ผู้เขียน | องอาจ ตัณฑวณิช |
---|---|
เผยแพร่ |
ความฝันของคนเราทุกวันนี้คือ การมีเงินทองร่ำรวยและตำแหน่งชื่อเสียงเกียรติยศ แต่สุขภาพร่างกายเป็นสิ่งรองลงไป จะได้จากการที่เราวิ่งเต้นไขว่คว้าในเงินและชื่อเสียงแทบล้มประดาตาย โดยไม่เคยห่วงใยสุขภาพของตัวเอง ซึ่งเราคิดว่านั่นคือสิ่งสำคัญที่สุดของชีวิต พอผ่านไปช่วงเวลาหนึ่ง เราต้องเอาเงินที่สะสมมาชั่วชีวิตไปรักษาสุขภาพซึ่งได้บ้างไม่ได้บ้าง
อาหารที่เรารับประทานเข้าไปทุกวัน เป็นอาหารที่ทำมาจากวัตถุดิบและเทคโนโลยีที่มุ่งแต่ความอร่อย สวยงามและรวดเร็ว จากกระบวนการผลิตที่พึ่งแต่สารเคมีสังเคราะห์ ทำให้สิ่งเหล่านี้ค่อยๆ สะสมเข้าไปในร่างกาย ก่อผลร้ายต่อสุขภาพในตอนหลังอย่างช้าหรือเร็วขึ้นกับปริมาณที่สะสมเข้าไป จนร่างกายไม่สามารถขจัดพิษภัยจากสารเคมีเหล่านี้ได้อีกต่อไป
สำหรับคนอายุ 35 ปีขึ้นไป เราได้รับคำเตือนให้หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ขนาดใหญ่ เพราะปัญหาระบบการย่อยและพิษภัยจากสารเคมีในกระบวนการเลี้ยง คนส่วนหนึ่งก็พยายามหลีกเลี่ยงไปรับประทานผัก แต่เหมือนหนีเสือปะจระเข้ เพราะในผักก็มีสารพิษสารพัดชนิดเช่นกัน สำหรับคนเมืองหลีกเลี่ยงยากที่จะมีผักปลอดภัยมาบริโภค
ความฝันของการมีชีวิตอยู่ในไร่ในสวนมีโอกาสได้สัมผัสอากาศบริสุทธิ์และมีพืชผักปลอดภัยไว้บริโภคในครัวเรือนเป็นความฝันของคนเมืองโดยแท้ แต่จะมีใครสักกี่คนที่มีโอกาสไปถึงฝันนั้น แต่ คุณอุกฤษณ์ (ณัฐ) และ คุณพุธิตา (หม่อน) อภิวัฒนานนท์ แห่งสวนตงศิริฟาร์ม ฝันและไปถึงจุดหมายนั้นด้วยความมุ่งมั่นอย่างไม่ย่อท้อ
คุณณัฐ มาจากครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะดี จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาธุรกิจระหว่างประเทศ ทำงานเกี่ยวกับธุรกิจโกลด์ฟิวเจอร์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการซื้อขายทองคำ จากการทำงานได้ระยะหนึ่งพบว่าไม่ใช่ตัวของตัวเอง ที่บางครั้งต้องหลีกเลี่ยงการพูดความจริง จึงลาออกไปเรียนภาษาจีนที่เมืองจีน ประมาณ 1 ปี หลังจากนั้น กลับมาเมืองไทยได้มีโอกาสทำงานในโครงการพืชสวนโลกที่เชียงใหม่ จึงพบว่าการเกษตรเป็นพื้นฐานของคนไทย จึงคิดจะทำการเกษตร โดยเข้าเรียนต่อจนจบปริญญาโท ด้านเศรษฐศาสตร์เกษตร ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
ระหว่างการศึกษาอยู่ ได้ซื้อที่ดิน จำนวน 30 ไร่ ที่ตำบลทุ่งคอก อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อทำตามความฝัน ในปี พ.ศ. 2557 เริ่มต้นจากการปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ จำนวน 10 ไร่ โดยยังใช้ปุ๋ยเคมีอยู่แต่จะหลีกเลี่ยงสารเคมีกำจัดโรคและแมลงศัตรูพืช แต่นารอบๆ ข้างเป็นนาเคมีอยู่ ได้ผลผลิตทีแรกๆ ก็แจกพี่น้องเพื่อนฝูง
