเก็บเลย นั่นเป็นแรงผลักให้คุณสงวนมุ่งมั่นจะเดินตามรอยเท้าพ่อต่อไป
รูปแบบกิจกรรมทางการเกษตร
คุณสงวน ได้ดำเนินกิจกรรมการเกษตรโดยมีความโดดเด่นในเรื่อง เกษตรผสมผสาน ปลูกพืชผักสวนครัว ผักสลัด ไม้ผล การเลี้ยงสัตว์ การทำเตาก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ การเลี้ยงปลา ทำอาหารปลา การทำปุ๋ยหมัก การทำจุลินทรีย์หน่อกล้วย ปลูกพืชต่างระดับ ปลูกพืชสมุนไพร เป็นต้น สิ่งที่เป็นจุดเด่นของศูนย์แห่งนี้ที่ใครมาเรียนรู้แล้วต้องทึ่งในความคิดของคุณสงวน ที่คิดแสวงหาวิธีปลูกกล้วยแนวใหม่ด้วยการนำยอดกล้วยลงดินแทนวิธีเดิมๆ ที่ใช้รากหย่อนลงดิน วิธีนี้ทำให้ได้ต้นกล้วยที่เตี้ยลง เก็บง่าย และที่สำคัญได้ผลผลิตมากกว่าจากปลูกแบบเดิม ซึ่งได้ผลผลิต 3 เครือ ต่อปี แต่วิธีของคุณสงวน ได้ปีละ 10-12 เครือ อีกทั้งจำนวนหวีในเครือก็เพิ่มขึ้น สาเหตุที่กล้วยให้ผลผลิตเพิ่มเป็นเท่าทวี เพราะว่าพืชกลัวจะสูญเสียเผ่าพันธุ์ ตกใจกลัวจึงรีบออกลูก ออกผล กล้วยจะผลิตอาหารให้ตัวเองไม่ต้องใส่ปุ๋ย พืชจะพึ่งพาตัวเองมากขึ้น นอกจากนี้ กล้วยในศูนย์แห่งนี้ยังสามารถผลิตให้ออกมาเป็นรสทุเรียน รสสตรอเบอรี่ โดยการเติมหัวเชื้อดังกล่าว ซึ่งหาซื้อได้ตามท้องตลาดมาใส่ลงไปในลำต้น เมื่อผลกล้วยออกมาจะมีกลิ่นสตรอเบอรี่ผสมอยู่ด้วย นั่นทำให้กล้วยหอมทองที่ปลูกอยู่ทุกวันนี้ หวีละ 70 บาท และขายดิบขายดีจนไม่พอขาย นอกจากนี้ ยังมีการสอนให้เพาะเห็ดในโอ่ง เป็นการประหยัดพื้นที่และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการปลูกโรงเรือน คนมีพื้นที่น้อยก็สามารถทำได้
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่นำมาปฏิบัติ
คุณสงวน ได้ดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะใช้หลัก การมีภูมิคุ้มกัน เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของคุณสงวน มีแนวคิดในการทำการเกษตรเพื่อให้เกิดการทำงานที่ครบวงจร สามารถใช้ทรัพยากรในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้คนในชุมชนและบุคคลภายนอกที่เข้ามาเรียนรู้ได้นำความรู้ที่ได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง มีการเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบ และการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น มีกระบวนการคิดซึ่งต้องเรียนรู้ออกแบบเศรษฐกิจพอเพียงให้เหมาะสมกับตัวเอง ทางศูนย์มีการติดตามให้ความรู้ วิธีการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง มีความตั้งใจ ขยัน อดทน เพื่อเป็นภูมิคุ้มกัน และให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้ และสามารถขยายผลเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงสู่ชุมชนและสังคมต่อไป
แลกเปลี่ยนข้อมูลได้ตามที่อยู่หรือโทรศัพท์ (089) 590-6738
ขอบคุณข้อมูล จากหนังสือ การเพิ่มรายได้เกษตรกร ด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ วันอาทิตย์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2559