ขยายพันธุ์มะพร้าว ด้วยเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพื่อความรวดเร็ว รองรับอุตสาหกรรม

เมื่อปี 2529 ประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกมะพร้าว 2.59 ล้านไร่ แหล่งปลูกมะพร้าวส่วนใหญ่ของประเทศไทยจะอยู่ใน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช แม้ว่าประเทศไทยจะมีการปลูกมะพร้าวมาเป็นเวลานานหลายชั่วอายุคนก็ตาม แต่ปรากฏว่า เมื่อปี 2521 เกิดวิกฤตขาดแคลนวัตถุดิบมะพร้าว ถึงขนาดต้องนำเข้าน้ำมันมะพร้าวจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในปี 2523 ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันมะพร้าวคิดเป็นมูลค่า 112.2 ล้านบาท

 

สาเหตุผลผลิตมะพร้าวลดลง

คุณเกริกชัย ธนรักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร เล่าว่า เมื่อปี 2550 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวที่ให้ผลผลิตแล้ว 1.6 ล้านไร่ ให้ผลผลิต 1.724 ล้านตัน ผลผลิตต่อไร่ 1,077 กิโลกรัม ปัจจุบัน ประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกมะพร้าวที่ให้ผลผลิต 1.16 ล้านไร่ หายไป 4 แสนกว่าไร่ สาเหตุที่ทำให้พื้นที่ปลูกมะพร้าวลดลง เนื่องจากสวนมะพร้าวของเกษตรกรในแหล่งปลูกใหญ่ๆ เช่น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นสวนเก่าแก่ที่มีอายุมาก บางสวนมีต้นมะพร้าวอายุเป็นร้อยปี เมื่อต้นมะพร้าวมีอายุมาก ผลผลิตก็ลดลง ต้นมะพร้าวที่มีอายุมากต้นสูง ดูแลรักษาและเก็บเกี่ยวยาก ขาดการเอาใจใส่บำรุงรักษา ขาดการใส่ปุ๋ย เกิดแมลงศัตรูระบาดหลากหลายชนิดเป็นเวลานานต่อเนื่องกัน ประกอบกับขาดความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตที่ถูกต้อง ขาดแคลนพันธุ์มะพร้าวที่จะนำไปปลูกทดแทน จึงทำให้พื้นที่ปลูกมะพร้าวไม่เพิ่มขึ้น

พันธุ์มะพร้าวสำหรับเกษตรกรที่สั่งจอง1

“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ราคามะพร้าวตกต่ำลงมาก ผลละประมาณ 3-4 บาท และในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ยางพารากับปาล์มน้ำมันมีราคาสูงกว่า และมีการส่งเสริมให้มีการปลูกในภาคใต้มากขึ้น ทำให้เกษตรกรในหลายจังหวัดที่เคยปลูกมะพร้าวหันไปให้ความสนใจยางพารากับปาล์มน้ำมัน บางแห่งเปลี่ยนพื้นที่จากสวนมะพร้าวเป็นสวนปาล์มกับสวนยางพารา ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับมะพร้าวต้องนำเข้ามะพร้าวมาจากต่างประเทศ เนื่องจากผลผลิตมะพร้าวในประเทศมีไม่เพียงพอ” คุณเกริกชัย บอก

 

ยางพาราราคาตก มะพร้าวราคาสูง

ปัจจุบัน อุตสาหกรรมแปรรูปมะพร้าว เช่น น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น กะทิกล่อง ซึ่งมีบริษัทต่างๆ ผลิตกันออกมามากมายจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าวต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ราคามะพร้าวอุตสาหกรรมหรือมะพร้าวแกง ราคาผลละ 14 บาท ในปัจจุบันเกษตรกรกลับหันมาปลูกมะพร้าว เนื่องจากราคาดี หันมาสั่งจองพันธุ์มะพร้าวจำนวนมาก

เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนมะพร้าวเพื่ออุตสาหกรรมดังกล่าว คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 2/2560 วันที่ 27 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบ “ยุทธศาสตร์เพื่ออุตสาหกรรม พ.ศ. 2561-2579” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตมะพร้าวให้มีปริมาณผลผลิตเพียงพอและมีคุณภาพตามความต้องการของผู้บริโภค ให้เกษตรกรมีความสามารถในการผลิต ลดต้นทุนการผลิต การป้องกันกำจัดศัตรูมะพร้าว พัฒนากลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการแปรรูปมะพร้าวหลายรูปแบบ สร้างโอกาสทางการค้าและสร้างมูลค่าเพิ่ม