รูปแบบเกษตรทฤษฎีใหม่
ปัจจุบัน นาที่ทำจะมี 8 ไร่ จากจำนวน 30 ไร่ โดยแบ่งครึ่งหนึ่งปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ อีกครึ่งหนึ่งปลูกข้าวหอมมะลิ ข้าวของที่นี่จะปลูกเพียงฤดูเดียวเป็นนาปีเท่านั้น เนื่องจากมีปัญหาเรื่องน้ำไม่เพียงพอในฤดูแล้ง
ในช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยวจะปลูกพืชระยะสั้นในแปลงนาแทน การทำนาในปัจจุบันจะใช้ระบบการเกษตรแบบอินทรีย์เข้ามาเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ โดยเมื่อหลังเกี่ยวข้าวแล้ว จะเอารถไถย่ำซังข้าวแล้วปล่อยน้ำให้ท่วมเพื่อหมักเป็นปุ๋ยอินทรีย์ บางปีก็ปลูกปอเทืองเพื่อบำรุงดิน แต่ทุกปีก็จะเอามูลไก่ในเล้าที่เลี้ยงไว้มาหว่านเพื่อเพิ่มธาตุอินทรียวัตถุในแปลงนา การปลูกข้าวของที่นี่สำหรับข้าวไรซ์เบอร์รี่จะให้ผลผลิต 600 กิโลกรัม ต่อไร่ ส่วนข้าวหอมมะลิ จะให้ผลผลิต 500-550 กิโลกรัม ต่อไร่ ซึ่งบางปีไม่เพียงพอที่จะจำหน่ายให้ลูกค้าได้ตลอดทั้งปี
กันพื้นที่เก็บน้ำเพื่อใช้ในยามขาดแคลน
พื้นที่ส่วนหนึ่งของสวนได้ถูกกันไว้เป็นบ่อน้ำและร่องสวนเพื่อใช้ในฤดูแล้ง บางบ่อจะเลี้ยงปลาโดยมีเล้าไก่ไข่อยู่ข้างบน เพื่อให้ปลากินมูลไก่ ก่อนหน้านี้ตอนเลี้ยงปลา ทางฟาร์มได้ซื้อเศษไก่จากโรงงานมาเป็นอาหารปลา ปลาเจริญเติบโตได้ดี แต่ไม่คุ้มกับต้นทุนค่าอาหาร แต่การเลี้ยงไก่บนบ่อปลาทำให้ประหยัดต้นทุนในแต่ละปีที่จับปลา ถือเป็นเงินโบนัสสำหรับฟาร์ม เพราะมีต้นทุนเฉพาะค่าพันธุ์ปลา แต่ค่าอาหารไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ ปลาที่จะจับแต่ละปีเมื่อก่อนพึ่งพ่อค้ามาจับ แต่ปัญหาเยอะมาก ปัจจุบัน จึงจับกันเอง ส่งแพปลาที่อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม ซึ่งอยู่ไม่ไกลมากนัก
เริ่มทดลองเลี้ยงไก่ จำนวน 200 ตัว ก่อน โดยใช้อาหารที่ทำขึ้นเอง วัตถุดิบหลักคือ ข้าวโพด รำข้าว กากถั่วเหลือง คลุกกับน้ำมันถั่วเหลือง เป็นอาหารหลัก ให้วันละ 2 เวลา ส่วนอาหารเสริมคือ หยวกกล้วยหั่นละเอียด หมักกับกากน้ำตาลอย่างน้อย 3 วัน หลังจากนั้น ก็ใส่ตะไคร้สับและเตยหอมหั่น คลุกเคล้าให้เข้ากันนับเป็นอาหารว่าง วันละ 1 เวลา ในปัจจุบันที่ฟาร์มมีไก่อยู่ 1,500 ตัว เปอร์เซ็นต์ไข่ ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ จำนวนไข่วันละประมาณ 800-900 ฟอง ไก่ไข่ของฟาร์มเลี้ยงในพื้นที่กว้าง แบบปล่อยลาน ไม่ได้ขังกรงตับแบบการเลี้ยงไก่ไข่ระบบอุตสาหกรรม ทำให้ไก่มีอิสระในการเคลื่อนไหวไม่ถูกจำกัด สามารถดำรงชีวิตเหมือนในธรรมชาติ ทำให้ไก่ไม่เครียด อัตราการตายน้อย ไข่ได้ระยะเวลานานกว่าปกติ การเก็บไข่ก็จะเก็บวันละ 2 รอบ คือตอน 11 โมง และบ่าย 3 โมง ไก่ไข่ที่นำมาเลี้ยงจะซื้อไก่สาวซึ่งพร้อมจะไข่มาเลี้ยง จะทำให้ย่นระยะเวลาในการเลี้ยง
ส่วนเป็ดที่ฟาร์มจะมีประมาณ 100 ตัว เลี้ยงในเล้า แต่จะปล่อยให้ว่ายน้ำเล่นตามร่องสวนตามพฤติกรรมธรรมชาติของเป็ด ไข่เป็ดส่วนหนึ่งจะนำมาทำเป็นไข่เค็ม อาหารที่ให้จะเป็นเศษเส้นก๋วยเตี๋ยวและเศษผักที่ปลูกในฟาร์ม ไข่เป็ดจะได้วันละประมาณ 60 ฟอง ทั้งไข่ไก่และไข่เป็ดจะส่งขายในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามร้านอาหารญี่ปุ่น ร้านอาหารสุขภาพ และส่วนหนึ่งเป็นสมาชิกที่ใช้บริโภคในครัวเรือน ส่วนไข่ไม่ได้ขนาดจะนำมาขายราคาถูกหน้าฟาร์ม
พืชผักของตงศิริฟาร์มเน้นที่ชุดพืชผักสวนครัว เช่น ชะอม ถั่วฝักยาว โหระพา กะเพรา ผักชี เตยหอม ถั่วพู มะนาวแป้น พริกขี้หนู มะเขือเปราะ ตะไคร้ มะเขือพวง แมงลัก ผักสลัด เป็นต้น พืชผักเหล่านี้ปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดโรคพืช สารกำจัดศัตรูพืช ในการปลูกแต่ละครั้งทางฟาร์มจะวางแผนการปลูกเพื่อให้ลูกค้ามีผักรับประทานอย่างสม่ำเสมอ
ส่งผักทุกวันอังคารและศุกร์
ช่องทางการจำหน่ายของตงศิริฟาร์ม จะใช้ช่องทางสื่อออนไลน์ ลูกค้าเริ่มแรกจะสื่อสารทางไลน์ ต่อมาเปิดเพจในเฟซบุ๊กทำให้ลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก โดยทางฟาร์มจะแจ้งรายการพืชผักที่จำหน่ายในทุกวันเสาร์ เพื่อให้ลูกค้าทราบรายละเอียดทั้งหมด และรับจองผักที่ต้องการ แล้วจะจัดส่งโดยรถจัดส่งจากฟาร์มที่จังหวัดสุพรรณบุรีเข้ากรุงเทพฯ ในตอนเช้า ลูกค้าที่นอกจากเป็นร้านอาหาร ร้านค้าสุขภาพแล้วจะมีลูกค้ากลุ่มที่นำไปประกอบอาหารบริโภคเองด้วย ส่วนหนึ่งส่งตรงที่สถานที่ทำงานต่างๆ ซึ่งจะเป็นพนักงานออฟฟิศ อายุระหว่าง 30-40 ปี อีกส่วนหนึ่งส่งให้ที่บ้านซึ่งจะเป็นลูกค้าที่มีอายุมากหน่อย ส่วนใหญ่จะเป็นชนชั้นกลางที่รักสุขภาพ บางครั้งจะมีการจัดเซ็ตผักเหมือนคล้ายกับการจำหน่ายตะกร้าผักในต่างประเทศ (Community Supported Agiculture, CSA) โดยให้มีผักหลากหลาย แบ่งเป็น 3 เซ็ต ตามชนิดผักที่ปลูกได้ตามฤดู ในราคาเซ็ตละ 130 บาท
ลูกค้าจะต้องจองมาก่อน 10 โมง ของวันจันทร์และวันพฤหัส เพื่อทางฟาร์มจะได้เตรียมผักไว้ให้ตามต้องการ เพราะการขนส่งจะส่งในวันอังคารและวันศุกร์ ในวันอังคารจะจัดส่งสายทำเนียบรัฐบาล กระทรวงวิทยาศาสตร์ โรงพยาบาลเด็ก แผนกทันตมหาวิทยาลัยมหิดล โรงพยาบาลรามาธิบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ตึกเอสซีจี ตึกคิวเฮ้าส์ ตึกหะรินธร ส่วนวันศุกร์จะวิ่งรอบนอก ตั้งแต่ถนนลำลูกกา ถนนเกษตรนวมินทร์ เขตประเวศ วงแหวนตะวันออก ถนนศรีนครินทร์ ถนนพัฒนาการ ถนนสุขุมวิท และบางนา
สนใจรับผักปลอดสารพิษหรือผลผลิตอื่นของฟาร์ม สามารถติดต่อเพจของตงศิริฟาร์ม ที่ TongSiri Farm หรือติดต่อที่เบอร์โทรศัพท์ คุณหม่อน (084) 123-8814