มะพร้าวพันธุ์ชุมพร2 ที่ได้จากการปรับปรุงพันธุ์

กรมวิชาการเกษตร ผลิตมะพร้าวพันธุ์ดี

คุณเกริกชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร บอกว่า กรมวิชาการเกษตร ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการกิจกรรม 3 ข้อ คือ สนับสนุนการผลิตต้นพันธุ์มะพร้าวพันธุ์ดี การขยายพันธุ์มะพร้าวแบบรวดเร็ว และการสร้างแปลงผลิตพันธุ์มะพร้าวเพื่อการพัฒนาพันธุ์

กรมวิชาการเกษตร สั่งศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรเพาะแม่พันธุ์มะพร้าวลูกผสมให้มากขึ้น และได้ให้งบประมาณกับศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรเพาะแม่พันธุ์มะพร้าวลูกผสมให้มากขึ้น

ผอ. เกริกชัย บอกด้วยว่า แต่เดิมศูนย์ฯ ชุมพร เป็นแหล่งเดียวที่เป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์มะพร้าว ขณะนี้ได้ขยายไปหลายแห่งตามศูนย์เครือข่ายของศูนย์ ได้แก่ ศูนย์ฯ ระนอง สตูล สงขลา และนราธิวาส รวมพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ โดยเพิ่มพ่อแม่พันธุ์ไปไว้ตามศูนย์ดังกล่าว

มะพร้าว เป็นพืชที่ขยายพันธุ์ช้ากว่าพืชอื่น การขยายพันธุ์ในวันนี้กว่าจะได้ผลผลิตอย่างน้อย 4-5 ปี ผลมะพร้าวจะอยู่บนต้นอีก 1 ปี กว่าจะเก็บผลผลิตมาเพาะอีก 1 ปี

แปลงเพาะกล้ามะพร้าวที่ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร

ยอดสั่งจองมะพร้าว 2 ล้านกว่าต้น

ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร มียอดสั่งจองมะพร้าวพันธุ์ต่างๆ ณ วันที่ 30 กันยายน 2560 มีจำนวนถึง 2,287,871 ต้น ในขณะที่ศูนย์มีศักยภาพการผลิตในปี 2561-2565 รวมทุกพันธุ์ได้จำนวนแค่ 1,283,545 ต้น เพราะเราผลิตได้ปีละ 200,000 ต้น เท่านั้น

ผอ. เกริกชัย บอกว่า ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร เป็นศูนย์เดียวเท่านั้นที่ผลิตมะพร้าวลูกผสมพันธุ์ดี จึงทำให้การผลิตหน่อมะพร้าวไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร เพราะการติดผลมะพร้าวแต่ละทะลาย มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ ประมาณ 60 ผล/ต้น/ปี ในพันธุ์ไทย คือ พันธุ์ไทยทับสะแก และนครศรีธรรมราช เป็นต้น ส่วนมะพร้าวลูกผสม จะได้ประมาณ 80 ผล/ต้น/ปี

จากการที่ได้ผลผลิตมะพร้าวต่ำ ผลมะพร้าวที่นำมาเพาะก็พลอยให้ผลผลิตต่ำไปด้วย และยังมีอัตราการงอกต่ำอีกด้วย ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ทำให้เราได้ต้นกล้าหรือหน่อที่พร้อมจะนำไปปลูกเพียง 55% เท่านั้น นอกจากนั้นจะเสียไปประมาณ 45% ซึ่งทางศูนย์กำลังศึกษาอยู่ว่า จะทำอย่างไร จึงจะทำให้ได้ต้นกล้าหรือหน่อมะพร้าวมากขึ้น

เริ่มเพาะ

จะพยายามสร้างความหลากหลายในพันธุ์มะพร้าว

ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร มีพันธุ์ลูกผสมอยู่ 2 พันธุ์ คือ พันธุ์ชุมพร 2 กับลูกผสมสวี 1 ซึ่งสร้างมาแล้ว ประมาณ 30 กว่าปี

พันธุ์ลูกผสมสวี 1 เป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์ต้นเล็กกับพันธุ์ต้นสูง ทำให้มีผลดก เป็นมะพร้าวที่ดีมีเนื้อหนา เปลือกบาง ให้ผลผลิตเร็ว 3 ปีครึ่ง ไม่ถึง 4 ปี ก็เก็บผลผลิตได้แล้ว อายุการเก็บเกี่ยว 11 เดือน เมื่อเทียบกับพันธุ์ไทยพื้นเมืองต้องใช้เวลาถึง 7 ปี แต่พันธุ์ลูกผสมสวีมีข้อเสียคือ ผลเล็ก เกษตรกรไม่ชอบ เนื่องจากมะพร้าวบ้านเราซื้อขายกันด้วยขนาดของผล เลยถูกตีเป็นมะพร้าวเกรดต่ำ

พันธุ์ชุมพร 2 เนื่องจากมะพร้าวพันธุ์ลูกผสมสวี 1 ผลเล็ก ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรก็พยายามปรับปรุงพันธุ์ให้มีผลใหญ่ขึ้น จึงเอาพันธุ์ไทยเข้ามาปรับปรุงพันธุ์ โดยเอาพันธุ์ไทยมาเป็นพ่อผสมกับลูกผสมสวี 1 ได้ลูกผสมออกมาเป็น ชุมพร 2 ข้อดีของชุมพร 2 คือ ได้ผลใหญ่ขึ้น เนื้อหนา อายุไม่เกิน 4 ปีครึ่ง ก็ได้ผลผลิต ผลใหญ่เป็นที่ต้องการของตลาด ปัจจุบันมียอดสั่งจอง 1.6 ล้านต้น กว่าจะจ่ายหมดยอดสั่งจองต้องใช้เวลานานทีเดียว

ผอ. เกริกชัย กล่าวว่า ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ได้สร้างพันธุ์มะพร้าวขึ้นมาอีกพันธุ์หนึ่ง คือ พันธุ์ลูกผสม 3 ทาง เพื่อให้เป็นทางเลือกของเกษตรกร ศูนย์ได้ทำการศึกษาวิจัย ปรับปรุงพันธุ์มาตั้งแต่ ปี 2538

“ต้องยอมรับว่า นักวิชาการเกษตรรุ่นก่อนๆ ที่ทำงานศึกษาวิจัยการปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล พยายามสร้างพันธุ์มะพร้าวขึ้นมาด้วยความพยายาม โดยมองไปถึงอนาคต แม้จะใช้เวลานานนับ 10 ปี”

ที่มาของมะพร้าวพันธุ์ลูกผสม 3 ทาง คือ พันธุ์สวี ซึ่งเกิดจากแม่มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย พ่อเป็นเวสต์แอฟริกันต้นสูง ผสมกับพันธุ์ไทยต้นสูง ผลงานศึกษาวิจัยเสร็จแล้ว เรียกว่า มะพร้าวลูกผสม 3 ทาง ซึ่งกว่าจะได้มา ใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี สถาบันวิจัยพืชสวนกำลังขอเป็นพันธุ์แนะนำ

พันธุ์มะพร้าวสำหรับเกษตรกรที่สั่งจอง

การขยายพันธุ์มะพร้าวแบบรวดเร็ว

ผอ. เกริกชัย กล่าวว่า เพื่อที่จะให้ทันกับความต้องการของเกษตรกร ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ร่วมกับ สำนักวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ ได้เสนอโครงการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมะพร้าว และร่วมมือกับสำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในโครงการขยายพันธุ์มะพร้าวลูกผสม 3 ทาง ด้วยเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ โดยขอใช้งบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการวิจัย (สวก.) นอกจากนั้น กรมวิชาการเกษตร ยังได้ให้งบประมาณผลิตมะพร้าวพันธุ์ชุมพร 2 และมะพร้าวกะทิโดยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่ออีกด้วย

นอกจากนี้ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ได้ให้ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร จัดทำโครงการวิจัยสร้างแปลงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มะพร้าวเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตต้นกล้ามะพร้าวลูกผสมพันธุ์ดีในระยะสั้น ให้เร่งสร้างแปลงพ่อแม่พันธุ์มะพร้าวเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตต้นกล้าพันธุ์มะพร้าวลูกผสมพันธุ์ดีในระยะสั้น และให้เร่งสร้างแปลงพ่อแม่พันธุ์ในการผลิตพันธุ์มะพร้าวลูกผสมชุมพร 2 และพันธุ์มะพร้าวลูกผสม 3 ทาง ซึ่งศูนย์ฯ ชุมพรได้ขยายแปลงพ่อพันธุ์ ในศูนย์เครือข่ายของกรมวิชาการเกษตรออกไปอีกประมาณ 1,010 ไร่ ในจำนวนพื้นที่ดังกล่าวนี้ เป็นการปลูกทดแทนแปลงพ่อพันธุ์เดิมที่มีอายุมากและลำต้นสูงมากอีก จำนวน 300 ไร่

 

เปิดโอกาสให้ภาคเอกชน สร้างแปลง พ่อ-แม่พันธุ์

เนื่องจากศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร เป็นศูนย์ที่ผลิตมะพร้าวลูกผสมพันธุ์ดีให้เกษตรกรเพียงแห่งเดียว จึงทำให้การผลิตหน่อพันธุ์มะพร้าวไม่ทันกับความต้องการของเกษตรกร กรมวิชาการเกษตร จึงเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตหน่อพันธุ์มะพร้าว

ผอ. เกริกชัย กล่าวว่า ได้มีภาคเอกชนเข้ามาร่วมโดยการสร้างแปลง พ่อ-แม่ พันธุ์มะพร้าว ได้แก่ บริษัท ชุมพรอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด สถาบันพัฒนามันสำปะหลังแห่งประเทศไทย บริษัท ซีพี ที่จังหวัดกำแพงเพชร โดยได้ให้พ่อแม่พันธุ์ไปปลูกในแปลงขยายพันธุ์ของเขา พร้อมกับได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผสมเกสร สำหรับ บริษัท ซีพี ที่กำแพงเพชร ได้ร่วมกันทำแปลงทดสอบแปลงผลิตมะพร้าวลูกผสม 3 ทาง

นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ชุมพร ก็ได้ให้กลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน สร้างแปลงเพาะพันธุ์มะพร้าวชุมชน โดยจะส่งนักวิชาการเกษตรของศูนย์ไปถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างเนิร์สเซอรี่ และสร้างแปลงเพาะพันธุ์มะพร้าว ซึ่งต่อไปเกษตรกรก็จะมีรายได้จากการจำหน่ายพันธุ์มะพร้าว จะทำให้สามารถเพิ่มจำนวนพันธุ์มะพร้าวได้เร็วขึ้น

กระจายมะพร้าวพันธุ์ดี ไปแหล่งปลูกทั่วประเทศ

ผอ. ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร กล่าวอีกด้วยว่า กรมวิชาการเกษตร วางแผนในระยะยาวรองรับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าว โดยจะกระจายพันธุ์มะพร้าวเพื่ออุตสาหกรรมไปในแหล่งปลูกสำคัญทั่วประเทศ เพื่อให้เกษตรกรมีมะพร้าวพันธุ์ดีปลูก แปลงพ่อแม่พันธุ์ใหม่ของศูนย์ ในปี 2560-2563 จะเริ่มให้ผลผลิต ในปี 2564 คาดว่า ปี 2564-2568 จะสามารถผลิตต้นกล้ามะพร้าวพันธุ์ดีได้ ประมาณ 429,700 ต้น/ปี ช่วงปี 2569-2573 จะผลิตต้นกล้ามะพร้าวพันธุ์ดีได้ ประมาณ 701,415 ต้น/ปี และปี 2573 เป็นต้นไปจะสามารถผลิตต้นกล้ามะพร้าวพันธุ์ดีได้อย่างน้อย 701,415 ต้น/ปี

กว่าเราจะได้ผลผลิตมะพร้าวเพื่ออุตสาหกรรมโดยไม่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จะต้องรอคอยนานสักเท่าไร จะมีนักวิชาการเกษตรสืบทอดไปอีกกี่คน และจะมีพันธุ์ใหม่ๆ ขึ้นมาอีกสักกี่พันธุ์

มะพร้าวแกง หรือมะพร้าวอุตสาหกรรม ไม่ใช่พืชสวนธรรมดาที่จะสร้างขึ้นมาได้ง่ายๆ ต้องใช้เวลานานนับ 10 ปีทีเดียว

สนใจที่จะสร้างแปลงเพาะพันธุ์มะพร้าวพันธุ์ดี ติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ตำบลวิสัยใต้ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร รหัสไปรษณีย์ 86130 โทร. 077-556-073, 077-556-194